ประเทศไทย เป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่มีสนามทดสอบของ Honda ต่อจากประเทศญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา สนามทดสอบแห่งใหม่นี้ ใช้สำหรับการทดสอบรถยนต์ และ รถจักรยานยนต์ โดยจะมีการทดสอบในหลายรูปแบบ เช่น การควบคุมรถ การทรงตัว และสมรรถนะโดยรวม ได้รับการออกแบบมาสำหรับภูมิภาคเอเชีย และ โอเชียเนียโดยเฉพาะ เพื่อนำผลทดสอบไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายในภูมิภาคนี้ ด้วยเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท

สนามทดสอบ Honda R&D Asia Pacific จ. ปราจีนบุรี ประเทศไทย

  • เงินลงทุน : 1,700 ล้านบาท
  • ที่ตั้ง : สวนนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
  • พื้นที่ : ที่ดินทั้งหมด 500 ไร่ (ประมาณ 800,000 ตารางเมตร)
  • ความยาวรวมของสนามทดสอบ : 8 กิโลเมตร
  • พิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้าง : 9 พฤศจิกายน 2558
  • พิธีเปิดสนามทดสอบ : 20 กรกฎาคม 2560

สนามทดสอบ Honda R&D Asia Pacific ปราจีนบุรี แห่งนี้ ประกอบด้วยสนามทดสอบที่จำลองสภาพถนน และ ลักษณะภูมิประเทศในรูปแบบต่างๆ 8 สนาม ซึ่งแบ่งเป็นสนามทดสอบรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1. สนามทดสอบรูปวงรี (Oval Course)

สนามทดสอบรูปวงรีความยาว 2.18 กิโลเมตร ใช้ทดสอบสมรรถนะของรถยนต์ในขณะขับด้วยความเร็วสูง รวมถึงการทดสอบอื่นๆ เช่น ระดับเสียงของลมที่เข้ามาในห้องผู้โดยสาร และ การควบคุมพวงมาลัย

2. สนามทดสอบทางโค้ง (Winding Course)

สนามทดสอบทางโค้งความยาว 1.38 กิโลเมตร ใช้ทดสอบสมรรถนะโดยทั่วไป รวมถึง การทดสอบประสิทธิภาพของระบบเบรก และการควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง สนามทดสอบทางโค้งนี้มีการจำลองถนนที่มีการขึ้น-ลง รวมมีทางโค้งทั้งหมด 17 โค้ง ที่มีรัศมีตั้งแต่ 15 เมตร ถึง 100 เมตร

3. สนามทดสอบไดนามิกส์ (Vehicle Dynamics Area)

สนามทดสอบที่เชื่อมต่อกับสนามทดสอบรูปวงรี ใช้ทดสอบการควบคุมการทรงตัวของรถ ขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง และทดสอบประสิทธิภาพของการเบรก ขณะเข้าทางโค้งแบบหักศอก

4. สนามทดสอบที่มีน้ำท่วมขัง (Wet Course)

สนามทดสอบที่จำลองสภาพถนนที่เปียกและลื่น ใช้ทดสอบผลกระทบของน้ำท่วมขังที่มีต่อสมรรถนะของรถยนต์ แบ่งเป็นถนน 3 ประเภท ได้แก่

  • Pool Road สามารถปรับระดับความลึกของน้ำได้ตั้งแต่ 0 – 1,000 มิลลิเมตร เพื่อจำลองสถานการณ์น้ำท่วม โดยเป็นการทดสอบการกันน้ำและผลกระทบต่อห้องเครื่องยนต์
  • Splash Road
  • Wet Brake Road

5. สนามทดสอบสภาพพื้นผิวถนนในรูปแบบต่างๆ (Ride Road Course)

สนามทดสอบนี้จำลองสภาพพื้นผิวถนนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ใช้ทดสอบสมรรถนะทั่วไปบนพื้นผิวถนนที่แตกต่างกัน โดยมีถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

  • ถนนคอนกรีต (Concrete Highway) เพื่อทดสอบระดับเสียงที่เข้ามาในตัวรถขณะรถวิ่ง
  • ถนนยางมะตอย (Noise Road) เพื่อทดสอบระดับเสียงความถี่สูงที่เข้ามาในตัวรถขณะรถวิ่งบนพื้นผิวชำรุด
  • ถนนลาดเอียง (Camber Road) เพื่อทดสอบสมรรถนะของรถเมื่อวิ่งบนทางตรงที่ลาดเอียง
  • ถนนหินกรวด (Cobblestone Road) เพื่อทดสอบระดับเสียงที่เข้ามาในตัวรถขณะรถวิ่งบนพื้นผิวที่ขรุขระ
  • ถนนที่มีสิ่งกีดขวาง (Table Top Road) เพื่อทดสอบความรู้สึกขณะขับขี่บนพื้นผิวที่มีสิ่งกีดขวาง
  • ถนนที่มีพื้นผิวต่างระดับ (Harshness Road) เพื่อทดสอบความรู้สึกขณะขับขี่บนถนนที่มีสภาพที่ไม่คาดคิด
  • ถนนชนบทที่มีรูปแบบซับซ้อน (Suburban Complex Road) เพื่อทดสอบการทรงตัวของระบบช่วงล่าง และระดับการสั่นสะเทือนภายในห้องโดยสารขณะรถวิ่งบนถนนชนบทที่มีรูปแบบซับซ้อน
  • ถนนทางเรียบในชนบท (Suburban Flat Road) เพื่อทดสอบการทรงตัวของระบบช่วงล่าง และระดับการสั่นสะเทือนภายในห้องโดยสารขณะรถวิ่งบนถนนทางเรียบในชนบท

6. สนามทดสอบที่มีพื้นผิวพิเศษ (Special Surface Courses)

สนามทดสอบนี้ได้รับการออกแบบและสร้างด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ เพื่อจำลองพื้นผิวถนนที่ขรุขระ ใช้ทดสอบความทนทานของช่วงล่างรถยนต์ โดยมีพื้นผิวถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

  • Salt Water Road
  • Chipping Road
  • Concrete Rough Road ถนนคอนกรีตที่มีพื้นผิวขรุขระ
  • Dip
  • Speed Breaker ถนนที่จำลองลูกระนาด
  • Wavy Road
  • Curb Bump Road
  • Bump Road

7. สนามทดสอบทางลาดชัน (Slope Course)

สนามทดสอบทางลาดชัน ที่พื้นผิวถนนเอียง 23 องศา ใช้ทดสอบความแข็งแกร่งของเครื่องยนต์ และประสิทธิภาพของระบบเบรก

8. สนามทดสอบทางตรง (Straight Course)

สนามทดสอบทางตรงความยาว 1.2 กิโลเมตร ใช้ทดสอบอัตราการประหยัดน้ำมัน และ อัตราการเร่งความเร็วหลังจากออกตัว

โดยวัตถุประสงค์ของสนามทดสอบปราจีนบุรีแห่งนี้ จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮอนด้า เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในอนาคต