ชะตาชีวิตมีขึ้นมีลง ไม่แตกต่างอะไรจากบริษัทรถยนต์ ที่ขายดีบ้างขายไม่ออกบ้าง จนล้มหายตายจากไปหลายค่าย ส่วนค่ายที่อยู่รอดถึงทุกวันนี้ต่างเคยเฉียดสิ้นชื่อมาแล้ว แต่มีฮีโร่เป็นรถยนต์รุ่นหนึ่งของตนที่เข้ามาพยุงการเงิน จนกลับมาทำธุรกิจต่อได้ แต่จะมีรุ่นใดบ้างนั้น Autocar ได้รวบรวมรายชื่อมาให้ชมกัน 19 รุ่น


Volkswagen Beetle (1948 – 2003)

จุดเริ่มต้นอยู่ที่ Major Ivan Hirst ได้เสนอขายรถเต่า Type 1 จำนวน 20,000 คัน ให้กับกองทัพอังกฤษ จากนั้น จึงมีเงินทุนนำไปขยายโรงงานและเครือข่ายผู้จำหน่าย และ กลายเป็นหนึ่งในรถยนต์ที่มียอดผลิตสะสมสูงที่สุดถึง 21,529,464 คัน ทั้งยังส่งผลให้ VW Group เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการจนถึงทุกวันนี้


1949 Ford (1948 – 1952)

Ford ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะ โรงงานในสหรัฐฯ ถูกเปลี่ยนมาใช้ผลิตยานพาหนะทางทหาร ครั้นจะขายรถยนต์ต่อก็มีแต่รุ่นเก่า Henry Ford II หลานผู้ก่อตั้งบริษัท จึงรวมทีมงานทั้งวิศวกรและนักวิเคราะห์ตลาด มาพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ All-NEW ในระยะเวลา 19 เดือน จนเกิดเป็นรถยนต์ที่สร้างยอดจอง 100,000 คันในวันเปิดตัว และ มียอดขายสะสม 1,120,000 คัน ตลอดเวลาที่ทำตลาด


Mercedes-Benz 300SL (1954 – 1963)

หลังโรงงานโดนถล่มในยุคสงคราม ค่ายดาวสามแฉกได้ฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่อัครยานยนต์ที่พวกเขาขายอยู่ล้วนโบราณ พวกเขาจึงต้องการรถยนต์ halo car และได้พัฒนาสปอร์ตปีกนกในตำนานขึ้นมา เต็มเปี่ยมด้วยเทคโนโลยีรถแข่งและเครื่องยนต์หัวฉีด จนตัวถัง Gullwing มียอดขาย 1,400 คัน และ สานต่อด้วยตัวถัง Roadster จำนวน 1,856 คัน


Fiat 500 (1957 – 1975)

อิตาลีประสบภัยสงครามเช่นกัน หลังความขัดแยงยุติ จึงเกิดความต้องการยานพาหนะราคาถูกในตลาด และ Fiat 500 ได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยการเป็นรถยนต์จริงๆ ที่โดยสารได้สี่ที่นั่ง หน้าตาน่ารัก ราคาน่าฟัง และ โดนใจผู้คน จนกวาดยอดขายได้ราว 3,500,000 คัน


BMW 700 (1959 – 1965)

ค่ายใบพัดฟ้าขาวเกือบถึงคราวล่มสลายในช่วงปลายยุค 1950 เนื่องจากรถยนต์ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ไม่ได้สร้างผลกำไรให้บริษัท จนกระทั่ง BMW 700 ขนาดกลางปรากฏขึ้นมา โดยสร้างยอดขายในตัวถัง Saloon ไป 154,557 คัน ส่วนตัวถัง Coupe และ Cabriolet มี 33,500 คัน บริษัทจึงกลับมายืนหยัดได้


 Jaguar XJ6 S1 (1968 – 1972)

แม้รถสปอร์ต Jaguar จะสร้างชื่อเสียงให้กับค่ายไว้มากมาย แต่รถยนต์ที่สร้างผลกำไรให้บริษัทคือ รถยนต์หรูรุ่นนี้ที่สร้างยอดขายสะสมทั่วโลกไว้ 78,218 คัน ทำให้บริษัทแข็งแกร่งพอ แม้ตอนนั้นจะไม่ได้ประสบปัญหาการเงิน แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของ British Motor Holdings อยู่


Alfa Romeo Alfasud (1972 – 1983)

ในตอนที่ Volkswagen Golf ยังไม่เกิด นี่คือรถยนต์ขนาดเล็ก ขับดี ราคาเอื้อมถึง รวมถึงสร้างชื่อให้กับ Alfa Romeo ในเรื่องช่วงล่างและเครื่องยนต์ จนกวาดยอดขายไปได้ 387,734 คัน ขับเคลื่อนบริษัทสู่ความมั่นคงในยุค 1980 แม้จะมีชื่อเสียเรื่องคุณภาพการประกอบและสนิมบ้าง


Vauxhall Cavalier (1975 – 1981)

หลังเข้าสู่ขาลงในช่วงกลางยุค 1960 แต่บริษัทกลับมาได้ เพราะรถยนต์คันนี้ที่มาพร้อมสโลแกน “พลังที่ได้ ความประหยัดที่ต้องการ ในราคาที่คุณต้องชอบ” (‘the power you want, the economy you need and at a price you’ll like’) จนกวาดยอดขายในอังกฤษอย่างเดียวไปได้ 238,980 คัน และ กลายเป็นขวัญใจรถ fleet ไปโดยปริยาย


Volvo 700 Series (1982 – 1992)

นี่คือรถยนต์ที่ยกระดับภาพลักษณ์ของ Volvo ขึ้นมาจนเป็นทางเลือกของ Mercedes-Benz ได้ทุกวันนี้ เพราะไม่ได้เด่นแค่เรื่องความปลอดภัย แต่ยังดีไซน์สวยและขับขี่ดี พร้อมคงความแกร่งแบบรถถัง เสริมด้วยตัวแรงในรหัส 740 – 760 Turbo จนกวาดยอดขายสะสมของทุกแบบตัวถังไปได้ 1,230,000 คัน


Land Rover Discovery (1989 – 1998)

รถยนต์ SUV ที่ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการนำรถยนต์ off-road มาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังมาดสง่า ภายในสวย ขับขี่ดี จนพลิกให้บริษัทที่เคยจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะ niche market มีกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น พร้อมสร้างยอดขายสะสมได้ 392,443 คัน นอกจากนั้น ยังเคยบุกตลาดญี่ปุ่นในชื่อ Honda Crossroad ด้วย


TVR Chimaera (1993 – 2003)

รถสปอร์ตที่นำความมั่นคงทางการเงิน มาให้กับบริษัทในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งยังเป็นใบเบิกทางให้กับ Cerbera และ Tuscan ทั้งนี้ บริษัทกลับไปอยู่ในสภาวะฝืดเคืองอีกครั้ง ก่อนจะเปลี่ยนมือในปี 2004 และ ยังไม่เคยมีรถยนต์รุ่นใดที่ขายดีเท่า TVR Chimaera อีกเลย


Ford Mondeo Mk1 (1993 – 2000)

นับเป็นการลงทุนระดับที่ว่าจะอยู่หรือจะไปของบริษัท เพราะ Ford ได้ทุ่มทุนมหาศาลในการสร้างโรงงานใหม่ รวมถึงพัฒนาเกียร์ 5 จังหวะ และ เครื่องยนต์ใหม่ รวมถึง platform ขับเคลื่อนล้อหน้า ทั้งยังเปิดกลยุทธ์รถยนต์รุ่นเดียวออกขายทั่วโลก เคราะห์ดีที่ผลออกมาคุ้มทุนและเป็นขวัญใจรถยนต์ fleet เสียด้วย


Aston Martin DB7 (1994 – 2004)

หลังบริษัทเปลี่ยนมือมาอยู่ในความดูแลของ Ford ในปี 1987 บริษัทแม่ได้ลงทุนจ้างนักออกแบบ Keith Helfet และ Ian Callum เพื่อสรรสร้างสปอร์ตคันนี้ขึ้นมา และใช้เวลาพัฒนาต่อจนเปิดตัวในที่สุด ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยยอดขายสะสม ทุกแบบตัวถังมากกว่า 7,000 คัน แม้ราคาเริ่มต้นจะไม่เป็นมิตรเท่าใด


MGF (1995 – 2001)

ยนตกรรมสัญชาติอังกฤษแท้ๆ ก่อนจะถึงคราวล่มสลาย ซึ่งหาญกล้าท้ารถกับ Roadster ยอดนิยมอย่าง Mazda MX-5 ด้วยการชูจุดขายเครื่องยนต์วางกลาง และช่วงล่างแบบ Hydragas จนกวาดยอดขายไปได้ทั้งสิ้น 77,269 คัน


Skoda Octavia (1996 – 2004)

จุดเปลี่ยนบริษัทในการสร้างผลกำไร ด้วยการนำ platform ของ Volkswagen Golf Mk4 มาพัฒนาให้เป็นรถยนต์นั่งสำหรับครอบครัว พร้อมชูจุดเด่นด้านคุณภาพงานประกอบ, พื้นที่กว้างขวาง และ ขับขี่ดีกว่า จนครองใจผู้บริโภคมากมาย ทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นรุ่นสมรรถนะสูงในรหัส vRS


Porsche Boxster (1996 – 2004)

ในขณะที่ Porsche 911 โฉม 993 ระบายความร้อนด้วยอากาศ เริ่มยอดขายตก Porsche Boxster ได้ถือกำเนิดในฐานะ roadster ที่บริษัทห่างหายไปนานตั้งแต่ยุค 1970 กับ 914 พร้อมทั้งยังลดต้นทุนด้วยการใช้ชิ้นส่วนด้านหน้าร่วมกับ 911 โฉม 996 ซึ่งโดนใจผู้คนและกวาดยอดขายไปราว 160,000 คัน


Lotus Elise (1996 – 2001)

กลับคืนสู่สามัญคือกลยุทธ์ที่บริษัทนำมาใช้ ด้วยเรื่องน้ำหนักเบาซึ่ง Lotus Elise มีน้ำหนักเพียง 731 กิโลกรัม ดังนั้น 118 แรงม้า จากเครื่องยนต์ Rover ที่ประจำการในรถยนต์รุ่นนี้ สามารถดึงลูกค้าที่สนใจใน Mazda MX-5 ให้หันมามองได้ ส่วนยอดขายสะสมนั้นอยู่ที่ 10,619 คัน


Buick GL 8 (2000 – 2010)

แม้จะมีจุดกำเนินในสหรัฐฯ แต่ตลาดที่บริษัทสามารถกวาดยอดขายได้มากที่สุด คือจีนกับรถยนต์ MPV ที่มีพื้นฐานมาจาก Chevrolet Venture ตอบโจทย์เจ้าของกิจการแดนมังกร ด้วยความสะดวกสบายและการตกแต่งด้วยหนัง – ลายไม้ จนกวาดยอดขายไปได้ 1,060,000 คัน


Bentley Continental GT (2003 – 2011)

จากผู้ผลิตรถยนต์ที่แทบจะไม่เคยผลิตรถยนต์เกินปีละ 1,000 คัน แต่จุดเปลี่ยนอย่างรถยนต์รุ่นนี้ ที่ฉีกดีไซน์ให้ต่างจาก Rolls-Royce พร้อมติดตั้งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นครั้งแรก จนกวาดยอดจองมาได้ 3,200 คัน ก่อนถึงกำหนดการเปิดตัวเสียอีก และท้ายที่สุดทุกแบบตัวถังได้กวาดยอดขายไปมากกว่า 40,000 คัน

 

ที่มา: autocar