คำกล่าวที่ว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” น่าจะมาถึงจุดพีค ในยุคที่เรามี Social Network ช่วยในการเผยแพร่เรื่องราวต่างๆบนท้องถนน เป็นการตอกย้ำความจริงว่าในขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังมีสามัญสำนึกและสามารถตระหนักได้ว่า “ไม่ชอบให้ใครทำกับเราอย่างไร ก็อย่าไปทำกับเขาอย่างนั้น” มันก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเหมือนกันที่นึกเป็นแค่อย่างเดียวว่า “กูไม่รู้ กูสะดวกของกูแบบนี้” หรือไม่ก็ใช้ฟอร์มเนียน ไม่รู้ว่าไม่ควรทำ ทั้งๆที่ในใจรู้ว่าอะไรผิดถูก แต่ถ้าสิ่งที่ถูกมันยากกว่าแม้แต่นิดเดียว คนพวกนี้จะไม่ทำ

ปลดเกียร์ว่างให้เข็นได้หน่อย…ไม่ทำ… เพราะ กลัวโดนเข็นไปชนคันอื่น

รีบทำธุระตัวเองให้เสร็จเร็วที่สุด….ไม่ทำ…เพราะ….จะทำนานเท่าไหร่ก็ทำไป ถ้ามีใครมาสัมภาษณ์ ก็ให้บอกว่าทำธุระแค่ 10 นาที (มาอย่างนี้..กี่คนๆก็สิบนาที ไม่เชื่อไปค้นข่าวเก่าๆย้อนหลังได้ ในโลกของคนเห็นแก่ตัว 1 ชั่วโมงก็คือ 10 นาที)

หรือจะมีน้ำใจเขียนแปะหน้ารถไว้สักหน่อยมั้ยว่า เจ้าของรถชื่ออะไร ไปนั่งเล่นแมวอยู่บ้านเลขที่ไหน เบอร์โทรอะไร ถ้าเจ้าของบ้านจะออกจากบ้านจะได้โทรตามได้..แบบนี้ดี..แต่ไม่ทำ..เพราะขี้เกียจพกกระดาษกับปากกา และเพราะเบอร์โทรเป็นข้อมูลส่วนตัว..อ้าว! ถ้าส่วนตัวมากก็ไปจอดที่อื่นครับ!

ผมรู้สึกรำคาญความมักง่ายในลักษณะนี้ และรู้สึกเห็นใจผู้ถูกกระทำ (พูดในภาพรวม ไม่ได้เจาะจงถึงเคสคุณน้าถือขวาน) ก็เลยลองรวบรวม บทบัญญัติต่างๆเกี่ยวกับการจอดรถในลักษณะกีดขวางทางเข้าออก และได้ปรึกษากับคุณเกริกฤทธิ์ เชาว์ปัญญานนท์ เพื่อนร่วมรุ่นสวนสุนันทาที่ปัจจุบันประกอบอาชีพทนาย แล้วนำความรู้มาแชร์

เพราะต่อให้เราจะไม่สนับสนุนให้ผู้คน สับ ทุบ ตบ สาดสี หรือเผารถคันใดๆที่จอดแบบมักง่ายขวางหน้าบ้าน แต่ก็มีความต้องการที่จะนำเสนอว่า “มันมีวิธี” ที่เราสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้โดยไม่ต้องเพลี่ยงพล้ำกลายเป็นคนถูกฟ้องเสียเอง

1. จอดขวางหน้าบ้านคนอื่น มีความผิดในทางกฏหมายหรือไม่?

คำตอบคือ “มี!”

คุณเองก็อาจจะเป็นคนที่เคยประสบปัญหาจากความเลินเล่อ เห็นแก่ตัว รักสะดวกแต่ไม่รักษาสิทธิของคนอื่น โดยเฉพาะล่าสุดกับประเด็นการจอดรถขวางหน้าบ้านจนเป็นเหตุให้มีการวิวาทและทำลายทรัพย์สิน ซึ่งความจริงเรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดเลยหากทุกคนที่ใช้รถมีสามัญสำนึก

แต่ก็จะมีมนุษย์ Ignorant บางประเภทที่มีความคิดซุยๆ เช่นเรื่องของการมีน้ำใจ ซึ่งอันที่จริงน้ำใจนั้นก็ควรมีไว้สำหรับคนที่ควรได้รับ ไม่ใช่สำหรับคนที่จ้องจะเอาเปรียบคนอื่นไปวันๆ

ข้ออ้างคลาสสิคอีกข้อหนึ่ง ที่สุดแสนจะฟังไม่ขึ้น แต่ถูกนำมาใช้บ่อยมากคือ “บ้านเป็นของคุณ รถเป็นของคุณ แต่ถนนหน้าบ้านคุณ เป็นถนนสาธารณะ ดังนั้นใครจะมาจอดก็ได้” แบบนี้ ถือว่าเป็นความคิดที่ผิด ไม่ใช่แค่ผิดใจ แต่ผิดในเชิงกฎหมายอย่างชัดเจน!!

ในเว็บไซต์ THAI TRAFFIC POLICE มีคำถามกล่าวถึงการจอดกีดขวางทางเข้าออกหลายคำถาม ซึ่งคำตอบของทางเจ้าหน้าที่ มีความชัดเจนว่าผิดอย่างแน่นอน ถ้าไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ ก็แค่อ่านข้อ 10 จากภาพด้านล่าง

ดังนั้น ตามพรบ. จราจรทางบก มาตราที่ 57 ข้อที่ 10 สรุปเป็นภาษาไทยชาวบ้านได้ว่า เขาห้ามไม่ให้จอดรถในบริเวณที่เป็นทางเข้าออกอาคารบ้านเรือนของใคร รวมถึงต้องเว้นระยะห่างจากปากทางเข้าออกดังกล่าวข้างละ 5 เมตร (ประมาณ 1 ช่วงคันรถกระบะ) อีกด้วย เพื่อเว้นเป็นระยะให้ผู้สัญจรเข้า/ออกสามารถเลี้ยวรถได้อย่างปลอดภัย

บางคนจะมองว่า จอดไปเหอะ เหลือที่ทำไมตั้ง 1 ช่วงคันรถ..ก็เขาเหลือไว้ให้คนเลี้ยวตีวงเข้า/ออกได้ โดยไม่เอาสีข้างรถไปถากกับรถคันที่จอดอยู่ยังไงครับ

 

2. ไม่ได้จอดปิดบังทางเข้า/ออก แต่จอดฝั่งตรงข้ามล่ะ จะเป็นอะไรมั้ย?

คำตอบคือ “สามารถแจ้งความดำเนินคดีในทางแพ่งได้ ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีส่วนทำให้เพิ่มอุปสรรคในการเข้า/ออกจากตัวบ้าน” ในเว็บไซต์ของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการยกตัวอย่างข้อคิดเห็น กรณีการที่ผู้ร้องทุกข์ ถูกผู้สร้างทุกข์ จอดกีดขวางในลักษณะที่เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่ากวนteen ดังนี้

สรุปความของกรณีดังกล่าวคือ ผู้ร้องทุกข์อาศัยอยู่ในทาวน์เฮ้าส์ แล้วบ้านฝั่งตรงข้ามเอารถมาจอดหน้าบ้าน ทั้งๆที่ในบ้านตัวเองก็มีที่จอดได้ ผู้ร้องทุกข์ไม่สามารถนำรถเข้า/ออกจากบ้านตัวเองได้ เจรจาให้มาเลื่อน ก็เลื่อนแค่นิดเดียว ต้องถอยเข้าออกอยู่หลายรอบ หรือไม่ก็ต้องไปเข็นรถหลบเอาเอง พอเข็นปุ๊บ เจ้าของรถก็กวนส้นโดยการเอาตุ่มน้ำ ราวตากผ้า จักรยานยนต์เดี้ยงมาขวางไว้อีก

เมื่อจำเลยมีพฤติกรรมลักษณะนี้ ทางศูนย์นิติศาสตร์มีความเห็นว่า “เป็นการขัดกับลักษณะการใช้ประโยชน์ของถนน และยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ร้องเกินกว่าปกติ ทำให้ผู้ร้องต้องเสียเวลาในการนำรถเข้าจอดภายในบ้านเป็นเวลานาน ทั้งยังสูญเสียช่องทางจราจรไป ทำให้ผู้สัญจรผ่านบริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้รร้องมีสิทธิที่จะเรียกให้บ้านตรงข้ามงดเว้นกระทำการดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421ประกอบมาตรา 213”

ซึ่งตามมาตรา 421 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ระบุว่าการใช้สิทธิของบุคคลหนึ่งหากไปละเมิดสิทธิหรือความเป็นอยู่ของคนอื่นโดยตั้งใจ ให้มองเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

3. เราจะทำอย่างไรได้บ้างกับพวกที่ชอบจอดรถขวางทางเข้าบ้าน โดยที่มือเราไม่ต้องเปื้อน

กุญแจของการเล่นงานเจ้าพวกนี้คือ อย่าไปทำอะไรให้ตัวเองอยู่ในฐานะเสียเปรียบครับ อย่างคดีที่เจ้าของบ้านโดนจอดปิดทางเข้า/ออกเมื่อปีที่ก่อน ซึ่งเจ้าของบ้านไม่พอใจ เอาสีไปสาดใส่รถเขา แทนที่จะชนะสวยๆ กลายเป็นโดนฟ้องค่าเสียหาย 60,000 บาท เจรจาลงมาได้เหลือ 32,000 บาท

โดยทั่วไปแล้ว คนส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการเจรจาดีๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จ เพราะคนที่สามัญสำนึกไม่บกพร่อง ก็คงไม่คิดไปจอดในลักษณะที่ทำให้คนอื่นลำบากตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่มันอาจจะยังมีหวังบ้างเหมือนกับความดีอันน้อยนิดที่หลงเหลือใน Darth Vader นั่นล่ะ

เมื่อการเจรจาไม่ประสบผล คุณควรเริ่มวางแผนก่อนโดยการติดตั้งอุปกรณ์บันทึกหลักฐาน เช่นกล้องวงจรปิด ซึ่งสมัยนี้ติดไม่ยาก ราคาไม่แพง มีร้านให้เลือกเซอร์วิสถึงบ้านเยอะแยะ เอามาติดเลยครับ 2-3 ตัวก็ได้ จะได้เก็บภาพหลักฐานไว้หลายๆมุม เอาให้เห็นทะเบียนรถ เห็นหน้าตาเจ้าของรถชัดเจน บันทึกต่อเนื่องไว้หลายๆวัน เซฟไฟล์เก็บไว้หลายๆวันด้วยก็ดี เราจะได้มีหลักฐานว่า คนที่ชอบเอาเปรียบคุณ เขาไม่ได้ทำเพราะความจำเป็นหรือบังเอิญ แต่ทำเพราะมันเป็นสันดานพิเศษ เอกสิทธิ์ของตัวเขา

หลังจากมีหลักฐานแล้ว เราก็แค่รอวัน D-Day!

จากที่ผมปรึกษาทนายเกริกฤทธิ์ ถ้าอยากจะเล่น Fair game เรามีสิทธิ์ เตือนคู่กรณีก่อนได้ว่า “อย่าจอดหน้าบ้านผม ไม่งั้นผมไม่รับผิดชอบ”

จากนั้นถ้ายังดื้อดึงอยู่อีก คุณสามารถติดต่อสถานีตำรวจประจำท้องที่ของคุณ แล้วให้เขาเอารถยกมาลากไปเก็บไว้ที่สถานีได้เลย

วิธีนี้ คุณไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย คนที่ลากไปก็เป็นเจ้าหน้าที่ เพราะเขาจอดรถผิดตามพรบ.จราจรทางบก เขาก็ต้องไปจ่ายค่าปรับและเอารถคืนที่สถานี

ถ้าโดนยกรถไปแล้ว ยังไม่เข็ดอีก มาตรการต่อไปที่คุณสามารถขยับได้คือ แจ้งความดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตราที่ 420 ว่าด้วยเรื่องการกระทำอันประมาทเลินเล่อซึ่งส่งผลร้ายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย และเสรีภาพหรือสิทธิ เพราะถนนหน้าบ้าน เป็นถนนสาธารณะจริง แต่กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดไปกักขัง ปิดทางเข้าออก ทางสัญจรของบ้านคนอื่น ซึ่ง “สิทธิในการเข้าและออกจากบ้านตัวเอง” มันคือสิทธิ์ที่พวกคุณพึงมี

ในกรณีที่การจอดขวางหน้าบ้านนั้น ส่งผลให้คุณเสียทรัพย์ เช่น นำรถออกไม่ได้ ทำให้ต้องเรียกแท็กซี่ ไปเจรจาธุรกิจช้า ทำให้พลาดดีลธุรกิจ ส่งผลเสียหายต่อชีวิตการเงินของคุณ สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายแล้วทำเรื่องฟ้องเรียกค่าชดเชยได้ แต่หลายคนมักไม่ทำ เพราะค่าธรรมเนียมในการนำเรื่องขึ้นศาล ขั้นต่ำคือ 5,000 บาท และในกรณีที่มีการเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่าเงินสูงๆหลายแสนบาท ค่าใช้จ่ายจุดนี้อาจแตะ 20,000 บาท

 

4. ถ้าขัดแย้งกันเรื่องที่จอดรถ แล้วโดนขู่ทำร้ายร่างกายล่ะ?

ก็ให้นำเรื่องส่งศาล ทั้งในทางแพ่ง และทางอาญาได้เลย โดยปกติศาลมักจะรอการพิจารณาสรุปความของคดีอาญาก่อน ในที่นี้ การที่ผู้นำรถมาจอด ขู่อาฆาตหรือทำร้ายร่างกาย สามารถจัดหมวดเข้าเป็นคดีอาญาได้ ตามกฎหมายมาตรา 397 ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย เดือดร้อน รำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท”

หรือในกรณีที่ผู้นำรถมาจอดนั้นไม่สบอารมณ์ ถ่ายรูปเรา รูปบ้านเรา แล้วนำไปโพสท์ด่าบน Facebook ของเขา แล้วเราจับได้ มีหลักฐาน ไม่ว่าโพสท์นั้นจะเป็นโพสท์เปิดสาธารณะ, เปิดเฉพาะเพื่อน (Friends) หรือไปโพสท์ในกลุ่มปิดใดๆก็ตาม หากเราสามารถเก็บหลักฐานไว้ได้ ก็เข้าข่ายที่จะสามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้เช่นกัน

จะแทงทั้งที อย่าแทงแค่เลือดซิบครับ ต้องเอาให้จำเข้าถึงส่วนลึกของเนื้อผ้าว่าอย่าเอาเปรียบคนอื่น!

แม้ว่าจะมีข้อกังขาในสังคมเรื่องความเท่าเทียมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือเส้นสายต่างๆที่อาจทำให้ผลที่ได้ไม่เป็นไปตามคิดเสมอไป ทางออกสำหรับพวกเราในการเรียกสิทธิอันชอบธรรมของตัวเองนั้น ก็ควรจะเริ่มจากเบาไปหาหนักเสมอ และวิธีการที่จะใช้ก็ควรจะอ้างอิงให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย เพื่อประวัติที่ขาวสะอาดของตัวผู้ถูกกระทำการละเมิดจะได้มีสถานะเป็นเจ้าทุกข์ ไม่ใช่ว่าไปๆมาๆกลับโดนฟ้องกลับ แทนที่จะได้แก้แค้น กลายเป็นต้องชำระแค้นแบบครึ่งๆกลางๆ

เอาไว้ไปอยู่ ณ จุดไหนที่ใดก็ตาม ที่กฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ไม่สามารถทำอะไรเพื่อปกป้องเราได้

เมื่อนั้นล่ะครับ เราค่อยทำหน้าที่พึ่งพาและปกป้องตัวเองตามศักดิ์ศรีและสิทธิในการอยู่ในสังคมอย่างสงบสุขด้วยวิธีการของเราเอง


แหล่งข้อมูล

เว็บไซต์กองบังคับการตำรวจจราจร

เว็บไซต์ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอขอบคุณ ทนายความ อาจารย์ เกริกฤทธิ์ เชาว์ปัญญานนท์ ให้คำปรึกษา