หลายคนน่าจะพอทราบแล้วว่า เบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าในหลายรุ่น สูงกว่ารถยนต์ระดับเดียวกันที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป โดยสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมถึงอังกฤษ ซึ่งที่นั่นมีประเด็นที่หนักกว่านั้นเพราะมีผู้ให้บริการประกันภัยเพียงไม่กี่ราย ที่มอบความคุ้มครองให้กับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน แต่ต้องแลกกับเบี้ยประกันภัยที่สูงมาก โดย autoexpress ได้สัมภาษณ์กับผู้มีส่วนได้เสียและมาสรุปให้ฟังกัน

 

รายงานได้ระบุรุ่น EV ที่ประสบปัญหานี้ในอังกฤษ ประกอบด้วย BYD Seal, GWM ORA 03 (หรือ Good Cat) และ MG บางรุ่น สำหรับผู้ที่แสดงความเห็นรายแรกคือ Ben Townsend จาก Thatcham Research หน่วยงานวิเคราะห์ความเสี่ยงของประกันภัยของอังกฤษ โดยเขาระบุว่าจริงๆ แล้ว EV จีนไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าผู้ผลิตรถยนต์จีน ไม่เข้าใจขั้นตอนกระบวนซ่อมแซมรถยนต์ในยุโรป

Townsend ยังฝากข้อความถึงบริษัทรถยนต์จีน รวมไปถึงอินเดียและเวียดนามด้วยว่า ไม่ใช่แค่นำรถยนต์เข้ามาในอังกฤษแล้วคิดว่าจะขายได้ แต่อยากให้ทำความเข้าใจตลาด และมีการเตรียมความพร้อมด้าน logistics ซึ่งอังกฤษเองมีเครือข่ายอู่ซ่อมแซมรถยนต์ที่พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้รถยนต์เหล่านี้โลดแล่นต่อได้ ไปพร้อมกับการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลรถยนต์ของผู้บริโภคด้วย

 

Townsend ยังวิเคราะห์อีกสาเหตุปัญหาการซ่อมแซม EV จีนในอังกฤษอีกประเด็นด้วยว่า หากเกิดอุบัติเหตุลักษณะเดียวกัน เช่น โครงสร้างตัวถังด้านข้างเสียหาย ซึ่งถ้าเกิดขึ้นในจีน งานนี้สามารถซ่อมแซมได้เลยเพราะค่าแรงถูก แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษ เพราะค่าแรงสูงจนไม่คุ้มที่จะซ่อมในแง่ของค่าใช้จ่าย จนนำไปสู่การคืนทุนตัดขายซาก

Martyn Rowley ตำแหน่ง Executive Director ของสมาคมอู่สีรถยนต์ของอังกฤษหรือ UK’s National Body Repair Association ได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้ด้วยว่า มีรถยนต์หลายคันถูกตัดขายซากด้วยเหตุผลที่ไม่เอาไหนเลย ซึ่งความเสียหายรูปแบบเดียวกันนี้ หากเกิดขึ้นกับ Ford หรือแบรนด์อื่น สามารถซ่อมได้ไม่ยากเลย แต่เหตุที่ต้องขายซากเพียงเพราะว่าไม่มีชิ้นส่วนอะไหล่ ทำให้เขามองว่ามันตลกไปในแง่ของธุรกิจขนาดใหญ่

 

autoexpress ยังเปิดโอกาสให้บริษัทรถยนต์จีนชี้แจงด้วย โดยโฆษกของ GWM ORA ระบุว่าบริษัททราบถึงปัญหาดี และดำเนินมาตรการแก้ไขไปแล้วหลายอย่าง โดยฝ่ายอะไหล่ของยุโรปได้ทำงานร่วมกับฝ่ายอะไหล่ของจีน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีชิ้นส่วนเพียงพอ ทั้งยังมีการระบุว่าด้วยความที่แบรนด์ยังใหม่ ทำให้เกิดการสื่อสารผิดพลาดโดยบุคคลที่สาม ซึ่งอาจนำไปสู่การกล่าวเกินจริงในเรื่องของช่วงเวลาการรออะไหล่

ด้าน MG Motor UK ระบุว่าบริษัทมีเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายแข็งแกร่ง ทั้งยังมีศูนย์อะไหล่และศูนย์บริการเฉพาะทาง โดยปัจจุบันศูนย์อะไหล่มี stock ของที่สามารถจ่ายออกได้เป็นเวลานาน 10 เดือน และครอบคลุมชิ้นส่วนรถยนต์ MG ทุกรุ่นกว่า 91% ซึ่งทั้งหมดนี้พร้อมส่งต่อให้กับเครือข่ายศูนย์บริการ และอู่ของประกันภัย นอกจากนั้น บริษัทจะเพิ่มการสื่อสารเพื่อแชร์ข้อมูลกับสมาคมอู่สีให้มากขึ้นด้วย

 

ที่มา: autoexpress, carscoops