Mercedes-Benz EQC เปิดตัวครั้งแรกในโลกเมื่อเดือน กันยายน 2018 ในฐานะรถยนต์ไฟฟ้า EV 100% เต็มรูปแบบคันแรกของค่าย Mercedes-Benz โดยเปิดตัวที่ Stockholm, ประเทศสวีเดน และ ถือเป็นรถรุ่นแรกของ Sub-brand ” EQ ” ซึ่งทาง Mercedes-Benz เล็งที่จะให้จับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV ในโลกของรถกลุ่มพรีเมียม โดย ” EQ ” ของ Mercedes-Benz ย่อมาจาก ” Electric Intelligence ”

เริ่มแรกจะประกอบที่โรงงาน ในเมือง Bremen, Germany และ เตรียมขยายออกไปผลิตที่โรงงานอื่นทั่วโลก และ รวมถึงจะมีการประกอบ EQC ที่ประเทศไทย ” ในแผนการเดิม “ แรกเริ่มเดิมที Mercedes-Benz ประเทศไทย มีแผนที่จะประกอบ EQC ที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ เพื่อเตรียมผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

 

จุดเริ่มต้นของการเจรจากับ BoI

อย่างที่หลายท่านทราบกันว่า รถยนต์นำเข้าของประเทศไทยนั้น จะต้องเสียภาษีอัตรานำเข้าที่ค่อนข้างสูง การนำเข้ารถยนต์ 1 คัน จากต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือ จีน ต้องเสียภาษีมากกว่า 2 เท่าของราคารถยนต์ต้นทาง Mercedes-Benz EQC ต้องนำเข้าจากเยอรมนี ทำให้ราคารถยนต์ปลายทางนั้นอาจจะสูง และ มีส่วนต่างกับรถยนต์ที่ประกอบในประเทศมาก

Mercedes-Benz ประเทศไทย ต้องการนำเข้า EQC มาทำตลาดในประเทศไทยก่อน ระหว่างรอการสร้างไลน์การผลิต และ ลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า EV 100% จึงเข้าเจรจากับ BoI ว่าจะขอนำเข้า EQC ในอัตราภาษีพิเศษต่ำกว่าปกติ หรือ ภาษี 0% เพื่อให้ราคาจำหน่ายของรุ่นนำเข้า และ ประกอบในประเทศนั้นใกล้เคียงกัน ไม่ให้ลูกค้าเกิดการชะลอการตัดสินใจ หากมีข่าวว่าจะมีรุ่นประกอบในประเทศตามออกมา

เนื้อหา และ รายละเอียดของการเจรจา ระหว่าง Mercedes-Benz และ BoI

Mercedes-Benz ยื่นข้อเสนอต่อ BoI ขอภาษีอัตราพิเศษ สำหรับการนำเข้า EQC มาจากโรงงานที่เยอรมนีเป็นกรณีพิเศษ หรือเป็นไปได้คือ 0% ก่อนที่จะเริ่มประกอบในประเทศ เพื่อทำให้ส่วนต่างราคาน้อยที่สุด หรือ เท่ากับรุ่นประกอบในประเทศ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ต้องการให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ทันที แม้จะเป็นรุ่นนำเข้าก็ตาม เพราะต้องการความต่อเนื่องของการทำตลาด โดยโควต้าที่ขอไปคาดว่าประมาณ 200-300 คัน

หากได้โควต้า หรือ ภาษีนำเข้ากรณีพิเศษดังกล่าว ก็จะเริ่มลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV 100% และ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อประกอบในประเทศ

มุมมองที่ไม่ตรงกันของทั้ง 2 ฝ่าย

BoI

มุมมองของ BoI : การขอภาษีนำเข้าอัตราพิเศษ หรือ 0% ถ้าหากอนุมัติ ทาง BoI กำหนดให้ Mercedes-Benz ต้องขาย EQC ในราคาเดียวกับต้นทางที่นำเข้ามา หรือ บวกกำไรจากราคาที่ต่างประเทศได้เพียงเล็กน้อย เพราะ BoI มองว่า ภาษีที่ยกเว้นให้ ประชาชนจะได้ซื้อสินค้าในราคาที่ถูก

โดยการสืบค้นข้อมูล พบว่า ราคาของ EQC ที่ต้นทางเยอรมนี นั้น มีค่าตัวเริ่มต้นที่ 67,900 ยูโร หรือ ประมาณ 2,300,000 บาท นั่นเท่ากับว่า BoI ต้องการให้ Mercedes-Benz ขาย EQC 400 4MATIC ที่ราคาประมาณ 2 ล้านกว่าบาท

Mercedes-Benz

มุมมองของ Mercedes-Benz : การทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV 100% นั้น ไม่เหมือนกับรถยนต์สันดาปปกติทั่วไป ต้องมีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าตามที่สาธารณะ หรือ ตามห้างสรรพสินค้า / โรงแรมต่างๆ จับมือกับพันธมิตร ลงทุนติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าตามที่จอดรถห้าง, โรงแรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV 100% ไป รวมถึง การให้ดีลเลอร์ลงทุนสถานี DC : Quick Charge ชาร์จแบบด่วน อีก 36 ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า กรณีต้องการชาร์จไฟ ดังนั้นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมตรงส่วนนี้

สถานีชาร์จไฟฟ้า DC Quick Charge ต่อ 1 สถานี มูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท เป็นเงินกว่าอีก 30 กว่าล้านบาท รวมถึงค่าการตลาด การประชาสัมพันธ์ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า EV 100% อีกด้วย ดังนั้น Mercedes-Benz มองว่าต้องมีต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มเติม มากกว่าแค่กำไรต่อคันแล้วจบกันไป รวมไปถึงต้องลงทุนตั้งไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทย ที่ธนบุรีประกอบรถยนต์ที่ใช้เม็ดเงินอีกมหาศาล ไหนจะเรื่องบริการหลังการขาย และ ดีลเลอร์ต่างๆที่ต้องมีกำไรต่อคันอีกทอดหนึ่งด้วย เพื่อหล่อเลี้ยงโชว์รูม และ พนักงาน

 

สำรวจราคารถยนต์ไฟฟ้า EV 100% ในไทย ราคาที่ Mercedes-Benz ต้องการขาย และ ราคาที่ BoI ต้องการให้ขาย

  • MG ZS EV : 150 แรงม้า 350 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 44.5 kWh
    • ราคา 1,190,000 บาท
  • Nissan LEAF : 150 แรงม้า 320 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 40 kWh
    • ราคา 1,990,000 บาท
  • Hyundai Ioniq Electric : 120 แรงม้า 395 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 28 kWh
    • ราคา 1,749,000 บาท
  • Hyundai KONA Electric SE : 136 แรงม้า 395 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 39.2 kWh
    • ราคา 1,849,000 บาท
  • Hyundai KONA Electric  SEL : 204 แรงม้า 395 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 64 kWh
    • ราคา 2,259,000 บาท
  • KIA Soul EV : 204 แรงม้า 395 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 64 kWh
    • ราคา 2,387,000 บาท
  • Mercedes-Benz EQC : 408 แรงม้า 765 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 80 kWh
    • ราคาที่ BoI ต้องการให้ขาย ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท

Premium Segment

  • Mercedes-Benz EQC : 408 แรงม้า 765 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 80 kWh
    • ราคาที่ Mercedes-Benz ต้องการขาย ประมาณ 4 ล้านบาท
  • Audi e-tron : 408 แรงม้า 664 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 95 kWh
    • ราคา 5,099,000 บาท
  • Porsche Taycan 4S : 435 – 530 แรงม้า 640 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 93.4 kWh
    • ราคาเริ่มต้น  7,100,000 บาท
  • Porsche Taycan Turbo : 625 – 680 แรงม้า 850 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 93.4 kWh
    • ราคาเริ่มต้น  9,900,000 บาท
  • Porsche Taycan Turbo S : 625 – 761 แรงม้า 664 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ 93.4 kWh
    • ราคาเริ่มต้น  11,700,000 บาท

จะเห็นได้ว่า ทั้ง BoI และ Mercedes-Benz เอง มีมุมมองที่ต่างกันออกไป BoI เอง ต้องการให้ประชาชนได้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV 100% ในราคาถูกที่สุด ส่วน Mercedes-Benz เอง มองว่าต้องมีการลงทุนในด้านอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อบริการหลังการขาย และ อำนวยความสะดวกลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ไป รวมไปถึงต้องลงทุนตั้งไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทย ที่ธนบุรีประกอบรถยนต์ ดังเหตุผลข้างต้น

  

บทสรุป ดีลไม่ลงตัว Mercedes-Benz พับโครงการประกอบ EQC ในประเทศไทย

แต่เดิมที Mercedes-Benz ประเทศไทย มีแผนเตรียมเปิดตัว EQC 400 4MATIC ในประเทศไทย ช่วงเดือน มกราคม – มีนาคม 2020 ที่ผ่านมา เตรียมเปิดรับจอง และ มีการเทรนนิ่งที่ปรึกษาการขาย และ ฝ่ายเซอร์วิสกันแล้วด้วยซ้ำ แต่ด้วยดีลไม่ลงตัว และ สถานการณ์ COVID-19 ทำให้ต้องเลื่อนออกไปก่อน

แต่ในที่สุด Mercedes-Benz ตัดสินใจยกเลิกการทำตลาด EQC 400 4MATIC เป็นที่เรียบร้อย สาเหตุเพราะ เจรจากับ BoI ไม่ลงตัว รวมไปถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเหตุผลเสริม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังยืนยันว่าจะทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV 100% รวมถึงการลงทุนด้านการผลิตแบตเตอรี่ และ ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ เพียงแต่ต้องใช้เวลาที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

  

ข้อมูล รายละเอียดเบื้องต้น สเป็คของ Mercedes-Benz EQC 400 4MATIC

Dimension มิติตัวรถ

  • ยาว : 4,761 มิลลิเมตร
  • กว้าง : 1,884 มิลลิเมตร
  • สูง : 1,624 มิลลิเมตร
  • ระยะฐานล้อ wheelbase 2,873 มิลลิเมตร

Powertrain ขุมพลัง

EQC 400 4MATIC

  • EQC ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนไฟฟ้า Asynchronous Motors 2 ตัว (หน้า และ หลัง) กลายเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Electric-4MATIC
  • มอเตอร์ตัวหน้า จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ปรับจูนมาเพื่อเน้นความประหยัดพลังงาน
  • มอเตอร์ตัวหลัง จะเป็นตัวเสริมแรง จึงถูกปรับจูนมาให้สร้างพลังได้สูงสุด
  • เมื่อมอเตอร์ 2 ตัวทำงานพร้อมกัน พละกำลังสูงสุด 408 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 765 นิวตันเมตร
  • แบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุ 80 kWh สร้างโดยบริษัทลูกของ Daimler AG ชื่อ ACCUMOTIVE


 

Electric Charging การชาร์จไฟฟ้า

แบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุ 80 kWh สร้างโดยบริษัทลูกของ Daimler AG ชื่อ ACCUMOTIVE โดยในชุดแบตเตอรี่จะประกอบด้วย Module แบตเตอรี่ 6 Modules ในแต่ละ Module ก็จะมี Battery Cell โดยจะมี 2 Modules 48 Cells และอีก 4 Modules บรรจุ 72 Cells เมื่อรวมกันหมดจะมี Cell 384 ซองในแบตเตอรี่ทั้งชุด

ตัวแบตเตอรี่ระบายความร้อนด้วยของเหลว มีระบบควบคุมอุณหภูมิให้ร้อน/เย็น เพื่อให้ได้สถานภาพที่ส่งพลังไฟได้ดีที่สุด

  • Maximum voltage = 408V
  • ชาร์จไฟฟ้า AC charging แบบปกติ 7.4 kW ใช้เวลาประมาณ 10.8 ชั่วโมง
  • ชาร์จไฟฟ้า AC charging แบบปกติ 13.5 kW ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง
  • ชาร์จไฟฟ้าผ่าน Wallbox DC Charging up to 110 kW จาก 10 – 80% ภายใน 40 นาที
  • หัวชาร์จไฟฟ้าเป็นแบบ Combined Charging System – CCS และสามารถรองรับหัวชาร์จแบบ Type II ของยุโรปได้
  • ในรถสเป็คญี่ปุ่นจะใช้หัวชาร์จแบบ CHAdeMO
  • ตัวแบตเตอรี่หนัก 650 กิโลกรัม

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่ >> community.headlightmag.com/76068.0