เริ่มต้นกับเดือนแรกของ Headlightmag.com เป็นวาระที่ค่อนข้างฉุกละหุกพอสมควร
สำหรับผม ซึ่งได้ถูกอำนาจมืดจากดาร์ธเวเฟอร์ (รู้จักใช่มั้ย? คนนั้นแหละ คนเดียวกับที่
เอาหลุยส์ อาร์มสตรองขึ้นไปบนดวงจันทร์แทนที่จะเป็นนีล อาร์มสตรองนั่นแหละ)
เขาชักชวนให้ผมมารับหน้าที่เขียนบทความในนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

คงไม่มีความพร้อมใดๆมารองรับกับคำตอบสั้นว่า “ตกลงโว้ย” แล้วหลังจากนั้นก็ต้องมาคิดว่า
จะขีดๆเขียนๆอะไรให้ใครเป็นคนอ่าน ยิ่งเรื่องถ่ายรูปสวยๆนั้นลืมได้เลย ถ้าไม่ใช่น้องๆอายุ
ระหว่าง 16-24 ปี สวยสาวขาวหมวยรวยเสน่ห์อีกทั้งยังเท่ห์อย่างเป็นธรรมชาติ ผมก็ไม่ใช่
คนที่จะใส่ใจรายละเอียดพวกนี้นัก สักแต่ถ่ายๆมันไว้อย่างนั้น ดังนั้นเมื่อไม่พยายามที่จะ
ทำตัวให้เป็นกูรูผู้รู้ใจกล้องแล้ว ผมก็คงต้องขอรับหน้าที่เขียนถึงรถเก่าๆในคอลัมน์ Rewind
cนี้แหละครับ

อันว่า Rewind มันก็เกือบจะคล้ายกับ Review แต่เป็นรถเก่ากว่า

ทำไมผมไม่เขียนถึงรถใหม่ ผมเขียนได้ครับ แต่ไม่อยากไปแย่งงานไอ้ดาร์ธ เวเฟอร์มัน
อีกอย่างนึงต้องยอมรับตรงๆครับว่ามือยังไม่ถึง เพราะเป็นแค่มือสมัครเล่น ไม่มีรูปแบบเฉพาะ
เขียนสั้นบ้าง ยาวบ้างตามอารมณ์ จึงขอบอกไว้ก่อนเลยว่าคงต้องมีรายการผิดหวังกันบ้าง
เนื่องจากรถเก่านั้น การหารูปและรายละเอียดบางคันไม่ง่ายนัก ฉะนั้นจะให้ความละเอียด
เท่ากับ Review by J!MMY นั้น คงยากครับ แต่ก็จะพยายามทำให้ดีเท่าที่จะทำได้ครับ

(รูป)

เริ่มกับรถคันแรกที่ผมจะเขียนเล่าให้ฟังกันนั้น ก็คงขอเริ่มต้นจากอดีตรถของผมเอง ซึ่งก็คือ
Mercedes-Benz W124 หรือที่คนไทยชอบเรียกกันติดปากว่า “โลงจำปา” ซึ่งที่เขียนในครั้งนี้
เนี่ยก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงมัน หลังจากที่ออกจากรั้วบ้านผมไปได้ครบ 6 เดือนแล้ว และป่านนี้
ถ้าจำไม่ผิดน่าจะวิ่งอยู่แถวๆชลบุรี หรือพัทยาเนี่ยแหละครับ ผมใส่รูปรถคันนี้ลงไว้ในบทความด้วย
ถ้าใครพบเห็นก็ฝากดูกันบ้างนะครับว่ายังดีอยู่หรือเปล่า

W124 นี่ถือว่าเป็นตำนานอันดับต้นๆของเบนซ์ ทั้งในเมืองไทย และเมืองนอก ที่เมืองไทย มันเป็น
สัญลักษณ์ของยุคที่รถหรูเฟืองฟูขายดีไม่แพ้รถใช้งานทั่วไป เป็นตัวแทนแห่งความรุ่งโรจน์ก่อน
ยุคฟองสบู่แตก ที่เยอรมันนี มันเป็นตั้งแต่รถนักธุรกิจไปจนแท็กซี่ เพราะด้วยความทนทานของมัน
ที่สร้างขึ้นมาเพื่อวิ่งตลอดไป

 

 

W124 เริ่มปรากฏตัวให้ผู้คนเห็นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1984 หรือเกือบจะ
สองทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา และ ลงขายจริงในปี 1985 ความทันสมัยของ 124 ในยุคนั้น ถือว่า
เป็นรถที่ท้าทายสายตาต่อการมอง…ไม่ใช่ว่าสวยนะครับ แต่เพราะว่ารูปทรงมันช่างเป็นเหลี่ยม
เป็นมุมไปเสียทุกส่วน แต่ในด้านของการออกแบบส่วนต่างๆของรถแล้วละก็ ถือว่าเป็น
ก้าวกระโดดขั้นสูงจาก W123 รุ่นก่อนหน้านี้ เพราะ การใช้อุโมงค์ลมช่วยออกแบบ

ซึ่ง 124 นี้ นับเป็นเบนซ์รุ่นที่สาม ที่ได้ผ่านการออกแบบจำลองสภาวะการณ์ด้วยอุโมงค์ลม
(ต่อจาก 126 และ 201) ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานของตัวถังนั้น ถือว่าต่ำมากสำหรับรถ
ที่ออกแบบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (Cd=0.28 ในรุ่นที่ไม่มีการตกแต่งตัวถังเพิ่มเติม)

 

และ ที่ลืมไม่ได้ที่จะพูดถึงก็คือที่ปัดน้ำฝนแบบ Panorama ซึ่งอาศัยก้านปัดเพียงก้านเดียวเท่านั้น
แต่ตัวก้านนั้น สามารถยืด และ หดได้ ทำให้ก้านปัดสามารถกวาดจากซ้ายสุดไปขวาสุดได้โดยที่
ไม่ชนขอบกระจก ทำให้สามารถปัดทำความสะอาดพื้นที่กระจกหน้าได้ถึง 80% นั่นเป็นภูมิปัญญา
ชาวบ้านของวิศวกรเยอรมัน ที่ให้ประสิทธิภาพดีมาก ถึงแม้วารสารอเมริกันเล่มหนึ่งจะขนานนาม
ที่ปัดน้ำฝนๆก้านเดียวยืดๆหดๆนี้ว่า “One Suck” เป็นว่าอะไรก็ไม่ทราบ หรือว่าจะเป็นก้านปัดอันเดียว
เสียวได้ใจ เพราะ เขาบอกว่าในยามที่ฝนตกหนักมาก ก้านปัดแบบนี้ไม่สามารถปัดได้เร็วพอที่จะ
ขจัดคราบน้ำฝนได้ทัน ซึ่งในฐานะเจ้าของผมก็มีความเห็นในลักษณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าโดยส่วนตัวแล้ว
การได้จ้องไอ้โคนก้านปัดน้ำฝนยืดๆหดๆในระหว่างปัด มันช่างเป็นอะไรที่ ว้าว..ร้อนแรง..
กระตุ้นอารมณ์เหลือเกิน

 

124 ที่เปิดตัวในยุคแรกเริ่มนั้น มีกันชนหน้าหลังสีดำ กระจกมองข้างสีดำ มีแถบกันกระแทก
ด้านข้างสีดำ ซึ่งตรงข้ามกับ W123 ที่มีโครเมียมคาดยาวตลอดคัน มือจับเปิดประตู รวมถึง
รางน้ำฝนก็มีสีดำเช่นกัน คำศัพท์เฉพาะของพวกนักเลงเบนซ์ในไทยเค้าจะเรียกรุ่นนี้ว่า
Code A ทั้งๆที่ความจริงรถCode F ก็มีรูปร่างเหมือนกัน แต่คนก็ยังติดปากกันว่าCode A อยู่ดี
อย่างคันในภาพที่โชว์อยู่ข้างบนนี้เป็น Code A ที่เปิดตัวในไทยระยะแรก ซึ่งสภาพยังดีอยู่มาก
ในวันที่ผมถ่ายรูปมา (เกือบสิบปีก่อนหน้านี้)

 

และนี่ก็คือภายในของรถ Code A สเป็คประกอบในประเทศ โดยโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์
ในยุคที่มันเปิดตัวใหม่ๆนั้น ถือได้ว่าเป็นรถที่ออกแบบภายในได้ล้ำยุคมาก แม้แต่ในตอนนี้
ก็ยังมีหลายคนชอบอยู่ คันเกียร์ที่มีลักษณะเป็นขั้นบันไดก็กลายมาเป็นสิ่งที่รถญี่ปุ่นใหม่ๆ
หลายคันนำมาใช้เป็นต้นแบบ ถึงแม้หลายคนจะมองว่าไม่ค่อยปลอดภัยเพราะสามารถเลื่อนไป
เลื่อนมาได้โดยอิสระ แต่ในแง่ของการเปลี่ยนเกียร์ เช่นการเล่นเกียร์ D ไป 3 หรือ 2 นั้น
สามารถทำได้รวดเร็วและมั่นใจ และคุณจะต้องเล่นเกียร์เองบ้างแน่นอน เพราะความฉลาด
ของเกียร์ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่โบราณตามปีเกิดของรถ

สวิทช์ปุ่มควบคุมมีการจัดวางที่เป็นระเบียบ สามารถกดใช้งานได้ง่าย แอร์ในรถสเป็คบ้านเรา
จะยังไม่มีแบบอัตโนมัติให้ใช้ แต่ปุ่ม และ ลูกบิดต่างๆมีน้ำหนักตึงมือ ที่ไม่ใช่เบาชนิดบิดแล้ว
ดังแก๊กก๊อกแบบรถญี่ปุ่น นี่คือสิ่งที่ได้จากการจ่ายแพงกว่ากันเป็นล้าน รถ Code A จะมี
ที่เขี่ยบุหรี่ที่ใช้นิ้ววัก ดึงออกมา เบ้าของคันเกียร์ออโต้จะมีขนาดค่อนข้างแคบ และที่
แผงประตูจะไม่มีการตกแต่งลายไม้ใดๆ

ในส่วนของเครื่องยนต์นั้นก็ประกอบไปด้วยแบบต่างๆดังนี้

1.    ตระกูล 4 สูบ นั้นยกเอาเครื่อง 2.3 ลิตร หัวฉีดกลไก K-Jetronic ของ W123
มาเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อย รวมถึงชุดจ่ายน้ำมันที่เปลี่ยนจากหัวฉีด K-Jetronic
เป็นหัวฉีด KE-Jetronic ก็จะเป็นรุ่น 230E และ ก็ยังมีรุ่นเครื่องคาร์บิวเรเตอร์อย่าง
200 อยู่เป็นรุ่นราคาประหยัด

2.   ส่วนเครื่อง 6 สูบนั้น 124ได้เครื่องบล็อคใหม่ชื่อ M103 ที่มาแทนที่เครื่อง M110
ทวินแค็มตัวเก่าที่ขึ้นชื่อว่าแรง แต่ซดน้ำมันและเสียงดัง โดยที่เครื่องตัวใหม่นั้น
ใช้ 2 วาล์วต่อสูบเช่นเดิม แต่เปลี่ยนมาใช้ฝาสูบแบบ Single Overhead Camshaft
และ ใช้หัวฉีดแบบ Electro-Mechanic แบบเดียวกับ 230E M103 มีความจุกระบอกสูบ
สองขนาดคือ 2.6ลิตร (166แรงม้า) และ 3.0ลิตร (188แรงม้า) ดังตัวอย่างในภาพข้างล่างนี้
เป็นเครื่อง 2.6 ลิตร ที่ใช้งานมาแล้ว 300,000 กิโลเมตร เยิ้มไหมครับ?

เครื่องยนต์ดีเซลนั้นก็มีให้ลูกค้าเลือกด้วยกันทั้งหมดสามรุ่นคือ 200D 4 สูบ 72 แรงม้า
, 250D 5สูบ 90 แรงม้า และ 300D 6 สูบ 105แรงม้า

 

3.

ในขณะที่รุ่น Saloon ได้เริ่มสายการผลิตขึ้นนั้นเอง เบนซ์ก็นำเอารุ่นตัวถังแบบ station wagon
(S124) ออกมาโชว์ตัว และ ทำตลาดด้วยรุ่น 200T, 230TE, 300TE, 200TD, และ 250TD
รายละเอียดของเครื่องยนต์นั้นเหมือนกับตัว Saloon แต่อุปกรณ์พิเศษอย่างหนึ่งที่พบเห็นได้
ในตัว station wagon นี้คือระบบปรับความสูงของช่วงล่างหลังด้วยระบบไฮโดรลิค ซึ่งมีหน้าที่
ชดเชยความสูงของตัวรถในด้านหลัง เมื่อบรรทุกสัมภาระที่มีน้ำหนักมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ท้ายรถ
เกิดอาการห้อย

ในปีถัดมา ทางเบนซ์ก็ได้นำเครื่องยนต์ ดีเซลเทอร์โบ 6 สูบเรียง มาประจำการในตัวถัง W124
และ S124 โดยที่เครื่องตัวใหม่ซึ่งมีรหัสว่า OM603.960 นี้สามารถทำแรงม้าได้ 143 ตัว และ
มีแรงบิด 267 Nm ที่ 2,400 รอบต่อนาที เมื่อวางลงในบอดี้ 124 แล้ว  สามารถทำอัตราเร่ง
และ ความเร็วสูงสุดได้เกือบเท่ารถ 230E เครื่องเบนซิน แต่แรงบิดที่สูงกว่า และ การที่เป็น
เครื่องยนต์ดีเซล ทำให้เราพบเจ้าของ 300D Turbo นำรถตัวเองไปลาก Trailer สำหรับ
การท่องเที่ยวพักผ่อน หรือ ใช้เดินทางพิสัยไกล โดยอาศัยประโยชน์จากอัตราการกินน้ำมัน
ที่ต่ำกว่าเครื่องเบนซิน

(รูป)

ส่วนรุ่นคูเป้ทรงสวยนั้น เปิดตัวตามรุ่นแวก้อนใน ปี 1987 ที่งานเจนีวา มอเตอร์โชว์ มี 2 โมเดล
ให้เลือกในขณะนั้น คือ 230CE และ 300CE เบนซ์ตัวถังคูเป้ (C124) นี้  จะมีกาบข้างติดตัวมาให้
ฉะนั้นเราจะไม่พบ CE ที่เป็นกันชนดำ หรือ มีแถบกันกระแทกด้านข้างสีดำ อย่างที่เราพบใน
ตัว Saloon และ Station Wagon กาบข้างของเจ้า CE รุ่นแรกนี้ จะไม่มีขอบโครเมียม อย่างที่เรา
พบในรุ่นใหม่กว่า คิ้วขอบ และ รางน้ำฝนก็ยังเป็นสีดำอยู่ และ ที่แผงประตูก็จะไม่มีลายไม้แผ่นยาว
คาดมาให้เห็นอย่างที่ 300CE แในประเทศไทยมี

เอกลักษณ์พิเศษของรุ่นคูเป้ที่ไม่เหมือนรุ่นอื่นคือตัวยื่นเข็มขัดนิรภัยแบบไฟฟ้า ซึ่งเมื่อเราปิดประตูและสตาร์ทรถ แขนที่ว่านี่จะยื่นเส้นเข็มขัดนิรภัย(ซึ่งยึดอยู่กับตัวถังรถ ยื่นออกมาจากขอบช่วงบนของแผงหลัง เพราะรุ่นนี้ไม่มีเสากลาง) ให้กับคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเอี้ยวตัวไปดึงมาเอง อุปกรณ์ชิ้นนี้นั้นเหมือนกันที่เราพบในรถS-Class 126คูเป้นั่นเอง

ในปีเดียวกันนั้นเองรถW124และS124ก็มีรุ่นขับเคลื่อน4ล้อแบบPart-Time ที่เรียกกันว่า4MATICเพิ่มเข้ามาให้เลือกกับรถที่เป็นเครื่องยนต์6สูบ และเครื่องยนต์ดีเซลก็มีให้สั่งได้ในรุ่น300D, 300D Turboและ300TD Turbo

ระบบ4MATICนี้เป็นระบบขับเคลื่อน4ล้อ ที่จะสั่งการให้ล้อหน้าหมุนก็ต่อเมื่อล้อหลังเกิดการหมุนฟรีขึ้น หลักการทำงานนั้นคล้ายกับระบบที่พบในHonda CR-V

ปี1988เป็นเวลาที่ใกล้หมดวาระสำหรับ124รุ่นCode Aเต็มที ในขณะที่ยอดขายของคู่แข่งอย่างBMW Series 5 ตัวถัง E34 ก็มาแรงเต็มที่ เบนซ์จึงจำเป็นต้องกระตุ้นตลาดในยุโรปเล็กน้อยก่อนที่จะถึงเวลาไมเนอร์เชนจ์ให้124 โดยทำการปรับปรุงรถที่ใช้เครื่องดีเซลให้มีห้องเผาไหม้ล่วงหน้าหรือPre-combustion Chamberและหัวฉีดดีเซลแบบเอียงซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มแรงม้าขึ้นเล็กน้อยแล้ว ยังทำให้เครื่องดีเซลแต่ละรุ่นที่ประจำการอยู่ใน124นั้นปล่อยมลภาวะออกมาน้อยลง

พร้อมกันนี้ก็ยังได้ปล่อยรถเครื่องบล็อคเล็กรุ่น200Eออกมาเล่นกับ520i ของBMW ด้วย รถรุ่น200Eนี้ก็ใช้เครื่องแบบเดียวกับ190Eรุ่น2.0 แต่มีสายพานหน้าเครื่องแบบเส้นเดียว ให้กำลัง 122แรงม้า ออกมาจับลูกค้าที่ไม่ต้องการขยับไปหา230Eและไม่สนใจเครื่องคาร์บิวเรเตอร์รุ่นเก่า ซึ่งพวก124เครื่องเล็ก(200/200E)นี้พบทางไปอยู่ในประเทศเล็กๆที่ถนนหนทางกับสภาพการจราจรไม่เรียกร้องเครื่องยนต์ที่มีพลังมากนัก ถ้าใครเคยไปสิงคโปร์เมื่อสัก10ปีก่อนก็จะพบรถตัวถัง124รุ่น200กับ200Eวิ่งเต็มเกาะ

 

ไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรกของรถ124มาในปี1989 โดยจุดที่ต่างจากรถCode Aอย่างเห็นได้ชัดคือกาบข้างตัวรถและกันชน ซึ่งเข้ามาแทนที่แถบสีดำ ขอบบนของกาบข้างและกันชนจะมีคิ้วโครเมียมประดับมาอย่างสวยงาม รางน้ำฝนเปลี่ยนจากสีดำมาเป็นสีทองแดง มือจับเปิดประตูมีการแซมโครเมียมเป็นแถบแนวนอน ไฟหน้าชุดเดิม แต่เปลี่ยนเลนส์ไฟหน้าให้ดูขาวและใสขึ้น กระจกมองข้างเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับตัวรถ และในรุ่นที่เป็นล้อเหล็กพร้อมฝาครอบล้อนั้นจะมีการแต่งขอบฝาด้วยโครเมียมเช่นกัน ส่วนภายในนั้นมีการเสริมแผงลายไม้แนวนอนในบริเวณประตู ที่เขี่ยบุหรี่เปลี่ยนจากแบบดึงเปิดมาเป็นแบบกดแล้วเปิดแทน สวิทช์แอร์ตรงที่เป็นปุ่มสามอันมีขนาดใหญ่และแบนลงเล็กน้อย จุดยึดเข็มขัดนิรภัยที่เบาะหลังเปลี่ยนรูปทรงไป และหูเสียบเข็มขัดจากเดิมที่จะเบียดเข้าไปในที่เท้าแขนเบาะหลัง ในรุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้จะออกมาอยู่บนเบาะ ทำให้ที่เท้าแขนเป็นสี่เหลี่ยมเต็มชิ้น ส่วนทางด้านของเครื่องยนต์มีการเปลี่ยนแปลงแค่ชุดหัวฉีด จากเดิมที่เป็นรุ่นKE-IIIเปลี่ยนมาเป็นKE-5ซึ่งว่ากันว่ามีประสิทธิภาพดีกว่า(แต่แรงม้ากับแรงบิดยังเท่าเดิม) การปรับตั้งรอบเดินเบาของหัวฉีดKE-5ไม่สามารถเอาไขควงมาขันเล่นเองเหมือนรุ่นKE-IIIได้ (หมดสนุกเลย)

 

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในหลายจุดนี้ เมื่อรวมกันแล้วเราก็จะได้รถที่พร้อมสำหรับยุค90 แล้วก็เป็นรถ124ที่ภาษานักเลงเบนซ์เค้าเรียกว่ารถCode Bนั่นเอง

และเพื่อเป็นการฉลองการเกิดให้กับรถCode B เบนซ์ก็นำเครื่องยนต์บล็อคทวินแค็ม 24วาล์วรหัสM104เข้ามาประจำการในบอดี้124 โดยมีให้เลือกกันทั้งสามตัวถังเลยทีเดียว คือ300E-24, 300TE-24,และ 300CE-24

ความพิเศษของเครื่องM104.980นี้อยู่ที่ท่อนฝาสูบซึ่งสามารถรับอากาศเข้าและคายไอเสียได้มากกว่าเครื่องM103 12วาล์ว อนุญาตให้คนขับสามารถกระแทกคันเร่งได้ยัน7000รอบต่อนาทีก่อนสับขึ้นเกียร์ต่อไป จากการที่ย้ายแรงบิดไปอยู่รอบสูงขึ้นก็ทำให้แรงม้าเพิ่มขึ้นจาก188ตัวใน300Eเป็น220ตัว และเพิ่มความเร็วสูงสุดขึ้นเป็น232กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แต่ก็ใช่ว่าจะไร้จุดด้อยไปเสียเลย เพราะความที่เน้นการทำงานในรอบเครื่องสูงๆมากนี่เอง ทำให้แรงบิดรอบต่ำนั้นมีน้อย จำเป็นต้องใช้เฟืองท้ายที่จัดกว่า300Eเพื่อช่วยลดความเสียเปรียบในรอบต่ำๆลง อีกทั้งความที่เครื่องยนต์มีส่วนประกอบมากชิ้นกว่าเครื่องรุ่น12วาล์ว ทำให้น้ำหนักตกหน้าเพิ่มขึ้นอีกราว60กิโลกรัม นักทดสอบฝรั่งท่านหนึ่งเคยcommentไว้ว่าถ้าเป็นการขับขี่แบบทางโค้งและขึ้นลงเขา 300E นั้นขับสนุกกว่า แต่ถ้าเป็นทางด่วนหรือInterstateยาวๆล่ะก็ 300E-24จะไปได้เร็วกว่า

จากนั้นต่อมาอีก1ปี ในงานมอเตอร์โชว์ที่ปารีส ก็ได้เวลากำเนิด124ที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เบนซ์เคยทำมา

นั่นก็คือ 500E!

 

500E นั้นดูเผินๆก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า124 4ประตูธรรมดาที่ใส่ล้อและยางขนาด225/55ZR16 ลาย8รู แต่ถ้ามองดีๆแล้วจะสังเกตเห็นความบึกบึนของตัวรถที่เกิดจากโป่งบังโคลนขนาดใหญ่ทั้งสี่ล้อ และช่วงล่างSportที่ทำให้รถเตี้ยลงกว่าปรกติ นั่นเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่าย แต่ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว 500Eมีจุดที่แตกต่างจาก124 สี่ประตูทั่วไปถึง 4,500 จุด

Mercedes-Benzมอบหมายให้Porscheเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการโมดิฟายโครงสร้างตัวถัง เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และการประกอบอุปกรณ์ภายใน ฉะนั้น500Eจึงใช้เวลาในการประกอบนานกว่ารถทั่วไปถึง4เท่าตัว เพราะมีการส่งรถไปและกลับระหว่างโรงงานเบนซ์ในSindelfingenและโรงงานของPorscheในZuffenhausenถึงสี่ครั้ง กล่าวคือเบนซ์สร้างตัวถังออกมา Porscheนำไปปรับปรุงโครงสร้างตัวถัง แล้วส่งบอดี้รถนั้นกลับมาที่เบนซ์เพื่อทำการชุบสี แล้วก็ส่งกลับไปที่โรงงานPorsche อีกครั้งเพื่อวางเครื่อง ระบบส่งกำลัง ติดตั้งอุปกรณ์ภายใน และวิ่งทดสอบ และสิ้นสุดลงเมื่อตัวรถถูกส่งกลับมาให้เบนซ์เพื่อตรวจสอบขั้นสุดท้ายและมอบให้กับลูกค้า

 

500Eใช้เครื่องยนต์ที่มีพื้นฐานมาจากเครื่อง M119ของ500SL รหัสก็เรียกว่าM119เหมือนกัน มีแค็มสี่แท่ง 32วาล์ว และทำแรงม้าได้326ตัวเหมือนกัน แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน เช่นท่อไอดีของ500Eนั้นยาวกว่า500SL และเพลาข้อเหวี่ยงที่ใช้ก็เป็นคนละชุดกัน ทำให้ความสูงของเสื้อสูบ500Eเตี้ยกว่าเล็กน้อย แรงบิด475Nmของเครื่องบล็อคนี้แผ่ออกเป็นช่วงกว้าง เรียกว่าที่รอบต่ำแค่1500รอบต่อนาทีก็มีแรงบิดให้ใช้กัน90%ของทั้งหมดแล้ว

เครื่องยนต์ของ500Eนั้นจะมีรหัสว่า 119.974 ในขณะที่เครื่องของ500SLจะเป็น119.960(และ119.972ในรถที่จำหน่ายหลังปี93) งานนี้ถ้ากลัวว่าไม่ใช่เครื่อง500Eแท้ก็ดูตรงนี้ได้เลย

ทั้งหมดนี้ รวมกับน้ำหนักตัวที่เบากว่า500SLอยู่80กิโลกรัม และเฟืองท้ายเบอร์ 2.82 ทำให้500Eสามารถทำอัตราเร่งจาก0ถึง100กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายใน6.1วินาที (เร็วกว่า500SLอยู่0.4วินาที) ควอเตอร์ไมล์ได้ภายใน14.6วินาทีและถ้าหากปลดล็อคคอมพิวเตอร์ออกแล้ว500Eจะสามารถวิ่งได้เร็วถึง262กิโลเมตรต่อชั่วโมง

หน้าที่ในการหยุดรถก็เป็นของชุดเบรคซึ่งยกคาลิเปอร์หน้ามาจาก500SLและใช้เบรคหลังของ300CE-24

500E ติดจรวดพุ่งเข้าสู่ชาร์ทรถแรงในยุคนั้น คล้ายๆกับสิ่งที่ E55 Kompressor ได้ทำไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในยุคที่รถ 200 แรงม้านับว่าเป็นของแรง 500E จึงเปรียบเสมือนสามัญชนคนหนึ่งที่ได้รับการฝึกวิทยายุทธ์จนมีฝีมือยิ่งใหญ่แล้วกลายมาเป็นจักรพรรดิบนท้องถนน และลูกค้าจำนวนไม่น้อยของ 500E ก็รวมถึงดาราที่เราคุ้นหน้ากันดีทั้งบนจอเงินและจอแก้ว

 

อย่างคุณ Rowan Atkinson เป็นต้น
(ภาพจาก นิตยสาร CAR ประเทศอังกฤษ เดือน พ.ย. 1992)

เมื่อเสร็จธุระกับการเปิดตัว500E ในปี1991นั้นเองเบนซ์ก็ลุยตลาดรถเปิดประทุนต่อกับ300CE Cabriolet ซึ่งไม่มีหลังคาแข็งมาให้อย่างที่500SLมี แต่หลังคาผ้าใบของCabriolet (รหัสตัวถัง A124)นี้ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า โดยสิ่งที่ผู้ขับต้องทำด้วยมือก็มีแค่ดึงคันโยกล็อคหลังคา กดสวิทช์ให้หลังคาทำงาน แล้วก็ดึงคันโยกกลับเข้าที่ หลังคาผ้าใบไฟฟ้านี้มีวัสดุที่ช่วยซับความร้อนจากภายนอกด้วย ซึ่งรุ่นพี่อย่างSLนั้นไม่มีมาให้

ปี1992 ด้วยกระแสความนิยมในเครื่อง 4 วาล์วต่อสูบที่มาแรงยิ่งขึ้น แม้แต่รถเล็กราคาประหยัดยังมีให้ใช้กันเป็นเรื่องปกติ คู่แข่งอย่าง BMW ก็มีเครื่องรหัส M50 ที่เป็นทวินแค็ม 24 วาล์ววางใน 520i และ 525i ออกขายได้พักใหญ่ๆแล้ว มีหรือทางเบนซ์จะนิ่งดูดายได้

ว่าแล้วก็เลยนำเครื่องยนต์ตระกูล4วาล์วต่อสูบรุ่นใหม่มาใส่ในW124 Code Bและทำตลาดอยู่เป็นเวลา1 ปี โดยเครื่องยนต์ที่มีให้เลือกในขณะนั้นประกอบไปด้วย เครื่อง2.0ลิตร 4สูบ 16วาล์ว 136แรงม้า, 2.2ลิตร 4สูบ 150แรงม้า, 2.8ลิตร 193แรงม้า, และ 3.2ลิตร 220แรงม้า ในภาพข้างที่แสดง เป็นเครื่อง 3.2 ลิตร

เครื่องรุ่นใหม่นี้จะมีระบบแปรผันองศาแค็มชาฟท์เพื่อช่วยเรียกแรงบิดในรอบต่ำและลดมลภาวะจากไอเสีย รุ่น4สูบมีรหัสเครื่องว่าM111ส่วนรุ่น6สูบจะมีรหัสว่าM104 ซึ่งฟังดูเหมือนกับเครื่องM104ที่อยู่ใน300E-24ก็จริง แต่มีหน้าตาของเครื่องยนต์ที่ไม่เหมือนกัน โดย300E-24จะมีหม้อกรองอากาศแบน ใบใหญ่ อยู่ส่วนบนของเครื่องยนต์ แต่M104ตัวใหม่นี้จะมีหม้อกรองอากาศเป็นกล่อง อยู่ด้านข้างของเครื่องยนต์ ส่งอากาศผ่านท่อซึ่งวิ่งข้ามฝาครอบวาล์วมาหาplenumที่อยู่ทางขวา

ที่เปิดตัวตามมาในเวลาใกล้ๆกันนั้นคือ400E ซึ่งวางเครื่องV8 32วาล์ว 4.2ลิตร 278แรงม้า ให้พลังขับเคลื่อนน้องๆ500E แต่ผลิตและประกอบโดยเบนซ์ ไม่มีการโมดิฟายพิเศษเช่นโป่งล้อหรือขยายแทร็ค(แม้แต่ล้อโรงงานยังเป็นขนาด195/65ขอบ15!) ซึ่งถึงแม้ไม่ดูดุดันเท่า500E แต่ก็มีค่าตัวที่เป็นมิตรกับกระเป๋ากว่าอยู่โข

ความเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นที่เกิดขึ้นกับรถCode Bนอกเหนือไปจากเรื่องเครื่องยนต์แล้วก็ยังมีวงพวงมาลัยที่เปลี่ยนไปใช้แบบสี่ก้านทรงมน แทนของเดิมที่ดูโบราณเต็มที กระจกส่องข้างในตอนนี้ปรับด้วยไฟฟ้าทั้งสองข้าง จากเดิมที่ปรับด้วยไฟฟ้าแค่ข้างคนนั่ง ส่วนด้านคนขับนั้นต้องวานใช้มือปรับที่คันโยกเอาเอง

 

รถ124เครื่องมัลติวาล์ว Code B ถูกปล่อยให้ทำตลาดในแบบลองเชิงลูกค้าอยู่ไม่นาน พอถึงเดือนมิถุนายน 1993 Mercedes-Benzก็จัดการไมเนอร์เชนจ์ครั้งสุดท้ายให้กับ 124

 

ไมเนอร์เชนจ์ตัวสุดท้ายหรือรถ Code C (บางคนก็เรียกว่ารุ่นfacelift) ได้ไฟหน้าชุดใหม่ที่เปลี่ยนจากสี่เหลี่ยมผืนผ้ามาเป็นแบบสี่เหลี่ยมคางหมู เปลี่ยนไฟเลี้ยวหน้าเป็นสีขาว เปลี่ยนฝากระโปรงหน้า กระจังหน้า กันชนทั้งด้านหน้าและหลังจากเดิมที่มีส่วนรับแรงกระแทกสีดำก็เปลี่ยนมาเป็นสีเดียวกับตัวรถ ไฟท้ายสามสีถูกเปลี่ยนเป็นแบบแดง-ชา ฝากระโปรงหลังก็เปลี่ยนไปโดยมีเส้นโครเมียมเดินด้านบนของช่องใส่ป้ายทะเบียน ภายในก็เหมือนกับรุ่นCode Bมัลติวาล์ว รวมไปถึงเครื่องยนต์ที่ใช้ก็เป็นเครื่องเดียวกัน เปลี่ยนชื่อเรียกเอาตัวอักษรมานำหน้าแทนการเอาไว้ข้างหลัง เช่น400Eงานนี้ก็กลายเป็นE420 บางคนเลยเรียกรถCode Cพวกนี้ว่ารุ่นEหน้า และเรียกรุ่นก่อนหน้านี้ว่ารุ่นEหลัง

ตัวแสบอย่าง500Eก็ยังมีชีวิตอยู่ และได้รับชื่อใหม่กลายเป็นE500 (บางคนบอกว่าฟังดูอัปมงคลดีแท้) และเครื่องยนต์ถูกปรับให้มีแรงม้าลดลงเล็กน้อย เหลือ315ตัว เพื่อให้ผ่านการตรวจมลภาวะของหลายประเทศซึ่งนับวันจะเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ

 

เครื่องเบนซิน12วาล์วฝาดำที่โด่งดังมาก่อนจากรุ่นที่แล้ว ในขณะนี้เหลือจำหน่ายอยู่กับรถเพียงโมเดลเดียวคือE300 4MATICขับเคลื่อนสี่ล้อ Real-Time โดยมีให้เลือกในรุ่นสี่ประตูและStation Wagon

ส่วนเครื่องยนต์ดีเซล ก็ยังมีให้เลือกอยู่หลายรุ่น E200ดีเซล 75แรงม้า ที่วิ่งให้เราเห็นบ่อยๆในคราบAirport Taxiบนโทลล์เวย์ เป็นรุ่นที่ราคาย่อมเยาที่สุด ส่วนรุ่นอื่นๆที่ไม่มีเทอร์โบนั้นได้รับการปรับปรุงจากเดิมโดยเปลี่ยนมาใช้ฝาสูบแบบ4วาล์วต่อสูบแทน ทำให้มีแรงม้าเพิ่มขึ้นจากเดิมโดยรุ่นE250 Dieselมีแรงม้าจาก90ตัว เพิ่มเป็น113ตัว รุ่นE300 Diesel กลายเป็น136ตัว (โดยไม่มีเทอร์โบช่วยอัดอากาศนะครับ ถือว่าเก่งไม่หยอกเลย)

ส่วนรุ่นE300Turbo Dieselยังมีกำลัง147แรงม้า และยังใช้เครื่องสองวาล์วต่อสูบเหมือนเดิม เช่นเดียวกับE250Turbo Diesel ซึ่งก็ยังคงมี126แรงม้าเช่นเดิม

รถCode Cทำตลาดต่อมาอีกสองปีและเป็นรถรุ่นแรกที่ประชาชนรู้จักกันอย่างเป็นทางการในนาม “E-Class” ก่อนจะถูกแทนที่ด้วย W210ตากลมในปี 1995 และถึงแม้ว่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า10ปีแล้ว ก็ยังมี124หลายคันที่ยังสามารถใช้งานได้อย่างปรกติ วิ่งดีเหมือนรถใหม่ บรรดาเจ้าของ124ทั่วโลกก็ยังใช้งานรถของตัวเองอยู่ และก็มีหลายคนที่คาดว่าจะใช้ต่อไป พร้อมกันนี้ก็ยังมีคลับหรือสโมสรคนรัก 124เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น 124Clubของอเมริกา E-Clubของญี่ปุ่น และแม้แต่ในประเทศไทยก็มี Club ของคนที่ใช้ W124 อยู่เช่นกัน

 

 124 ในไทย Executive เมืองนอก กลายเป็นโลงจำปาในแดนสยาม 

 

ส่วน W124 ในไทยนั้นเปิดศักราชกันประมาณปี 1987 โดยเริ่มต้นกับรถ Code A 230E เกียร์ธรรมดา และ 300E เกียร์อัตโนมัติ และขายเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1990 ก็ได้รับการไมเนอร์เชนจ์เพิ่มกาบข้าง และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดภายในนิดหน่อยไปตามรถรุ่นอื่นในตลาดโลก เพียงแต่มีความแปลกประหลาดเกิดขึ้นบ้างในช่วงแรกๆที่รถประกอบจากธนบุรีมีการเปลี่ยนไลน์เป็นรุ่นใหม่ ผมเคยพบกับรถ 300E คันนึงซึ่งมีภายนอกเป็น Code B มีรหัสปั๊มที่แผ่นเหล็กหน้าตัวถังเป็น Code B แท้ๆ แต่ดันมีภายในเป็นของ Code A ทั้งดุ้น แปลกดีครับ

 

ปี 1992 ที่ประเทศไทยก็ได้รับรถเครื่องมัลติวาล์วมาขายชนิดหายใจรดต้นคอตลาดโลก โดยเปิดตัวรุ่น 220E และ 280E ออกมา สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งก็คือ รถมัลติวาล์วล็อตนี้ในตลาดโลกจะให้ล้ออัลลอยลาย 15 รู แบบเดียวกับที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1987 และจะมีล้ออัลลอย 8 รู เป็นของสั่งพิเศษ แม้ว่าจะมีขนาด 15 นิ้วเท่ากัน แต่สำหรับเมืองไทย กลับพบว่ารถที่ออกมาวิ่งกันนั้นจะเป็นล้ออัลลอยแบบ 8 รูเสียเยอะมาก นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เครื่องยนต์แล้ว รถสเป็คประเทศไทยก็ยังได้กระจกมองข้างแบบปรับไฟฟ้าทั้งสองด้าน มาแทนที่แบบเดิมที่ด้านผู้โดยสารจะปรับด้วยไฟฟ้า แต่ด้านคนขับ ต้องให้ยื่นมือไปปรับเอง

ส่วนใครที่ชอบเครื่องยนต์เล็กๆ ก็ยังมีรุ่น 200E ให้เลือก แต่เมื่อเทียบกับสองรุ่นข้างต้นแล้ว พบเห็นได้เป็นจำนวนน้อยกว่ามาก

ช่วงปี 1993 เมื่อเยอรมันเปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเห่อรถนอก อันเป็นผลมาจากนโยบายการลดภาษีรถนำเข้าของรัฐบาล ทำให้มีผู้นำเข้าอิสระหลายรายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และ E220 Facelift คันแรกๆของประเทศไทยก็ถูกนำเข้ามาโดยบริษัทเกรย์อิมพอร์ทที่ชื่อ “TVR” สมัยนั้นถ้าใครชอบอ่าน “โลกรถ” เล่มละ 9 บาทคงจำกันได้ดีครับ

 

แต่เมื่อผ่านไป 1 ปี รถ Code C ที่เป็นไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ และครั้งสุดท้ายนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับท้องถนนเมืองไทยอีกต่อไป เพราะ E220 และ E280 วิ่งกันให้เต็มเมือง (และมี E200 ประกอบนอกสเป็คประหยัดให้เห็นนานๆครั้ง) นับได้ว่ามันคือสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองของยุคอุตสาหกรรมใหม่ที่เม็ดเงินบินว่อนไปทั่วประเทศ บรรยากาศอันชื่นมื่นทางการเงินส่งผลให้คนกล้าลงทุนซื้อรถมากกว่าปกติ น้ำมันก็ยังไม่แพง รถเครื่องใหญ่จึงมีโอกาสแจ้งเกิดได้มาก ถ้าสังเกตกันดีๆเราจะพบว่าจำนวนรถ E280 ที่เป็นเครื่อง 6 สูบบล็อคใหญ่ที่วิ่งอยู่ตามถนนนั้นมีมากพอสมควรแม้จะไม่เท่ากับ E220 ที่เป็นเครื่อง 4 สูบก็ตาม นั่นคือก่อนที่วิกฤติการณ์ต่างๆจะระเบิดประเทศจนกลายเป็นยุคแห่ง “คนเคยรวย” ในปี 1997

 

บ้านผมก็เช่นกัน ที่จัดว่าเข้าข่าย “ก.ค.ร.- กรู เคย รวย”  ที่ประสบปัญหาดังกล่าว ดังนั้นการจะขยับไปเล่น E-Class ตากลมตัวใหม่ที่บ้านผมกำลังจดๆจ้องๆกันอยู่นั้นจึงเป็นอันต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย และเราโชคดีที่ตัดสินใจไปแบบนั้น

เพราะ 10 ปีหลังจากนั้นมันยังเป็นรถที่ใช้การได้ดี เพียงแต่อายุของมันทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มเสื่อมลงไป ไล่ฝ้าที่กระจกหลังเดี้ยง กดไปไฟติดแต่ฝ้าดันเยอะกว่าเดิมซะอีก กระจกไฟฟ้าบางทีก็เลื่อนลงได้ บางทีกดลงไปก็เงียบสนิท ไฟหน้าปัดติดๆดับๆ พอไปตะโกนด่าประชดมันกับแพ่นกบาลหน้าปัดอีก 1 ที มันก็ติดขึ้นมาเฉยๆ นี่คงเป็นเพราะการที่มันไปประสบอุบัติเหตุมาและต้องระเห็จไปอยู่ที่อู่สีนานหลายเดือน พวกสายไฟต่างๆน่าจะโดนมิคกี้เมาส์รุมแทะจนแหว่งไปซะเยอะ

 

ถึงแม้จะทำตัวกวนส้นในบางครั้ง แต่ถ้าให้นับกันจริงๆ รถคันนี้มีเรื่องกวนใจน้อยมากถ้าเทียบกับอายุของมัน ตั้งแต่พ่อผมสั่งเข้ามาในเดือนธันวาคม ปี 1989 จนกระทั่งวันที่ขายมันออกไปในเดือนมิถุนายนปี 2008 เจ้าโลงจำปานี้ตายกลางทางด้วยความบกพร่องทางเทคนิคเพียง 2 ครั้งเท่านั้น! ครั้งแรกเกิดจากการที่ Switching Unit คุมจุดระเบิดเสื่อมสภาพ ส่วนครั้งที่สอง เกิดจากไดชาร์จลาออกจากงานกลางคัน มีเท่านั้นจริงๆครับ แต่ถ้าเอาที่ตายกลางทางด้วยความไม่เอาใจใส่ของผู้ขับน่ะ มีมากกว่านั้น มีการเกียร์ตาย 1 ครั้งที่ทำให้ต้องเอารถยก ไปยกออกมาจากห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว เนื่องจากคุณพ่อสุดที่รักของผมใช้รถไปแสนโล โดยที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์เลย มีการโอเวอร์ฮีต 1 ครั้งเพราะตั้งแต่ซื้อมาไม่เคยเปิดหม้อน้ำเช็คเลย พอผ่านไปหลายปี มันก็เลยมีอาการตัวร้อนขึ้นมา แต่ไม่มีปัญหากับเครื่อง ฝาสูบไม่โก่ง วัดกำลังอัดแล้วปกติ นี่ไม่ใช่ฝีมือพ่อ แต่มันเป็นโชคของพ่อที่ไปได้คนขับรถประจำตัวที่ดูแลรถโคตรเก่งพอกัน

และเมื่อมันมาตกอยู่ในอุ้งเท้าของผมในปี 2000 ผมก็มีปัญหาอย่างเดียวกับแค่แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วชอบลืมกำหนดเปลี่ยน ทำให้จู่ๆก็สตาร์ทไม่ติดซะงั้น เป็นแบบนี้ประมาณ 2-3 ครั้ง

 

เมื่อดูจากที่คนอื่นที่เค้ารักษารถกันดีๆ จะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยถ้าใครสักคนจะพบ W124 ที่สภาพเยี่ยมเหมือนอายุแค่ 4-5 ปีในปัจจุบัน การเก็บเสียงของบอดี้และซีลยางที่ฝ่าแดดและลมมากว่า 10 ปียังคงทำหน้าที่ของมันได้ดี วิ่งทางไกลโดยมีเสียงลมเข้ามาเพียงแผ่วเบา เครื่องยนต์ยังคงทำงานเต็มกำลัง เต็มอัตราเพื่อให้อัตราเร่งที่ต่อเนื่องและมีพละกำลังเหมือนวันที่ออกมาใหม่ๆ รถที่เข้าข่ายลักษณะนี้คือ 300E ของลุงผมที่เมืองแปดริ้ว และ E220 สีฟ้าที่อยู่ในซอยใกล้ๆ TOPS ตรงข้าม ม.เกษตร แต่พนันกันห้าร้อยเลยว่าเจ้าของที่รักษารถอย่างดีเหล่านี้จะไม่มีทางขายรถของตัวเองเด็ดขาด

ส่วนรถที่ใช้แบบสมบุกสมบันเหรอครับ? ก็เน่าสิครับ แต่ดีกรีความเน่าเมื่อเทียบกับชะตากรรมที่รถต้องเจอนั้นคุณจะแปลกใจว่ามันรอดมาได้อย่างไร ความทนทานของมันหากเปรียบเป็นรถญี่ปุ่น มันก็คือโคโรลล่าสามห่วงจากแดนเยอรมัน และถ้าเปรียบเป็นเครื่องบิน มันก็จะเหมือนพวกเจ็ทโซเวียตที่ต่อให้ไม่ได้รับการบำรุงรักษา สนิมขึ้นปีก ยางบวม มันก็จะขึ้นบินได้ทุกครั้งอย่างไม่มีปัญหา

สำหรับคนที่สนใจใน W124 ผมต้องขอเตือนไว้ก่อนว่าอย่าทำให้ระดับชั้นของรถมาสร้างความเชื่อว่าทุกอย่างในรถคันนี้จะต้องเหนือกว่ารถญี่ปุ่นใหม่ๆ ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่การโดยสาร ซึ่งคงช่วยไม่ได้หากเราจะมีความรู้สึกว่ามันเป็นรถใหญ่ แต่ความจริงก็คือด้วยความยาวแค่ 4.74 เมตรของมันและการที่เป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ทำให้พื้นที่ตามยาวของรถไม่มากเท่ารถญี่ปุ่นคันใหญ่ปีใหม่ๆซึ่งนับวันยิ่งจะเคลื่อนเข้าใกล้หลัก 5 เมตรขึ้นทุกที ส่วนความกว้างของตัวถังนั้นก็ใกล้เคียงกับ Civic และ Mazda 3 ของทุกวันนี้เท่านั้นเองครับ

หรือจะเป็นการออกแบบในบางส่วนที่ผมเองยังไม่เข้าใจจนทุกวันนี้ กระจกมองข้างด้านซ้ายและขวาของ W124 นั้นจะมีขนาดไม่เท่ากัน ด้านคนขับ จะแบน และยาว ส่วนด้านคนนั่งจะแคบและสูง ซึ่งไม่ว่าความตั้งใจในการออกแบบจะเป็นยังไงก็ตามเหอะ ผลออกมาคือกระจกส่องข้างที่มีจุดบอดเยอะเหลือคณา การที่ใช้กระจกมุมแคบมีข้อดีคือทำให้ระยะห่างของวัตถุในกระจกไม่ “ใกล้กว่าที่ท่านเห็น” แต่ข้อเสียก็คืออะไรก็ตามที่อยู่ด้านข้างคุณจะล่องหนเข้าไปในจุดบอดขนาดใหญ่ตรงนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยถ้าเบนซ์จะมีนิสัยชอบเบียดรถ หรือมอเตอร์ไซค์คันข้างๆ ไม่ใช่เพราะซ่า แต่บางทีมันก็ไม่เห็นจริงๆครับ

ส่วนหนึ่งของรถที่ผมงงที่สุดว่ามันคืออะไร อยู่ในลิ้นชักเก็บของครับ เมื่อเปิดออกมาดูจะพบแอ่งตื้นๆอันลึกลับสองแอ่งที่ภายในของฝาลิ้นชักนั่นเอง บางคนก็บอกว่ามันเป็นที่วางแก้ว แต่ที่วางแก้วที่ไหนในโลกครับที่เตี้ยแค่ไม่ถึงเซ็นติเมตร วางขวดวางแก้วอะไรก็ล้ม หรือว่าเขาเอาไว้วางแก้วตอนที่รถมันอยู่นิ่งๆอย่างเดียวหว่า ? และถ้าไอ้แอ่งพวกนี้มันไม่ใช่ที่วางแก้ว รถ W124 ทั้งคัน ก็จัดได้ว่าเป็นรถที่ไม่มีที่วางแก้วเลยสักที่ ผมขับรถทางไกลๆต้องฝากน้ำไว้กับเบาะข้างๆ หรือถ้ามีคนนั่งข้างๆ ก็ต้องฝากให้เขาถือให้ ทีนี้เพื่อนบางคนมันขี้เกียจถือ มันก็จะเอาแก้ว Big Gulp ของเราไปเสียบไว้ตรงระหว่างขาของมัน แม่มเว้ย เห็นใจกันหน่อย ใครจะไปดูดได้ลงกับสไปรต์โปะไข่เล่าครับ น้ำแข็งน้ำเขิงละลายหมด มันอุ่นมาให้เสร็จสรรพ

 

นอกจากนั้นมันก็จะมีเรื่องของเกียร์ ซึ่งเป็นระบบโบราณ และทำงานได้อย่างโบราณสมยุค นอกจากจะมีการเปลี่ยนเกียร์ที่กระตุกให้ได้รู้สึกกันแล้ว มันยังเป็นเกียร์ที่ดูเหมือนต้องการจะพักผ่อนอยู่ตลอดเวลา ที่ความเร็ว 60ก.ม./ช.ม. เมื่อผมกดคันเร่งเต็มที่ เจ้าเกียร์ตัวนี้จะเปลี่ยนลงให้ต่ำสุดถึงแค่เกียร์ 3 ทั้งๆที่สามารถลงได้ถึงเกียร์ 2 สบายๆ ส่งผลให้อัตราเร่งและความเร็วขึ้นไปอย่างช้าเนิบ รถรุ่นแรกๆของ 124 จะเป็นแบบนี้ แต่หลังจากที่ได้ลองขับ E280 ที่เป็นรถล็อตท้ายๆก่อนตกรุ่น ผมพบว่าเกียร์มีการตอบสนองดีขึ้นเล็กน้อย กระตุกเหมือนเดิม แต่ตอบสนองไวขึ้น มีความพร้อมรบมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

แต่ถ้าคุณรับข้อเสียต่างๆได้หมด สิ่งที่ W124 จะตอบแทนบุญคุณที่คุณได้จ่ายเงินซื้อมันมาก็คือการทำหน้าที่เป็นรถยนต์สำหรับการเดินทางอย่างแท้จริง แม้วันเวลาจะผ่านไป 20 ปีรถญี่ปุ่นน้อยรุ่นนักที่จะปรับเซ็ตช่วงล่างมาได้ลงตัวอย่างที่ W124 เป็น มันคือรถที่นุ่มนวลพอให้คุณกล้าเชิญนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั่งบนเบาะหลังพาไปรับประทานมื้อกลางวันได้อย่างสบายใจ และเมื่อคุณต้องวิ่งผ่านถนนขรุขระ น้ำในแก้ว (ใบที่อยู่ระหว่างขาเพื่อนของคุณนั่นล่ะ) จะไม่หกกระเด็นเซ็นซ่าน เพราะช่วงล่างทำหน้าที่ซับแรงกระแทกส่วนเกินไว้ได้มากทีเดียว

และถ้าที่เยอรมันมีออโต้บาห์น เมืองไทยเราก็มีทางหลวงระหว่างจังหวัด และมอเตอร์เวย์ซึ่งเป็นถนนแบบที่ 124 ถนัดเป็นอย่างยิ่ง มันให้ความรู้สึกหนักแน่นมั่นคงในทุกความเร็วที่ใช้ แม้ว่าคุณจะกระโจนลงคอสะพานมอเตอร์เวย์ (ในยุคก่อนที่ยังสร้างได้ไม่เรียบร้อยนัก) รถคันนี้จะมีการยืดและยุบของช่วงล่างในระยะที่มากพอจะดูดแรงสะเทือนต่างๆเอาไว้ได้ในขณะที่ไม่ส่งอาการแกว่งอย่างไร้การควบคุมให้เห็น และถ้าคุณกล้านำพามันขึ้นไปวิ่งที่ความเร็วระดับ 180ก.ม./ช.ม. หรือเกินกว่านั้น คุณก็จะพบว่ามันนิ่งราวกับรถไฟชินคันเซ็น อันจะพาให้หลายต่อหลายคนนึกว่า 124 เป็นรถที่มีน้ำหนักมาก จึงวิ่งได้อย่างมั่นคง ทั้งๆที่ในความจริงแล้วมันเบากว่า Accord V6 อยู่หลายสิบกิโล และช่วงล่างของ 124 ยังเป็นที่รู้จักกันในหมู่ช่างซ่อมช่วงล่างว่าทนทานยิ่งกว่าคู่ครองคนแรกของคุณ แถมเมื่อถึงเวลาซ่อม เจียดงบไม่กี่หมื่นก็แทบจะเปลี่ยนช่วงล่างชนิดเบิกโรงงานใหม่ได้ทุกชิ้น

 

ผมเคยพา 124 ไปปีนเกาะเมื่อสมัยเรียนอยู่ปี 1 ที่ศาลายาจนยางแตกล้อคด แต่ก็ประคองมันไปให้ร้านช่วงล่างดู และก็พบว่าไม่มีความเสียหายใดๆเกิดขึ้นกับช่วงล่างเลย ผมถามช่างว่า

“พี่เช็คดูดีๆ ปีกนกฉีกหรือเปล่า”

ช่างคนนั้นตอบว่า

“โอ้ย น้อง! ไอ้เบนซ์รุ่นนี้ถ้าปีกนกฉีกล่ะก็คนขับตายha ไปแล้วครับ มันเหนียวจะตาย”

นอกจากข้อดีในเรื่องช่วงล่างแล้ว เบาะและการจัดพื้นที่ภายในของ 124 ก็ถือว่าทำได้น่าชมเชยสำหรับยุค 1980 คุณต้องยอมรับข้อเสียที่ว่าตำแหน่งของถังน้ำมันนั้นทำให้มันไม่สามารถพับเบาะหลังเปิดทะลุได้แบบ C-Class แต่พื้นที่ในฝากระโปรงหลังนั้นใหญ่พอให้ใส่ถุงกอล์ฟและกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ได้ไม่ยาก ส่วนการโดยสารและการขับขี่นั้น ถ้าเรานำมาเทียบกับรถญี่ปุ่นขนาดโตสมัยนี้ก็ต้องยอมรับว่าสู้ไม่ได้ แต่ด้วยการออกแบบที่เอาใจใส่ในรายละเอียดเช่น เบาะนั่งไม่มีการแบ่งชนชั้นระหว่างผู้ขับและผู้โดยสาร เพราะเบาะหน้าทั้งคู่สามารถปรับได้หลายทิศทาง รวมถึงส่วนที่รองก้นซึ่งสามารถปรับสูงต่ำ ก้ม-เงยได้ทั้งสองข้าง พนักพิงศรีษะสามารถปรับสูงต่ำได้ง่าย และยังปรับหมอนรองเอนมารับต้นคอก็ได้ หรือจะผลักไปข้างหลังก็ได้เช่นกัน ที่เท้าแขนซึ่งยึดติดกับเบาะฝั่งคนนั่งก็ใหญ่และนุ่ม สามารถรองรับแขนได้อย่างพอดิบพอดี การออกแบบโดยคำนึงถึงจุดเล็กๆน้อยๆเช่นนี้ทำให้คุณสามารถปรับเบาะจนได้ตำแหน่งที่ถนัดที่สุด เพื่อการขับขี่อันยาวนานโดยไม่เมื่อยล้า

เสียอยู่อย่างเดียวคือพวงมาลัยปรับได้แค่เข้า-ออก แต่ไม่สามารถปรับก้ม-เงยได้ ไม่งั้นก็คงได้คะแนนเต็ม

และคันเร่งในรุ่นที่เป็นสายคันเร่งแบบเก่าจะมีน้ำหนักแป้นค่อนข้างมาก ทำให้เมื่อยปลายเท้าเวลาเหยียบได้

สวิทช์และแผงควบคุมต่างๆถูกจัดวางไว้อย่างมีระเบียบ ใช้งานง่ายไม่งุนงง รถสเป็คไทยส่วนมากมักได้แอร์แบบลูกบิดหมุนธรรมดาๆที่แม้แต่เด็กประถมก็เรียนรู้วิธีการใช้งานได้ภายใน 5 นาที รถนอกบางคันจะได้แอร์แบบกดปุ่ม ซึ่งยังไม่ทันสมัยถึงขนาดมีจอดิจิตอล แต่ใช้งานได้ดีไม่แพ้กัน

 

วัสดุที่ใช้ภายในห้องโดยสาร แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำรถคันนี้ให้ถูกใช้งานไปจนวันที่มันไม่สามารถวิ่งได้อีก หลังจากผ่านไป 20 ปี ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะพบ 124 ที่หนังบุภายในยังมีสภาพที่โอเค ฝ้าเพดานยังไม่ห้อย ลายไม้ (ที่ไม่ใช่พลาสติกมาทาสีไม้) ที่ยังขัดขึ้นเงาวับ กรอบแอร์อาจมีการเสื่อมสภาพแตกหักบ้าง แต่ราคาอะไหล่ส่วนนี้ถูกกว่าวิสกี้ 1 ขวดด้วยซ้ำ

เป็นอันว่าถ้าคุณมองหารถสักคันที่ขับแล้วดูภูมิฐาน มีความมั่นคงของช่วงล่าง ความแข็งแกร่งและความปลอดภัยที่แม้จะวัดด้วยมาตรฐานของทุกวันนี้ก็ยังคงถือว่าสูงอยู่ แต่คุณมีงบประมาณเท่าๆกับการซื้อรถ Sub compact รุ่นล่างสุด

W124 น่าจะเป็นตัวเลือกที่คุณให้ความสนใจ แต่ทีนี้รุ่นไหนล่ะที่จะเหมาะกับคุณในเมื่อในประเทศไทย เรามี W124 ให้เลือกอย่างต่ำๆ 4 รุ่น

      A)    ถ้าคุณมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการซ่อมบำรุง และต้องการซื้อรถเพื่อเอาโครงสร้างที่ดีมาเพื่อวางเครื่องพลังสูงจากญี่ปุ่นเพื่อเอาไว้ใช้งานเป็นหลัก หรือเอาไว้ทำรถแต่งซิ่ง ให้เลือกรถ 230E Code B ปีประมาณ 90-92 ซึ่งมีค่าตัวเป็นมิตร และมีอุปกรณ์ต่างๆทัดเทียมกับรุ่นพี่ เครื่องยนต์ไม่ได้ดีอะไรมาก แต่คุณก็จะเอามาวางเครื่องใหม่อยู่แล้วนี่นา

B)    ถ้าคุณต้องการซื้อรถไว้ใช้งานจริงๆจังๆ วิ่งในเมืองเป็นส่วนมาก วิ่งต่างจังหวัดนานๆครั้ง และคิดว่าอัตราเร่ง 0-100ใน 11-12วินาทีนั้นเพียงพอแล้ว และอนาคตอาจนำไปติด LPG เพิ่มเติม ขอแนะนำให้เลือก E220 ซึ่งมีเทคนิคเครื่องยนต์ทันสมัยใช้ได้ มีอัตราเร่งที่พึ่งพาได้ และใช้เชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่า

C)    ถ้าข้างบ้านคุณมีรถบ้าพลังอยู่ และคุณต้องการซื้อรถสักคันมาเพื่อทำตัวแอบจิตแต่แรงจริง โดยไม่ต้องไปวุ่นวายวางเครื่องให้ยุ่งยากอีกต่อไป แต่ค่าเชื้อเพลิงคุณต้องเหลือเฟือหน่อยนะ ถ้าอย่างนี้ E280 คือคำตอบที่น่าสน

D)    ถ้าคุณมีบ้านอยู่ข้างๆไอ้คนที่ขับ E280ตะกี้ แต่คุณเป็นสามีที่ดี ซื้อรถดีๆให้ภรรยาจนตัวเองเหลือเงินไม่มากพอซื้อ E280 แต่ขณะเดียวกันก็อยากได้รถที่แรงไล่ๆกับ E280ของบ้านข้างๆ ลองมองหา 300E ดู ซึ่งมันถูกกะตังค์กว่ากันเป็นแสนกว่า ซึ่งคุณควรเก็บไว้เติมน้ำมันให้ดีๆ เพราะเท่าที่ทราบมา เครื่อง 300E ยังมีปัญหากับการติดแก๊สอยู่พอสมควร

ไม่ว่าทางเลือกของคุณจะเป็นรุ่นไหนก็ตาม ในท้ายสุดคุณก็จะได้ตั๋วที่นั่งเพื่อเป็นเจ้าของรถยนต์ที่ถือว่าเป็นตำนานรถหรูของประเทศไทยรุ่นหนึ่งที่พร้อมให้คุณได้สัมผัสกับเอกลักษณ์ความเป็นเบนซ์ของแท้ที่สมัยนี้เปลี่ยนไปจากเดิมหมดแล้ว และถ้าคุณดูแลมันอย่างพิถีพิถัน รักษาให้ดีๆ อีก 10 ปีข้างหน้า มันอาจได้ทำหน้าที่เป็นรถยนต์ที่สอนให้ลูก หรือหลานของคุณรู้จักการขับรถก็เป็นได้ หรือจะเอาไปแต่งจนดูโฉบเฉี่ยว ดุดันแบบของสมาชิกชาว 124 คันข้างล่างนี่ ก็ยังได้ แบบสบายๆครับ

 

เพราะ 124 คือหลักฐานการมีอยู่จริง ของความตั้งใจที่มาจาก Mercedes-Benz ด้วยการเลือกสรรวัสดุ การพิถิพิถันออกแบบชิ้นส่วนต่างๆมาเพื่อเตรียมพร้อมกับการใช้งานในระยะยาว ไม่ใช่ว่าซื้อมาแล้ว 4-5 ปีขายเปลี่ยนมือใหม่

ผมเองก็เชื่อแล้วครับหลังจากที่ใช้มันมา 19 ปี ผมไม่เคยเห็นรถคันไหนที่อายุ 19 ปี ผ่านการใช้งานมาอย่างโหดร้าย และสามารถคงสภาพหลายอย่างเอาไว้เกือบใกล้เคียงกับตอนเป็นรถใหม่ได้

ถ้าไม่เชื่อ ลองนับดูสิครับว่า W123 อายุ 30 ปีบนท้องถนนในไทยยังมีวิ่งอยู่ตั้งกี่คัน 124 คือรถที่ถูกสร้างมาเพื่อวิ่งตลอดไป แบบเดียวกันนั่นแหละครับ

 

ขอขอบคุณ

Tee Abuser สำหรับรูปถ่ายสวยๆและโบรชัวร์มากมายที่เอามาซูมภาพกันเล่น
ฺBruno Sacco สำหรับการช่วยปั้น 124 ออกมาให้บทความนี้เกิดขึ้น


 ยังไม่จบ

แถมให้อีกนิดละกัน

The Fastest Coffin

 กำลังเริ่มคิดใช่หรือเปล่าว่าเจ้า 500E ไม่ก็ E500 นี่น่าจะเป็น W124 รุ่นที่แรงสุดสุดแล้วที่เบนซ์ทำออกมา

 อืม..ลองมาดูกันดีกว่า 500E มี 326 แรงม้า และเร่งจาก 0-100 ได้ภายในเวลาประมาณ 6.1 วินาที และถ้าวิ่งควอเตอร์ไมล์ก็ทำได้ด้วยเวลาประมาณ 14.4-14.6 วินาทีแ้ล้วแต่จังหวะในการออกตัวและสภาพแวดล้อมในสถานที่วิ่ง ส่วนความเร็วสูงสุดนั้นล็อคไว้ที่ 250ก.ม./ช.ม. และหากปลดล็อคสามารถวิ่งได้เร็วกว่า 262กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในปี 1991 นี่คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า “จรวดซาลูน” แต่จริงๆแล้วย้อนหลังกลับไปนานพอสมควร มีโลงจำปาอยู่รุ่นหนึ่งซึ่งมีสมรรถณะดุเดือดกว่านี้อีก

จริงๆแล้ว 5 ปีก่อนที่ 500E จะเกิดนั้น แผนก AMG ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นสำนักโมดิฟายเบนซ์อันดับต้นๆ ได้ให้กำเนิด AMG-Hammer.. ไม่ใช่นักร้องแร็พนะครับ แต่มันคือไอ้หัวฆ้อนพิฆาตพลังสูงชนิดที่หาตัวจับยาก และมีความสามารถเหนือกว่า 500E อยู่โขเลย

 

และการจะหารูปของมันอย่างสมบูรณ์ก็ยากพอสมควร อย่างที่ได้มานี้ผมต้องยืมโบรชัวร์ชนิดหายากสุดโลก
ที่น้อง Tee Abuser ยอมให้ผมยืมมาสแกนภาพไว้

Hammerเกิดจากการนำเอา 300E 12วาล์ว “บ้านๆ” มายกเครื่องออกแล้วใส่เครื่อง V8 อัลลอยทั้งเสื้อสูบและฝาสูบ จาก S-Class W126 560SEL ลงไป ลำพังแค่เครื่องรุ่นนี้ด้วยแรงบิด 440Nm กับแรงม้า 272 ตัว (ในบางสเป็คที่เติมน้ำมันออคเทน 98 จะแตะ 300ตัว)ก็น่าจะฉุดตัวรถวิ่งฉิวปลิวลมจนน่ากลัวได้แล้วในปี 1986

แต่ทีม AMG คงไม่เลือกทำอะไรที่ธรรมดาแบบนั้น เครื่อง 560 นี้จึงถูกโมดิฟายเพิ่ม โดยในส่วนสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนฝาสูบจาก 2 วาล์วต่อสูบ มาเป็น 4 วาล์วต่อสูบ ฉะนั้นมันจึงมีทั้งหมด 32 วาล์ว ด้วยการเพิ่มช่องทางให้อากาศเข้าห้องเผาไหม้ได้มากขึ้น รวมกับการปรับแต่งจุดอื่นๆ ทำให้เครื่อง 5.6 ลิตร สร้างแรงม้าได้ถึง 360 แรงม้า แค่นี้ 500E ก็ต้องคำนับรุ่นพี่แล้ว

และถ้า 360 แรงม้ายังไม่พอ.. AMG ยังมีท่อนล่างขนาด 6.0ลิตร ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับฝาสูบ 32 วาล์วนี้แล้วจะทำให้แรงม้าสูงสุดพุ่งขึ้นเป็น 375 แรงม้า และมีแรงบิดกระชากคอเคล็ดระดับ 566Nm จริงอยู่ว่าในยุคนี้ 385 แรงม้านั้นถึงจะถือว่าไม่ธรรมดา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกในเมื่อรถ 4 ประตูอย่างเช่น M3, M5, E63, Audi RS6 พวกนี้แรงม้าเยอะกว่า Hammer 6.0เป็นไหนๆ แต่อย่าลืมว่า Hammer มีอายุครบ 22 ปีแล้ว ถ้าเปรียบมันเป็นคน มันคือคุณลุงแก่ๆคนหนึ่งที่ต่อยคนหนุ่มๆอย่างพวกเราหมัดเดียวอยู่ ในยุคนั้น รถซูเปอร์คาร์ชื่อก้องโลกอย่าง Ferrari F-40 ยังมีแรงม้าอยู่ (แค่) 478 ตัว หรือธรรมดาลงมาหน่อยอย่าง Testarossa ก็ 390 ตัว Hammer คือซูเปอร์คาร์ในคราบแท็กซี่เยอรมันดีๆนี่เอง

AMG ยังมีชุดแต่ง Aero Package ตามที่เห็นในภาพ ซึ่งประกอบด้วยกันชนหน้า กาบด้านข้าง กันชนหลังและสปอยเลอร์หลังขนาดไม่ใหญ่นัก และล้ออัลลอย AMG ลาย Aero I ซึ่งเมื่อใส่ทุกอย่างเข้าไปในรถ W124 แล้ว Hans-Werner Aufrecht เคลมว่าสามารถลดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานลงอีกจนเหลือแค่ 0.25! พิมพ์ไม่ผิดครับ 0.25 น้อยกว่า Opel Calibra ซึ่งเคยครองแชมป์รถนั่งในสายการผลิตที่ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานต่ำที่สุดในยุคต้นๆ90 ด้วยซ้ำ (ถึงแม้ว่าจริงๆความลู่ลมไม่ได้วัดแค่ด้วยค่า Cd นี่อย่างเดียว)

ดังนั้นเมื่อรวม 375 แรงม้า เข้ากับการจัดการด้านแอโร่ไดนามิกส์ที่ดีเยี่ยม มันจึงเป็นรถที่วิ่งได้ดีจนน่ากลัวสำหรับการเป็นรถยนต์ 4 ประตูทรงธรรมดา 0-100 ก.ม./ช.ม. จัดการจนเสร็จสิ้นภายใน 5.3 วินาที วิ่งผ่านหลักควอเตอร์ไมล์ได้ภายใน 13.5 วินาที และการที่ไม่มี Speed Limiter ใดๆ ก็ทำให้มันสามารถพาคุณไปวิ่งได้เร็วระดับ 305 ก.ม./ช.ม.

น่าเสียดายว่ารถรุ่นนี้ไม่ใช่รถในสายการผลิตจริง หากแต่เป็นแค่รถทั้งคันที่เกิดจากการนำ Package และเครื่องยนต์ของ AMG มาประกอบขายเป็นรถทั้งคัน ดังนั้นจึงไม่มีใครทราบว่ามี Hammer หลุดออกไปกี่คัน หรือว่ามีเครื่องสเป็คดังกล่าวออกจากโรงงาน AMG ไปกี่เครื่อง ดังนั้นโอกาสที่คนไทยอย่างเราจะพบมันบนถนนนั้นแทบเป็นศูนย์ ขนาด 500Eแท้ทั้งคันผมยังเคยเห็นแค่ครั้งเดียว และคันเดียวในชีวิต

ดังนั้นมันจึงเป็นรถในฝันที่อยู่ “ในฝัน” จริงๆ

เอาล่ะ ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไรกันดีล่ะ หาอะไรที่มันใกล้ตัว และสบายกระเป๋าขึ้นมาหน่อย? ก็ยังคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไทยอยู่ดี แต่สำหรับในยุโรป หลังจากที่ E-Class ไมเนอร์เชนจ์ตัวสุดท้ายออกมาได้สักพักและ C-Class W202 เปิดตัวตามมาเรียบร้อยแล้ว ทาง AMG ก็มีของปลอบใจให้กับบรรดาคนรัก 6 สูบเช่นกัน โดยการนำเอาบล็อค M104 มัลติวาล์วที่วางทั้งใน C-Class และ E-Class มาจัดการโมดิฟายเพิ่มเติม และเปลี่ยนชุดเพลาข้อเหวี่ยงเพิ่มความจุเป็น 3.6 ลิตร ซึ่งเป็นที่มาของ AMG E36

 

AMG E36 มีหน้าตาที่ค่อนข้างจะเรียบร้อยไม่ทิ้งความเป็นผู้ดี ไม่มีโป่งล้อโตแบบ E500 และพละกำลังของมันก็ไม่ดุเดือดอย่างคุณลุง Hammer แต่ด้วยพละกำลังระดับ 276 แรงม้า และมีแรงบิดให้ใช้กัน 385Nm ที่ 4,000รอบต่อนาที ถึงไม่ได้ฟังดูน่ากลัวอะไร แต่สำหรับคนที่นานๆจะได้วิ่งทางยาวๆสักที 0-100 ภายใน 7.0วินาทีก็ไม่ได้เลวนัก และมันก็สามารถแตะ 250ก.ม./ช.ม.ได้เช่นกัน โดยความที่ใช้เครื่อง 6 สูบเรียงซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าทำให้สามารถขับขี่ซิกแซกที่ความเร็วต่ำกว่าได้คล่องตัวขึ้น และน่าจะเป็นจุดลงตัวพอดีสำหรับคนที่อยากแรงกว่าปกติ แต่ไม่สามารถรับค่าเลี้ยงดูของเครื่อง V8ได้

ในขณะเดียวกัน AMG ก็คงทราบดีว่ายังมีอีกหลายคนเลี้ยงดู V8 ได้สบายๆ ดังนั้นจึงทำรถออกมาอีกคันเพื่อมาสืบต่อเป็นทายาทของ Hammer นั่นก็คือ AMG E60

ภาพจาก http://image.kurumaerabi.com/image/00/07/55/00075505.jpg

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพนี้ได้มาจากเว็บไซต์ http://image.kurumaerabi.com/image/00/07/55/00075505.jpg ซึ่งเป็นรถที่ถูกประกาศขายอยู่ ต้องขอใช้ภาพแบบลิงค์มาเนื่องจากไม่มีภาพ E60 อยู่กับตัวเลยครับ

E60 นี่ก็เป็นรถที่ใช้เครื่องรหัส M119 แบบเดียวกับ E500 แต่เพิ่มความจุเป็น 6.0 ลิตร รูปแบบของตัวถังถ้ามองแล้วจะทราบเลยว่ามันก็คือ E500 ที่โมดิฟายโดย AMG เพราะโป่งล้อขนาดใหญ่นั่นเองที่ทำให้มันดูบึกบึนน่าเกรงขามกว่า E36 ส่วนเครื่องยนต์นั้นก็ได้รับการขยายความจุให้เป็น 6.0 ลิตร สร้างแรงม้าได้ 376 ตัว และมีแรงบิดสูงถึง 580Nm ผมไม่มีตัวเลขการทดสอบในด้านความเร็วใดๆ แต่โดยส่วนตัวแล้วคาดว่ามันน่าจะวิ่งได้พอๆกับ Hammer 6.0

 

ตัวแรงคันอื่นๆที่หาภาพไม่ได้ แต่พอทราบรายละเอียดอยู่บ้างก็มีครับ ลองค้นหาดูจาก Google ดีๆอาจจะได้ข้อมูลเพิ่มมากกว่าที่ผมมีเสียอีก

1. Mossellman 300E-24 Twin Turbo – รถแต่งจากค่ายที่จำหน่ายเทอร์โบและซูเปอร์ชาร์จคันนี้มี 320 แรงม้า
2. Brabus E500 6.9 – ไม่มีอะไรมาก..V12 จาก SL600+โมดิฟายเพิ่ม+503 แรงม้า และจบ.
3. Brabus 300E 3.6 – เอาเครื่อง 300E 12 วาล์วมาผ่านมือ Brabus แล้วคุณจะได้ 241 แรงม้ามาเล่นสมใจอยาก
4. Craziest 300E on earth – อันนี้ไม่น่าจัดว่าเข้าพวกกับเค้า แต่ขออันเชิญมาหน่อยเถอะ Roman Karpovich ทำ 300E 12 วาล์วของเค้าเป็นพายุบ้าบิ่นด้วยเทอร์โบ Garett GT-45 บูสท์ 1.5บาร์กับท่อนล่างเดิม อยากรู้ว่า 650แรงม้าเป็นยังไง ลองไป youtube นี่ดู 300E Turbo

 สงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาของบทความนี้
การนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ให้ขออนุญาตผู้เขียนก่อนเสมอ
การนำไป post เพื่ออ้างอิงบนเว็บบอร์ด กรุณาใส่ข้อความกำกับ
“อ้างอิงจากเว็บไซต์ HeadlightMag” และไม่จำเป็นต้องทำลิงค์ครับ