21 สิงหาคม ปี 1974

เครื่องบินลำหนึ่งบินร่อนลงจอดที่เมืองเล็กๆทางตอนกลางของประเทศสวีเดนชื่อ Borlange ซึ่งโดยปกติ เมืองที่มีประชากรเพียงหลักหมื่นคนนี้ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรนอกเหนือจากเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและกระดาษ

แต่ในวันนี้ มีทีมงานหลายคนจาก Volvo ที่มาเตรียมรอรับงานใหญ่ พวกเขามาพร้อมกับรถยนต์สีส้มหลายคันที่จอดเรียงกันเป็นแถว ทุกคนต่างพากันยุ่งวุ่นวายกับหน้าที่ของตนเองในการจัดเตรียมรถ การบรรยายตลอดจนพิธีการต่างๆให้พร้อมสำหรับงานครั้งใหญ่ที่พวกเขาเฝ้ารอมาหลายปี

เครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดเล็กจอดสนิทลง… ผู้โดยสารบนเครื่องทะยอยลงมา ไม่ต้องบอกก็ทราบดีว่าพวกนี้ล้วนเป็นนักข่าวสายยานยนต์ที่ได้รับเชิญให้เป็นสื่อมวลชนกลุ่มแรกในโลกที่จะได้ยลโฉมรถรุ่นใหม่ของ Volvo ซึ่งจะมาทำตลาดแทนรุ่น 144 ที่ทำตลาดมาราว 8 ปีแล้วและในขณะที่ BMW เปิดตัวรถขนาดกลางที่ชื่อว่า 5-Series และเบนซ์ก็มี W123 ที่ใกล้ถึงกำหนดเผยโฉมอย่างเป็นทางการ Volvo บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งมีจุดขายที่ความปลอดภัยก็จำเป็นต้องพัฒนารถรุ่นใหม่มาสู้ม้าเมืองเบียร์บ้าง

R5951_Volvo_244_DL

และในวันนั้นเอง Volvo ก็ได้เผยโฉมรถรุ่นแรกของตระกูล 200 Series ด้วยรุ่น 244DL ไฟกลมเหล่านั้น มันคือจุดเริ่มต้นของตำนานอันยิ่งใหญ่! ด้วยยอดขายทั่วโลกรวมกันได้มากกว่า 2.8 ล้านคัน! ด้วยอายุการตลาดที่ยาวนานถึง 19 ปี! มันคือสุดยอดนวัตกรรมความปลอดภัยที่แหวกฝ่ากาลเวลาจากยุคที่คอมพิวเตอร์ใหญ่จนหล่นใส่หัวควายควายจำทางกลับบ้านไม่ได้ มาสู่ยุคชิป 386, 486DX2-66 (พร้อมปุ่ม Turbo ใน PC บางตัว) และโปะซ้ายโปะขวาด้วยลำโพงพร้อมการ์ดเสียงของ SoundBlaster จนทุกวันนี้
ในยุคที่คอมพิวเตอร์กับระบบมัลติมิเดียทั้งมวลถูกรวมอยู่ในโทรศัพท์ขนาดเล็กเท่ามือสาวมหาลัยปี 4 Volvo 200 Series หลายคันก็ยังคงวิ่งอยู่บนถนน และเป็นรถใช้งานจริงจัง ไม่ใช่รถอนุรักษ์ที่เอาไว้จอดโชว์ตามงานเท่านั้น

144/164 รถรุ่นก่อนหน้า 200 Series

R5896_The_1970s_was_a_decade_of_interesting_colours_and_colour_combinations_Volvo
แรกเริ่มเดิมที่ Volvo มีรถขนาดกลางขายในชื่อรุ่น 144 ที่ใช้เครื่อง 4 สูบเรียง และ 164 ที่ใช้เครื่อง 6 สูบอยู่แล้ว รถทั้ง 2 รุ่นนี้ถูกออกแบบโดย Jan Wilsgaard ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบของ Volvo ตั้งแต่ปี 1950 (ผลงานชิ้นสุดท้ายของเขาคือ Volvo 850) ไอเดียของการออกแบบ 144/164 นั้น Jan ให้คำจำกัดความว่า “Simple is beautiful” ยิ่งทำหน้าตารถให้ดูเรียบง่ายก็ยิ่งสวย ซึ่งผลที่ออกมานั้นก็คือรถที่มีรูปทรงแตกต่างจาก Amazon รุ่นเดิมที่ขายมานับทศวรรษ แต่อันที่จริงเครื่องยนต์กลไก ระบบเกียร์หรือแม้กระทั่ง
ช่วงล่างกับฐานล้อก็ยกมาจาก Amazon นั่นเอง นอกจากตัว 144 บอดี้ 4 ประตูแล้วก็ยังมี 142 2 ประตูและ 145 สเตชั่นแวก้อนอีกด้วย

ในภายหลังมีการพัฒนาเครื่องยนต์เพิ่มเติม หนึ่งในรุ่นที่มีพละกำลังมากที่สุดคือ 142GT ซึ่งใช้เครื่อง B20 High Compression ทำแรงม้าได้ถึง 142 แรงม้า (ไม่ธรรมดาแม้จะวัดด้วยมาตรฐานทุกวันนี้) ส่วน 164 นั้น เป็นรถที่ Volvo เน้นตลาดหรูขึ้นมาอีกระดับ ดังนั้นจึงมีการดีไซน์ด้านหน้าและด้านท้ายให้ดูหรูหราขึ้น (เหมือนจะเป็น Jaguar แห่งสวีเดน) ฝากระโปรงหน้า กระจังหน้า ไฟหน้าและแก้มหน้าใช้คนละชิ้นส่วนกับ 144 อีกทั้งยังมีการยืดฐานล้อจาก 2,600 เป็น 2,700 มม. เพื่อรับเครื่อง 6 สูบเรียง Pushrod รหัส B30 ซึ่งที่จริง..มันก็คือเครื่อง B20 ของ 144 ที่เอามาต่อเพิ่ม ใช้ลูกสูบขนาดเท่ากัน ช่วงชักเท่ากัน ใช้แหวนลูกสูบ วาล์วและชิ้นส่วนหลายอย่างร่วมกันได้ 164 เป็นรถรุ่นแรกภายในรอบ 20 ปีที่หันกลับมาใช้เส้นพาดเฉียงบนกระจังหน้าเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งในภายหลัง 144 ก็ปรับรูปแบบกระจังหน้าตามกันไป Volvo 164 รุ่นหลังๆมีการเพิ่มระบบหัวฉีด D-Jetronic เข้าไป อีกทั้งยังได้รับการปรับแต่งจน
เครื่อง 3.0 ลิตร Pushrod 12 วาล์วหน้าตาธรรมดานี้มีแรงม้าถึง 175 แรงม้าและเป็นเครื่องยนต์ที่ทรงพลังที่สุดของ Volvo ในสมัยนั้น

R5941_Volvo_164

ทั้ง 144 และ 164 ยังดำเนินรอยตามนโยบายเรื่องความปลอดภัยของ Volvo ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด เบาะนั่งแบบมีพนักพิงศรีษะเพื่อลดอาการบาดเจ็บของคอเวลาโดนชนท้ายและที่สำคัญคือเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรุ่นแรกของโลกที่มีการติดตั้งระบบเบรกแบบ 2 วงจรไขว้ (Dual-circuit system) ซึ่งวงจรหนึ่งจะรับผิดชอบล้อหน้า 2 ข้าง และล้อหลังขวา อีกวงจรหนึ่งรับผิดชอบล้อหน้า 2 ข้างและล้อหลังซ้าย หากเกิดระบบเบรกมีปัญหาที่วงจรใด อีกวงจรที่เหลือก็ยังสามารถทำงานได้อย่างปกติและให้พลังเบรก 80% ของระบบในยามที่ทำงานปกติ โครงสร้างของ 144/164 ก็เป็นแบบ Safety Cage+Crumple Zone ที่ออกแบบ
ให้ห้องโดยสารแข็งแรงและมีส่วนหน้ากับส่วนท้ายของรถที่ยุบตัวเพื่อกระจายแรงกระแทกได้ ในช่วงปีท้ายๆ มีการเพิ่มกันชนแบบ Big bumper และไฟเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยอันแสนคลาสสิคมาให้อีกด้วย

ทั้ง 144 (รวมทั้ง 142 และ 145) กับ 164 ได้รับกระแสตอบรับที่ดีและกลายเป็นโมเดลแรกของ Volvo ที่มียอดขายทั้งโลกรวมทะลุ 1 ล้านคัน โดย 144,142,145 ขายได้ 1,251,371 คัน และ 164 ขายได้ 146,008 คัน

 

เพิ่มความปลอดภัยโดยเรียนรู้จาก VESC

R6035_VESC_Volvo_Experimental_Safety_Car
ในปี 1972 Volvo เปิดตัวรถต้นแบบ VESC (Volvo Experimental Safety Car) ในงาน Geneva Motorshow มันคือรถที่บรรจุเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ล้ำหน้า เช่นเข็มขัดนิรภัยที่เลื่อนมาคาดตัวคนนั่งโดยอัตโนมัติเมื่อสตาร์ทเครื่อง, ถุงลมนิรภัยสำหรับทั้งคนนั่งหน้าและหลัง, พวงมาลัยแบบยุบตัวได้ 150 มม. เมื่อเกิดการชน มีระบบฉีดน้ำล้างไฟหน้าพร้อมที่ปัด กันชนหน้าแบบซูเปอร์โคตรบิ๊กบัมเปอร์ซึ่งสามารถรับแรงกระแทกได้ดีจน Volvo รับประกันว่าถ้าชนแบบประสานงาที่ความเร็ว 80 กม./ชม. แล้วผู้โดยสารก็ยังมีสิทธิ์รอดภายในห้องโดยสารมีการติดตั้งโรลเคจซ่อนไว้ โครงหลังคาแข็งแรงเป็นพิเศษ ทดสอบคว่ำรถแล้วปล่อยให้หล่นจากความสูง 2.4 เมตร เสาหลังคาจะยุบไม่เกิน 7.5 ซม.

นอกจากนี้ ยางแท่นเครื่องตัวหลังยังออกแบบให้หลุดและส่งเครื่องให้สไลด์ลงข้างล่างในกรณีมีการชนจากด้านหน้า โดยที่ตัวเครื่องจะไม่ถูกดันเข้ามาในห้องโดยสาร มีการติดตั้งคานเหล็กนิรภัยในประตู (ซึ่งในภายหลังก็นำไปใส่กับ Volvo 140/160 รุ่นปีท้าย) อีกทั้งยังมีเบรก ABS ระบบตัดน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ มีกล้องมองหลังและระบบเสียงเตือนเวลาถอยหลังมาให้อีกต่างหาก ซึ่งในภายหลังอุปกรณ์บางอย่างและเทคโนโลยีบางแบบถูกนำไปใส่ใน Volvo รุ่นหลังๆ (บางอย่าง..เช่นเบรก ABS นั้น กว่าจะมีให้เลือกใน Volvo 200 Series ต้องรอไปอีกกว่าทศวรรษ) ส่วนดีไซน์ด้านหน้าของรถ เช่นไฟหน้าและกระจังหน้า ก็ถูกนำมาขัดเกลาให้เหมาะกับรถที่ขับใช้งานจริงแล้วก็มาอยู่ใน Volvo 200 Series

 

7 STEPS To Build THE NEW VOLVO

ในเรื่องของการสร้างรถรุ่นใหม่นั้น Hakan Frisinger หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารส่วนธุรกิจรถยนต์นั่ง (ถือว่าเป็นมือขวาของ Pehr Gyllenhammar ที่นั่งแท่นประธานกลุ่ม AB Volvo) เคยอธิบายเอาไว้ว่า การสร้างรถด้วยวิธีของ Volvo นั้นจะแบ่งการทำงานเป็น 7 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 – Product Planning
ตัดสินใจรูปแบบของรถว่ามีแนวทาง/นโยบายการออกแบบเป็นเช่นไร ในกรณีของ 200 Series ตัวใหม่ ได้ข้อสรุปว่าพวกเขาจะยึดขนาดตัวรถใกล้เคียงของเดิม ไม่เล่นรถยาว 5 เมตรขึ้นแบบตลาดอเมริกานอกจากนี้จะมุ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และที่สำคัญคือตัวรถจะต้องใช้วัสดุคุณภาพดี และต้องมีอายุการใช้งานยาวนานกว่ารถของคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ ในสวีเดน เคยมีการประเมินอายุของการใช้งานรถยนต์ 1 คัน โดยวัดนับจากวันที่ซื้อรถไปจนถึงวันที่เจ้าของรถตัดสินใจแล้วว่า “ไม่คุ้มค่าซ่อม”ต้องเอาไปทิ้งป่าช้า รถของ Volvo จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 14.2 ปี ซึ่งผู้ที่ประกาศผลนี้ออกมาก็คือบริษัท Swedish Motor Vehicle Inspection

 

ขั้นที่ 2 – การออกแบบภายนอกและภายในรถ
Jan Wilsgaard รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบเช่นเคย งานของเขาเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนปี 1970 โดยในระหว่างการศึกษารถต้นแบบ 2 รุ่นนี้ทาง Volvo ก็ทำวิจัยและสร้างรถต้นแบบ VESC ไปด้วย เขานำรูปแบบของ 140/160 Series มาเป็นตัวตั้งต้น และออกแบบส่วนหน้ากับส่วนท้ายใหม่ในความเชื่อของคนที่ทำงานด้านการออกแบบของ Volvo สมัยนั้น มีหลักอยู่ว่า

R5978_Volvo_244_DL

“ถ้าจะเปลี่ยนอะไรสักอย่าง มันต้องเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแล้วดีขึ้น แต่ถ้าของเดิมดีอยู่แล้ว ก็อย่าไปยุ่งกับมัน”

ตัวรถรุ่นใหม่ ยาวขึ้นกว่าเดิม 4.8 นิ้ว แต่ฝากระโปรงหน้าถูกกดให้ต่ำลง จึงมีทัศนวิสัยด้านหน้าที่ดีขึ้น ไฟท้ายเปลี่ยนใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่า 140/160 Series แต่นอกนั้นแล้ว สิ่งที่เหลือคล้ายกับรถรุ่นเดิม โดยเฉพาะสัดส่วนของรถเมื่อมองจากด้านข้าง แต่แท้จริงนั้นบอดี้ของรถกว้างขึ้นและเตี้ยลงกว่าเดิม

U002

ส่วนเรื่องการออกแบบภายในนั้น Sven Bengtsson รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบภายในตั้งแต่คอนโซลไปจนถึงเบาะ แนวคิดของ Bengtsson คือ “ถ้าคนขับนั่งขับแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ขยับตัวขยับแขนได้สะดวก นั่นย่อมทำให้เขาสามารถบังคับรถได้ดีขึ้นและส่งผลให้เกิดความปลอดภัยขึ้น” ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจถ้า Volvo จะออกแบบที่นั่งหลากหลายแบบมา จากนั้นก็ติดตั้งมันลงบนแท่นเขย่า จากนั้นก็เอาคนไปลองนั่งแล้วก็เขย่าด้วยความแรงและความถี่ต่างๆนานาเพื่อดูว่าไอ้คนที่เป็นหนูทดลองจะก้าวลงจากเบาะแล้วชมหรือด่าอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น Volvo ยังว่าจ้างให้ทีมแพทย์จากโรงพยาบาล Sahlgrenska University ในเมือง Gothenburg เข้ามาร่วมวิจัย ออกแบบที่นั่ง รวมถึงทดลองนั่งบนเบาะต้นแบบ เพื่อที่จะหาคำตอบว่าเบาะนั่งแบบไหนสบายที่สุด (ในภายหลัง Volvo ก็ออกแคมเปญโฆษณาคล้ายๆกับแปรงสีฟัน Oral-B ..โดยบอกว่าแพทย์โรคกระดูกและหลังส่วนใหญ่แนะนำให้ลูกค้าซื้อ Volvo โดยบอกว่าเบาะของ Volvo นั้นมีรูปแบบที่เหมาะกับคนมีปัญหาปวดหลังมากที่สุด)

นอกจากนี้ตัวเบาะคนขับ ยังถูกออกแบบให้สามารถปรับเลื่อนหน้าถอยหลัง ปรับดุนหลัง ปรับความสูงของตัวเบาะได้ พวกเขาใช้ตัวอย่างวิจัยจากผู้ขับทุกเพศทุกวัยที่มีใบขับขี่ ด้วยรูปร่างและส่วนสูงที่ต่างกันจนคิดค้นเบาะที่สามารถปรับเลื่อนได้หลายรูปแบบจนสามารถรองรับร่างกายของผู้ขับ 97% ของผู้ใหญ่ที่เป็นลูกค้าของ Volvo ได้

200series_seethroughheadrt

พนักพิงศรีษะเป็นแบบแข็ง ใหญ่ และโปร่งเป็นซี่ๆ ไอ้พนักพิงกบาลแบบนี้ก็มีจุดเริ่มต้นที่ 200 Series นี่ล่ะครับ เพราะ 140/160 Series รุ่นก่อนหน้านั้นยังใช้พนักพิงหัวแบบหมอนตันอยู่ ที่เลือกใช้แบบโปร่งแทนก็เพราะว่ามันช่วยให้คนนั่งหลังมีทัศนวิสัยที่ดีขึ้น (แม้จะมองไปแล้วก็เห็นแต่หัวโล้นๆของคนขับก็เถอะนะ..ยังอุตส่าห์)

ส่วนเบาะตอนหลังนั้น แม้จะเอนไม่ได้ แต่ก็ถูกออกแบบมาด้วยความเอาใจใส่พอๆกับเบาะหน้า โดยคิดถึงมุมองศาการเอนของพนักพิงหลังที่เหมาะสมเพื่อให้เดินทางไกลโดยไม่ปวดล้า

แดชบอร์ด และส่วนต่างๆภายในรถ ใช้หลักการออกแบบเดียวกับ 140/160 Series รุ่นท้ายๆ ซึ่งจะใช้วัสดุที่นุ่มขึ้น และไม่เป็นอันตรายต่อผู้โดยสารในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ มาตรวัดต่างๆออกแบบโดยเน้นความง่ายในการอ่านค่า มีรูปแบบที่เรียบง่าย มีไฟส่องสว่างที่ช่วยให้อ่านได้ชัดเจนในเวลากลางคืน และมีสัญญาณเตือนที่จำเป็น พวงมาลัยยังปรับระดับไม่ได้ แต่ได้ถูกออกแบบให้เงยขึ้นกว่ารุ่นก่อน 23 องศา ซึ่งเป็นจุดที่ Volvo เชื่อว่าคนขับจับถนัดและช่วยให้การขึ้นลงจากรถทำได้ง่ายขึ้น

U001

นอกจากห้องโดยสารแล้ว ส่วนที่จุสัมภาระท้ายรถก็มีความสำคัญเช่นกัน 200 Series รุ่นใหม่
บอดี้ 4 ประตูนั้นมีความจุถึง 608 ลิตร ในขณะที่รุ่นสเตชั่นแวก้อน มีความจุปาเข้าไปถึง 1,500 ลิตร
โดยที่ยังไม่ต้องพับเบาะหลังลงด้วยซ้ำ (ช่างต่างกับรถแวก้อนที่พยายามจะดูสปอร์ตสมัยนี้เหลือเกิน)
และถ้าพับเบาะล่ะ? คุณได้ 1,897 ลิตรเดี๋ยวนั้นเลยครับ

 

ขั้นที่ 3 – ทดสอบรถ
ในช่วงนี้ รถทดสอบกลุ่มแรกถูกส่งไปยังส่วนต่างๆของโลกตั้งแต่บริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ ไปจนถึง
ทะเลทรายในออสเตรเลีย จากนั้นจะมีการนำผลที่ได้กลับไปวิเคราะห์ที่แล็บ  และหาทางปรับเซ็ต
ส่วนต่างๆของรถให้ลงตัว โดยเมื่อรวมระยะทางการทดสอบทั้งหมดแล้ว กว่าจะมาเป็น Volvo 200 Series
นี่ได้ บรรดานักทดสอบต้องขับเป็นระยะทางรวมกันไป 720,000 กม.

X02_Testfield

หนึ่งในการทดสอบในขั้นที่ 3 นี้ คือเรื่องการบังคับควบคุมและการขับขี่ตามหลักการ
DYNAMIC SAFETY ของ Volvo

Friedrich Jaksch รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่าย Vehicle Dynamics ในโครงการ 200 Series ใหม่
เขาให้คำจำกัดความแนวทางในการเซ็ตช่วงล่างและพวงมาลัยว่า Dynamic Safety ซึ่งมุ่งเน้นไปที่
การช่วยให้ผู้ขับสามารถเบรกหรือหักหลบพ้นอุปสรรคต่างๆได้ในทุกสภาพการณ์โดยที่ไม่ต้องใช้
ทักษะหรือฝีมือที่สูงมาก และพยายามให้รถตอบสนองโดยให้การควบคุมที่คล้ายคลึงกับการใช้งาน
ในชีวิตประจำวัน ไม่มีดอกเซอร์ไพรส์ที่โผล่มาให้ตกใจในยามคับขัน Dynamic Safety ไม่ใช่แนวคิดที่
มุ่งเน้นการขับสนุกเป็นหลัก แต่มันหมายถึงการให้ความสำคัญกับความปลอดภัย โดยอาศัยการ
ปรับการตอบสนองของรถในลักษณะที่เน้นการหลบเลี่ยงอันตราย Jaksch เชื่อว่ารถของคู่แข่งในสมัยนั้น
บางรุ่นเข้าโค้งได้เกาะดีมาก แต่พอถึงเวลาหลุดแล้วก็หลุดโค้งเลยทั้งคัน คู่แข่งบางค่าย สะบัดพวงมาลัย
แตะคันเร่งหน่อยเดียวก็ท้ายกวาดแล้ว Volvo รุ่นใหม่จะต้องไม่เป็นแบบนั้น

U003

ช่วงล่างหน้าเปลี่ยนชุดใหม่ ใช้แบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ส่วนด้านหลังเอาของ 140/160 มาปรับใช้
แต่ย้ายตำแหน่งตัวขายึดคานด้านซ้ายและขวาให้ห่างออกจากกันมากกว่าเดิม และยังได้
มีการขยายแทร็คล้อให้กว้างขึ้นเพื่อให้เกาะถนนและนั่งสบาย ระบบบังคับเลี้ยวเปลี่ยนมาใช้แบบ
แร็คแอนด์พิเนียน อัตราทดพวงมาลัย 17.1:1 คำนึงถึงความปลอดภัยเวลาหักเลี้ยวมากกว่าความสนุก
เวลาขับ.. Volvo น่ะ ลงทุนวิจัยตัวอย่างทดสอบหลายครั้งเพื่อดูว่าคนขับส่วนใหญ่จะหักพวงมาลัยมาก
หรือน้อยแค่ไหนเมื่อพบสิ่งกีดขวางโดยไม่คาดฝัน จากนั้นก็เอาค่าที่ได้มาปรับอัตราทดให้อยู่ในจุดที่
เหมาะสม คนส่วนใหญ่ตกใจหักพวงมาลัยแล้วสามารถหลบอุปสรรคได้โดยที่รถไม่เสียการทรงตัว
จุดนี้ถือว่าค่อนข้างล้ำหน้าคู่แข่งเยอรมันพอสมควรเพราะรถของเมืองเบียร์ในยุคนั้นยังใช้พวงมาลัย
ลูกปืนหมุนวนแบบเก่ากันอยู่

ขั้นที่ 4 – การเตรียมความพร้อมในการผลิต

X01_Gyllenhammer
ท่านประธาน Pehr G. Gyllenhammar ได้ประกาศที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ Kalmar ตั้งแต่
เดือนมิถุนายนปี 1970 แล้ว ซึ่งโรงงานนี้จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงานจากระบบสายพานลำเลียง
ที่ Ford ใช้ตั้งแต่ผลิต Model T ซึ่งพนักงานแต่ละคนจะยืนทำงานในจุดเดียว แต่ละคนทำงานอย่างเดียว
มาเป็นการทำงานแบบ “Work station” ซึ่งจะแบ่งส่วนการทำงานออกเป็นจุดๆไป 1 ทีมรับผิดชอบการทำงาน
1 จุด และเมื่อทีมนั้นทำงานเสร็จก็ค่อยนำส่วนต่างๆเข้ามาประกอบรวมกันเป็นรถ 1 คัน Gyllenhammar
เชื่อว่านี่คือวิธีที่ถูกต้องในการทำงาน เปิดโอกาสให้พนักงานในทีมได้ผลัดกันทำงานไม่ให้ซ้ำซาก และช่วยให้
คนงานมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ใช่ทำงานราวกับหุ่นยนต์เหมือนโรงงานสมัยก่อน

เมื่อถามว่า “การสร้างรถให้มีคุณภาพที่ดีนั้นปัจจัยสำคัญอยู่ตรงไหน” Hakan Frisinger ตอบว่า
“ปัจจัยสำคัญก็อยู่ที่คนที่ร่วมกันสร้างรถเหล่านั้น ถ้าแรงงานของคุณไร้คุณภาพ รถที่คุณสร้างก็ย่อม
ไร้คุณภาพเช่นกัน” และการทำงานที่ Volvo นั้นต้องอยู่ภายใต้ความกดดันในเรื่องคุณภาพทุกส่วน
ดังนั้นการที่พวกเขาเปลี่ยนสไตล์โรงงานจากการผลิตแบบสายพานลำเลียงมาเป็นแบบ Work station
นั้นก็ช่วยทำให้พนักงานลดความเครียดด้านหนึ่ง เพื่อให้พร้อมรับแรงกดดันจากอีกทางหนึ่งเป็นการ
ถ่วงสมดุลย์กันไป

นอกจากนี้ ฝ่ายวางแผนไลน์การประกอบก็ช่วยกันคำนวณว่าแต่ละจุดจะต้องใช้คนงานเท่าไหร่ และใช้
เครื่องมืออะไร ตลอดจนวิเคราะห์จุดประกอบต่างๆและคาดคะเนว่าแต่ละจุดนั้นจะมีโอกาสที่
“ประกอบพลาด” มากน้อยเพียงไรและคิดหาวิธีป้องกัน

ขั้นที่ 5 – การควบคุมคุณภาพ
ซึ่งก็คือการตรวจสอบคุณภาพของรถที่ได้จากการผลิต แบบเดียวกับมาตรฐานรถสมัยใหม่
เพื่อให้แน่ใจว่ารถที่นำส่งโชว์รูม จะเป็นรถที่ไม่มี Defect จากการประกอบ

ขั้นที่ 6- การตรวจสอบรถที่จำหน่าย
ทาง Hakan Frisinger จะมีหน่วยตรวจสอบ (Audit Group) ที่ทำงานโดยขึ้นตรงต่อการบัญชาการของเขา
หน่วย Audit Group จะสุ่มเลือกรถ Volvo จำนวน 5% จากจำนวนรถที่ผลิตทั้งหมดแล้วตรวจสอบ
คุณภาพชนิดจับเอาตาย โดยพวกเขาอาจจะออกตรวจรถที่จอดรอขึ้นเทรลเลอร์หน้าโรงงาน หรือตรวจ
รถที่ถูกส่งมอบตามโชว์รูม เดินสายเยี่ยมลูกค้าที่ซื้อรถไปแล้ว หรือแม้กระทั่งบินไปต่างประเทศ สู่ตลาดซึ่ง
รถ Volvo คันนั้นถูกส่งไปขาย!

ขั้นที่ 7 – คำวิจารณ์จากลูกค้าและการเก็บผลวิจัย
เมื่อ Volvo รุ่นใหม่จำหน่ายออกไป ก็จะมีหน่วยวิจัยที่เดินทางไปทั่วเพื่อสัมภาษณ์ลูกค้าว่าพวกเขา
ชอบหรือไม่ชอบสิ่งใดในรถ Volvo รุ่นนั้น จากนั้นก็จะนำผลที่ได้รายงานกลับสำนักงานใหญ่เพื่อใช้
เป็นแนวทางในการออกแบบ Volvo รุ่นอื่นต่อไป นอกจากนี้การเก็บผลวิจัยนั้นยังรวมถึงหน่วยเคลื่อนที่เร็ว
ไปยังจุดที่เกิดอุบัติเหตุ ทั้ง Volvo และ Saab จะมีหน่วยนี้ประจำอยู่ในเกือบทุกเมือง ทันทีที่ได้รับรายงาน
อุบัติเหตุที่รถในค่ายของตนมีส่วนเกี่ยวข้อง หน่วยร่วมกตัญญูไวกิ้งจะรีบวิ่งไปชันสูตรศพรถแล้ว
รายงานผลกลับสู่สำนักงานใหญ่เช่นเดียวกัน

เมื่อรู้หลักในการสร้างรถและแนวทางการออกแบบเบื้องต้นแล้ว เราลองมาดูกันดีกว่าว่า 200 Series นั้น
ประกอบด้วยรุ่นไหนบ้าง โดยไล่เรียงไปตามโฉมและปีเพื่อความสะดวกในการแบ่งรุ่น และที่จะต้องบอก
อีกอย่างหนึ่งก็คือ Volvo 200 Series นั้นมีหลายสเป็คและมีจุดแตกต่างยิบย่อยเต็มไปหมด มีการจัด
สเป็คพิเศษสำหรับนานาประเทศที่เข้าไปทำตลาดด้วย ในบทความนี้จะโฟกัสไปที่สเป็ครถจาก
สวีเดน อังกฤษ ยุโรปทวีปใหญ่ กับอเมริกาเป็นบางส่วน ส่วนรถสเป็คไทยนั้นผมมีข้อมูลน้อยมาก
อาจจะยกไปเขียนเป็น Part 2 นะครับ ถ้าหากใครมีข้อมูลรถ 200 Series ในไทยหรือมีหนังสือรถช่วงปี
1974-1985 จะช่วยส่งข้อมูลมาให้ผม ติดต่อมาได้ที่ [email protected] หรือ Facebook
“Pansawat Paitoonpong” โดยส่ง Inbox มาได้ครับ

 

โฉมที่ 1 (1974-1979)

U007
ในช่วงปลายปี 1974 นั้น Volvo เปิดตัว 240 Series ซึ่งใช้เครื่องยนต์ 4 สูบก่อน (260 Series ตามมาทีหลัง)
โดยช่วงแรกรถที่ทำตลาดคือ บอดี้ซาลูน 4 ประตู (244) และบอดี้สเตชั่นแวก้อน (245) ที่สร้างออกมา
ตอบโจทย์ทางด้านความเอนกประสงค์ในการใช้งาน ส่วนรุ่น 2 ประตู (242) นั้น Volvo บอกว่าทำออกมา
เพื่อเอาใจตลาดสวีเดนเป็นหลัก เพราะในยุค 70s ตอนกลางยังมีลูกค้าที่ชอบรถสองประตูเหลืออยู่มาก
Volvo ในยุคนี้จะมีชื่อรุ่นท้ายรถที่บ่งบอกประเภทบอดี้ไปเลย เช่น 242, 244, 245 แปะให้เห็นชัดเจน
ซึ่งต่อไปนี้ ผมจะเขียนว่า “240 Series” แทนการพูดถึง 242, 244 และ 245 ในภาพรวมแล้วกันนะครับ

R5953_Volvo_245_DL

240 Series ทำตลาด โดยมีลำดับความหรูให้เลือกคือ L (Luxe), DL (DeLuxe) และ GL (Grand Luxe)
ส่วนเครื่องยนต์นั้นจะมีให้เลือก 4 แบบดังนี้

เครื่องยนต์ B20A เป็นเครื่อง Pushrod แบบเก่าที่ยกมาจาก 144 ความจุ 1,986 ซี.ซี. จ่ายน้ำมันด้วย
คาร์บิวเรเตอร์ 82 แรงม้า/4,700 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 157Nm ที่ 2,300 รอบต่อนาที

เครื่องยนต์แบบต่อมาคือ B20F ซึ่งก็คือเครื่อง B20A ที่ถูกเปลี่ยนระบบจ่ายเชื้อเพลิงมาเป็นหัวฉีด
กลไก Bosch K-Jetronic ซึ่งควบคุมการจ่ายน้ำมันให้มีมลภาวะต่ำกว่า เครื่องนี้เป็นเครื่องสเป็ค
ของอเมริกาเหนือ มีแรงม้า 98 แรงม้า/6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 149Nm ที่ 3,500 รอบต่อนาที

B21Redblock

เครื่องยนต์ B21A เป็นเครื่องยนต์แบบ OHC สมัยใหม่ ฝาสูบเป็นอัลลอย Cross-flow 2,127 ซี.ซี.
จ่ายน้ำมันด้วยคาร์บิวเรเตอร์ 97 แรงม้า/5,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 170Nm ที่ 2,500 รอบต่อนาที

เครื่องยนต์ B21E ก็คือเครื่อง B21A ที่เปลี่ยนระบบจ่ายน้ำมันจากคาร์บิวเรเตอร์เป็นหัวฉีด Bosch
K-Jetronic ซึ่งเป็นหัวฉีดกลไกที่จะไม่ฉีดเป็นจังหวะ แต่จ่ายยาวตลอดศก วัดความหนาในการ
จ่ายน้ำมันด้วยแผ่นแรงดัน ยิ่งอากาศเข้าเครื่องมากยิ่งฉีดมาก (Continous Injection) แรงม้าเพิ่ม
เป็น 123 แรงม้า/5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 170Nm ที่ 3,500 รอบต่อนาที

เครื่องยนต์ B21A และ B21E นั้นจะมีเอกลักษณ์คือเสื้อสูบทาสีแดงสด และเครื่องรุ่นต่อๆมา
ที่พัฒนาต่อยอดจาก 2 รุ่นนี้ก็จะมีเสื้อสูบสีแดงเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ฝรั่งเขาตั้งชื่อเล่นให้กับเครื่อง
เหล่านี้ว่า “Volvo Red Block” หรือเสื้อสูบแดงนั่นเอง

ในตลาดยุโรป รุ่น L นั้นจะใช้เครื่องยนต์ B20A ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นเก่าจาก 144 ในขณะที่รุ่น
DL นั้นมีทั้งเครื่อง B20A และ B21A ส่วนรุ่น GL นั้นจะมีแต่ตัวถังซาลูน 244GL ซึ่งได้เครื่องหัวฉีด B21E
เพียงแบบเดียว ส่วนที่อเมริกานั้นจะมีแต่ B20F เท่านั้นเพราะต้องปรับอัตราส่วนกำลังอัดต่ำรับน้ำมัน
ออคเทนต่ำๆและยังต้องผ่านมาตรฐานมลภาวะที่เข้มงวด

พวกรถเครื่อง 4 สูบตระกูล B20A และ 21A จะมีระบบส่งกำลังให้เลือกแบบธรรมดา 4 สปีด และอัตโนมัติ
3 สปีด (AW55) ส่วน 244GL ในตลาดสวีเดนนั้นจะมีเกียร์ธรรมดาแบบ 4 จังหวะ พร้อมปุ่ม Overdrive เป็น
สวิตช์เลื่อนอยู่ตรงหัวเกียร์ (4 Sp.+O/D) เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

เด็กสมัยใหม่หลายคนรู้จัก Overdrive ในเกียร์อัตโนมัติกันดีแล้ว แต่บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าแล้วเกียร์
ธรรมดามี Overdrive มันทำงานยังไง อธิบายง่ายๆครับว่ามันคือระบบ Overdrive ไฟฟ้าแบบของ Volvo
มีชุดเฟืองทดแยกออกมาอยู่ท้ายเกียร์ เวลาจะใช้ก็ให้เข้าเกียร์ 4 แล้วกดสวิตช์ เมื่อเฟืองทำงาน รอบก็จะ
หล่นลง ใช้เพื่อให้วิ่งทางไกลได้ด้วยรอบต่ำยิ่งขึ้น เกียร์ 4Sp.+O/D ยุคแรกๆของ 244 นี่ ถ้าหากเราเข้า
เกียร์ลงไป 3 แล้วกลับมา 4 ใหม่ ระบบ O/D ยังทำงานอยู่นะครับ จนกว่าคุณจะปิดมันเอง (ในรุ่นหลังๆ
มีการเพิ่ม Relay เข้ามา ให้ระบบปิดลงทุกครั้งถ้าออกจากเกียร์ 4)

U004

ในเดือนตุลาคม Volvo ก็เผยโฉม 260 Series ตามมา โดยความต่างจะอยู่ที่หน้าตาและระดับชั้นทางการตลาด
เพราะในขณะที่พวก 240 Series จะเน้นคนที่ซื้อรถไปใช้งานเป็นหลัก รถ 260 Series นั้นจะเน้นความหรู
เพื่อเข้าแข่งกับบรรดาแบรนด์พรีเมียมซึ่งก็รวมถึง Mercedes-Benz และ BMW ด้วย (Audi ไม่นับเพราะสมัย
นั้นยังเป็นแบรนด์ Mass Market อยู่) ไฟหน้ากลมของ 240 Series ถูกเปลี่ยนเป็นแบบเหลี่ยม กระจังหน้าโครเมียม
ทำซะดูแล้วนึกถึง Jaguar/Rolls-Royce ส่วนภายในก็จะได้มาตรวัดรอบมาทุกคัน มีคอนโซลกับวัสดุหุ้มเบาะ
ทั้งผ้าและหนัง ทั้งหมดทำออกมาให้หรูอย่างตั้งใจ

เครื่องยนต์ที่ใช้ก็มีแบบเดียวก็คือ B27E ซึ่งอันที่จริงมันก็คือเครื่อง PRV ที่ Peugeot, Renault และ Volvo
ลงขันกันสร้าง เป็นเครื่อง V6 สูบความจุ 2,664 ซี.ซี. ฝาสูบ OHC ครอสโฟลว์ เสื้อสูบและฝาสูบเป็นอัลลอย
แรงม้าสูงสุด 140 แรงม้า/6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 204 Nm/3,000 รอบต่อนาที

B27E_CI

สเป็คอเมริกาจะใช้เครื่องยนต์ B27F ซึ่งถูกปรับจูนเพื่อรับน้ำมันออคเทนต่ำและลดมลภาวะ ทำให้
แรงม้าสูงสุดลดลงมาเหลือ 125 แรงม้า/5,500รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 203Nm/2,750 รอบต่อนาที

264 จะถูกแบ่งระดับความหรูออกเป็น 2 ระดับคือ 264DL (โลโก้ Volvo อยู่กลางกระจังหน้า) และ 264GL
(โลโก้อยู่เยื้องไปทางบนขวาของกระจัง) มีระบบส่งกำลังทั้งแบบธรรมดา 4 จังหวะ (DL),
อัตโนมัติ 3 จังหวะ (BW55)ส่วนในรุ่น 264GL จะใช้เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ

R5999_Volvo_262_GL_USA

นอกจากนี้ ในตลาดอเมริกาเหนือยังมีการเพิ่มรุ่น 262DL และ 262GL ซึ่งเป็นเวอร์ชั่น 2 ประตู
วางเครื่อง V6 เข้ามาด้วย แม้ทางเทคนิคจะไม่มีอะไรพิเศษหรือพิศดารไปกว่าการเป็นบอดี้ 242 ที่หรูขึ้น ใส่หน้า
264 แล้วก็วางเครื่อง PRV V6 ..แต่การที่มันถูกผลิตออกมาแค่ 3,329 คันในช่วงปี 1975-1977 ทำให้มัน
กลายเป็นรถที่หายากมากในปัจจุบัน

รุ่น 265 เปิดตัวในปี 1976 นี่ก็คือบอดี้สเตชั่นแวก้อนของ 260 นั่นเอง แต่รุ่น 264DL กับ 265DL นั้นจะเปลี่ยน
เครื่องยนต์จาก B27E เป็น B27A ซึ่งเป็นเครื่องจ่ายน้ำมันด้วยคาร์บิวเรเตอร์ ส่วน 264GL ยังใช้เครื่อง B27E
เหมือนเดิม

ในตลาดอเมริกา เครื่องยนต์ B20F เลิกทำตลาด แล้วเอา B21F ฝาสูบ OHC 102 แรงม้ามาใช้แทน

อีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเติมมาสำหรับตลาดอเมริกาคือระบบ Lambda-Sond สำหรับตลาดอเมริกา ถ้าให้พูดง่ายๆ
Lambda Sensor หรือ Lambda Probe พวกเราจะเรียกกันว่า O2 Sensor นั่นล่ะครับ สมัยนี้รถเบนซิน
ทุกคันมีหมด แต่ในปี 1976 นั้น Volvo เป็นบริษัทรถยนต์เจ้าแรกที่เอามาใช้กับรถยนต์นั่งที่ผลิตขาย
หลักการทำงานก็คือ Sensor วัดปริมาณอ็อกซิเจนในไอเสียแล้วส่งสัญญาณกลับไปที่ระบบควบคุมเครื่อง
จากนั้นก็จะปรับการจ่ายน้ำมันในช่วงคันเร่งเบาหรือภาระต่ำให้ได้อัตราส่วนน้ำมัน 1 ส่วนต่ออากาศ 14.7 ส่วน
ซึ่งทีมวิศวกร Volvo เขาพบว่าระบบเครื่องกรองไอเสียแบบ 3 ทางของพวกเขานั้นสามารถทำงานในการ
บำบัดไอเสียได้ดีที่สุดเมื่อส่วนผสมอากาศกับน้ำมันนั้นมีความเสถียร..ก็ไอ้ Lambda Sensor นี่ล่ะครับ
เข้ามามีบทบาทในการช่วยป้อนค่ากลับเข้าระบบควบคุมการจ่ายน้ำมันเพื่อให้สั่งจ่ายน้ำมันได้อัตราส่วน
ที่พอดี Volvo เลือกเวลาประยุกต์ใช้ระบบนี้ได้เหมาะเจาะมาก เพราะต่อมาไม่นานอเมริกาก็บังคับใช้
กฎหมายมลภาวะที่เข้มงวด ซึ่ง Volvo 264/265 เครื่อง V6 สอบผ่านแบบไร้คู่เปรียบจนได้รับรางวัลจาก
หน่วยงานรัฐเรื่องการพัฒนาเครื่องยนต์มลภาวะต่ำ

น่าเสียดายก็แค่ว่า Lambda Probe เนี่ย..มันแพ้สารตะกั่วครับ และในปี 1976 นั้น ประเทศที่มีน้ำมัน
ไร้สารตะกั่วใช้อย่างแพร่หลายก็มีแค่อเมริกากับญี่ปุ่นเท่านั้นแหละ

R6054_Volvo_264_TE

ปี 1976 นี้เอง รถ 260 Series ยังมีการเปิดตัวลิมูซีนรุ่นพิเศษในชื่อ 264TE (Top Executive) ซึ่งเกิดจาก
การเอารุ่น 264 มายืดฐานล้อให้ยาวจนสามารถใส่ที่นั่งได้ 3 แถว เบาะนั่งแถวกลางสามารถพับหลบ
เพื่อเพิ่ม Legroom ให้แถวหลังนั่งสบายสุดๆได้ มีการตกแต่งภายในด้วยวัสดุชั้นดี เสริมลายไม้ที่ประตู
มากชิ้นกว่า 264 ทั่วไป ส่วนเครื่องยนต์กลไกต่างๆจะเหมือน 264GL

R6053_Volvo_264_TE

264TE เป็นที่นิยมมากโดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ในเยอรมันนีตะวันออก ในยุคที่ยังเป็น
ดินแดนหลังม่านเหล็กนั้น นักการเมืองใหญ่พวกนี้ไม่ยอมแตะแบรนด์เยอรมันนีตะวันตกอย่าง
Mercedes-Benzแต่ครั้นจะให้นั่งเบาะหลังรถอย่าง Trabant ก็ติดดินเกินไป 264TE จึงถูกสั่งซื้อไปมาก

R5848_P1800_Prototype_and_Volvo_244_Jubilee_version

ต่อมาเป็นปี 1977 ซึ่งนับเป็นวาระพิเศษฉลองครบรอบ 50 ปีของ Volvo จึงมีการเอารถ 244DL มาทำ
เป็นรุ่นพิเศษ วางเครื่อง B21A ขายในชื่อ 244 Jubileumsbilen (เมืองไทยในปีเดียวกันก็มีการเอา
264GL มาทำเป็นรุ่นพิเศษ สีเงิน เบาะสีน้ำเงิน ติดสัญลักษณ์ครบรอบ 50 ปีที่กระจังหน้ากับพวงมาลัย
แต่ทำออกมาแค่ 14 คันเท่านั้น ขายในเดือนเมษายน 1977)

เครื่อง B20A ถูกปลดประจำการ แทนที่ด้วย B19A สามารถเลือกกันได้ในรุ่น 242L และ 244L
เท่านั้น ความจุยังอยู่ที่ 1,986 ซี.ซี.อยู่ เหมือน B20A แต่แปลงกายเป็น Red Block ใช้ฝาสูบ OHC สมัยใหม่
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์ SU HIF6 มีพละกำลังอยู่ที่ 97 แรงม้า และมีเครื่อง B19E ที่ใช้หัวฉีด Bosch
K-Jetronic 117 แรงม้าให้เลือกในบางตลาด มีทั้งเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะและอัตโนมัติ 3 จังหวะ

ส่วนรุ่น 264 นั้น มีรุ่น GLE เพิ่มขึ้นมา โดยพวก 264GLE นั้นจะมีแต่เครื่อง B27E และเกียร์อัตโนมัติ
ในขณะที่ 264GL ในสวีเดน เปลี่ยนไปใช้เครื่อง B27A และรุ่น 265 ก็มี 265GL เพิ่มเข้ามาจากเดิมที่มีแต่
รุ่น DL

 

262C Bertone แห่งปี 1977

ที่เขียนว่าปี 77 อาจจะไม่ถูก 100% เพราะในปี 1977 นั้นแม้เอกสาร ภาพถ่ายและโบรชัวร์
ต่างๆจะออกมาแล้ว แต่การผลิตจริงๆนั้นน่าจะเริ่มกันในปี 1978 (เท่าที่สามารถหาข้อมูลได้) เจ้า 262C นั้น
ใครต่อใครเขาก็บอกว่าเป็น 200-Series ที่หายากที่สุด แต่เปล่าเลย ตำแหน่งนั้นเป็นของ 262DL/262GL
บอดี้ธรรมดาต่างหาก อย่างไรก็ตาม ความพิเศษของ 262C นั้นอยู่ที่เรื่องราวความเป็นมาของมัน

R5962_Volvo_262_C

ในช่วงกลางยุค 70s นั้น Henry Ford ที่สอง ได้นำทีมวิศวกรของ Ford ไป “ดูงาน” ที่โรงงาน Kalmar
ของ Volvo ในสวีเดน..ที่นี้ไป..ไปทำไม? คืออย่างนี้ครับในช่วงนั้นตา Pehr G. Gyllenhammar ซึ่งเป็น CEO
ของ Volvo แกคิดรังสรรค์ระบบการบริหารและปฏิบัติการใหม่ โดยเปลี่ยนจากการผลิตแบบสายพาน
ลำเลียง 1 คนทำ 1 หน้าที่ เรียงกันไปเป็นตอนๆ มาเป็นระบบ Teamwork ที่ให้ทุกคนจับกลุ่มทำงานด้วยกัน
เป็นทีมขนาดเล็กที่รับผิดชอบหน้าที่แต่ละจุดร่วมกัน ซึ่งว่ากันว่าโรงงาน Kalmar ที่ตา Pehr ลองใช้วิธีนี้
แล้วได้ผลดีมาก พนักงานทำงานแล้วมีความสุขขึ้น ทาง Ford จึงสนใจที่จะขอดูศึกษาโรงงาน

ทีนี้พอมา..ไม่ได้มาเปล่า..ทีม Ford บินมาสวีเดนโดยเอารถ Lincoln Mark IV คูเป้อเมริกันคันเท่าเรือมาด้วย
แล้วพอขับมาจอดที่โรงงาน คนก็แตกตื่นกันสิครับ เพราะไม่เคยเห็นรถคันใหญ่ที่ตกแต่งมาอย่างอลังการ
ขนาดนั้น นั่นทำให้คนของ Volvo เองเริ่มคิดว่า เอ..นี่พวกเราสร้างที่รถที่เน้นความปลอดภัย เน้นการใช้งาน
เน้น Logic เหนือ Emotion มาโดยตลอด..แล้วถ้าเราจะลองสร้างรถแบบที่เน้นความสวยอลังการแบบ
Lincoln ในสไตล์ของเราล่ะ เออ..น่าลองวุ้ย ว่าแล้วก็มีคำสั่งให้ทดลองสร้างรถที่มีหลังคาทรง C-Pillar หนาๆ
แบบอเมริกันออกมา โดยในช่วงแรก พวกเขาลองดีไซน์หลังคาดังกล่าวและดัดแปลงเข้ากับบอดี้ของ Volvo
164 จนได้มาเป็น 162C Willsgaard Concept และในภายหลังจึงลงมือทำกับบอดี้ของ 262 โดยมีกระจกหน้า
ที่ลาดกว่าเดิม และหลังคาถูกหั่นให้เตี้ยลงเกือบ 3 นิ้ว ส่งแบบดีไซน์ผ่านให้ Jans Wilsgaard อนุมัติ และ
คุยกับที่ Carrozeria Bertone (ซึ่งก็เป็นคนประกอบ 264TE ให้อยู่แล้ว) งานนี้ต้องว่าจ้างอิตาลีมาช่วยทำ
เพราะลำพังโรงงาน Volvo ไม่มีกำลังคนเหลือพอสำหรับการสร้าง “รถพิเศษ” แบบนี้ จึงตกลงกันว่า Volvo
สวีเดนจะส่งตัวถังโครงสร้างหลัก และเครื่องยนต์กลไกให้ และทาง Bertone ประกอบช่วงหลังคา กับตกแต่ง
ภายในให้สวยด้วยการบุหนังอย่างดีและตกแต่งด้วยลายไม้ Elm พร้อมอัดอุปกรณ์ท่วมคัน กระจกไฟฟ้า
เซ็นทรัลล็อค รวมไปถึง Cruise Control ก็มีให้

ในตอนท้ายสุด 262C ขายได้ทั้งสิ้น 6,622 คัน และยังจัดว่าเป็นรถหายากรุ่นหนึ่งอยู่ดี แม้ว่าสมรรถนะของมัน
จะไม่ได้ต่างอะไรกับ Volvo 264 เครื่อง PRV ด้วยกัน และหลังคาที่เตี้ยกว่าปกติ ก็ทำให้ Bertone ต้องตั้ง
ตำแหน่งเก้าอี้ให้ต่ำลง ทำให้ตำแหน่งการขับขี่ผิดเพี้ยนไป คนตัวสูงนั่งไม่สบายและทัศนวิสัยก็แย่ กล่าวได้ว่า
มันคือรถที่ Volvo สร้างโดยโยนปรัชญาการออกแบบทุกอย่างของตัวเองทิ้งไปหลายข้อ เพื่อลองหาความ
เป็น “อินดี้” ในตัวนั่นเองครับ

ad_volvo_242gt_silver_1978

กลับมาต่อที่รถ 240 Series กันบ้าง ในปี 1978 Volvo ก็เผยโฉมรุ่นพิเศษที่ดูจะโฟกัสเรื่องขับสนุก
ขับมันส์แบบจริงจังบ้าง มันคือ 242 GT ซึ่งมาในบอดี้คูเป้ ช่วงแรกๆจะมีแต่สีเงินคาดสติกเกอร์เท่านั้น
242 GT จะได้ชุดคิทกันชนดำ ภายนอกขลิบขอบดำ ล้ออัลลอย 20ก้านขนาด 14 นิ้ว ยาง Pirelli CN36
ขนาด 185/70 ลิ้นหน้า ภายในผ้าสีดำ ตกแต่งแถบสีส้มภายใน กระจกหน้าต่างแบบกรองแสง
พวงมาลัยสปอร์ตเฉพาะรุ่น กระจังหน้าพ่นสีเงินด้าน ฝังสปอตไลท์คู่ คันเกียร์มีระยะเข้าเกียร์สั้นกว่า
รถรุ่นปกติ มีระบบส่งกำลังเพียงแบบเดียวคือเกียร์ธรรมดา M46 4 จังหวะ+Overdrive ไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังมีดิสก์เบรกหน้าแบบมีร่องระบายความร้อนแบบรถสมัยใหม่ (242 ตัวอื่นไม่มี)
พวงมาลัยเพาเวอร์เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน โช้คอัพสปอร์ตจับคู่กับสปริงแข็งกว่ารุ่นปกติ 30% แล้วยังมี
เหล็กกันโคลงหน้าและหลังที่ขนาดใหญ่ขึ้น

แต่ในเรื่องเครื่องยนต์นั้นก็ยังเป็น B21E 2.1 ลิตร 123 แรงม้าตัวเดียวกันกับ 244GL สร้างอัตราเร่ง
0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 11.1 วินาที ความเร็วสูงสุด 175 กม./ชม. (ส่วนในตลาดอเมริกาก็ใช้เครื่อง B21F
ที่ติดตั้งระบบ Lambda-Sond แรงม้าจะลดลงเหลือ 101 แรงม้า) 242GT จัดเป็นรถที่มีราคาแพง
เพราะสมัยเปิดตัวนั้นตั้งราคาไว้ 53,000 โครน (หน่วยเงินสวีเดน) ในขณะที่ 242 DL ธรรมดามีราคาแค่
38,000 โครนเท่านั้น

ส่วนรุ่น 265 ได้มีรุ่นหรู GLE กับเขาสักที นอกนั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆให้เห็น

p79sp-001

ในช่วงปลายปี มีการเปิดตัวรุ่น 245T (Transfer) ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆมันก็คือบอดี้สเตชั่นแวก้อนที่
นำมาบวกกับฐานล้อของ 264TE กลายเป็นสเตชั่นแวก้อนตัวยาวพิเศษบรรจุผู้โดยสารได้ 9-10 คน
หรือใช้ดัดแปลงเป็นรถพยาบาลก็ได้ รถรุ่นนี้มีกลุ่มลูกค้าส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียนในสวีเดนซึ่งเป็นโรงเรียน
ท้องถิ่นมีเด็กไม่มาก ไม่เหมาะจะใช้รถบัสนักเรียนขนาดใหญ่

ส่วนตลาดอเมริกานั้น รถ 240 Series ทั้งหมดจะได้กระจังหน้าและฝากระโปรงหน้าของ 260 Series มาใช้
แต่ยังเป็นไฟหน้ากลม ส่วน 260 Series ใช้หน้าเดิมแต่เปลี่ยนไฟหน้าเป็นแบบ 4 เหลี่ยมแทน

 

ไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรก (1979-1981)

R6211_Volvo_244_DL_244_GL_245_GL
บอดี้ส่วนหลักของรถและภายในยังคงเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่ชัดเจน ในรถ 240 Series
สเป็คยุโรปเปลี่ยนไฟหน้าจากแบบดวงกลม เป็น 4 เหลี่ยม โดยในรุ่น 244 ตัวล่าง, 245 และ 242
จะเป็นไฟหน้าทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วน 244GL จะเป็นไฟ 4 เหลี่ยมยาว กระจังหน้าใหม่ และในรุ่น
244 กับ 242 จะได้ไฟท้ายทรงใหม่ที่ออกแบบให้กินบริเวณด้านข้างมามากขึ้น มีไฟท้าย 2 แบบคือ
แบบที่ไฟถอยอยู่มุมบนตรงกลางไฟ และแบบที่ไฟถอยอยู่มุมในของไฟท้าย ตัวไฟท้ายจะแบ่งเป็น
ลักษณะคล้ายตาราง 5 ช่อง ฝรั่งเลยเรียกว่าไฟท้ายแบบ “5-Panel”

1979differentTaillamps

เรื่องไฟท้ายนี่เป็นเรื่องที่ผมปวดกบาลที่สุดว่าแบบไหนอยู่ในรุ่นไหนหรือประเทศใด เพราะจากการค้น
ในเว็บต่างๆ ได้ไอเดียมาว่าไฟท้ายของรถสเป็คอเมริกันจะมีไฟถอยขนาดใหญ่อยู่มุมใน สเป็คยุโรป
ไฟมุมในจะเป็นสีแดง ย้ายไฟถอยมาอยู่ช่องกลางบน แต่พอค้นจริงๆก็พบว่าในอังกฤษมีไฟท้าย
ทั้งสองแบบอยู่ในโบรชัวร์ เนเธอร์แลนด์มีไฟท้ายตามสเป็คยุโรป สวีเดนมีไฟท้ายแบบสเป็คอเมริกัน
และออสเตรเลียมีไฟท้ายทั้ง 2 แบบแต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบอเมริกัน (ทั้งหมดนี้ไม่มีบทความที่จำแนก
เรื่องไฟท้ายให้อ่าน ผมต้องเปิดเว็บ Turbobricks แล้วนั่งอ่าน Reply ของแต่ละคนทีละคนเพื่อจับความ
ให้ได้มา เรื่องนี้คงต้องให้คนรุ่นพ่อที่เชี่ยวชาญและเกิดทันช่วยชี้แนะ)

R5979_Volvo_244_GL_D6

ในปี 1979 นี้ยังมีของดีเพิ่มมาอีกรุ่น หลังจากที่เครื่องยนต์ดีเซลได้รับความนิยมในหลายตลาดในช่วง
วิกฤตการณ์น้ำมัน Volvo ก็เลยเอาเครื่องยนต์ดีเซลจาก Volkswagen มาใช้ ทั้งๆที่ความจริง Volvoเอง
ก็ทำเครื่องดีเซลขายในรถเชิงพาณิชย์และเคยสร้างเครื่องดีเซลมาหลายรุ่น แต่เครื่องดีเซล 6 สูบเรียง
ของ VW นั้นมีความสั่นสะเทือนน้อย (ผลดีจากการเป็น 6 สูบ) จึงถูกเลือกมาใช้ Volvo 244 ที่ใช้เครื่องดีเซล
จะมีชื่อเรียกว่า 244GL D6 เครื่องยนต์ 2,383 ซี.ซี. 82 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 140 Nmที่ 2,800 รอบต่อนาที
สามารถเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ใน 17.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 148 กม./ชม. นอกจากมีความแรงเมื่อเทียบ
กับรถของคู่แข่งแล้ว ยังนับว่าเป็นรถเก๋งรุ่นแรกของยุโรปที่ใช้เครื่องดีเซลแบบ 6 สูบ (เบนซ์ 300D W123
สมัยนั้นเป็น 5 สูบ)

ในตลาดประเทศฟินแลนด์ และประเทศอื่นๆที่มีกำแพงภาษีคิดจากความจุเครื่องยนต์ Volvo ยังออก
รุ่น 244GL D5 ตามออกมาด้วย รุ่นนี้จะเป็นเครื่อง 5 สูบ 2.0 ลิตร แรงม้าลดเหลือ 60 แรงม้า

R5976_Volvo_242_GT

และสำหรับคนที่ชอบความแรง มาคราวนี้ 242GT เปลี่ยนเป็นเครื่อง B23E High Compression
ขนาดความจุ 2,315 ซี.ซี. ใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดกลไก Bosch K-Jetronic มีแรงม้าเพิ่มเป็น
140 แรงม้า/5,750 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 191Nm/4,500 รอบต่อนาที ทำอัตราเร่ง 0-100 กม.ได้
ภายใน 10.5 วินาที ความเร็วสูงสุดเพิ่มเป็น 180 กม./ชม. ระบบส่งกำลังยังเป็นธรรมดา 4 จังหวะ+OD
เช่นเดิม

ดูจากภายนอก จะสังเกตได้ว่าไฟท้ายเปลี่ยนเป็นแบบรุ่นใหม่ (ไฟถอยอยู่มุมใน) แถบสติกเกอร์สีที่
คาดอยู่ข้างรถจะคาดเลยขึ้นไปถึงบริเวณฝากระโปรงท้าย ส่วนด้านหน้านั้นจะใช้ไฟหน้ากลมแบบ
รถโมเดลก่อนไมเนอร์เชนจ์ และเป็นรุ่นเดียวที่ยังใช้ไฟกลมอยู่ ช่วงล่างปรับแข็งเพิ่มจาก 242GT รุ่นเดิม
อีก 5% แต่ลดขนาดของเหล็กกันโคลงด้านหลังลงเพราะต้องการลดอาการท้ายปัดเวลาเลี้ยวแรงๆลง
แล้วยังเพิ่มมุมแคสเตอร์ของล้อหน้าจาก 2.5 เป็น 3.5 องศาเพื่อเพิ่ม Feedback ของพวงมาลัยอีกด้วย

 

การที่ 242GT ได้เครื่องยนต์ 2.3 ลิตรกำลังสูงมาใช้ก่อนใครนั้นก็เพราะว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น
หน่วย R-Sport ซึ่งเปรียบได้กับ M-Division (BMW) หรือ AMG (Mercedes-Benz) ได้รับคำสั่งให้
สร้างเครื่องยนต์กำลังสูงกว่า B21E รุ่นเดิม เพื่อนำไปขายให้กับกลุ่มลูกค้ามอเตอร์สปอร์ตที่ต้องการ
ใช้รถของ Volvo ในการแข่ง ทาง Volvo เห็นว่าถ้าทำเครื่องมาดีและทนจริง ทำไมไม่เอามาใส่ใน
รถยนต์นั่งแล้วขายจากโชว์รูมเลย นี่คือที่มาของ 242GT 2.3 แห่งปี 1979

R6177_Volvo_264_GLE

หันมาดูที่รุ่นพี่อย่าง 260 Series บ้าง เนื่องจากของดีหลายอย่างมีอยู่แล้ว กระจังหน้าก็สวยอยู่แล้ว
ด้านหน้าของรถเลยดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนไป แต่ด้านท้ายนั้น 264 กับ 262C จะได้ไฟท้ายแบบใหม่
ลายตารางแบ่ง 6 ช่อง (6-Panel Tail Lamp) ไฟถอยอยู่ช่องกลางด้านบน และมีการเปลี่ยนฝา
กระโปรงหลังเป็นแบบโค้งเช่นเดียวกับ 244 และ 242 มีการเพิ่มรุ่น 264GLE ที่ใส่อุปกรณ์แบบหรู
ทั้งคันมา (กระจกไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ กระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้า และมีพนักพิงศรีษะ
สำหรับเบาะคู่หลัง) และตัดรุ่น 264DL (V6 แต่ดันเน้นประหยัดออพชั่น)ออกไป ส่วนรุ่น 264GL ยังอยู่
ส่วนรุ่นสเตชั่นแวก้อนก็จะมีรุ่น 265GL และ 265GLE เช่นเดียวกับตัวซาลูน

เครื่องยนต์ B27E ได้รับการปรับปรุงเพิ่มกำลังอัดจาก 8.7 เป็น 9.5 ต่อ 1 ทำให้ได้แรงม้าเพิ่มเป็น
148 แรงม้า แรงบิดเพิ่มเป็น 218Nm

ในตลาดประเทศกรีซ และอิสราเอล มีการนำเอาบอดี้ 264 มาใส่เครื่อง 4 สูบความจุโคตรเล็ก
เพื่อเอาใจลูกค้าท้องถิ่นที่นิยมรถเครื่องเล็ก เอาแค่พอวิ่งได้ขำขำ Volvo ทำเครื่อง B17A โดยเอา
เครื่อง B19A มาลดระยะช่วงชักลง เหลือ 1,784 ซี.ซี. มีพลัง 90 แรงม้า

p80244-007

ในช่วงปลายปี 1979 ต่อมาจนถึงปี 1980 นั้น Volvo ที่สวีเดนมีการเอาเครื่อง B23E 2.3 ลิตร 140
แรงม้าจาก 242GT มาใส่ในรุ่น 4 ประตู ทำให้เกิดเป็นรุ่น 244 GLT (Grand Luxe Touring)
ช่วงปลายปี 1979 นั้น 244 GLT ถูกนำไปโชว์ตัวที่เยอรมันแล้วก็ขายออกไปในจำนวนที่น้อยมาก
จนหารูปแทบไม่ได้ สิ่งที่บ่งบอกว่ามันคือ GLT จากปี 79 ก็คือบอดี้เป็น 4 ประตู แต่เครื่องเป็น B23E
กระจกมองข้างเป็นก้านเล็กเหมือน 240 Series รุ่นเก่า และไม่มีโลโก้ GLT ที่กระจังหน้า พอเข้าปี
1980  Volvo ก็ยกเลิกการทำตลาด 242GT ในประเทศ ปล่อยขายแต่รถที่มีอยู่ในสต็อคเท่านั้น
แต่ประเทศอื่นเช่นอเมริกากับออสเตรเลียจะโชคดีที่ได้ใช้ 242GT ต่อไปจนถึงปี 1982

242GT_80
(242GT Coupe จากโบรชัวร์ออสเตรเลียปี 1980)

ดูเหมือนว่าความนิยมรถคูเป้ในตลาดสวีเดนจะน้อยลง ดังนั้นพวกเขาจึงทยอยลดความสำคัญของ
บอดี้คูเป้ลงทีละนิดและปรับปรุงรุ่น 244 และ 245 ให้มีหลากหลายรุ่นขึ้น ตัวสำคัญของปีนี้ก็คือ GLT
ซึ่งเริ่มจำหน่ายมาตั้งแต่ปลายปี 1979 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ B23E 4 สูบ 140 แรงม้า กับ B27E V6 2.7 ลิตร
148 แรงม้า กรอบกระจกหน้าต่างสีดำอโนไดซ์ ช่วงล่างใช้โช้คอัพแก๊สสเป็คสปอร์ต แข็งกว่าพวก DL, GL
แต่ยังไม่ถึงขั้นสปอร์ตจ๋าแบบ GT (เหล็กกันโคลงเล็กกว่า สปริงปกติ) มีจุดเด่นคือโลโก้ GLT บนกระจังหน้า
และมีลิ้นหน้าขนาดค่อนข้างใหญ่ รถ GLT จะมีล้อขนาด 14 นิ้วยาง 195/70 แต่ถ้าอยากซิ่งก็จะมีล้อลาย
5 ก้านตันขนาด 15 นิ้วพร้อมยาง 195/60 ให้เลือก (บางตลาดในยุโรปเช่นที่อังกฤษจะให้เป็นอุปกรณ์
มาตรฐาน..แต่กลับไม่มีเครื่อง V6 ให้เลือก)

ที่มาของรถรุ่น GLT นี้ บางคนอาจจะบอกว่ามาจาก 242GT แต่ความจริงแล้วมันคือรถที่ถูกออกแบบมา
เพื่อใช้เป็นรถตำรวจสวีเดน และอังกฤษ ซึ่งการสร้างรถที่เหมาะสม นอกจากความแกร่งแล้ว พวกเขาต้องการ
รถที่มีพลังสูงกว่ารถทั่วไปในขณะที่ช่วงล่างกับการบังคับควบคุมก็ต้องดีเช่นกัน ก็เลยเอาบอดี้ซาลูน
มาใส่เครื่องของ 242GT เซ็ตช่วงล่างซะใหม่ออกมาเป็น 244GLT ตัว 4 สูบ ส่วนเครื่อง V6 นั้นก็ใส่มา
ให้เป็นตัวเลือกเฉยๆ และถ้าเป็นรถ 245GLT ตัวแวก้อนก็จะมีแต่เครื่อง V6 ให้เลือก

R5998_Volvo_244_GLE

Volvo ยังขยายตัวเลือกเพื่อให้เหมาะกับรสนิยมลูกค้าด้วยการเพิ่มรุ่น 244GLE ซึ่งเหมาะกับพวก
เท้าหนักแต่รักสบาย ตัวรถจะเหมือน 244GL เกือบทุกอย่าง ตกแต่งด้วยโครเมียมเหมือนกัน (ไม่ใช่ Trim
ดำแบบ GLT) ใช้ช่วงล่างแบบธรรมดา เพิ่มอุปกรณ์เน้นหรู แต่มีลิ้นหน้า GLT มีโลโก้ GLE บนกระจังหน้า
และใช้เครื่อง B23E 140 แรงม้าเหมือนของ GLT

ในปี 1980 จะสังเกตได้อีกอย่างว่ารถตระกูล 240 Series จะเปลี่ยนกระจกมองข้างจากแบบก้านเล็ก
ทรงโบราณไปเป็นก้านยึดติดมุมกระจกเหมือนของ 260 Series ทำให้ตัวรถเริ่มดูทันสมัยขึ้นนิดๆ

ในอเมริกามีการเปลี่ยนชื่อรุ่นใหม่ ไม่มีคำว่า 244, 242, 245, 264, 265 ท้ายรถอีกต่อไป รถอย่าง 244DL
กับ 245DL ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “Volvo DL” ส่วน 244GL ก็กลายเป็น “Volvo GL” 264GLE กลายเป็น “Volvo GLE”
และ 242GT ก็เรียกสั้นๆแค่ว่า “Volvo GT”

 

ไมเนอร์เชนจ์ครั้งที่ 2 (1981-1986)

ช่วงส่งท้ายยุค 70s ถือว่าเป็นปีลำบากของ Volvo เพราะตลาดใหญ่อย่างอเมริกามีคู่แข่งหน้าใหม่
อย่างรถขนาดเล็กของญี่ปุ่น บวกกับวิกฤตการณ์น้ำมันทำให้หลายคนไม่อยากซื้อรถ หรือถ้าซื้อ
ก็จะซื้อรถญี่ปุ่นขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมันกว่า แถมยังผีซ้ำด้ำพลอยที่บ้านเกิดเมื่อรัฐบาลสวีเดน
ประกาศนโยบายค่าตอบแทนแรงงานใหม่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านคนงานสูงขึ้น แค่ปี 1975 ปีเดียวก็
พุ่งปรี๊ดขึ้น 22% แล้ว ทำให้อนาคตของ Volvo อยู่บนขื่อ รถ 240 กับ 260 ที่ผลิตออกมาต้องถูกจอด
ค้างสต็อคอยู่หลายวันกว่าจะเคลียร์ไปได้ ทำให้ Volvo ตัดสินใจสร้างรถรุ่นใหม่โดยเปิดโครงการ P31
(ซึ่งต่อมาจะกลายเป็น Volvo 740/760)

แต่ปัญหาคือ P31 นั้นแม้จะออกวิ่งทดสอบมาตั้งแต่ปี 1978 แต่มันยังต้องผ่านการทดสอบอีกหลายอย่าง
และยังไม่พร้อมที่จะเปิดตัวจนกว่าจะถึงปี 1982 ทาง Volvo จึงอนุมัติให้เดินหน้าโครงการ
ไมเนอร์เชนจ์ให้กับ 240/260 Series เพื่อเป็นถุงยังชีพให้แก่ Volvo จนกว่าจะถึงวันนั้น ในช่วงปลายปี
Volvo ก็เผยโฉม 240/260 Series “ไมเนอร์เชนจ์ใหญ่” ขึ้น

U008

240 Series ได้กระจังหน้าและไฟหน้าใหม่ กันชนเล็กลงกว่าเดิม เส้นจากด้านบนของไฟหน้าซ้าย
ลากผ่านกระจังหน้าไปด้านขวาจะเป็นเส้นตรงตลอด (ฝรั่งเลยเรียกโฉมแบบนี้ว่า “Flathood”)
กรอบกระจกเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ จากเดิมกรอบเป็นโครเมียมทั้งชิ้น (ยกเว้นพวก GLT,GT) เปลี่ยนเป็น
กรอบสีดำ แซมโครเมียมด้านล่าง หรือไม่ก็ใช้กรอบสีดำนั่นล่ะ แล้วล้อมรอบนอกด้วย
โครเมียมอีกทีนึง (โดยส่วนมากจะตกแต่งตามอย่างหลังครับ แต่ขึ้นอยู่กับรุ่น,ระดับความหรู
และสเป็คสำหรับแต่ละประเทศด้วย)

ไฟท้ายแล้วแต่สเป็คกับตลาดแต่ละประเทศ มีทั้งที่เป็น 5 Panelแบบเดิม กับแบบ 6 Panel ที่ยกมาจาก
ของ 260 Series ส่วนภายในรถนั้นก็มีการเปลี่ยนแดชบอร์ดทรงเหลี่ยม มีช่องสำหรับติดตั้งเกจ์วัดเสริม
ด้านบนสุดซึ่งอยู่ใกล้ระยะสายตา เปลี่ยนแผงมาตรวัดใหม่ตามไปด้วย

U013

เครื่องยนต์ได้รับการอัพพลังขึ้น ในรุ่นพื้นฐานจะใช้เครื่อง B21A คาร์บิวเรเตอร์ เพิ่มพลังจาก 97
เป็น 102 แรงม้าเพราะกำลังอัดเพิ่มจาก 8.5 ไปเป็น 9.3:1 ส่วนเครื่อง B21E ก็ยังมีใช้อยู่ในหลายตลาด
(GLE ในสวีเดนกับออสเตรเลียจะใช้เครื่อง B23E ในขณะที่อังกฤษจะยังใช้ B21Eอยู่) แรงม้า 123 ตัว
เหมือนเดิม แต่จูนให้ประหยัดน้ำมันและมลพิษน้อยลง แรงบิดถอยจาก 170 เหลือ 162Nm
ส่วนเครื่อง B23E ก็ปรับให้สะอาดขึ้นเช่นกัน แรงม้าถอยลงจาก 140 เหลือ 136 แรงม้า

R6203_Volvo_244_GLT

รุ่น GLT ก็ได้รับการปรับโฉมเช่นกัน แต่ยังรักในธีมเด้นเส้นกระจกและกระจังหน้าดำเหมือนเคย
เพื่อความดุ รุ่น 4 สูบใช้เครื่อง B23E 136 แรงม้า ส่วนรุ่น V6 จะได้เครื่องปรับปรุงใหม่รหัส B28E
เพิ่มความจุเป็น 2,849 ซี.ซี. แรงม้าเพิ่มจาก 148 เป็น 155 แรงม้าที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด
เพิ่มเป็น 230Nm ที่ 3,000 รอบต่อนาที GLT ทุกรุ่นจะมีระบบส่งกำลังแบบธรรมดา 4 จังหวะ+
Overdrive ไฟฟ้า และเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ แพทเทิร์น P-R-N-D-2-1 ให้เลือก นอกจากนั้นแล้ว
ยังเพิ่มรุ่น GLT 4 สูบตัวถังสเตชั่นแวก้อนมาให้เลือกอีกอย่าง GLT ในสวีเดนจะใช้ล้อมาตรฐาน
แบบสปอร์ต 14 นิ้ว ยาง 185/70 และมีออพชั่นล้อ 195/60/15 ให้เลือก

แต่ GLT เป็นแค่น้ำจิ้ม.. ของเด็ดจริงจะอยู่ที่นี่ครับ

R6095_Volvo_PV_4_and_Volvo_244_Turbo

Volvo Turbo (244 Turbo)! ครั้งแรกของทางค่ายสำหรับการนำเครื่องเทอร์โบมาใส่ในรถยนต์นั่ง
ขายจริง 244 Turbo นั้นดูภายนอกเผินๆก็จะเหมือนรุ่น GLT ตรงที่ได้กระจังหน้าและเส้นเดิน
ขอบกระจกสีดำ และได้ไฟท้าย 6-Panel แบบเดียวกับของ 264 มีโช้คอัพแก๊สแบบสปอร์ตให้มา
เหมือนกัน มีพวงมาลัยเพาเวอร์มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน (อ้างอิงจากสเป็คสวีเดน- GLT
ที่เป็นรุ่น 4 สูบพวงมาลัยเพาเวอร์จะต้องสั่งพิเศษ ส่วนตัว V6 มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน)
ส่วนหมอนรองศีรษะแบบตันนั้นบางตลาดจะต้องสั่งเป็นออพชั่น แต่ส่วนที่แตกต่างชัดเจน
คือล้ออัลลอย 5 ก้าน กับยาง 195/60 ขอบ 15 กับโลโก้ Turbo ที่กระจังหน้าและท้ายรถเท่านั้น
ถ้าเจ้าของ GLT สั่งออพชั่นล้อ 5 ก้านด้วยแล้วเวลาวิ่งมาด้วยกันแยกความต่างแทบไม่ออก
ส่วนภายในนั้น รถ 244 Turbo จะมีเกจ์วัดบูสท์เพิ่มมาให้

U011 zB21ETmotoren

พละกำลังเครื่องยนต์..นี่สิความต่างของจริง 244 Turbo จะใช้เครื่องยนต์ B21ET ขนาดความจุ
2,127 ซี.ซี. กระบอกสูบ 92.0 มม. x ช่วงชัก 80 มม. หน้าตาเครื่องจะเหมือน Redblock B21E มาก
แต่มีเทอร์โบเพิ่มมาทางฝั่งซ้าย(มองจากหน้ารถ) มีท่ออากาศยิงพาดฝาครอบวาล์วมาลงท่อไอดี
มีอักษรคำว่า “Turbo” อัตราส่วนกำลังอัดต่ำแค่ 7.5:1 ตามสไตล์เครื่องเทอร์โบยุคเก่าซึ่งส่งผลให้
การตอบสนองของเครื่องที่รอบต่ำๆนั้นแย่กว่า B21E ธรรมดาเสียอีก แต่หลังจาก 3,000 รอบเป็นต้นไป
เมื่อเทอร์โบสร้างบูสท์ 5.6 PSI โดยไม่มีอินเตอร์คูลเลอร์ มันจะมีแรงม้า 155 แรงม้าที่ 5,500 รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุด 240Nm ที่ 3,750 รอบต่อนาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 4 สปีด+ Overdrive ไฟฟ้าเพียงแบบเดียว
ในระยะแรก

R6207_Volvo_240_Turbo

อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. จบภายใน 9.0 วินาที ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 195 กม./ชม. นับว่าเป็นรถมาด
ครอบครัวที่วิ่งได้เร็วมากในยุคนั้นซึ่งรถเก๋งส่วนใหญ่จะมีแรงม้าอยู่แถวๆ 80-130 แรงม้าเท่านั้น
หากเทียบกับคู่แข่งจากฝั่งยุโรปเช่น Mercedes-Benz 280E W123 และ BMW 528i E12 แล้วจะพบว่า
พวกเยอรมันล้วนพกม้ามา 181-185 ตัวทั้งนั้น แรงบิดน้อยกว่า 244Turbo เพียงเล็กน้อยแต่ต้องลาก
รอบกันเกิน 4,000 การทำความเร็วในช่วง 2 เกียร์แรกจึงโดนเทอร์โบไวกิ้งดูดตูดเอาได้ง่ายๆ

ส่วนที่อเมริกานั้น แน่นอนว่าการที่ต้องปรับจูนให้ใช้เชื้อเพลิงออคเทนต่ำ และเน้นเรื่องมลภาวะมาก
ทำให้ Volvo ต้องปรับแต่งเครื่อง B21ET ใหม่ กลายเป็น B21FT ซึ่งแรงม้าจะหดลงเหลือแค่ 127 แรงม้า
วางใน Volvo GLT Turbo (อเมริกาเลิกเรียกชื่อรุ่นตัวเลขไปตั้งแต่ปีก่อนแล้ว) นอกจากนี้ฝั่งลูกพี่มะกัน
ยังน่าสงสารอีกอย่างคือทั่วโลกเขาได้ไมเนอร์เชนจ์ได้หน้าหล่อๆกันหมดแล้ว แต่เนื่องจากกฎหมาย
อเมริกันบังคับให้ใช้ไฟหน้าแบบ Sealed-beam ที่เป็นหลอดแยกดวง ทำให้ Volvo ตัดสินใจใช้กระจังหน้า
ไฟหน้าและกันชนแบบเดิมเหมือนรุ่นปี 1979

นอกจากเครื่อง B21ET ในยุโรปกับ B21FT ในอเมริกาแล้ว ในบางประเทศอย่างอิตาลี โปรตุเกส และ
ฟินแลนด์ยังมีเครื่อง B19ET ขายด้วย เพราะประเทศเหล่านี้ชาร์จภาษีรถที่เกิน 2.0 ลิตรแพงมาก
ดังนั้น Volvo ก็เลยลดความจุลงให้เหลือ 1,986 ซี.ซี. แต่ยังอุตส่าห์ปั่นม้าได้ 145 แรงม้าเชียวนะ

R6122_Volvo_264_GLE

ทีนี้ เราทราบเรื่องการอัพเดทโฉมและพลังของ 240 Series แล้ว..เจ้า 260 Series ตัวหรูล่ะ? แน่นอนครับ
260-Series ได้ทั้งไฟหน้าและกระจังหน้าใหม่เช่นเดียวกัน แต่กระจังจะตั้งชันกว่า 240-Series และฝากระโปรง
หน้าก็จะโหนกนูนรับกัน ฝรั่งเรียกรุ่นนี้ว่า “Big Nose” หรือ Bulge Hood แน่นอนว่าภายในก็ได้แดชบอร์ดใหม่
เครื่องยนต์ที่ใช้ก็เป็น B28E สเป็คเหมือนกับ 244GLT/245GLT V6 นั่นเอง แต่ช่วงล่างจะเน้นความนุ่ม
สไตล์หรูผู้ดีมากกว่า ในรุ่นหรูอย่าง 264GLE จะมีออพชั่นอำนวยความสะดวกครบครัน เบาะนั่งหุ้มหนัง
อย่างดี  กระจกไฟฟ้า 4 บานพร้อมเซ็นทรัลล็อค กระจกมองข้างปรับไฟฟ้า กระจกกรองแสงเป็นต้น
และสามารถสั่งพนักรองศรีษะแบบตันทั้งเบาะหน้า/หลังเพิ่มได้ ล้ออัลลอยของ 260 Series จะเป็นลาย
25 ก้านขอบ 14 นิ้ว ซึ่งเป็นลายเฉพาะรุ่น (โคตรฝันร้ายเลยเวลาทำความสะอาดแต่ละที)

ในอเมริกา Volvo เครื่อง V6 จะใช้ชื่อรุ่นว่า Volvo GLE 2.8 และใช้เครื่อง B28F พร้อมระบบ Lambda-Sond
ปรับอัตราส่วนกำลังอัดต่ำรองรับน้ำมันเชื้อเพลิงออคเทนต่ำ ทำให้แรงม้าลดลงเหลือ 130 แรงม้า

R6119_Volvo_262_C

ในปี 1981 นี้ 262C Bertone ผลิตเป็นปีสุดท้ายแล้ว พวกรถล็อตท้ายๆนั้นหลังคาจะไม่หุ้มไวนิล
ส่วนเครื่องยนต์จะใช้เครื่อง B28E/B28F เหมือนกับ 264

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1982 Volvo สวีเดนเผยโฉมรถซาลูนรุ่นใหม่ในชื่อ 760GLE ซึ่งมีตำแหน่ง
ทางการตลาดทับซ้อนกับ 264GLE (เพราะที่จริง 760 คือรถที่ออกมาเพื่อทดแทน 264) ทำให้บทบาท
ของ 264 บอดี้ซาลูนในสวีเดนเริ่มถูกลดทอนลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ในบางประเทศที่ 760GLE ยัง
ไม่เข้าไปทำตลาด 264GLE ก็ยังรับหน้าที่เป็นรถหรูของค่ายต่อไปก่อนที่จะหมดวาระลงอย่างช้าๆ
ในขณะที่ 265 ตัวแวก้อนยังคงขายต่อไปหลังจาก 264 สิ้นวาระ ทั้งนี้เพราะ 760 ยังไม่มีรุ่นสเตชั่นแวก้อน

R6124_Volvo_265_GLE

ไม่นานหลังจากนั้น พอขึ้นปี 1983 Volvo ก็เปลี่ยนวิธีการเรียกชื่อรถตัวเองใหม่ และเปลี่ยนป้ายชื่อรุ่น
ข้างหลังรถไปด้วย จากเดิมที่เราจะเห็นตัวเลข 242, 244, 245 ก็ถูกรวบเป็น 240 และรุ่น 264 กับ 265
ก็ถูกรวบเป็น 260 นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในเชิงการตลาด ในเอกสาร โบรชัวร์และป้ายท้ายรถ แต่เลข
ตัวถัง VIN ของรถจะยังคงระบุแยกเป็น 242,244,245,264 และ 265 อยู่

U014

อย่างที่ได้บอกว่าพอ 760GLE เปิดตัว 264 ซาลูนก็ถูกลดทอนบทบาทลงมา เราเลยได้มีเรื่องให้ชวนงง
เป็นเรื่องที่ผมหาข้อมูลอยู่นานมากว่าทำไมรถ 240GL ของคุณลุงผมจึงมักถูกเหมาว่าถูกดัดแปลงมา
เอากระจังหน้า 264 มาใส่ และทั้งลุง และผม กับเจ้าของคนแรกซึ่งเป็นเพื่อนพ่อ ก็ยืนยันว่าไม่เคยดัดแปลง
และนั่นคือหน้าตาของมันนับตั้งแต่วันที่ซื้อ ผมมาทราบเฉลยเอาว่าในช่วงปีที่ 264 เริ่มเลิกขายไปนั้น
รถ 240 ในบางประเทศจะได้รับกระจังหน้าและฝากระโปรงหน้าชุดใหม่ ซึ่งก็ยกมาจาก 264 นั่นล่ะครับ
อย่างรถอังกฤษกับเนเธอร์แลนด์นั้นจะมีหน้ารถกับท้ายรถที่เหมือน 264 เลย ต่างกันเพียงแค่ซี่กระจัง
ของ 264 เป็นโครเมียม แต่ 240 จะเป็นซี่สีดำ

แต่ในขณะเดียวกัน รถปี 1983 ของตลาดสวีเดน กลับใช้กระจังและฝากระโปรงหน้าแบบ Flathood
ต่อไป..เอากับไวกิ้งสิเอา..

R6108_Volvo_240_Turbo

สำหรับรุ่น 240 ในปี 1983 นั้น ได้มีการเพิ่มรุ่น 240 Turbo ESTATE ซึ่งก็คือการเอาเครื่อง B21ET
เทอร์โบ 155 แรงม้าไปวางลงในบอดี้สเตชั่นแวก้อนนั่นเอง ทำให้มันกลายเป็นรถครอบครัวสเตชั่นแวก้อน
รุ่นแรกของโลกที่มีการติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จเจอร์จากโรงงาน และถือว่าเป็นรถแวก้อน
ที่มีฝีเท้าเร็ว หาตัวจับยาก มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ Volvo เคลมว่ามันเป็น “สเตชั่นแวก้อนที่เร่ง 0-100 ได้เร็วที่สุดในโลก”
แต่ก็ยังน่าสงสัยอยู่ว่าถ้าหลัง 100 ไปจะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับเยอรมัน 6 เม็ดอย่าง Mercedes-Benz
280TE S123 (W123 ตัวแวก้อนนั่นเอง)

U015

ส่วนรุ่น 240GLT นั้น ในปีก่อนเคยมีรุ่น V6 2.8 ลิตรให้เลือก พอขึ้นปี 1983 Volvo ก็เลิกใส่เครื่องนี้ลงใน
GLT ทำให้เหลือขุมพลังเพียงแบบเดียวคือ B23E 2.3 ลิตร 136 แรงม้า (ในรูปเป็นโบรชัวร์ของสเป็ค
ประเทศอังกฤษ)

 

240 Turbo Group A “The Flying Brick”

Volvo 240 Turbo

ในช่วงปี 1982 Volvo มีความสนใจที่จะสร้างรถเข้าแข่งรายการมอเตอร์สปอร์ตต่างๆ เช่น ETCC
หรือการแข่งขันรายการอื่นที่มี FIA คอยคุมกฎอยู่ และได้มีการประกาศเพิ่มคลาส Group A
ขึ้นมา โดย FIA ได้วางเกณฑ์เอาไว้ว่ารถที่จะเอามาแข่งในคลาสนี้ได้ ต้องเป็นโมเดลที่มีการผลิต
ขั้นต่ำ 5,000 คันต่อปี และต้องมี 4 ที่นั่ง จากนั้นจะต้องสร้างรถรุ่นพิเศษออกมาอย่างน้อย 500 คัน
(คือไอ้ 5,000 คันต่อปีนั้นจะเป็นรถแบบไหนก็ได้แต่ต้องเป็นโมเดลที่จะเอาเข้าแข่ง ส่วน 500 คันหลัง
นั้นจะต้องเป็นโมเดลพิเศษที่มีดีกรีใกล้เคียงกับเวอร์ชั่นที่จะเอามาลงแข่งมากขึ้น..ลองนึกถึง
Subaru Impreza ธรรมดา กับ Impreza WRX ดูแล้วกันครับ)

Volvo 240 Turbo

Volvo 240 Turbo Group A Illustration

Volvo สนใจเข้าลงแข่งใน Group A ด้วย จึงได้ทำรถ 240 Turbo Evolution ขึ้น รถเหล่านี้จะใช้
บอดี้ 240 2 ประตู (242) กระจังหน้าเป็นแบบ Flathood เหมือนรถสเป็คสวีเดน ใช้เครื่องยนต์ B21ET
เปลี่ยนเทอร์โบจาก Garett T03 เป็น T04 ติดอินเตอร์คูลเลอร์ เพิ่มบูสท์เป็น 1.05 บาร์ เปลี่ยน
แคมชาฟท์ใหม่ เปลี่ยนคลัตช์และฟลายวีลใหม่แถมยังมีระบบ Water Injection ฉีดละอองน้ำเพื่อ
ลดความร้อนไอดีและเพิ่มพลังให้เครื่อง ระบบจ่ายน้ำมัน Bosch K-Jetronic ถูกโมดิฟายใหม่
ทำให้มีแรงม้าประมาณ 225 แรงม้า ใช้เกียร์ Getrag 5 จังหวะพร้อมลิมิเต็ดสลิป
จากนั้น Volvo ก็ส่งรถล็อตแรกไปให้ FIA ทำการตรวจสอบและทำ Homologation ในช่วงเดือน
กรกฎาคม 1983 รถที่ผลิตมาทั้ง 500 คันถูกส่งไปที่อเมริกาแต่มีอีกราว 27-30 คันที่ถูกส่งกลับมา
สวีเดนเพื่อดัดแปลงเป็นรถสำหรับใช้แข่งจริง

Volvo 240 Turbo

และพวกรถที่ถูกส่งกลับมานี่เอง ที่ได้กลายร่างเป็นเจ้า 240 Turbo Group A  มีการ
ทำเครื่องใหม่ตั้งแต่ฝาสูบยันท่อนล่าง ใส่ลูกสูบฟอร์จทนแรงดันสูงพิเศษ เพิ่มโรลเคจ แม่แรงลม 4 มุม
และอุปกรณ์สำหรับการแข่งขันเข้าไปทั้งหมด เครื่องตัวแข่งของ Group A จะทานบูสท์ 1.5 บาร์
ทำให้มีแรงม้าตั้งแต่ 270-300 แรงม้า แรงบิดมากกว่า 420Nm ยิ่งถ้าใช้ระบบ Water Injection
ด้วยแล้วแรงม้าจะเพิ่มเป็น 330-350 แรงม้าเลยทีเดียว มีเฟืองท้ายตั้งแต่ 3.15-4.56 ให้เลือกใช้
ตามความเหมาะสมกับแต่ละสนามแข่ง ในปี 1984 Volvo ส่งรถให้ทีมแข่งอิสระลงเล่นก่อนและ
ได้ชัยชนะจากรายการ European Touring Car ที่เบลเยียม และ DTM ที่เยอรมัน จากนั้นในปี 1985
จึงได้ว่าจ้างทีมสวิสอย่าง Eggenberger Motorsport มาบริหารงานแข่งภายในชื่อ Volvo Dealer
Team Europe มีนักขับคือ Thomas Lindstrom, Sigi Mueller, Gianfranco Brancatelli และ
Pierre Dieudonne แล้วก็ยังส่งรถให้กับทีมอิสระอย่าง Magnum Racing ที่เคยใช้บริการมาตั้งแต่ปี 84
โดยให้ 2 ทีมนั้นแข่งกับค่ายอื่นแล้วก็แข่งกันเองไปด้วย

แต่มีปัญหาเกิดขึ้นในปี 1985 เพราะ FIA ได้รับข้อร้องเรียน (จากทีมคู่แข่งบางทีม) ว่ารถของ Volvo
ไม่ได้เป็นไปตามกฎ เพราะไม่ได้ขายรุ่น Turbo Evolution ให้ครบ 500 คันตามเกณฑ์ FIA จึง
เข้าตรวจสอบ และพยายามไปติดต่อขอซื้อรถ Turbo Evolution จากดีลเลอร์ต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถ
หารถได้ Volvo อ้างว่าพวกเขาได้ขายรถไปหมด 500 คันแล้ว ทาง FIA จึงบังคับให้ Volvo เปิดเผยชื่อ
ของลูกค้าเพื่อที่จะได้ขอตามไปพิสูจน์ดูรถ Volvo ไม่ยอมเผยชื่อลูกค้าชาวอเมริกาเหล่านั้น ทาง FIA
จึงประกาศสั่งแบน โดย Volvo จะหมดสิทธิ์แข่งตั้งแต่เดือนกันยายน 1985 เป็นต้นไป

1983_Volvo_242_Turbo_For_Sale_Front_1

อันที่จริง..สิ่งที่เราเพิ่งมาทราบกันภายหลังก็คือ รถ 240 Turbo Evolution ที่ขายในอเมริกาเกือบทั้งหมด
พอถึงโชว์รูมปุ๊บ ก็ถูกถอดอุปกรณ์ชุดแต่งออกไปเกือบหมดสิ้น เหลือไว้แค่เพียงลักษณะฝากระโปรง
ที่แบนแบบรถสเป็คสวีเดน ไม่ยื่นนูนแบบรถ GLT Turbo สเป็คอเมริกาทั่วไป ในปัจจุบันยังไม่มีใคร
สามารถยืนยันได้ว่ารถ Turbo Evolution แต่ละคันมีชะตากรรมเป็นอย่างไรบ้าง รถแต่ละคันก็ถูกถอด
อุปกรณ์ออกไปมากน้อยไม่เท่ากัน บางคนก็บอกว่า Volvo เอา 240 Turbo (GLT Turbo) รุ่นธรรมดา
มาจดเป็น Turbo Evolution ขาย แต่เนื่องจากรถที่พอหารูปได้ (คันสีแดง) เป็นรถที่มีหน้าตาเหมือน
240 ยุโรปที่เปลี่ยนไฟหน้าให้เป็นไปตามกฏหมายอเมริกา จึงเชื่อได้ว่า Volvo ใช้วิธีถอดของแต่งออกจากรถ
หลายคันก่อนขาย ในบางคัน เครื่องยนต์มีจุดต่างจาก GLT Turbo ธรรมดาแค่อินเตอร์คูลเลอร์
และดีลเลอร์ในอเมริกาบางรายก็เคลมว่า Turbo Evolution มีม้า 161 แรงม้า แม้หลายคนที่ได้ขับจริง
จะบอกว่ามันรู้สึกแรงกว่านั้น

แต่ในที่สุด Volvo ก็ออกมาแถลงว่าจะยอมเปิดเผยชื่อเจ้าของรถจำนวน 23 รายชื่อที่อยู่ในสวีเดน
และยุโรป เมื่อมีหลักฐานว่ามีรถรุ่น Turbo Evolution จำหน่ายจริง FIA ก็ยอมยกเลิกการแบนไป
Volvo ใช้ 240 Turbo Group A แข่งและสร้างชื่อเสียงไปทั่วตั้งแต่ยุโรปลงมาถึงออสเตรเลีย ซึ่งในสนามนั้น
นักแข่งยอมรับกันว่า 240 มีจุดอ่อนเวลาเข้าโค้ง แต่พอทางตรงเมื่อไหร่ต้องคอยระวังเพราะมันสามารถ
เร่งมาทิ่มตูดได้ภายในเวลาไม่นาน สนามแข่งอย่างรายการ Bathurst ที่ Mount Panorama มีช่วงทางตรง
ยาวมาก ทำให้มันสามารถเอาชนะคู่แข่งที่เป็นเครื่อง 6 สูบกับ 8 สูบได้หลายคัน สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบ
คือในช่วงที่แข่งนั้น Volvo ได้แอบพัฒนาระบบ Traction Control มาทดสอบกับ 240 Turbo Group A
หลายครั้ง และได้ผลดีมาก แต่ไม่เคยนำมาใช้ในการแข่งจริงเพราะกลัวว่าระบบจะบกพร่องแล้ว
ทำให้เสียโอกาสเสียเวลาในการแข่งไป

Volvo ใช้รถรุ่นนี้แข่งไปจนจบฤดูกาลปี 1986 ที่สนาม Estoril โดยรถแข่งในช่วงหลังนี้จะได้รับการ
ปรับเพิ่มพลังไปจนมากถึง 380 แรงม้า แต่พอแข่งจบรายการนี้แล้วหลังจากนั้นก็ถอนตัวจากการแข่ง
ยุบ Volvo Motorsport Division ทิ้งและปล่อยให้ทีมอิสระขนาดเล็กแข่งต่อไปกันเอง

 

ส่วนรถในสายการผลิตปกตินั้น ในปี 1984 ได้มีการปรับปรุงเรื่องการกันสนิม ใช้เทคโนโลยีกัลวาไนซ์
ในหลายชิ้นส่วนมากขึ้น (จากเดิมจะมีบางส่วนของรถเท่านั้นที่ชุบหรือพ่นกันสนิมก่อนเคลือบชั้นสี
ด้วยระบบไฟฟ้า) ที่ต้องทำก็เพราะรถปี 1974-75 ล็อตแรกๆหลายคันในเวลานั้นอายุเกือบทศวรรษแล้ว
ปัญหาเรื่องสนิมก็มีลูกค้าบ่นเข้ามากันเยอะ

ที่ตลาดอเมริกา Volvo GLT Turbo ได้รับการปรับจูนพลังจาก 127 เป็น 131 แรงม้า และมี
ออพชั่นชุด IBS -Intercooler Boost System ซึ่งก็คืออินเตอร์คูลเลอร์แบบอากาศสู่อากาศนั่นแหละ
เมื่อสั่งติดตั้งชุดนี้แล้ว Volvo ก็จะปรับบูสท์เพิ่มให้เป็น 10.5PSI ทำให้แรงม้าสูงสุดเพิ่มเปน 162 แรงม้า
ยิ่งช่วงครึ่งปีหลังนั้น Volvo USA ติดชุดคิทนี้มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานเลย ทำให้ Volvo GLT Turbo
ของ USA กลายเป็นรถบอดี้ 200-Series สเป็คโรงงานที่มีความแรงเป็นอันดับที่ 3 รองจากพวก
240 Turbo Evolution และ 240Turbo สเป็คท้ายๆของยุโรปบางประเทศที่ใช้เครื่อง 1.9 ลิตร แต่ทำแรงม้า
ได้ถึง 170 แรงม้า รถล็อตครึ่งปีหลังนี่จะมีจุดต่างจากเดิมเพิ่มอีกคือแผ่นคลัตช์มีขนาดโตขึ้นกว่าเดิม
และเกจ์วัดแรงดันน้ำมันเครื่องจากเดิมจะบอกค่าสูงสุดแค่ 3 บาร์ ของใหม่จะเปลี่ยนเป็น 5 บาร์
ดังนั้นถ้าเซียน Volvo คนไหนตบของมาจาก ebay แล้วเจอชุดเกจ์วัดแรงดันน้ำมัน 5 บาร์..ยินดีด้วยครับ
คุณได้ของเจ๋งที่หายากโคตรๆ

แต่ก็นั่นล่ะครับ งานปาร์ตี้เจ๋งๆมักจะเลิกเร็ว 240Turbo (GLT Turbo) มาถึงจุดรุ่งเรืองที่สุด
ในช่วงปี 1984-85 และหลังจากนั้น Volvo ก็เลิกทำรถ 200-Series เครื่องเทอร์โบไปเลย
นอกจากนี้ ปี 1985 ยังเป็นปีสุดท้ายของ 260 ESTATE ด้วย โดย Volvo ยกเลิกการทำตลาดทั้ง 2 รุ่น
ทั้งในสวีเดน ยุโรป และอเมริกา สาเหตุเพราะว่าในเวลาขณะนั้น Volvo 760 ทำตลาดมานานแล้ว
และมีบอดี้สเตชั่นแวก้อนออกมาแล้ว ทำให้ Volvo มีผู้เล่นในตลาดเน้นหรู ส่วนในตลาดระดับทั่วไป
740 ก็เปิดตัวมาเป็นปีแล้ว มี 2 บอดี้เช่นเดียวกัน และมีรุ่นเครื่องเทอร์โบออกมาเป็นเครื่อง 2.0 และ
2.3 ลิตร และได้เครื่องยนต์แบบธรรมดาที่เป็นบล็อคใหม่มาด้วยเช่นกัน ทำให้สถานภาพของ 240
จากเดิมที่เป็นตัวสร้างยอดขายด้วยและเป็นตัวแรงด้วย ลดลงมาเหลือเป็น “รถทางเลือก” สำหรับ
คนที่ยังชอบ Volvo ในสไตล์เก่าที่มองหาความคุ้มค่า ทนมือทนเท้าและปลอดภัย

ในขณะที่ 740 มาพร้อมกับเครื่องใหม่ๆหลายแบบ เครื่องยนต์เหล่านั้นบางตัวก็ได้ถูกนำมา
บรรจุอยู่ใน 240 ด้วยเช่นกัน

เครื่อง B200K พัฒนาต่อยอดมาจาก B19A ท่อนล่างเป็นแบบกระบอกสูบ 88.9 มม. ช่วงชัก 80 มม.
ความจุ 1,986 ซี.ซี. เหมือนเดิม จ่ายน้ำมันด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว อัตราส่วนกำลังอัด 10.0:1
มีแรงม้าเพิ่มเป็น 101 แรงม้าที่ 5,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 160Nm ที่ 2,400 รอบต่อนาที
เครื่องตัวนี้กลายเป็นม้างานหลักสำหรับ 240DL และ 240GL ในหลายประเทศทั่วโลก

ต่อมา เครื่อง B230A ก็คือเครื่อง B23 ตัวเก่านั่นเอง แต่ปรับปรุงฝาสูบและเพิ่มอัตราส่วนกำลังอัด
เป็น 10.3:1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์ Pierburg แรงม้าสูงสุด 110 แรงม้าที่ 5,000 รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุด 187Nm ที่ 2,500 รอบต่อนาที เครื่องตัวนี้มีขายในบ้านเราด้วยและเป็นเครื่องที่อยู่ใน
240/740 หลายคันในช่วงก่อนยุคนิยมหัวฉีดจะมาถึง

อีกเครื่อง คือ B230E  เป็นเครื่อง 2.3 ลิตรที่จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Bosch K-Jetronic มีแรงม้า
น้อยลงจาก B23E คือจาก 136 เหลือ 131 แต่ประหยัดเชื้อเพลิงขึ้นและปล่อยมลภาวะน้อยลง
ส่วนเวอร์ชั่นอเมริกาจะใช้เครื่อง B230F ที่ก้าวข้ามจากหัวฉีดกลไก K-Jet ไปใช้ Bosch LH 2.2 แล้ว
แต่แรงม้าจะน้อยกว่าเพราะกำลังอัดลดจาก 10.3 ใน B230E เหลือ 9.8 และเซ็ตให้เติมออคเทน 87 ได้
พลังจึงลดเหลือ 114 แรงม้า

เครื่อง B230F นี่ จัดว่าเป็นเพื่อนสนิทอยู่คู่จนวันที่ 240 คันสุดท้ายออกจากโรงงานไปเลยโดยมีการ
อัพเดทแค่เรื่องระบบหัวฉีด แต่แรงม้าเท่าเดิม และแรงบิดจะยังอยู่ที่ 184Nm ที่ 2,750 รอบต่อนาที
เท่าเดิม

 

ไมเนอร์เชนจ์ครั้งที่ 3-The Last Minorchange (1986-1993)

แม้โดยความจริงจะถือว่าหมดวาระทางการตลาดแล้ว แต่การที่ 240 Series ยังเป็นรถที่ได้รับ
ความนิยมในหลายประเทศ ทำให้ Volvo ตัดสินใจไมเนอร์เชนจ์อีกครั้ง

240_aka1986

หน้าตาของรถ จะเหมือนกับเอารุ่น Flathood ปี 1983 มาปรับฝากระโปรงหน้าให้โหนกขึ้นเล็กน้อย
กระจังหน้าไม่ตั้งขึ้นมากแบบรถ 240 ที่เป็นหน้า 260 กันชนหน้าแบบใหม่ พลาสติกส่วนขอบล่าง
ของรถที่เป็นสีดำก็เป็นแบบใหม่เช่นกัน ในรุ่นที่เป็นล้อเหล็กพร้อมฝาครอบล้อ ก็จะได้ฝาครอบ
กระทะล้อลายใหม่ กระจกมองข้างเปลี่ยนเป็นแบบก้านใหญ่หน้าตาทันสมัยขึ้น ดูแล้วคล้าย
ของ Volvo 740 มากขึ้น

ส่วนภายในรถนั้นแม้จะใช้แดชบอร์ดกับพวงมาลัยแบบเดิม แต่ชุดฟรอนท์เครื่องเสียงจะถูก
ย้ายจากด้านล่างใกล้คันเกียร์ขึ้นไปอยู่ช่องบนสุด ทำให้มีเนื้อที่สำหรับใส่มิเตอร์เสริมจากเดิม
5 รู เหลือเพียงแค่ 2 ช่อง ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะไม่มีรุ่นเทอร์โบแล้วทำให้ไม่ต้องมีช่องติดตั้ง
เกจ์มากมายนัก เบาะนั่งมีการปรับปรุงวัสดุฟองน้ำรองเบาะ และยังเปลี่ยนพนักพิงศีรษะให้มี
จากเดิมที่เป็นซี่ๆตรง ก็จะมีลักษณะเว้าและอ้อมโค้งด้านข้างรับกับศีรษะมากขึ้น

การไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้ รถสเป็คอเมริกาจะได้ไฟหน้าที่เหมือนสเป็คยุโรปสักที เพราะกฎหมาย
เรื่องไฟหน้าของอเมริกาที่ต้องเป็นแบบ Sealed-beam นั้นยกเลิกไปในปี 1985 ทั้งนี้วัสดุ
ที่ใช้ทำไฟหน้าจะเปลี่ยนจากกระจกหนาเป็นพลาสติกแข็งแทน

เครื่องยนต์ B230A ก็ถูกแทนที่ด้วย B230K คาร์บิวเรเตอร์เปลี่ยนรุ่นใหม่
แต่อาจใช้ของยี่ห้อ Pierburg หรือ Solex แล้วแต่ประเทศที่ทำตลาด แรงม้าเพิ่มเป็น 115 แรงม้า
เกียร์ M46 ถูกยกเลิกไป เปลี่ยนเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด M47 รุ่นใหม่ ขายคู่กับเกียร์
อัตโนมัติ 3 และ 4 จังหวะเหมือนเดิม

ส่วนปี 1988 นั้น รถในตลาดยุโรปทั้งหมดเริ่มทยอยติดตั้งเครื่องกรองไอเสียเพื่อลดมลภาวะ
ซึ่งเครื่องกรองไอเสียนั้น มันจะแพ้สารตะกั่ว ดังนั้นก็ต้องเติมน้ำมันไร้สารตะกั่วเท่านั้น
วิธีการที่ Volvo ช่วยแยกให้รู้ได้โดยง่ายว่าเป็นรถติดตั้งเครื่องกรองไอเสียก็คือฝาถังน้ำมัน
ซึ่งจะเปลี่ยนจากฝาสีแดง เป็นฝาสีเขียว ในปีถัดมา (1989) ในหลายๆตลาดจะถูกยุบจำนวน
เครื่องยนต์เหลือแค่เครื่องแบบ B200K กับ B230F และเปลี่ยนหน้าตาของพวงมาลัยเป็น
ทรงใหม่ที่ดูเหมือนของรุ่น 740 นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนฝาครอบล้อลายใหม่ มีการเพิ่ม
พนักพิงศีรษะเบาะหลังให้กับทุกรุ่น เครื่องยนต์รุ่น B230F ซึ่งเดิมใช้หัวฉีด Bosche LH-Jet
อัพเดทจากเวอร์ชั่น LH 2.2 เป็น LH 2.4

Z001

ต่อมาในปี 1990 เริ่มมีการนำถุงลมนิรภัยมาติดตั้งใน 240 โดยเฉพาะรถสเป็คอเมริกานั้น
จะมีถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับทุกคัน และมีปุ่ม Test-check ระบบถุงลมนิรภัยอยู่ใกล้กับ
ปุ่มกดไฟฉุกเฉิน และเพื่อให้มีความปลอดภัยทัดเทียมกับรถรุ่นอื่นๆในสายการผลิต

ที่น่าแปลกก็คือ ในปี 1990 นั้น Volvo 740 และ 760 ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อ “แทนที่” 200 Series
นั้นตกรุ่น และถูกแทนที่ด้วย Volvo 940 กับ 960 ซึ่งมีตัวถังส่วนหน้าเหมือนกับไมเนอร์เชนจ์
ครั้งสุดท้ายของ 700 Series แต่มีส่วนหลังที่ต่างกัน และในกรณีของรุ่น Estate นั้นตัวถัง
เหมือนกับ 740/740 Estate เลยก็ว่าได้ ทั้งที่บทบาททางการตลาดของ 200 Series ควรจะ
ยุติลงตั้งแต่ช่วงปี 1985 แล้ว แต่มันก็กลายเป็นแมว 9 ชีวิตที่สามารถรอดมาได้เรื่อยๆ

ในส่วนของการบริหารงานภายใน Volvo นั้น เนื่องจากช่วงปี 1990 Volvo มีผลิตภัณฑ์
ใหม่ในสายการผลิตอยู่มากกว่าสมัยยุค 1980 มาก คือมีทั้งรถขับเคลื่อนล้อหน้าอย่าง
440/460 และ 480 แล้วก็ยังขายรถใหญ่อย่าง 940 และ 960 ไป พร้อมกันนี้ก็มีการพัฒนา
รถขนาดกลางขับเคลื่อนล้อหน้าที่ใหญ่กว่า 460 และเล็กกว่า 940 ซึ่งก็คือ Volvo 850 นั่นเอง
แต่เนื่องจาก Volvo ยังสามารถกอบโกยยอดขายดอกสุดท้ายจาก 200 Series โดยเฉพาะ
ตัวแวก้อน พวกเขาจึงให้ตั้งบริษัทแยก เป็นลักษณะของบริษัทขนาดเล็กในเครือการบริหาร
ของ Volvo Cars ชื่อว่า 240-Bolaget ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า 240-Company แต่มี
ความหมายในเชิงที่สร้างทีมเวิร์คออกไปในทาง “ครอบครัว” หรือทีมมากกว่า ดังนั้น
“ครอบครัว 240” นี้ ก็คือกลุ่มผู้บริหาร ทีมงานคุณภาพ และแรงงานในโรงงานซึ่งหลายคน
ประกอบ 200 Series มาตลอดชีวิต

240-Bolaget นี้บริหารงานโดยวิศวกรหญิงผู้มากความสามารถ เธอทำงานกับ Volvo มา
ตั้งแต่ปี 1979 (มีช่วงที่เว้นว่างไปทำงานด้านศูนย์วิจัยความปลอดภัยอยู่ 2 ปี) ชื่อของเธอคือ
Anna Nilsson-Ehle ซึ่งไม่กี่ปีหลังจากนี้ เมื่อ Volvo ปรับกลยุทธ์ด้านการออกแบบและ
การตลาดใหม่ เธอจะได้มีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานของ Volvo เลยทีเดียว

Z00291

ในปี 1991 Volvo ก็ได้ดัดแปลงระบบ ABS มาใส่ใน 240 เพื่อวางจำหน่ายอีกด้วย แต่
ยังมาในลักษณะออพชั่นเสริมที่ต้องเสียเงินเพิ่ม จากนั้น เมื่อครอบครัว 240 เริ่มเห็นแนวโน้ม
ของยอดขายแล้วว่ารุ่นซาลูนเริ่มยอดขายแผ่ว ในขณะที่รุ่นสเตชั่นแวก้อนยังขายได้อยู่
Volvo เริ่มทยอยปลด 240 ตัว 4 ประตูออกจากตลาดหลักของยุโรปในปี 1992
โดยเหลือเวอร์ชั่นสเตชั่นแวก้อน (Estate) ที่ใช้ชื่อรุ่นว่า Polar ซึ่งกลายเป็นรถที่ได้รับ
ความนิยมอย่างน่าประหลาดทั้งที่ใกล้ปลดเกษียณเต็มแก่ 240 Polar ได้รับความนิยมมาก
ในอิตาลีโดยลูกค้าที่ซื้อขับก็มักจะเป็นหนุ่มสาวที่รวยด้วยการช่วยตัวเอง (อย่าคิดลึก)
ตั้งแต่อายุยังไม่มาก มีความต้องการที่จะบ่งบอกภาพลักษณ์ว่าตัวเองรักสันติ รักโลก
ใจกว้าง แต่เน้นความไม่เหมือนใคร ไม่แคร์สื่อ คนเหล่านี้มองว่า Volvo สเตชั่นแวก้อนที่
รูปทรงดูโบราณนั้นเหมาะกับภาพลักษณ์ของพวกเขา ทั้งๆที่ความจริงในยุคนั้นมีรถที่
สวยกว่าและปลอดภัยกว่าให้เลือกอีกหลายรุ่น.

z45240Classic

แต่แม้จะลากขายกันได้นานชนิดบรรลือโลก ในที่สุด Volvo ก็ทำตามสัญญาว่า
ขอเวลาอีกไม่นาน จากนั้นก็ทำการอัพเดทส่งท้ายด้วยการติดตั้งเบรก ABS ให้เป็น
อุปกรณ์มาตรฐานใน 240 ทุกคัน และเปลี่ยนระบบปรับอากาศจากที่ใช้น้ำยาแบบเก่า
ไปเป็น R134a เหมือนรถสมัยใหม่ มีการทำรุ่นพิเศษออกมาคือ 240 Torslanda ซึ่ง
ขายในจำนวนจำกัดนอกประเทศสวีเดน และ 240 Classic สำหรับตลาดยุโรปซึ่งจะตก
แต่งแบบธรรมดา กับอีกรุ่นคือรถ 240 Classic สำหรับตลาดอเมริกาที่มี
การผลิตในจำนวนแค่ 1,600 คัน มีให้เลือกสีเบอร์กันดีกับสีเขียว มีการตกแต่งภายใน
ด้วยลายไม้และใช้ล้ออัลลอยลายซี่ลวด

รถ Volvo 240 คันสุดท้ายที่ “ผลิตออกจากโรงงานและส่งมอบไปถึงมือลูกค้า” ได้แก่รถ
240 ESTATE สีเขียว ซึ่งท่านประธาน Gyllenhammar เป็นผู้มอบกุญแจให้และลูกค้า
เดินทางมารับรถถึงหน้าสายการผลิตด้วยตัวเอง ในวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 1993 นั้น
ก็เท่ากับว่า Volvo 200 Series ได้ถูกผลิตมานานถึง 19 ปีเต็ม และมีจำนวนยอดขาย
รวมทุกรุ่นได้ถึง 2,862,573 คัน โดยแยกเป็นรุ่นต่างๆได้ดังนี้

Sales R48844_Volvo_240

นอกจากรถที่ได้ส่งมอบให้ลูกค้าไปแล้ว ก็ยังมีรถอีก 2 คันที่ถูกประกอบขึ้นในวันที่ 5 พ.ค.
ซึ่งได้แก่รถ 240 ESTATE สีน้ำเงิน รุ่น Polar Italia ซึ่งเป็นรุ่นที่ขายดีในอิตาลี ตัวรถก็
เป็นสเป็คอิตาลี แต่ผลิตมาแล้วไม่ขาย หากแต่นำไปจัดแสดงที่ Volvo Musuem ในสวีเดน
ส่วนรถอีกคัน เป็นรถ 240 ESTATE รูปร่างสั้นพิลึกเพราะผลิตขึ้นมาโดยความอาร์ตตัวแม่
ของชาว 240-Bolaget พวกเขาประกอบรถคันนี้ขึ้นมาเป็นของขวัญให้กับท่านประธาน
Gyllenhammar ผู้ซึ่งชื่นชอบ 200 Series และมีรถ 240/260 ที่สั่งทำพิเศษไว้ในครอบครอง
อยู่หลายคัน การที่ทำตัวรถให้สั้นนั้น เป็นการสื่อความหมายเชิงรูปธรรมถึง “Shortened
Lead Times” หรือแปลเป็นไทยก็คือแสดงให้เห็นว่า Volvo ยุคใหม่ใช้เวลาในการออกแบบ
และสร้าง “สั้นลง” กว่าสมัยก่อนมากนั่นเอง

หลังจากวันที่ 5 พฤษภาคม 1993 สายการผลิตก็ถูกปิดลง พันธมิตรและทีมงานในเครือ
ครอบครัว 240-Bolaget เดินออกจากสถานที่ทำงานพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย และได้รับคำสั่ง
ให้พักยาว..ไม่ใช่โดน Lay off แต่ให้พักเพื่อที่จะได้ปรับปรุงโรงงานเพื่อเตรียมสำหรับการผลิต
Volvo 850 รุ่นใหม่ ซึ่งครอบครัว 240 จะได้กลับมาสร้างผลงานอย่างที่พวกเขาถนัดอีกครั้ง

ท่านประธาน Gyllenhammar เองก็ลาออกจาก Volvo ไม่นานหลังจากนั้น เขาถูกกระแส
ทางธุรกิจกดดันหลังจากที่ไม่สามารถดำเนินการเจรจาธุรกิจเพื่อร่วมมือกับ Renault และ
พลิกฟื้นชะตาทางการเงินให้กับ Volvo ได้ แต่ในปัจจุบันเมื่อมีใครพูดถึง 200 Series ภาพของเขา
จะปรากฏขึ้นมาในใจของผู้ที่ติดตาม Volvo 200 Series มาตลอด

ทว่า 8 ปีก่อนหน้านั้น มี Volvo 240GL สีเงินคันหนึ่ง ได้ถูกผลิตขึ้นในสวีเดน….

ep01_01_volvo240gl

และผมได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่กับมันราวเดือนเศษ จะเป็นอย่างไร ถ้าเราลองเขียน Review ใน
สไตล์ของ J!MMY โดยใช้รถที่มาจากเมื่อ 30 ปีก่อน? โปรดติดตามตอนต่อไป

 

แสดงความคิดเห็น เชิญที่กระทู้บนบอร์ด คลิกที่นี่

 

 

บรรณานุกรม
http://www.swedishbricks.net/ModelFAQ/140240model.html <-Update ตามปี โฟกัสที่ตัว US
http://www.volvotips.com/index.php/240-260/history-240-260/
http://www.240.se (Jon-Erik’s 240 sida)
http://www.hemmings.com/hsx/stories/2006/01/01/hmn_feature10.html
http://www.volvoadventures.com/242GTspec.html
http://www.volvo200.org/modellen/modellen_eng.htm
http://flathood.saliv8.com/history.php <-เรื่องของตัวแข่ง Group A
http://www.vlvworld.com/indexframe.html?engspecs.html <-Spec เครื่องจำนวนมาก
https://www.youtube.com/watch?v=nxDqBcTjEj0
https://www.media.volvocars.com/global/en-gb/media/pressreleases/
สงวนลิขสิทธิ์ ตัวบทความ โดยผู้เขียน (Pan Paitoonpong)
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย เป็นของเว็บไซต์ตามที่แจ้งให้เครดิตภาพไว้และ
Volvo Media Press Site

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
29 กุมภาพันธ์ 2016

Copyright (c) 2016 Text and some pictures without source identified.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
Some images belongs to other websites as described at given credit on
each image and Volvo Media Press Site

First published in www.Headlightmag.com
29 February 2016