Hyundai ออกมาประกาศแนวทางการพัฒนารถยนต์ EV ในอนาคต เพื่อให้มีการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งค่อนข้างครบวงจรตั้งแต่แพลทฟอร์ม ไปจนถึงแบตเตอรี่และมอเตอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้ายอดขายรถ EV รวมให้ได้สูงถึง 1.87 ล้านคัน ในปี 2030 ภายใต้รถจำนวน 17 รุ่น ซึ่งจะแบ่งเป็น Hyundai 11 รุ่น และ Genesis 6 รุ่น

สำหรับรถ EV จำนวนดังกล่าวที่จะเปิดตัวในอนาคตประกอบไปด้วย รถซีดาน 3 รุ่น รถ SUV 6 รุ่น รถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก 1 รุ่น และ รุ่นปริศนาอีก 1 รุ่น โดยปี 2022 นี้จะเปิดตัวรถซีดานขนาดกลางรุ่น IONIQ 6 (เทียบได้กับรุ่น Sonata) ตามด้วยรถ SUV ขนาดกลาง IONIQ 7 (เทียบได้กับรุ่น Santa Fe) ในปี 2024 ในขณะที่ แบรนด์ Genesis เตรียมเผยโฉมรถ EV ในรูปแบบรถยนต์นั่งจำนวน 2 รุ่น และ รถ SUV จำนวน 4 รุ่น ซึ่งประเดิมด้วย SUV รุ่น GV70 ที่จะเปิดตัวในปี 2022 นี้ และนับตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป Genesis จะขายแต่รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ มีการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา Hyundai Motor Global Innovation Center (HMGICS) ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยเกี่ยวกับแพลทฟอร์มรถ EV โดยจะเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ไปยังโรงงานในภูมิภาคอื่นๆ

ที่น่าสนใจก็คือการที่ Hyundai ก็เป็นอีกค่ายหนึ่งที่ลงทุนการผลิตรถ EV ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะเริ่มทำการผลิตจริงภายในปี 2022 นี้ นอกเหนือไปจากการผลิตรถ EV ในประเทศเกาหลีใต้และสาธารณรัฐเช็ก นอกจากนี้ยังมีการร่วมทุนกับบริษัทผลิตแบตเตอรี่ในสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนในแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะทำให้สามารถบรรลุกำลังการผลิตแบตเตอรี่ในระดับ 170 GWh ภายในปี 2030 ซึ่งในจำนวนนี้ได้รวมแบรนด์ Genesis เข้าไว้ด้วยแล้ว รวมทั้งได้หารือกับพาร์ทเนอร์อีกหลายบริษัท เพื่อที่จะผลิตแบตเตอรี่แบบ solid-state ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านพลังงานและการควบคุมต้นทุน

(Hyundai Ioniq 5)

แน่นอนว่า Hyundai ก็จะขยายไลน์อัพเพื่อครอบคลุมรถ EV ในอนาคต รวมไปถึงรถสำหรับใช้งานเฉพาะทาง หรือ purpose-built vehicle (PBV) ซึ่งจะใช้แพลทฟอร์ม Integrated Modular Architecture (IMA) ที่พัฒนาต่อยอดจาก electric global modular platform (E-GMP) ซึ่งใช้ใน IONIQ 5 และ GV60

โดยแพลทฟอร์ม IMA ถูกออกแบบมาให้การจัดการขนาดตัวถังเป็นเรื่องง่าย รวมไปถึงการติดตั้งมอเตอร์และแบตเตอรี่ โดยจะลดความยุ่งยากของการใช้แบตเตอรี่หลากหลายรูปทรงเพื่อให้สอดรับกับรถแต่ละรุ่น แทนที่ด้วยแบตเตอรี่แบบสหกรณ์ ที่สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชิ้นส่วนอื่นๆ ด้วยรูปแบบ cell-to-pack ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่นอกจากจะเพิ่มความยืดหยุ่นแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงานและลดระยะเวลาในการชาร์จไฟอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีมอเตอร์แบบมาตรฐานจำนวน 5 แบบ ซึ่งสามารถติดตั้งลงบน แพลทฟอร์ม IMA ได้อย่างง่ายดาย พร้อมทั้งสามารถลดต้นทุนและน้ำหนักตัวรถได้ สำหรับเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 Highway Driving Pilot (HDP) ที่กำลังซุ่มพัฒนา จะถูกติดตั้งใน Genesis G90 รถซีดานหรูขนาดใหญ่ ภายในช่วงครึ่งปี 2022 นี้ รวมไปถึงการนำระบบ over-the-air (OTA) มาใช้ในการอัพเดทฟังก์ชั่นตัวรถ ซึ่งจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปลายปี 2022 จนกระทั่งติดตั้งจนครบทุกรุ่น

(Genesis G90)

ภายในปี 2025 Hyundai มีการเตรียมการทางด้านซอฟแวร์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และการขยายขอบเขตทางธุรกิจเพื่อให้ครอบคลุมบริการต่างๆ ที่ต้องใช้ฐานข้อมูลเป็นหลัก ผ่านศูนย์วิจัยจากทั้งในเกาหลีเองและภูมิภาคต่างๆ

ที่มา: Hyundai Motor