18 พฤศจิกายน 2013

ผมยืนมองทิวทัศน์ของกรุง Tokyo จากชั้น 29 ของโรงแรม Imperial Tokyo Ginza
อาคารหลังที่ผมยืนอยู่นี้ ถูกสร้างใหม่ ทดแทนตึกหลังเดิม อันเป็นผลงานออกแบบ
อันโด่งดังของสถาปนิกชื่อ Frank Lloyd Wright ที่ต้องถูกทุบทิ้งไปอย่างยากเกินจะ
หลีกเลี่ยงได้ เพราะโครงสร้างตึกเดิม มันย่ำแย่ ไม่เหมาะสมจะใช้งานอีกต่อไป

ปีนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ ทางโรงแรม ฉลองครอบรอบปีที่ 90 นับตั้งแต่ ปีที่อาคาร
ล้ำยุคสมัยหลังดังกล่าว เปิดใช้งานในปี 1923 แม้ทุกวันนี้มันจะไม่เหลือให้เห็น
อีกต่อไปแล้วก็ตาม

ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาเรื่องราวทาง
ประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่น แตกต่างไปจากชาติอื่นๆ ก็คือ วิสัยทัศน์ในการ
มองไปข้างหน้า ในแทบทุกเรื่อง

วันนี้ ท่ามกางสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นง่ายๆ Honda ในฐานะ
บริษัทผลิตยานพาหนะแห่งหนึ่ง จึงเริ่มมองไปข้างหน้า ถึงอนาคตของญี่ปุ่น ที่จำเป็น
ต้องเข้าสู่ช่วงยกระดับการเปลี่ยนแปลง ด้านการใช้พลังงาน อย่างจริงจัง ทุกยูนิตของ
กระแสไฟฟ้า ทุกหยดของน้ำมัน เมื่อต้องเผาผลาญแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาต้องคุ้มค่า
เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

นอกจากการมาเยือน Tokyo Motor Show ตามคำเชิญของพวกเขาแล้ว Honda เอง
ก็อยากจะอวดเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เราได้สัมผัสกัน และนั่นทำให้ เราต้องแหกขี้ตา
ตื่นแต่เช้า นั่งรถบัส ไปยัง จังหวัด Saitama….

เพื่อไปถึงมหาวิทยาลัย Saitama

เปล่าหรอกครับ เราไม่ได้คิดจะเข้าไปเยี่ชมมหาวิทยาลัย ที่กำลังเต็มไปด้วยดอกไม้
สีแดงบานสะพรั่ง ในช่วงเวลาย่างเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างนี้

แต่สิ่งที่เราจะมีโอกาสได้เห็น มันอยู่ใกล้มาก แค่เพียง รอสัญญาณไฟเขียว ให้คุณ
เดินข้ามฟากถนน ไปยังบริเวณ สามเหลี่ยม ณ สามแยกหน้ามหาวิทยาลัยต่างหาก!

คุณอาจเคยได้ยินมาบ้าง หรือบางคนก็คงไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า บริษัทอย่าง Honda
นอกจากจะผลิตจักรยานยนต์ และรถยนต์ ขายกันจนเป็นล่ำสันแบบนี้หลายสิบปี
มาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญ ที่พวกเขาอยากจะนำเสนอ นั่นคือ การเป็นผู้ผลิต
เครื่องยนต์อเนกประสงค์ เครื่องยนต์สำหรับเรือ และเลยเถิดไปจนถึง ธุรกิจการ
พัฒนาอุปกรณ์ อันเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน ทั้งบนรถ และแม้แต่ในบ้านเรือน

Honda ได้ทำข้อตกลง โครงการอี-คิซูนะ (E-KIZUNA) ซึ่งดำเนินการโดยทางจังหวัด
Saitama การสาธิตการทดสอบบ้านที่ได้รับการติดตั้งระบบ HSHS เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการ E-KIZUNA ซึ่ง Honda ได้สร้างบ้านจำนวน 2 หลัง (แต่ละหลังเป็นบ้าน
สำหรับครอบครัวเดี่ยว) ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย Saitama  ส่วนบ้านหลังที่ 3 นั้น
มีแผนการสร้างในบริเวณเดียวกัน โดยบ้านทั้ง 3 หลังจะเชื่อมโยงถึงกันเพื่อการทดสอบ
ในลักษณะชุมชนอัจฉริยะ และมีแผนที่จะดำเนินการทดสอบอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี

บ้านทั้ง 2 หลังนี้ เริ่มเปิดตัวสู่สายตาสาธารณชน พร้อมกับเริ่มทดสอบระบบควบคุม
ทั้งหมด เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2012 และได้รับความสนใจจากผู้คนใน
แวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งธุรกิจ การรับก่อสร้างบ้าน

โครงการ E-Kizuna เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของ Honda ที่จะลดการปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน และการเดินทาง
โดยใช้ยานพาหนะ

จุดเด่นที่สำคัญ ของระบบ HSHS ที่ติดตั้งในบ้านตัวอย่างพลังงานอัจฉริยะ ประกอบ
ไปด้วย แผงพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Cells เป็นแบบแผ่นฟิล์มบาง CIGS แบตเตอรี่
บ้าน (ที่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้) เครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊ส และระบบเครื่อง
ทำน้ำร้อน และเครื่องจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart e Mix Manager อยู่ด้านบนสุด
เหนือตู้ไฟฟ้าทั้ง 3 ตู้)

เครื่อง Smart e Mix จะบริหารและจัดสรรพลังงานให้เหมาะสมกับอุปกรณ์พลังงาน
แต่ละประเภท แถมยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเกิดจากการ
ใช้พลังงานภายในบ้านลงได้ บ้านจึงสามารถผลิตพลังงานใช้ได้เองโดยอิสระ และ
สามารถเก็บพลังงานสำรองไว้ใช้เมื่อเกิดภาวะไฟตก หรือในภาวะที่มีภัยพิบัติ

ระบบ HSHS ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก 4 รายการ ดังนี้

– เครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊ส
เป็นอุปกรณ์พลังงานที่มีส่วนสำคัญ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โดยสามารถผลิตพลังงานความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพฃ ประมาณ 60% ของ
พลังงานที่ใช้ภายในบ้านของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการทำน้ำร้อน ระบบทำความร้อน
และการใช้งานในห้องครัว ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นของ EXlink ที่ช่วยยืดจังหวะ
ของเครื่องยนต์ให้นานขึ้น จึงสามารถผลิตพลังงานได้เพิ่มขึ้นถึง 92% ช่วยเพิ่ม
ประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และพลังงานความร้อนได้พร้อมๆ กัน
จากแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงที่มาจากท่อส่งแก๊ส หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว ในการ
ดำเนินการทดสอบ  Honda จะศึกษาระบบการกำเนิดพลังงานโดยใช้แบตเตอรี่
และตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานในภาวะฉุกเฉิน

– แผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบแผ่นฟิล์มบาง CIGS
Honda จะทดสอบประสิทธิภาพการผลิตพลังงานของแผงพลังงานแสงอาทิตย์
แบบแผ่นฟิล์มบาง CIGS รุ่นใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนา
(CIGS ประกอบด้วยทองแดง อินเดียม แกลเลียม และซิลิเนียม)

– แบตเตอรี่บ้าน
ด้วยความพยายามในการนำแบตเตอรรี่ที่ใช้ในรถจักรยานยนต์และรถยนต์
พลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ใหม่ Honda จึงต้องพัฒนาแบตเตอรี่บ้าน เพื่อการ
ใช้งานได้อย่างสะดวกมากขึ้น และดำเนินการทดสอบฟังก์ชั่นการทำงาน
ต่างๆ อีกด้วย

– หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart e Mix Manager)
หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะจะรวบรวมข้อมูลระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์
พลังงานแต่ละประเภท และเชื่อมต่ออุปกรณ์แต่ละตัวที่อยู่ในระบบ HSHS
เพื่อวิเคราะห์การใช้พลังงานภายในครัวเรือนแบบองค์รวม

– สร้างระบบพลังงานสำรองสำหรับการใช้งานภายในครัวเรือน
Honda ได้รวมทดสอบวิธีการเก็บพลังงานสำรองภายในครัวเรือน ที่อาจมี
ความจำเป็นต้องใช้เมื่อเกิดภาวะไฟตก หรือในภาวะที่มีภัยพิบัติ ซึ่งวิธีการ
ดังกล่าวรวมถึงการพัฒนาการทำงานร่วมกันของแผงพลังงานแสงอาทิตย์
และเครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊ส หรือเครื่องกำเนิดพลังงานแบบ
ใช้แก๊สที่มีระบบเริ่มการทำงานได้ด้วยตัวเอง

ด้วยความตั้งใจที่จะลดการใช้พลังงานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ
Honda จึงศึกษาและทดสอบระบบการชาร์จไฟฟ้า “vehicle-to-home”
ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของพาหนะพลังงานไฟฟ้า อาทิ ร
ถยนต์พลังงานไฟฟ้า รถยนต์ Fuel Cell หรือ รถยนต์ Plug-in Hybrid
เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำหรับการใช้ภายในครัวเรือน

– การทำงานร่วมกับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (รถยนต์ EV / จักรยานยนต์ EV
และ รถ 4 ล้อ สำหรับผู้สูงอายุ )
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆคือ ในขณะที่รถยนต์ จะชาร์จไฟต่อจากระบบไฟฟ้าในบ้าน
(ทำได้ทั้ง ชาร์จตรงจาก เครื่องชาร์นจ ติดตั้งบนเพดานหลังคาโรงจอดรถ หรือ
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ปั่นไฟ แต่เมื่อแบ็ตเตอรีของรถยนต์เต็ม ถ้าสับสวิชต์ ระบบ
ไฟฟ้าในบ้านทิ้ง ก็สามารถดึงไฟสำรองจากตัวรถมาเป็นกำลังไฟใช้งานในตัวบ้าน
ได้อีกด้วย

จากผลการวิเคราะห์ หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะจะบริหารและจัดสรร
พลังงานอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ข้อมูลต่างๆจะ
แสดงบนจอมอนิเตอร์ที่ผู้ใช้สามารถเลือกโหมดประหยัดค่าใช้จ่าย ที่มี
การคำนวณข้อมูลล่าสุดจากบิลค่าแก๊ส และบิลค่าไฟฟ้า หรือจะเลือกให้
หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะอยู่ในโหมด ช่วยลดการปล่อย ก๊าซ CO2
(คาร์บอนไดออกไซด์) โดยอ้างอิงจากข้อมูลการปล่อยก๊าซ CO2 ของตัว
บ้านในขณะนั้น

นอกจากนี้ หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะ จะแสดงข้อมูลของอุปกรณ์
พลังงานแต่ละประเภทรวมไว้บนหน้าจอ ผู้ใช้สามารถควบคุมการทำงาน
บนหน้าจอผ่านระบบ LAN ไร้สาย หรือเมื่ออยู่นอกบ้านก็สามารถควบคุม
ผ่านระบบนำทางในรถยนต์ Honda Internavi หรือผ่านโทรศัพท์มือถือ
Smart Phone ก็ได้

– ทดสอบระบบบริการข้อมูลหลักสำหรับการทำงานร่วมกับระบบ Internavi
Honda จะทดสอบระบบบริการข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คน
สามารถเชื่อมโยงการสื่อสาร ระหว่างยานพาหนะ บ้าน สังคม และการ
ควบคุมระบบการจ่ายไฟฟ้า

1. ด้านความปลอดภัย
– ระบบแจ้งเตือนเมื่อมีผู้มาเยือน
– จัดเตรียมคู่มือแนะนำการใช้อุปกรณ์พลังงานแต่ละประเภทในภาวะฉุกเฉิน
– ระบบแจ้งเตือนหากลืมปิดเครื่องปรับอากาศ และ/หรือหลอดไฟ ก่อนออกจากบ้าน

2. ความสะดวกสบาย
– ควบคุมการทำงานเครื่องใช้ไฟฟ้าจากระยะไกล (เครื่องปรับอากาศ/หลอดไฟ)
– ควบคุมการทำงานจากระยะไกล ด้วยฟังก์ชั่นการสั่งงานด้วยเสียงผ่านระบบ Internavi
– ช่วยให้ผู้ใช้เปิดระบบน้ำร้อนในอ่างอาบน้ำ หรือล็อคประตูเมื่ออยู่นอกบ้านได้

3. ด้านสิ่งแวดล้อม (แสดงข้อมูลบนจอมอนิเตอร์)
– ข้อมูลพลังงานไฟฟ้า (ปริมาณไฟฟ้าที่ระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และ
เครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊สสามารถผลิตได้
ปริมาณการชาร์จและการปล่อยกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละชั้นของบ้าน
การแจ้งสถานะระดับแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ของแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้
และแบตเตอรี่ของยานยนต์พลังงานไฟฟ้า สถานะเมื่อเกิดภาวะไฟตก และ
เมื่อกลับสู่สภาวะปกติ)
– ข้อมูลพลังงานความร้อน (ปริมาณความร้อนที่เครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้
แก๊สสามารถผลิตได้
อุณหภูมิของน้ำร้อน อุณหภูมิของน้ำในอ่างอาบน้ำ อุณหภูมิห้องในแต่ละห้อง)
– ข้อมูลค่าใช้จ่าย (บิลค่าไฟฟ้า ยอดการขายหน่วยไฟฟ้า บิลค่าแก๊ส และบิลค่าน้ำ)
– ข้อมูลอื่นๆ (พยากรณ์อากาศ ระบบแจ้งเตือนเมื่ออุปกรณ์แต่ละประเภทไม่ทำงาน)
– ระบบควบคุมจากระยะไกล (ก๊อกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศ หลอดไฟ ระบบล็อค
ประตูเมื่ออยู่นอกบ้าน)

นอกเหนือจากรถยนต์ ไฟฟ้า Fit / Jazz EV ที่มาจอดแสดงไว้ให้ดูแล้ว
ยังมี Scooter EV ใช้ไฟฟ้า มาให้เราได้เห็นกันอีกด้วย รวมไปถึงพาหนะ
สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีขายอยู่แล้ว ในปัจจุบัน

นอกเหนือจากนี้ Honda ยังจัดแสดง พานะ สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีขายอยู่แล้ว
ในปัจจุบัน เจ้า 4 ล้อ เล็กคันนี้ บังคับควบคุมง่ายมากครับ หมุนซ้าย – ขวาแบบ
แฮนด์ของจักรยาน จะชะลอ ก็บีบคันเบรก ในช่องจับพวงมาลัย เคลื่อนตัวได้
ด้วยความเร็ว ไม่เกิน 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แม้คุณพิทักษ์ ผู้บริหารของ Honda จะดูหวั่นใจ แต่ผมก็แสดงให้ดูว่า เจ้าเปี๊ยก
4 ล้อจิ๋ว คันนี้ ใครๆก็ใช้งานได้ อย่างง่ายดาย….

เจ้า 4 ล้อ เล็กคันนี้ บังคับควบคุมง่ายมากครับ หมุนซ้าย – ขวาแบบ
แฮนด์ของจักรยาน จะชะลอ ก็บีบคันเบรก ในช่องจับพวงมาลัย เคลื่อนตัวได้
ด้วยความเร็ว ไม่เกิน 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียบปลั๊กชาร์จกับไฟบ้านได้เลย!

แม้คุณพิทักษ์ ผู้บริหารของ Honda จะดูหวั่นใจ แต่ผมก็แสดงให้ดูว่า เจ้าเปี๊ยก
4 ล้อจิ๋ว คันนี้ ใครๆก็ใช้งานได้ อย่างง่ายดาย….จนเจ้าตัวต้องขอลองเองบ้าง
แล้วก็พบว่า สนุกสนานใช้ได้ดีจริงๆ

เพียงแค่นี้ ผมก็สามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้สบาย เหมาแก่การไปตลาด
ซื้อของ ระยะทางใกล้ๆ เพราะถ้าไกลกว่านั้น เห็นทีจะไม่เหมาะ

เรียกได้ว่าเป็น The Happiness of going slow เลยละ!

เดินดูรอบบ้าน Smart Home เสร็จแล้ว เราเดินทางไปเยี่ยมชมเมือง Kawagoe
(คาวาโกเอะ) อันเป็นเมืองซึ่งแม้แต่คนญี่ปุ่นด้วยกันเอง ยังทะยอยเดินทางมา
เที่ยวชมบรรยากาศของอาคารบ้านเรือน ซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นอายของอดีตในยุค
เอโดะ อันรุ่งเรือง เมื่อครั้งที่ที่ โชกุน โตกุกาวา อิเอยาสุ เป็นผู้รวบรวมแว่นแคว้น
ต่างๆในญี่ปุ่นให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนถึงปัจจุบันนี้

ถ้ามาเยือนเมืองนี้แล้ว อย่าพลาดไอศกรีม รส มัน….ไม่ใช่มันฝรั่งสีเหลืองๆ
อย่างที่เราคุ้นเคยนะครับ หัวเผือกหัวมัน นี่แหละ!สีมันถึงได้ออกม่วงนิดๆ
แบบนี้ไง ขนาดปกติ ผมไม่ชอบกินไอศกรีมรสอื่นนอกเหนือจาก วานิลลา
กับกาแฟ ผมยังแฮปปี เลย!

เสร็จจากมื้อเที่ยง ที่โรงแรม Prince Hotel คาวาโกเอะ เราเดินทางกันต่อโดยรถบัส
มุ่งหน้าไปยังเมือง Yorii เพื่อไปชมโรงงานผลิตรถยนต์ แห่งใหม่ล่าสุดของ Honda
ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นต้นแบบแห่งโรงงานผลิตรถยนต์ในอนาคต ที่มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์
ให้ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด และมลพิษน้อยที่สุด ใช้เวลาเดินทางจากเมือง คาวาโกอะ
ไม่นานนัก แต่อาจต้องลัดเลาะเข้าไปตามป่าเขาเล็กน้อย

และตามธรรมเนียม เมื่อมาถึงเรือนชาน เจ้าบ้านก็ต้องต้อนรับ พาเราเข้าไปฟัง
บรรยายสรุป บริเวณ ห้องรับรอง ด้านหน้า มี Honda Fit / Jazz ใหม่ จอดอยู่
ให้พวกเราได้เข้าไปสัมผัสกันเต็มๆ เป็นครั้งแรก

เหตุผลที่มี Fit ใหม่ จอดที่นี่ เพราะโรงงานนี้ จะใช้ผลิต Honda Fit/Jazz ใหม่
รวมทั้ง Honda Freed ด้วยนั่นเอง

โรงงานโยริอิ จังหวัดไซตามะ
ที่ตั้ง:             เมืองโยริอิ เขตโอซาโตะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น
ขนาดพื้นที่:      950,000 ตร.ม. (รวมพื้นที่การอนุรักษ์ธรรมชาติ 280,000 ตร.ม.)
กำลังการผลิต:  250,000 คันต่อปี (การผลิตแบบเต็มกำลัง)
การจ้างงาน:    มีพนักงานประมาณ 2,000 คน

โรงงาน Yorii (โยริอิ) เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ในเมือง Yorii
เขต Osato จังหวัด Saitama ประเทศญี่ปุ่น และเพิ่งเริ่มเดินสายการผลิตครั้งแรก
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2013 ที่ผ่านมาหมาดๆนี่เอง

โรงงานแห่งนี้ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด “การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อ
สิ่งแวดล้อมมากที่สุด ในโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก”
ดังนั้น โรงงานโยริอิจึงเป็นโรงงานที่ประหยัดพลังงานสูง และใช้เทคโนโลยี
การผลิตอันทันสมัยมากที่สุดของฮอนด้า และมีระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
สูงสุด อีกทั้ง ยังมีระบบสายพานที่มีประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีที่ช่วยลด
ขั้นตอนการพ่นสี

โรงงานแห่งนี้ผลิตรถยนต์รุ่น Fit / Jazz ใหม่ เจเนอเรชันที่ 3 ซึ่งออกสู่ตลาด
ญี่ปุ่นแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมทั้ง Minivan ตระกูล Freed  /
Freed Spike มีกำลังการผลิตสูงถึง 250,000 คันต่อปี

แม้ว่าโรงงาน Yorii ได้เริ่มเดินสายการผลิตแล้ว กระนั้น โรงงานของ Honda
อีก 3 แห่งในจังหวัด Saitama จะยังคงดำเนินการผลิตตามปกติ รวมถึง โรงงาน
Ogawa (โองาวะ) ที่ผลิตเครื่องยนต์ และโรงงาน Sayama (ซายามะ) ที่ผลิต
รถยนต์หลากหลายรุ่นในจำนวนไม่มาก

จุดเด่นสำคัญของ โรงงาน Yorii นั้น อยู่ที่ การออกแบบสายการผลิต ให้มีประสิทธิภาพ
ลดเวลาและขั้นตอนต่างในการทำงานลงไปได้มาก ซึ่งจะส่งผลให้การปล่อยมลพิษ และ
การใช้พลังงานทั้งไฟฟ้า และกำลังคน ลดลงไปได้มาก ทำให้ต้นทุนก็ลดลงตามไปด้วย

เริ่มกันที่ แผนกชิ้นส่วนตัวถัง โรงงานแห่งนี้ ถูกออกแบบให้มีระบบแท่นพิมพ์ชิ้นส่วน
ขนาดเล็กลงกว่าเดิม เน้นการใช้หุ่นยนต์ เข้ามาทำงานเชื่อมตัวถังแทนมนุษย์  “ทั้งหมด”
หมายความว่า งานเชื่อมโลหะชิ้นส่วนของ Honda Fit / Jazz ใหม่ ซึ่งมีทั้งหมด 2,125 จุด
รวมทุกสถานี จะเป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์ ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แถมยังมี
ระบบเช็คสอบทานด้วยแสง Laser อีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่า งานประกอบตัวถัง อยู่ใน
ค่าตัวเลขที่ตรงตามสเป็กทุกประการ

จริงๆแล้ว รายละเอียดมันมีมากกว่านี้ แต่ขอเขียนสรุปเพียงคร่าวๆแค่นี้ ใครที่เรียนด้าน
เครื่องกลโรงงานกันมา ดูแผนผังที่นำมาประกอบนี้ คงจะเข้าใจกันได้นะครับ

ต่อมา การประกอบแผงหน้าปัดที่นี่ ใช้แท่นหุ่นยนต์ พร้อมเซ็นเซอร์ จับการเคลื่อนไหว
ของมนุษย์บนสายการผลิต แขนกลจะต้องยกแผงหน้าปัด น้ำหนักรวมชิ้นส่วนต่างๆ
เข้าไป มากถึง 60 กิโลกรัม เสียบเข้าไปในตัวถัง แล้วดันประกบเข้าไปกับตัวถัง ถ้ามี
พนักงาน เดินตัดเข้าไป ก่อนที่แขนกลจะยื่นแผงหน้าปัดเข้าไปติดตั้งในตัวรถ ระบบ
เซ็นเซอร์สีเหลืองๆ ในภาพข้างบนนี้ ซึ่งมีติดตั้งทั้งบนรางเหนือศีรษะ และที่พื้นของ
สายการผลิต จะตรวจเจอ และสั่งให้คอมพิวเตอร์ หยุดระบบแขนกลไว้ อย่าเพิ่งทำงาน
จนกว่าพนักงานคนนั้นจะเดินออกไปแล้ว

ไฮไลต์ อีกประการหนึ่งของสายการผลิตในโรงงาน Yorii นี้ อยู่ที่การออกแบบให้
สายการผลิต ในส่วนของการติดตั้ง เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และช่วงล่าง เป็นแบบ
อัตโนมัติ ล้วนๆ โดยมีคนงานควบคุมอยู่ที่ระบบคอมพิวเตอร์ และดูแลความเรียบร้อย
ที่ด้านบนของสายการผลิต บริเวณห้องเครื่องยนต์

เมื่อตัวรถ บนรางสายพาน มาถึงตำแหน่งการประกอบ เซ็นเซอร์ จะคอยวัดให้ได้
ตำแหน่งที่ถูกต้องตามค่าที่ตั้งเอาไว้ ขณะเดียวกัน คนงานอีกฝั่ง ก็เตรียมเครื่องยนต์
และระบบกันสะเทือนเอาไว้ให้เรียบร้อย บน พาเลทแบบรางเลื่อนอัตโนมัติ เมื่อ
ทุกตำแหน่ง เคลื่อนมาอยู่ในจุดที่ต้องการ คอมพิวเตอร์ จะสั่งให้ระบบราง ยก
พาลท ขึ้นไปเสียบประกบเข้ากับตัวรถ พร้อมทั้งขันน็อตยึดช่วงล่างเข้ากับตัวรถ
ให้จนเสร็จสรรพ ก่อนจะส่งต่อไปยัง สถานีงานต่อไป

อีกทีเด็ด ของโรงงานนี้ อยู่ที่การประกอบยางล้อ หากเป็นโรงงานอื่นๆ อาจใช้
แรงงานคน หรือไม่ก็มีหุ่นยนต์ 6 ตัว ในการติดตั้ง แต่โรงงาน Yorii แห่งนี้ ใช้
หุ่นยนต์แค่ 4 ตัว หยิบล้อยาง ที่ไหลมาจากการจัดเตรียม ที่ใต้พื้นโรงงาน แล้ว
หมุนใส่ล้อ เข้าไป โดยใช้เทคโนโลยี 3D ช่วยให้หุ่นยนต์ สามารถขันน็อตล้อ
ได้ถูกตำแหน่งพอดีเป๊ะ ในค่ากันขันน็อตล้อ (Torque ในการขัน) ที่ถูกต้อง

เมื่อรถยนต์ถูกประกอบเสร็จ จะต้องมีการขับแล่นไปบนสนามทดสอบ ด้วย
ความเร็วประมาณ ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อเช็คสอบทานอีกครั้งว่า
มีอะไรขาดตกบกพร่อง หรือต้องปรับปรุ่งกันไหม?

อีกสิ่งที่ผมต้องขอชมเชยคือ พื้นที่พักของพนักงานในแต่ละหน่วยงานผลิต
มีตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ จากกลุ่ม Coca Cola Japan เก้าอี้นั่งพักอย่างดี
ล้วนทำออกมาได้ สวยงาม สะอาด และดู ไฮโซกว่าโรงงานอื่นใช้ได้เลย

โรงงาน Yorii แห่งนี้ นับเป็นโรงงานต้นแบบของโรงงานผลิตรถยนต์ Honda
ทั่วโลก   ถือเป็นโรงงานผลิตรถยนต์อีกแห่งที่ผมได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม และ
พบว่า มีการใส่ใจดูแล ไม่เวนแม้แต่สภาพแวดล้อม หากแต่ยังรวมถึงบุคลากร
ภายในโรงงานอีกด้วย

ได้แต่หวังว่า หลายสิ่งหลายอย่าง จากโรงงานแห่งนี้ จะถูกถ่ายทอดมายังโรงงาน
แห่งใหม่ ของ Honda ที่ปราจีนบุรี

เพราะเทคโนโลยีการผลิตแบบนี้ ไม่ควรถูกจำกัดเอาไว้แต่เพียงญี่ปุ่นเท่านั้น

————————///————————

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด

เอื้อเฟื้อการเดินทาง และ
ารประสานงานต่างๆ อย่างดียิ่ง

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพในโรงงาน เป็นของบริษัท Honda Motor Co. จำกัด
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
21 พฤศจิกายน 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 21st,2013