สาวกค่ายใบพัดฟ้าขาวย่อมคุ้นชินกับรหัส M ที่สงวนไว้ใช้กับรุ่นที่เน้นสมรรถนะ และยังมีอีกรหัสที่เหนือกว่านั้นในชื่อ CSL ที่ย่อมาจาก Competition (การแข่งขัน), Sport (สปอร์ต) และ Lightweight (น้ำหนักเบา) โดยมีเพียง 3 รุ่นที่เคยออกจำหน่าย ประกอบด้วย 1973 3.0 CSL, 2003 M3 CSL (E46) และ M4 CSL ที่พึ่งเปิดตัวไป อันที่จริงยังมี CSL อีก 4 รุ่นที่ BMW พัฒนาจนแล้วเสร็จแต่ไม่เคยออกขาย ซึ่งจะมีรุ่นใดบ้างไปรับชมกัน


BMW M3 CSL V8 (E46)

M3 คันนี้มีเพียงคันเดียวและแตกต่างจาก M3 GTR แม้หน้าตาจะไม่ต่างจาก M3 CSL คันอื่น แต่ความพิเศษอยู่ที่ขุมพลัง เครื่องยนต์เบนซิน รหัส S65VB40 แบบ V8 ขนาด 4.0 ลิตร กำลังสูงสุด 430 แรงม้า ส่วนจุดประสงค์ในการพัฒนาขึ้นมานั้น เพื่อทดสอบเครื่องยนต์จนนำความรู้ที่ได้ ไปใช้กับเครื่องยนต์บล็อคใหญ่รุ่นต่อไปรวมถึง V8 รหัส S65 และ V10 รหัส S85


BMW M5 CSL V10 (E60)

M5 CSL หนึ่งเดียวคันนี้ ยังใช้ขุมพลัง V10 อันเป็นเอกลักษณ์ แต่ขยายความจุเครื่องยนต์จาก 5.0 เป็น 5.7 ลิตร กำลังสูงสุดจึงเพิ่มเป็น 630 แรงม้า หรือ มากกว่า M5 E60 ทั่วไป 121 แรงม้า ส่งกำลังลงล้อคู่หลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ DCT ลงล้อคู่หลัง ทั้งยังน้ำหนักเบากว่า 150 กิโลกรัม อันเป็นผลจากการใช้หลังคาคาร์บอน, ถอดเบาะหลัง และ ใช้เบาะคู่หน้าจาก Recaro นอกจากนั้น ยังปรับแต่งช่วงล่างและระบบหล่อเย็นใหม่


BMW M6 CSL V10 (E63)

M6 CSL คันนี้จะแตกต่างจาก CSL สองคันข้างต้นที่เน้นสมรรถนะเป็นหลัก โดยคันนี้เน้นไปที่ประโยชน์ของชิ้นส่วนภายนอก ตามหลักอากาศพลศาสตร์ ความพิเศษจึงอยู่ที่ชิ้นส่วนตัวถังอย่าง สปอยเลอร์หลังยกระดับขึ้นอัตโนมัติ, สเกิร์ตหน้าปรับระดับได้ และ กระจกมองข้างสองชั้นแบบ Doppelsteg ซึ่งพัฒนาต่อจนนำมาติดตั้งใน BMW รุ่นสปอร์ตในยุคหลัง


BMW M2 CSL (F87)

M2 รุ่นที่ดิบที่สุดคือ M2 CS ซึ่งพกพากำลังสูงสุดมา 450 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุด 550 นิวตันเมตร แต่อันที่จริงแล้วยังมีรุ่นสุดกว่านั้นในชื่อ M2 CSL ซึ่งแม้จะมีพละกำลังเท่ากัน แต่เพิ่มเบาะหลังแข็งสองที่นั่ง, โรลบาร์, คอลโซล CFRP, สปอยเลอร์หลังคาร์บอน และ เบรกคาร์บอนเซรามิค หลังพัฒนาแล้วเสร็จ มีการนำเสนอภายในทั้ง M2 CS และ M2 CSL เพื่อขออนุมัติการผลิต และเป็น M2 CS ที่ได้ไฟเขียว ด้วยเหตุผลใช้งานในชีวิตจริงได้มากกว่า

 

ที่มา: motor1, carscoops