สำหรับนิสสันแล้ว มาร์ช ไม่ ใช่ แค่ รถยนต์ขนาดซับ-คอมแพคท์รุ่นเสริมตลาดรุ่นหนึ่งเท่านั้น
แต่มีความสำคัญถึงกับเป็นหนึ่งในหมากตัวหลักของแผนยุทธศาสตร์นิสสัน เพราะนับตั้งแต่
การเปิดตัวครั้งแรกในเดือนตุลาคม 1982 เป็นต้นมา มาร์ช (ในยุโรปเรียกว่า ไมครา) กลายเป็น
หัวหอกตัวฉกาจในการบุกตลาดทั่วทวีปยุโรป และยังสร้างความ สำเร็จให้กับยักษ์อันดับ 2 จาก
ญี่ปุ่นรายนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยสถิติยอดขายรวมกว่า 3.2 ล้านคัน ตลอดอายุตลาด 20 ปี

อีกทั้งในรุ่นที่ 2 ของมาร์ชยังเป็นรถยนต์ญี่ปุ่นรุ่นแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลรถยนต์
ยอดเยี่ยมแห่งปีของยุโรป มาครองในปี 1992-1993 แบบพลิกความคาดหมาย เพราะเป็นที่
รู้กันดีว่า ตำแหน่งที่ 1 ของรางวัลนี้ มักโดนจับจองโดยผู้ผลิตรถยนต์ชาวยุโรปด้วยกันเอง
มาตลอด และนี่คือปรากฎการณ์หลักครั้งที่ 2 ในทศวรรษที่ 1990 ที่ทำให้วงการรถยนต์ทั่วโลก
ยอมรับในมาตรฐานการผลิตรถยนต์ของ ชาวญี่ปุ่น หลังจากที่โตโยต้าทำสำเร็จกับเล็กซัส
ในปี 1989-1990

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ 27 ปี บนเส้นทางอันยาวไกล ความสำเร็จในวันนี้ หาใช่เพียงแค่โชคช่วย…

 

ย้อนอดีตกลับไปยังสมัยช่วงปลายทศวรรษ 1970 ขณะนั้น Nissan Motor ยักษ์หมายเลขสอง ของอุตสาหกรรม
ยานยนต์ญี่ปุ่น เห็นช่องว่างราคาและขนาดระหว่างรถยนต์ขนาดกระทัดรัด Kei-Jidosha หรือ K-car (ยุคนั้น
กฏหมายบังคับใช้เครื่องยนต์ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 550 ซีซี ซึงในเวลานั้น Nissan ไม่มีรถประเภทนี้
จำหน่าย ) และรถคอมแพคท์ระดับ Sunny/Sentra รวมทั้ง Pulsar ที่ค่อยๆ พัฒนาตนเองขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งขนาด
ตัวถังและเทคโนโลยี ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันอยู่ในภาวะวิกฤตช่วงต้นยุค 1970 ลากยาวถึงปลายทศวรรษ
เดียวกันนั้นเอง

Nissan ฉุกคิดได้ว่าจะต้องพัฒนารถยนต์นั่งขนาดเล็กกว่า Sunny แต่รูปทรงต้องสวยนำแฟชั่นดึงดูดใจคนรุ่นใหม่
ขับขี่ง่าย ราคาไม่แพง ประหยัดค่าบำรุงรักษา ห้องโดยสารกว้างขวาง เปี่ยมด้วยคุณภาพ ที่สำคัญต้องประหยัด
น้ำมันอีกด้วย เพราะลำพัง จะให้ Nissan Cherry หรือ 100A ในบางประเทศ อยู่ช่วยทำตลาดกันต่อไป เห็นจะ
ไม่ได้การ

ในปี 1978 นิสสัน ภายใต้ยุคที่ Ishihara Takashi ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัทในสมัยนั้น จึงตั้งทีมงานพิเศษ
เพื่อพัฒนารถเล็กดังกล่าวให้เป็นจริง ในนาม The KX Plan (รหัสนี้นำไปสู่การตั้งรหัสตัวถังของมาร์ชทุกรุ่น ที่
ขึ้นต้นด้วย K ในเวลาต่อมานั่นเอง) กำหนดสเปคเบื้องต้นคือเครื่องยนต์ 1,000 ซีซีและขับเคลื่อนล้อหน้าเท่านั้น  

 

หลังจากซุ่มพัฒนาราว 3 ปีจึงได้ฤกษ์อวดโฉมสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรกในงาน Tokyo Motor Show
ครั้งที่ 24 เดือนตุลาคม ปี 1981 ในรูปของ รถยนต์ต้นแบบแฮตช์แบ็ก 3 ประตูภายใต้ชื่อ NX-018 รูปร่าง
หน้าตาใกล้เคียงกับรถรุ่นจำหน่ายจริงเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่า นิสสัน พร้อมท้ารบสู้กับ Toyota Starlet
รถเล็กรุ่นดังของโตโยต้า (ก่อนที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์และปรับแนวคิดการพัฒนาใหม่ในชื่อ Yaris ในปี 1998)
นอกจากนี้ ยังต้องสกัดความร้อนแรงของ Honda City แฮตช์แบ็ก 3 ประตู ที่สร้างกระแสนิยมทั่วญี่ปุ่น สมัยนั้นอีกด้วย

ขณะเดียวกันก็เตรียมความพร้อมโรงงาน Murayama รองรับการขยายตัวของรถรุ่นนี้และตลาดโลกด้วยการติดตั้ง
หุ่นยนต์ประกอบ ชั้นเยี่ยมมากถึง 216 ตัว รองรับการผลิตมากถึง 20,000 คันต่อเดือน

เมื่อสร้างรถเสร็จแล้ว แต่ยังขาดชื่อที่เหมาะสม Nissan จึงจัดแคมเปญตั้งชื่อรถเล็กสำหรับคนรุ่นใหม่คันนี้โดยเฉพาะ
ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 1981 ถึง 15 มกราคม 1982 ซึ่งโดยปกติแล้ว น้อยครั้งนัก ที่นิสสันจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าตั้งชื่อ
รุ่นรถยนต์กันเองได้ขนาดนี้ ทำให้ผลตอบรับดีมาก ชาวญี่ปุ่นส่งชื่อร่วมประกวดมากถึง 5,650,000 รายชื่อเลยทีเดียว
ถือว่าทีมงานที่เกี่ยวข้องคิดถูกอย่างมาก ที่กล้าเผยแพร่รถคันนี้ออกสู่ สาธารณชนก่อนวางจำหน่ายจริง 1 ปี

ทุกสิ่งทำท่าว่าจะดำเนินไปได้สวย แต่ดันเกิดเรื่องพิลึกกึกกือ ขึ้นจนได้
นั่นเพราะชื่อ 5 อันดับแรกที่ถูกโหวตสูงสุด ได้แก่
1. PONY (ชื่อพ้องกับรถซับคอมแพคท์รุ่นแรกของ Hyundai ที่ยุติบทบาทในปี 1982 เพื่อเปิดทางให้ Excel)
2. FRIEND (คุณจะตั้งชื่อนี้ เป็นชื่อรุ่นรถจริงๆหรือ?)
3. LOVELY (มันควรจะเป็นชื่อน้ำยาปรับผ้านุ่มมากกว่าจะเป็นชื่อรถ)
4. SHUTTLE (ชื่อนี้ ดันไปพ้องกับ Civic ตัวถัง แวกอน 5 ประตู รุ่นปี 1983-1991 และรถมินิแวนรุ่น Odyssey
เจเนอเรชันแรกของ Honda รุ่นปี 1994 – 1999 ที่จำหน่ายบางประเทศเขตยุโรป)
5.SNEAKER (ลองมองย้อนไปที่ เจ้ามาร์ชรุ่นแรก แล้วลองจินตนาการดูสิครับ จะพบว่า มันไม่เข้ากันอย่างมาก!)

และยิ่งถ้าดูลำดับคะแนนโหวต ของแต่ละชื่อแล้วจะเห็นความแตกต่างกันดังนี้

PONY (118,820 คน) FRIEND (54,152 คน) LIVELY (42,929 คน) SHUTTLE (40,304 คน)
SNEEKER (30,328 คน) RAINBOW (22,497 คน) ECRU (18,058 คน) PARTNER (17,787 คน)
COMET (17,522 คน) และ PURPIL (16,870 คน)

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นชื่อที่ยังไม่โดนใจคณะกรรมการและไม่น่าจะเหมาะสมกับรถ NX-018 เอาเสียเลย
แต่จู่ๆ คณะกรรมการ เหลือบไปเห็นชื่อ MARCH ในลำดับที่ 164 (4,065 คะแนน) ก็เกิดบรรเจิดไอเดียขึ้นมา
นับเป็นเรื่องแปลกมากที่กล้าเอาชื่อเดือนในปฏิทินมาตั้งชื่อรถได้

แต่เมื่อมาพินิจพิเคราะห์กันอีกที ชื่อนี้ ฟังดูลื่นหูและเก๋ไก๋กว่า 5 ชื่อแรกแบบหนังคนละม้วน แถมเมื่อแปลตาม
พจนานุกรม แล้วจะพบว่า อีกความหมายหนึ่งของคำว่า MARCH ที่คนไม่ค่อยจะรู้กันคือ แปลว่าการมุ่งไป
สู่ข้างหน้า ก็ถือว่าเพราะและมีความหมาย ลึกซึ้งทั้งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงชื่อเดือนมีนาคม และวงโยธวาทิตมากกว่า

 

และแล้ว เวลาที่รอคอยก็มาถึง 22 ตุลาคม 1982 ณ สำนักงานใหญ่ย่าน Ginza นิสสัน เปิดตัว March รถยนต์
ซับคอมแพคท์แฮตช์แบ็ก คันแรกที่ประคบประหงมสุดชีวิต กันเสียที รถคันนี้ ถือเป็นรถเล็กแห่งศักราชที่ทีมงาน
ผู้สร้าง ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดการพัฒนาออกไป อีกทั้งเป็นรถรุ่นใหม่ที่ทำตลาดนอกญี่ปุ่นอีกด้วย

 

รุ่นที่ 1
K10
22 ตุลาคม 1982 – 23 มกราคม 1992
ยอดผลิตประมาณ 1.6 ล้านคัน

รุ่นแรกของมาร์ช ใช้รหัสตัวถัง K10 ช่วงแรกออกสู่ตลาดด้วยตัวถังแฮตช์แบ็ก 3 ประตูก่อน มีจุดเด่นที่ขนาดตัวถัง
ใหญ่กว่าคู่แข่ง ด้วยความยาว 3,745 – 3,785 มิลลิเมตร กว้าง 1,560 มิลลิเมตร สูง  1,394 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,300 มิลลิเมตร น้ำหนักเบามากแค่ 635 – 675 กิโลกรัม ตามแต่ละทางเลือกที่แบ่งออกเป็น 4 รุ่นย่อย

พกพาเครื่องยนต์บล็อกใหม่ที่พัฒนา สำหรับรถรุ่นนี้โดยเฉพาะ รหัส MA10 บล็อก 4 สูบ SOHC
8 วาล์ว 987 ซีซี จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์ 57 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด
8.0 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบต่อนาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา ที่มีทั้ง 4 จังหวะ และ 5 จังหวะ
หรือขับสบายด้วยเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ อัตราสิ้นเปลืองจากการวัดตามมาตรฐาน 10 Mode
ของรัฐบาลญี่ปุ่น (ในขณะนั้น) ทำได้ถึง 21 กิโลเมตร/ลิต รแต่ถ้าทำความเร็วคงที่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จะทำได้ถึง 32.5 กิโลเมตร/ลิตร นับเป็นเรื่องน่าตกตะลึงมากในเวลานั้น แต่ระยะควอเตอร์ไมล์
0-400 เมตร กลับทำได้ที่ 19.6 วินาที ระบบกันสะเทือนหน้าสตรัท หลัง 4 จุดยึด พร้อมคอยล์สปริง
ห้ามล้อด้วยระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม สวมด้วยยางขนาดจิ๋ว 165/70 HR12 รุ่นต่ำสุด เกรด G
เคาะราคาเริ่มต้นพียง 635,000 เยน ในรุ่น E จนถึง 798,000 เยน ในรุ่น G ซึ่งเป็นรุ่นท็อป

ยิ่งด้วยการเปิดตัว เรียกเสียงฮือฮาด้วยการนำ Mr.Masahiko Kondou นักแข่งรถ FORMULA NIPPON
และเป็น TEEN IDOL ในยุคนั้นมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในภาพยนตร์โฆษณา สโลแกน “MATCHI NO MARCH”
(แปลเป็นไทยว่า “จังหวะใหม่ของเมือง”) ความยาว 30 วินาที ที่ขนเอาวงโยธวาทิตมาบรรเลงเพลงที่ดัดแปลง
เนื้อเป็นภาษาญี่ปุ่น จากเพลงยอดนิยมที่ชื่อ WHEN THE SAINTS GO MARCHING IN เต็มสูตรมาร์ชชิงแบนด์
ทำเอารถรุ่นใหม่ โด่งดังไปทั่วเกาะญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว (ภาพยนตร์โฆษณา ชมได้ คลิกที่นี่ และยังมีเรื่องอื่นให้ชมต่อ)

แม้จะเปิดตัวด้วยความสำเร็จจากยอดขายที่พุ่งสูงขึ้น ทว่าการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้นิสสันยังคงต้องปรับปรุง
มาร์ชใหม่ อย่างต่อเนื่อง ปล่อยสารพัดรุ่นย่อยพิเศษ ตลอดช่วงอายุการทำตลาด

 

เริ่มจาก 27 เมษายน 1983 ปล่อยรุ่น COLLET ตกแต่งด้วย Strip คาดข้าง หรือ สีทูโทน ดำตัดกับเงิน รอบคัน
สไตล์แฟชัน เต็มพิกัด พร้อม อุปกรณ์พิเศษ ติดป้ายราคา 835,000 เยน

 

กรกฎาคม 1983 รุ่นพิเศษครบรอบ 50 ปีการก่อตั้ง Nissan Motor ด้วยรุ่น G 50 Spacial II จำนวนจำกัดแค่ 2,000 คัน
ก็คลอดออกมา ตกแต่งด้วย กูญแจและโลโก้สัญลักษณ์ครบรอบ 50 ปี ภายในสีดำ เบาะนั่งสีแดง กระจกสีชารอบคัน
และกระจกมองข้าง แบบย้ายมาไว้ที่ประตูคู่หน้า ตามสมัยนิยม

 

26 กันยายน 1983 เพิ่มรุ่นตัวถัง 5 ประตูเป็นครั้งแรก เพื่อเตรียมฟาดฟันกับคู่แข่งกับ Toyota Starlet 5 ประตู
ที่กำลังจะเปิดตัวโฉมใหม่อีกไม่นานนัก หลังจากนั้น ช่วงแรกมีให้เลือก 2 รุ่นย่อย คือ FC ตกแต่งแบบพื้นฐาน
พวงมาลัย 2 ก้าน แตรวงกลม และ FT ที่จะมีเบาะผ้าสีเบจมาให้ นั่งสบายขึ้น

นอกจากนี้ยังเพิ่มรุ่น 3 ประตู G1 มาพร้อมสีดำ คาดด้วย Strip สีแดง เพิ่มมาตรวัดรอบ พรมปูพื้น และซันรูฟกระจก
ราคา 865,000 เยน ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 891,000 เยน ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ

ภายในปีเดียว กันนี้เอง นิสสัน ก็เริ่มทะยอยส่งมาร์ชไปทำตลาดในยุโรปภายใต้ชื่อ Micra (แผลงจากคำว่า Micro แปลว่าเล็กจิ๋ว
อันหมายถึงรถรุ่นเล็กที่สุดของ Nissan ภาคพื้นยุโรป)

21 กุมภาพันธ์ 1984 เพิ่มรุ่นย่อย 5 ประตู FV ซึ่งเพิ่มความสปอร์ตขึ้นด้วยกระจกสีชา คิ้วกันกระแทกรอบคัน
ไฟหน้าฮาโลเจน ใบปัดน้ำฝนหลัง ตกแต่งภายในด้วยผ้าเบาะสีเทาอ่อน มีทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา 4 และ 5 จังหวะ
หรืออัตโนมัติ 3 จังหวะ

และในปีเดียวกันนี้เอง นิสสัน ได้เริ่มกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ตประเภท One Make Race ให้กับ March ครั้งแรก
ด้วยชื่อว่า March Cup ซึ่งยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมแข่งขันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรก 18 กุมถาพันธ์ 1985 เปลี่ยนชุดกระจังหน้าจากแบบขั้นบันไดลายซี่นอน
มาเป็นแบบซี่เฉียงในรุ่นธรรมดา นอกจากนี้ยังเพิ่มรุ่น MARCH TURBO กระจังหน้าลายสปอร์ต ช่องรับลม
2 แถว เพิ่มไฟตัดหมอกหน้า และชุดสปอยเลอร์รอบคัน ห้องโดยสารตกแต่งด้วยเบาะบักเก็ตซีต พวงมาลัย 3 ก้าน
พร้อมกราฟแรงม้าแรงบิด สกรีนบนแกนกลาง มาตรวัดความเร็วแบบดิจิตอล แต่มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ยังคง
เป็นแบบเข็มอะนาล็อก เพิ่มซันรูฟ กระจกหน้าต่างและกระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้า และปลอกท่อไอเสียแบบคู่

วางขุมพลัง MA10E 987 ซีซี จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคอมพิวเตอร์ ECCS พ่วงเทอร์โบ
85 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วย
เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ปรับปรุงระบบกันสะเทือนให้ แน่นขึ้นกว่าเดิม เสริมยางขนาด 165/70 HR12
เคาะราคาขายที่ 1,145,000 ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 1,182,000 เยนในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ส่วนรุ่นธรรมดา
ปรับปรุง เครื่องยนต์ MA10S โดยเปลี่ยนมาใช้คาร์บิวเรเตอร์ไฟฟ้า ลดทอนกำลังลงเล็กน้อยแต่ไอเสียสะอาดขึ้น

มีนาคม 1986 กระตุ้นตลาด รับกระแสความนิยมรถสีขาวพุ่งสูงขึ้นในญี่ปุ่น ด้วยรุ่นพิเศษ MARCH TURBO
WHITE SELECT พ่นสีขาวทั้งคัน ภายในสไตล์สปอร์ต เบาะผ้าสีดำ พร้อมลายกราฟฟิค เบาะหลังแบ่งพับได้
กระจกหน้าต่างสีชา ฝาครอบล้อ แป้นพักเท้า กระจกหน้าต่างสีขา กระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้า พร้อมแอโรพาร์ต
เกือบครบชุด (ขาดก็แค่สปอยเลอร์หลัง) จำนวนจำกัด 1,500 คัน

17 กันยายน 1986 ส่งเวอร์ชันพิเศษ 3 ประตู PUMPS! กระตุ้นตลาดด้วยสีตัวถังเป็นสีขาวตามรสนิยมคนญี่ปุ่น
แต่เบาะภายในตกแต่งด้วยผ้าหุ้มเบาะเลือกสลับสีกันได้มากถึง 7 สี มีทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และ
อัตโนมัติ 3 จังหวะ

 

จากนั้นทิ้งช่วงอีกเกือบ 1 ปี จึงเพิ่มทางเลือกใหม่ด้วยรุ่นหลังคาผ้าใบ CANVAS TOP 3 ประตู รุ่นเกียร์ธรรมดา
5 จังหวะ และอัตโนมัติ 3 จังหวะ เมื่อ 20 สิงหาคม 1987

 

20 มกราคม 1988 รุ่น i-Z 3 ประตูออกสู่ตลาด เพิ่มพวงมาลัยเพาเวอร์ เครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์อื่นๆ

เว้นว่างไปถึง 22 สิงหาคมปีเดียวกัน เวอร์ชันสำหรับนักแข่งแรลลีในชื่อ March R จึงเริ่มออกสู่ตลาด
ตกแต่งในสไตล์พร้อมลง แข่งแรลลี วางขุมพลังตัวแรงสุดของตระกูล MA ในรหัส MA09ERT ฝาแดง
3 สูบ OHC 930 ซีซี พ่วงซุเปอร์ชาร์จเจอร์ เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 13.3 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะแบบ อัตราทดชิด
(CLOSE RATIO) และสร้างตำนานรถเล็กรุ่นแรงอีก รุ่นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของนิสสันจนถึงทุกวันนี้

ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น นิสสันก็ถึงเวลาฉลองสถิติยอดผลิตของมาร์ชครบ 1 ล้านคันแรกไปเรียบร้อย
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1988 เท่ากับว่า ใช้เวลาเพียง 6 ปี หลังเปิดตัวออกสู่ตลาด 

17 มกราคม 1989 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์รอบ 2 ด้วยสโลแกน MY BASIC เปลี่ยนฝากระโปรงหน้า
กระจังหน้า โคมไฟหน้า กันชนหน้า-หลังเพิ่มขนาดใหม่ใหญ่กว่าเดิม เน้นสีเดียวกับตัวถัง และเหลือ
พื้นที่กันกระแทกเป็นพลาสติกสีดำตามปกติ ส่วนเครื่องยนต์รหัส MA10S ของรุ่นมาตรฐานถูกปรับลด
สมรรถนะลงมาอยู่ที่ 52 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 7.6 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที
เครื่องยนต์เวอร์ชันนี้ ถูกนำไปใช้กับรุ่น Nissan PAO ในเวลาต่อมา (รายละเอียดของ PAO คลิกอ่านต่อได้ที่นี่)


และพิเศษกับรุ่นแรงจัดจ้าน SUPER TURBO 3 ประตู โหมกระหน่ำด้วยภาพยนตร์โฆษณาที่ใช้เพลง
TAKE MY BREATH AWAY จากภาพยนตร์เรื่อง TOP GUN มาสร้างจุดสนใจ ตกแต่งด้วยชุด
แอโรพาร์ตรอบคันจนดุดันกว่าพี่น้อง ลดความยาวตัวถังลงมาเหลือเพียง 3,735 มิลลิเมตร แต่เพิ่ม
ความกว้างเป็น 1,590 มิลลิเมตร

 

ตกแต่งห้องโดยสารด้วยเบาะบักเก็ตซีตสีเงินตัดดำแบบรถแข่ง พวงมาลัย 3 ก้านทรงสปอร์ต
ชุด 3 มาตรวัดสไตล์รถแข่ง วางขุมพลัง MA09ERT ฝาแดง 3 สูบ OHC 930 ซีซี หัวฉีด ECCS
พ่วง ซุเปอร์ชาร์จเจอร์ เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ปรับแรงดันบูสต์เทอร์โบอยู่ที่ 0.7 บาร์ ผลจากการ
เสริมความแข็งแกร่งของเสื้อสูบและปรับปรุงระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิง จึงต้องลดความจุกระบอกสูบลง แต่
สมรรถนะไม่ได้ลดลงตาม ตรงกันข้าม กลับเพิ่มขึ้นเป็น 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 13.3 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที อัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพียง 7.7 วินาที
ติดตั้งเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิป LSD จำกัดจำนวน การผลิตไว้เพียง 10,000 คัน และทำตลาดเฉพาะ
ในญี่ปุ่นกับอีกบางประเทศ

ข้ามมาถึง 9 มกราคม 1990 เพิ่มรุ่น i-Z ทั้ง 3 และ 5 ประตู เพิ่มฝาครอบล้อ 5 แฉก และเปลี่ยน
ลายผ้าเบาะใหม่ มาทั้งเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และอัตโนมัติ 3 จังหวะ

ปิดท้ายเมื่อ 18 มกราคม 1991 เพิ่มรุ่นพื้นฐาน i-Z-f ทั้ง 3 และ 5 ประตู ตกแต่งด้วยกันชน
สีเดียวกับตัวถัง คิ้วกันกระแทกสีดำรอบคัน เพิ่มใบปัดน้ำฝนหลัง เปลี่ยนพรมปูพื้นและพวงมาลัย
ลายใหม่ ทั้ง 2 รุ่น นี้ มาให้เลือกทั้งแบบ เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 3 จังหวะ 

มาร์ช K10 มิใช่ทำตลาดเพียงแค่ญี่ปุ่นและยุโรปเท่านั้นแต่ยังส่งขายไปประเทศแคนาดาในปี 1983
ด้วยเครื่องที่ใหญ่ขึ้น MA12S 1,200 ซีซี 60 แรงม้า (PS) แต่หลังยุติการทำตลาดในปี 1991 รถรุ่นนี้
ก็ไม่หวนกลับไปทำตลาดที่นั่นอีกเลย

มาร์ช รุ่นแรก ทำตลาดในญี่ปุ่นนานถึง 9 ปี กับอีก 3 เดือน และนั่นก็นานพอ ที่จะถึงเวลาปลดระวาง
ออกจากไลน์ผลิต เพื่อเปิดทางให้รุ่นที่ 2 ได้เข้ารับช่วงทำหน้าที่ต่อไป

ตลอดอายุตลาด มาร์ช K 10 กวาดเก็บยอดขายทั้งญี่ปุ่นและยุโรปได้กว่า 1,600,000 คัน ถือว่าเป็นรถเล็ก
ที่ประสบความสำเร็จรุ่นหนึ่ง แม้จะเลิกผลิตแล้วแต่นิตยสาร Auto Express แห่งสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า
Micra รุ่นระหว่างปี 1983-1992 เป็นรถที่ทนทานและน่าเชื่อถือมากกว่า Fiat Uno และ Austin Metro
รถจำนวน 96,000 คันจากจำนวนขาย ทั้งหมด 340,000 คันยังวิ่งอยู่บนถนนอยู่  ผู้ใช้ ๆ เกือบ 30%
ใช้งานยาวนานถึง 14 ปีเต็ม

——————————————————————

 

รุ่นที่ 2
K11
24 มกราคม 1992 – 25 กุมภาพันธ์ 2002
ยอดผลิตประมาณ 1.7 ล้านคัน

เป็นรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันครั้งแรกในรอบ 9 ปีเต็มที่อยู่ในตลาด นับเป็นรุ่นที่สร้างเกียรติประวัติ
ให้กับนิสสันมากมาย แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือ การสร้างสถิติคว้ารางวัล RJC Car of the Year ในญี่ปุ่น
ประจำปี 1992-1993 ไปครอง นอกจากนี้ หลังจากออกสู่ตลาดในยุโรป เดือนสิงหาคม 1992 ไป 4 เดือน
มาร์ชก็กลายเป็นรถยนต์ญี่ปุ่น แบบแรกในประวัติศาสตร์ ที่คว้ารางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีของยุโรป
1992-1993 มาครอง  และยังเป็นรถยนต์รุ่นหลักที่ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานซันเดอร์แลนด์ในอังกฤษ
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงงานที่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงที่สุดในยุโรป อีกทั้งยังเป็นรถยนต์รุ่นแรก
ที่ได้เปิดซิงประเดิมขุมพลังตระกูลใหม่ CG ที่เข้ามาประจำการแทนที่ตระกูล MA โดยตระกูล CG
เน้นความประหยัดและการบำรุงรักษาง่าย

เส้นสายภายนอก ออกแบบให้โค้งมนกลมกลึงดูน่ารักและเป็นมิตรมากกว่าเดิมมาก เพราะเป็น
นิสสันรุ่นแรก ๆ ที่ถูกออกแบบด้วยโปรแกรม CAD มาช่วยในการสร้าง ภายใต้การดูแล ของ
ศูนย์วิจัยและพัฒนา NTC ที่เมือง Atsugi นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ริเริ่มเทคโนโลยีใหม่ ๆ
กับรถตลาดของตนเอง

มิติตัวถังของทั้งรุ่น 3 และ 5 ประตู ยาว 3,695-3,705 มิลลิเมตร กว้าง 1,585-1,590 มิลลิเมตร
สูง 1,425 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,360 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 820 กิโลกรัม วางขุมพลัง
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว หัวฉีด ECCS ทั้งรหัส CG10DE 987 ซีซี 58 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 8.1 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที และ CG13DE 1,274 ซีซี 79 แรงม้า (PS) ที่
6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.8 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที ส่งกำลังได้ทั้งเกียร์ธรรมดา
5 จังหวะ อัตโนมัติ 4 จังหวะ และอัตโนมัติอัตราทดแปรผัน N-CVT ระบบกันสะเทือนหน้า
สตรัท หลังแบบ 5 จุดยึด ห้ามล้อด้วยระบบเบรกหน้า-ดิสก์ หลัง-ดรัม

 

การเพิ่มรุ่นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ มกราคม 1993 เพิ่มรุ่นย่อยล่างสุด 1.0 Bb และรุ่นพิเศษ
1.3 V Award จากนั้น ในเดือน ตุลาคม 1993 ตัดรุ่น 1.0 Eb ออกไป แล้วเพิ่มรุ่น
1.0  i.z Safety Grip Package เพิ่มถุงลมนิรภัยให้ ในฝั่งคนขับ ให้เลือกสั่งติดตั้งพิเศษ
รวมทั้งรุ่น 1.3 AUTOSTRADA 5 ประตู ตกแต่งในแนวหรูที่สุดของรุ่น มีเครื่องเล่น
CD/MD กุญแจ Keyless Entry ถุงลมนิรัยฝั่งคนขับ ฯลฯ จากนั้น ธันวาคม 1994
ปรับโฉมเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปอีกครั้ง เช่นคิ้วกันชนหน้า-หลังและด้านข้างรถสีเดียวกับตัวถัง
เพิ่มที่วางแก้ว กระจกหน้าต่างสีชา ฯลฯ

4 ธันวาคม 1995 ปรับโฉมเล็กน้อย ด้วยลายผ้าเบาะ และฝาครอบล้อแบบใหม่ รุ่น AUTOSTRADA
เพิ่มชุดแอโรพาร์ต ให้ดูสปอร์ตมากขึ้นอีกนิด และมีกระจังหน้าลายสปอร์ตของตนเอง เพิ่มรุ่นย่อย
1.0 F# และ 1.0 Collet อันเป็นรุ่นตกแต่งแนวคุ้มค่าคุ้มราคา

 

 

มิถุนายน 1996 สำนักดัดแปลงรถยนต์ในเครือของนิสสัน อย่าง AUTECH JAPAN
ออกรุ่นตกแต่งพิเศษสไตล์ RETRO เป็นครั้งแรก ในชื่อ MARCH TANGO

14 ตุลาคม 1996 เพิ่มรุ่น 1.3 D# เสริมระบบเบรกเอบีเอสเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
และในอีก 15 วันต่อมา เพิ่มรุ่น COLLET เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ปีเดียวกัน

ไมเนอร์เชนจ์อีกครั้ง 26 พฤษภาคม 1997 เปลี่ยนชุดไฟหน้า-ไฟท้าย  
กันชนหน้า กระจังหน้า ฝากระโปรงหน้าให้ดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น ในรุ่นสปอร์ต
เพิ่มความดุดันด้วย กระจังหน้าลายตาข่าย ติดตั้งกระจกกันรังสี UV สีชารอบคัน
เพิ่งถุงลมนิรภัยคู่หน้าและระบบเบรกเอบีเอสเป็นอุปกรณ์มาตรฐานให้ทุกรุ่นย่อย
ส่วนเข็มขัดนิรภัยแบบลดแรงปะทะ พร้อมดึงกลับอัตโนมัติ และฝาครอบกระทะล้อ
ลายใหม่ 3 แบบ เริ่มเข้ามาประจำการเป็นครั้งแรกในบางรุ่น

จากนั้น 20 สิงหาคม 1997 เพิ่มรุ่นเปิดประทุนหลังคาผ้าใบเป็นครั้งแรก ติดตั้ง
เครื่องยนต์เฉพาะรหัส CG13DE พ่วงกับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ N-CVT
กระจกบังลมหลังฝังตัวในผืนหลังคาผ้าใบ ลงในตัวถังที่ยาว 3,720 มิลลิเมตร
กว้าง 1,585 มิลลิเมตร สูง 1,430 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อเท่าเดิม

14 ตุลาคม 1997 เพิ่มรุ่นตกแต่งสไตล์คลาสสิก RETRO ย้อนยุคหมายเลข 2 ในชื่อ BOLERO
ผลงานจากหน่วยงานตกแต่งพิเศษของนิสสันชื่อ AUTECH JAPAN ตกแต่งด้วย
โครเมียมรอบคัน จากนั้น 4 ธันวาคม 1997 เพิ่มรุ่นพิเศษ SILK SERISE สีทูโทน
พรมปูพื้นและมาตรวัดความเร็วสีแดง 


4 พฤศจิกายน 1998
เพิ่มรุ่น Collet L เปลี่ยนลายผ้าเบาะและแผงบุประตู ที่เปิดประตูสีเดียวกับตัวถัง
ช่องใส่ป้ายทะเบียนพร้อมกรอบพลาสติกคลุม เพิ่มกุญแจรีโมทคอนโทรล ตั้งเป้าจำหน่าย 2,000 คัน  
และรุ่นพิเศษตกแต่งสไตล์ย้อนยุคหมายเลข 3 โดย AUTECH JAPAN ในชื่อ Rumba

21 พฤศจิกายน 1999 เพิ่มระบบขับเคลื่อน Auto 4WD ให้กับหลายรุ่นย่อย
รวมทั้งเพิ่มตัวถังพิเศษ แวกอน 5 ประตู ในชื่อ MARCH BOX จำกัดจำนวน 500 คันเท่านั้น
ด้วย ตัวถังยาวขึ้นกว่ารุ่นปกติเพียงเล็กน้อย
และปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องเสียหน่อยให้ผ่านค่าไอเสียและสมรรถนะให้ดีขึ้น
โดยเครื่องยนต์ CG10DE แรงขึ้นเป็น 60 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดเท่าเดิม
8.6  กก.-ท.ที่ 4,000 รอบต่อนาที และเครื่องยนต์ใหม่ CGA3DE รหัสแปลก ๆ แบบนี้
กลับกลายว่านำเครื่อง CG13DE มาขยายกระบอกสูบเป็น 1,348 ซีซี แรงขึ้นเป็น  
85 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.2 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
(ทำตลาดแทน CG13DE ทั้งในญี่ปุ่น พิกัด 1.3 ลิตร และยุโรป พิกัด 1.4 ลิตร เลิกผลิตในปี 2002)
ทั้งคู่เชื่อมได้ทั้งเกียร์อัตโนมัติ E-ATx หรือ Hyper CVT

 

10 ตุลาคม 2000 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ Mia 1.0 ลิตร ตกแต่งด้วย กระจังหน้า
ลายสปอร์ต ไฟตัดหมอกหน้า เปลือกกันชน มือจับประตู และกระจกมองข้าง สีเดียวกับตัวถัง
พวงมาลัย 4 ก้าน  ตกแต่งภายในด้วยลวดลายพิเศษ สไตล์ยุโรป วิทยุ AM/FM/CD 2 DIN กุญแจรีโมท ฯลฯ
ยกรายละเอียดการตกแต่งมาจากรุ่นย่อย Autostrada

26 ธันวาคม 2000 เพิ่มรุ่นตกแต่งพิเศษ Casual Limited 5 ประตู รุ่นขับล้อหน้า ตกแต่งภายในสีเบจ
วางเครื่องยนต์ CG10DE มีทั้งเกียร์อัตโนมัติ CVT และ E-ATx 4 จังหวะ ส่วนรุ่นขับสี่ล้อ
วางเครื่องยนต์ CGA3DE มีเฉพาะเกียร์ CVT จำกัดจำนวน 1,500 คัน
รวมทั้งยังเพิ่มรุ่นตกแต่งสไตล์ RETRO หมายเลข 4 ในชื่อ Polka
ฝีมือของ AUTECH JAPAN เช่นเคย

 

19 เมษายน 2001 จับมือกับร้านขายสินค้าตกแต่งบ้านแบรนด์ดังในญี่ปุ่น MUJI
ออกรถยนต์รุ่นพื้นฐานจาก มาร์ช Collet f  ใช้ชื่อว่า MUJI Car 1000 มีเฉพาะสีขาว
กันชนดำ กระทะล้อเหล็ก พร้อมฝาครอบดุมล้อ ในจำนวนจำกัด 1,000 คันเท่านั้น
การสั่งจองต้องทำผ่าน www.muji.net และรถรุ่นนี้หมดลงในเวลาไม่นานนักหลังเปิดจอง

ส่วนเวอร์ชันยุโรป ยังมีรุ่นพิเศษทะยอยเสริมทัพจนนับไม่หวาดไหว เช่นรุ่น
SATURDAY NIGHT FEVER ในเยอรมัน เป็นต้น

ตลอดอายุตลาด ด้วยคุณงามความดี ทั้งความสะดวกสบายในการใช้งาน และความประหยัดน้ำมัน
ทำให้ มาร์ช K11 สามารถทำยอดขายและเกียรติยศให้ นิสสัน มากมาย ตั้งแต่
รางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่นจากกระทรวงอนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติในตุลาคม 1992
รางวัลรถยอดเยี่ยมแห่งญี่ปุ่นประจำปี 1992
รางวัลรถยอดเยี่ยม RJC ของญี่ปุ่น ประจำปี 1992
และรางวัลรถยอดเยี่ยมแห่งยุโรปประจำปี 1992 ซึ่งทำให้นิสสัน
เป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรกที่พลิกประวัติศาสตร์ คว้ารางวัลนี้มาครองได้
เป็นครั้งแรก ทั้งที่ปกติแล้ว รางวัลนี้ ผู้ชนะมักเป็นรถยนต์สัญชาติยุโรปมาตลอด
และจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีรถญี่ปุ่นคันใด คว้ารางวัลนี้มาครอบครองได้อีกเลย 

จาก ความสำเร็จนี้ทำให้ March K11 แตกเวอร์ชันย่อยจับตลาดกลุ่มวัยรุ่นสตรีที่มีรสนิยม
ที่แตกต่างกันมาก จนกลายเป็นแนวการทำตลาดรถเล็กของค่ายนี้ในยุคปัจจุบัน
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ลูกค้าที่อุดหนุนมาร์ช ส่วนใหญ่ จึงมีแต่ผู้หญิง

————————————————

รุ่นที่ 3
K12
26 กุมภาพันธ์ 2002 – ปัจจุบัน

มาร์ชใหม่ รหัสรุ่น K12 เป็นพัฒนาการครั้งที่ 3 ในรอบ 20 ปี และเป็นรถยนต์รุ่นใหม่คันแรก
ที่ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถัง B-PLATFORM ร่วมกับนิสสัน คิวบ์ใหม่ เรโนลต์ คลีโอ และทวิงโก
 เผยโฉมครั้งแรก ในฐานะรถยนต์ต้นแบบ mm-e 3 ประตู ในงานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ 2001
ตามติดด้วย mm 5 ประตู ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2001 เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับลูกค้าก่อน
สื่อมวลชน และสถาบันการออกแบบชั้นนำยังยอมรับงานดีไซน์ว่าแตกต่างและดูมี เอกลักษณ์กว่าใคร ๆ

ในรุ่นล่าสุดนี้ ถึงแม้นิสสันจะยึดแนวคิดเดิมที่เน้นความเรียบง่ายในการออกแบบเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ทีมพัฒนา ที่นำโดย TOSHIMITSU MATSUOKA ; CHIEF PRODUCT SPACIALIST
เริ่มงานของพวกเขาในปี 1997 ด้วยการ สร้างจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งคันอื่น ซึ่งเน้นแต่การเพิ่มพื้นที่
ใช้งานในห้องโดยสาร ด้วยการหันมาเล่นกับเทคโนโลยีการสื่อสาร ความสะดวกง่ายดายในการใช้งาน
และเพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัย ผสมผสานความเป็น Retro, Modern และเน้นความเข้าถึงผู้คนหรือ
Most Friendly เข้าไว้ด้วยกัน แต่ลดจำนวนชิ้นส่วนด้านวิศวกรรมลงแทน ภายใต้แนวคิด USER FRIENDLY ;
MINIMAL MECHANICALS เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น เน้นทางเพศหญิงอายุตั้งแต่
20-30 ปี ที่เริ่มเก็บเงินซื้อรถยนต์คันแรกเป็นของตัวเอง

 

มิติตัวถังของทั้งรุ่น 3 และ 5 ประตู ยาวเท่ากันที่ 3,695 มิลลิเมตร กว้าง 1,660 มิลลิเมตร สูง 1,525 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,430 มิลลิเมตร เน้นความโค้งมนแต่ดูโปร่งตา ชุดไฟหน้าแบบมัลติรีเฟกเตอร์ หรือ ซีนอน
ปรับลำแสงได้จากสวิชต์บนหน้าปัดพร้อมไฟเลี้ยวในตัว ทรงรีคล้ายดวงตาของตัวการ์ตูนอย่างเจ้าบักส์ บันนี่
ถูกขยับขึ้นมาอยู่เหนือซุ้มล้อหน้า และกลายเป็นจุดเด่นที่สุดบนตัวถัง ถึงขนาดที่ทีมครีเอทีฟในเอเจนซีโฆษณา
ลงทุนทำภาพยนตร์โฆษณาโดยใช้ดวงตาคู่นี้เป็นพรีเซ็นเตอร์ไปเลย ลู่ลมไม่เบาด้วยค่า Cd.ต่ำลงเหลือ 0.32
ส่วนกระจกบังลมหลัง ไม่เป็นอุปสรรคต่อทัศนวิสัยด้านหลังแต่อย่างใด เพราะเสาหลังคาด้านหลัง C-PILLAR
ถูกลดความยาวลง ทำให้จุดบอดสายตาเมื่อต้องถอย รถเข้าจอดลดลงตามไปด้วย

 

ในช่วงเปิดตัว นิสสันเล่นกระหน่ำเปิดตัวด้วยสีตัวถังมากถึง 12 สี สอดรับกับการตกแต่งห้องโดยสาร ด้วยโทนสี
ECRU, CREEK GRAY และ CINNAMON สว่างไสว ไม่ต่างอะไรกับเวอร์ชันต้นแบบ ทุกปุ่มควบคุมบน
แผงหน้าปัด สไตล์ลูกรักบี้ ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นสำหรับการติดตั้งระบบนำร่อง
GPS พร้อมระบบสื่อสาร TELEMATIC เต็มรูปแบบ ในชื่อ CARWINGS คล้ายกับระบบ ONSTAR ของ GM
เพียงแค่ต่อโทรศัพท์มือถือ เข้ากับระบบออนบอร์ดที่ติดตั้งมาบนแผงหน้าปัด ใช้งานร่วมกับปุ่มควบคุมบนพวงมาลัย
ข้อมูลข่าวสารต่างๆก็จะหลั่งไหลเข้ามาแสดงผลทางหน้าจอขนาดเล็ก รวมทั้งการรับส่งอีเมล์ หรือใช้โทรศัพท์
ด้วยระบบแฮนด์ส-ฟรี และการติดต่อกับหน่วยงานฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติเหตุ  นอกจากนี้ยังรับอีเมล์ที่ส่งมาจาก
โทรศัพท์มือถือ ทุกระบบในญี่ปุ่น เข้าสู่ศูนย์ข้อมูล ณ สำนักงานใหญ่ของนิสสัน ตรงเข้าสู่หน้าจอของระบบ
ในรถยนต์แต่ละคันได้อีกด้วย

รวมทั้งระบบกุญแจ INTELLIGENT KEY เพียงแค่พกรีโมทกุญแจติดไว้กับตัว เมื่อเข้าใกล้รถในระยะรัศมี
80 เซ็นติเมตร เพียงกดปุ่มบนที่เปิดประตู ระบบจะสั่งปลดล็อก หรือล็อกประตูทั้ง 2-4 บาน โดยอัตโนมัติ
รวมทั้งอนุญาตให้บิดสวิชต์ติดและดับเครื่องยนต์ โดยไม่ต้องเสียบกุญแจแต่อย่างใด

ขุมพลัง เปลี่ยนมาใช้ตระกูลใหม่ CR มาแทนตระกูล CG ทั้งหมด เป็นบล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว หัวฉีด ECCS
ทั้งรุ่นพื้นฐาน รหัส CR10DE 997 ซีซี 68 แรงม้า (PS)  ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 9.8 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที
ติดตั้งในรุ่น 10b สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตามมาตรฐานรัฐบาลญี่ปุ่น 10-15 โหมด ที่ 19.2 กิโลเมตร/ลิตร ถ้าอืดไม่ทันใจ
ก็ขยับขึ้นมาเป็น CR12DE 1,240 ซีซี 90 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.3 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
วางในรุ่น 12c สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 21 กิโลเมตร/ลืตร ตามมาตฐาน 10-15 โหมด

แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ นิสสันเลือกจะต่อกรกับ Honda Fit/Jazz รุ่นแรกในตอนนั้น ด้วยการเพิ่มขนาด
ขุมพลังตัวแรงสุดจากเดิม CG13DE 1,274 ซีซี 79 แรงม้า (PS) ขึ้นมาเป็น 1,386 ซีซี ภายใต้รหัส  
CR14DE 98 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที ติดตั้งเฉพาะรุ่น 14e

ทุกรุ่นจะติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ E-ATx จากโรงงาน ยกเว้นรุ่น 1,200 ซีซี ที่จะมีเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
ให้เลือกเป็นพิเศษ ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัต หลัง
แบบทอร์ชันบีม รูปตัว H ระบบเบรกหน้าดิสก์ หลังดรัม เสริมด้วย ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD
และระบบเพิ่มแรงเหยียบเบรกยามฉุกเฉิน BREAK ASSIST ทุกรุ่นสวมเข้าด้วยยางขนาด 165/70R14 81S

รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ E-4WD ที่แตกต่างจากระบบขับเคลื่อน 4 ล้อทั่วๆไป เพราะใช้มอเตอร์ไฟฟ้า หมุนล้อหลัง
เฉพาะเมื่อตัวรถเกิดการลื่นไถล (คล้ายระบบไฮบริดใน โตโยต้า เอสติมา ไฮบริด) คงต้องรอกันไปถึงฤดูหนาวปีนี้ ส่วน

อุปกรณ์ความปลอดภัยเทียบเท่ากับรถยนต์ระดับหรู ถุงลมนิรภัยไม่ได้มีแต่คู่หน้า ยังมีด้านข้าง
และม่านลมนิรภัยมาให้อีกรวมถึง 6 ใบ เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ
2 ระดับตามความรุนแรงของการชน แป้นเบรกและแกนพวงมาลัยยุบตัวได้เมื่อเกิดอบุติเหตุ
แต่ถ้าใครมีลูกน้อยแล้วต้องการจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX คงต้องเพิ่มเงินอีก
5,000 เยน ในการติดตั้ง ทั้งหมดนี้รวมตัวอยู่ในโครงสร้างตัวถังนิรภัย ZONE BODY
ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ให้แข็งแรงและกระจายแรงปะทะได้ดีกว่าเก่า

ช่วงเปิดตัว เคาะราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 314,490 บาทในรุ่น 10b 3 ประตู และสูงสุดกับ
435,600 บาท ในรุ่น 14e 5 ประตู ตั้งเป้าทำตลาดไว้สูงถึง 8,000 คัน/เดือน

ในยุโรป นิสสัน ส่งมาร์ชใหม่ ไปขึ้นสายการผลิต ณ โรงงานซันเดอร์แลนด์ในอังกฤษ เช่นเดิม
และทำตลาดด้วยชื่อ ไมครา เช่นเคย ด้วยกำลังการผลิตระดับ 160,000 -170,000 คัน/ปี

 

 

การปรับทัพ เสริมรุ่นต่างๆ เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2003 ด้วยรุ่น 14S เวอร์ชันสปอร์ต
วางเครื่องยนต์ CR14DE มีให้เลือกเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ E-ATx
เพิ่มชุดแอโรพาร์ตรอบคัน อัพเกรดล้ออัลลอย เป็น 15 นิ้ว ลายใหม่ พร้อมยาง 175/60R15 81H
กระจังหน้าสีดำลายสปอร์ต พร้อมไฟหน้ารมดำ ภายใน ตกแต่งด้วยสีดำ มีมาตรวัดรอบ
และเริ่มมีเครื่องปรับอากาศแบบ Plasma Cluster ให้เลือกเป็นอุปกรณ์ติดตั้งพิเศษ

 

 

15 ตุลาคม 2003 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ 3 ประตู 12SR วางเครื่องยนต์ CR12DE เวอร์ชัน
แต่งพิเศษ เปลี่ยนลูกสูบใหม่ แคมโปรไฟล์ใหม่ ปรับปรุงท่อทางเดินไอดี และท่อไอเสีย
รวมทั้งจุดอื่นๆ จนแรงขึ้นเป็น 108 แรงม้า (PS) เชื่อมด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
มีเฉพาะระบบขับล้อหน้า ใส่ล้ออัลลอย 15 นิ้ว พร้อมยาง 185/55R15 81V

 

23 เมษายน 2004 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนเฉดสีตัวถังใหม่ Citron Yellow
Mango Orange ภายใน ปรับปรุงเบาะนั่งใหม่ ให้กระชับขึ้น และนั่งสบายขึ้น
เพิ่มรีโมทคอนโทรลเปิดประตู และเครื่องปรับอากาศ Plasma Cluster ทั้งแบบ
มือบิด ให้กับรุ่น 12c,14c-four และ 14s ส่วนแบบอัตโนมัติ เพิ่มให้กับ 14e และ 14e-four
เปลี่ยนมาตรวัดดีไซน์ใหม่ เพิ่ม วิทยุ  AM/FM/CD/MD แบบ 1DIN ในบางรุ่นย่อย
เพิ่มพนักศีรษะนิรภัย ACTIVE HEADREST ให้ทุกรุ่น ส่วนรุ่นพิเศษสำหรับ
ผู้ทุพลภาพ Enchante เบาะนั่งแบบ Slide Up Seat ตามออกมาเมื่อ 16 มิถุนายน 2004

18 สิงหาคม 2004 เพิ่มรุ่นพิเศษ 12c V Selection และ 14c-four V Selection เพิ่ม
เครื่องปรับอากาศ Plasma Cluster แบบอัตโนมัติ และไฟหน้าแบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ

10 ธันวาคม 2004 เพิ่มรุ่นพิเศษ 12c i Selection และ 14c-four i Selection ติดตั้งฟิล์มดำ
ที่บานกระจกครึ่งคันหลัง แบบ PRIVACY GLASS เปลี่ยนลายผ้าเบาะใหม่เป็นพิเศษ
เพิ่มวิทยุ AM/FM/CD/MD 4 ลำโพง อีก 1 ชุด

พร้อมกันนี้ยังเพิ่มรุ่นตกแต่งพิเศษ สไตล์ย้อนยุค โดย AUTECH JAPAN ในชื่อ
MARCH Bolero มีทั้งรุ่น 12c และ 14c-Four มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ เท่านั้น

27 ธันวาคม 2004 เพิ่มรุ่นพิเศษ 12SR HDD NAVI Edition และ Rafeet HDD NAVI Edition
ติดตั้งระบนำทางผ่านดาวเทียม ด้วยข้อมูลแผนที่ในฮาร์ดดิสก์ มาให้ ในจำนวนจำกัด
(เลิกผลิต เดือนมีนาคม 2005)

 

 

25 สิงหาคม 2005 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ครั้งใหญ่ คราวนี้ปรับปรุงลายกระจังหน้า และเปลือกกันชนหน้า
ชุดไฟหน้าใหม่แบบมัลติรีเฟกเตอร์ ซ่อนอยู่ในกรอบทรงวงรีเดิมๆ ปรับระดับลำแสงสูง-ต่ำได้จากสวิชต์
บนหน้าปัดพร้อมไฟเลี้ยวในตัวทรงรี หากกเป็นรุ่นที่ติดตั้งไฟหน้าซีนอน จะมีระบบปรับระดับลำแสง
สูงต่ำเองอัตโนมัติ นอกจากนี้ ชุดไฟท้าย และกันชนหลังยังถูกปรับปรุงใหม่ให้ดูดียิ่งขึ้น

ด้านสีตัวถัง แม้ยังคงทางเลือกไว้ 12 เฉดสีเช่นเดิม แต่คราวนี้ ถอดบรรดาสีสดๆ แบบเดิมออกบางส่วน
แล้วแทนที่ด้วยเฉดสีใหม่ๆ อย่าง CHINA BLUE หรือสีผลไม้อย่าง WILD BLUEBERRY ไปจนถึง
สีไทเทเนียมเมทัลลิกในชื่อ SHERRY SILVER และสี IRISH CREAM

ห้องโดยสาร ลดการตกแต่งโทนสีลงจาก 4 เหลือ 3 สี มีสีใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือ ICE BLUE โดยมีสี ECRU
และสีดำเป็นสีหลักเหมือนเดิม ดังนั้น ลายผ้าเบาะจึงต้องถูกปรับเปลี่ยนใหม่ และเพิ่มการตกแต่งด้วยผ้า
บริเวณแผงประตูด้านข้าง เบาะะนั่งชุดใหม่ หนานุ่ม นั่งสบายยิ่งขึ้น ระบบนำร่องพร้อมระบบสื่อสาร
CARWINGS ถูกถอดออกไป แทนที่ด้วยระบบนำร่องมาตรฐานพร้อมจอมอนิเตอร์มาให้เลือกติดตั้ง
จากโรงงานเท่านั้น ส่วนรีโมท INTELLIGENT KEY ยังคงเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในหลายๆรุ่นตามเดิม

นอกจากนี้ยังมีรุ่นตกแต่งพิเศสไตล์คลาสสิก มาร์ช โบเลโร (Bolero) และรุ่นตกแต่งแบบคลาสสิกสปอร์ต
ราฟีต (Rafeet) ผลงาน AUTECH JAPAN ออกมาเอาใจลูกค้าด้วยชุดกระจังหน้าและกันชนหน้า-หลัง
ฝาครอบกระทะล้อเหล็ก รวมทั้งการตกแต่งภายในด้วยลายไม้และโทนสีผ้าเบาะพิเศษเฉพาะรุ่น
มาเอาใจสาวๆวัยรุ่นผู้ชื่นชอบรสนิยมสไตล์ยุโรปคลาสสิค

อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญอยู่ที่เครื่องยนต์ โดยรุ่นพื้นฐาน รหัส CR10DE ถูกตัดออกจากสายการผลิตไป
ด้วยเหตุผลในด้านความอืดอาดไม่ทันใจ ดังนั้น รุ่นพื้นฐานจึงเหลือแต่รหัส CR12DE 1,240 ซีซี มีทั้ง
เวอร์ชันปกติ 90 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.3 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที วางในรุ่น
12B S และ E มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 4 จังหวะ E-ATx ส่วนเวอร์ชันแรง อัพแรงม้าขึ้น
เป็น 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,900 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.7 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที พร้อมเกียร์ธรรมดา
5 จังหวะ จะมีเฉพาะรุ่น 12SR เท่านั้น

ขณะที่รหัส  CR14DE 1,386 ซีซี 98 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที  
ถูกสงวนไว้เหลือเพียงแค่รุ่นขับ 4 ล้ออัตโนมัติ e-4WD ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า หมุนล้อหลังเฉพาะเมื่อรถเกิดลื่นไถล
พร้อมปุ่มเลือกระบบขับเคลื่อนบนหน้าปัด จะเชื่อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ E-ATx มีเฉพาะรุ่น 14S E
และ G เท่านั้น

แต่เพื่อเอาใจสาวห้าวเท้าหนัก ทีมวิศวกรนิสสันจึงยกเครื่องยนต์ใหม่ HR15DE 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 1,498 ซีซี
ออลอะลูมีเนียม 109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.1 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที ที่ประจำการอยู่แล้ว
ในโน้ต และทีด้า กับทีด้า ลาติโอ ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ SU-LEV มาวางเชื่อมกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
พร้อมเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน XTRONIC CVT ติดตั้งให้กับรุ่นย่อยใหม่ 15S E RX และรุ่นสปอร์ตเต็มพิกัด
SR-A ซึ่งมาพร้อมกับชุดแอโรพาร์ตรอบคัน ท่อไอเสียจาก HKS และอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆมากมาย

ทุกรุ่นสวมเข้าด้วยยางขนาด 165/70R14 81S ยกเว้นรุ่น SPORT ที่จะสวมเข้ากับยาง 175/60R15 81H
และ 185/55 R15 81V ตามแต่ละรุ่น

เว้นว่างห่างไกลมาถึง 5 มิถุนายน 2007 การปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งล่าสุด เกิดขึ้น โดยไม่เน้นการปรับปรุง
งานวิศวกรรมเลย เป็นเพียงการ แต่งหน้าทาปากให้สดใสขึ้น โดยเปลี่ยนชุดไฟหน้า และลายกระจังหน้า
รวมทั้งเปลือกกันชนหน้า เปลี่ยนใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนสีตัวถังใหม่ เช่น Camomile Green Pacific Blue ฯลฯ

ส่วนภายใน เปลี่ยนลายผ้าเบาะและผ้าบุแผงประตูใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนชุดมาตรวัด และปรับรายละเอียดบน
คอนโซลกลางเล็กน้อย เพิ่มที่พักแขนในรุ่น E และ G เพิ่มช่องเสียบ AUX ในแทบทุกรุ่น
ปรับปรุงสวิชต์บนพวงมาลัยเฉพาะรุ่น E และ G ส่วนชุดแอโรพาร์ตรอบคัน คราวนี้ ขายเป็นแพ็กเก็จ
มีให้เลือกเฉพาะรุ่น 12B และ 12SR ที่สำคัญคือ เพิ่มระบบนำทาง HDD Navigation System สั่งการได้
บนพวงมาลัยให้เลือกติดตั้งพิเศษ

การปรับปรุงอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นนี้ยังรวมถึงรุ่นตกแต่งสไตล์ RETRO อย่าง Bolero และ Rafeet โดย AUTECH JAPAN อีกด้วย

และในวันเดียวกันนี้ นิสสัน ยังเปิดตัว MICRA C+C สั่งตรงมาจากโรงงานของตนในยุโรป
มาให้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าของกัน ซะที ถือเป็นรุ่นเปิดประทุนที่ได้รับความนิยมในตลาดยุโรป
พอสมควร โดยใช้หลังคากระจก พับเก็บได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ในเวลาเพียง 22 วินาที

ตัวถังมีความยาว 3,820 มิลลิเมตร กว้าง 1,670 มิลลิเมตร สูง 1,445 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,430 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,200 กิโลกรัม นั่งได้ 4 คน

รายละเอียดการตกแต่งภายใน จะแตกต่างจาก มาร์ช เวอร์ชันมาตรฐานในญี่ปุ่นเพียงแค่
มีให้เลือก 2 โทนสี คือ สีดำ และสี Ice Blue อย่างที่เห็นอยู่นี้ 

ไมครา ซี+ซี วางเครื่องยนต์ HR16DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี
110 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.6 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที
ขับเคลื่อนล้อหน้า มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ E-ATx
ส่วนระบบกันสะเทือนต่างๆ แม้จะมีหน้าตาเหมือนมาร์ช แต่มีการปรับปรุงให้รองรับน้ำหนัก
ของชุดหลังคากระจกที่พับเก็บลงไปด้านหลังรถ ตั้งราคา 2,499,000 เยน

9 ตุลาคม 2007 กระตุ้นตลาดกันอีกครั้ง ด้วย สีพิเศษ จำนวนจำกัด ทั้งสีช็อกโกแล็ต
ส้มปาปริกา และสีฟ้าอะควา-บลู เฉพาะรุ่น 12E Limited Color และ 14E Four Limited Color

28 ตุลาคม 2007 นิสสัน จัดงานฉลองครบรอบ 25 ปีของมาร์ช ขึ้นที่ สนามทดสอบของตน
ณ โรงงานเก่า OPPAMA งานนี้ มีกลุ่มผู้ใช้รถนิสสัน มาร์ช มารวมตัวกันกว่า 200 คัน
ผู้บริหารใหญ่ รวมทั้ง อดีตพรีเซ็นเตอร์ คนแรก Mr.Kondou ก็มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย

 

และเพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 25 ปี ในการทำตลาดมาร์ช
8 พฤศจิกายน 2007 เพิ่มรุ่นพิเศษ เยอะเป็นกองทัพ ทั้งรุ่นฉลองครบรอบ 25 ปีของมาร์ช
12S 25th Happiness กับ 14S FOUR 25th Happiness ตกแต่งแผงประตูด้วยสีไอวอรี
เพิ่มสวิชต์คุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย และระบบเปิดไฟหน้าอัตโนมัติ

รวมทั้งรุ่น 12S 25th Happiness + Safety
14S FOUR 25th Happiness + Safety
12E + Safety และ 14E FOUR + Safety
เพิ่มถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านลมนิรภัย อีก 4 ใบ เป็น 6 ใบ
ไฟหน้าซีนอน ถาดวางของใต้เบาะ และพวงมาลัยแบบ 3 ก้าน

ปิดท้ายด้วยรุ่นตกแต่งพิเศษ 12S KISEKAE กับ 14S FOUR KISEKAE
มีผ้าหุ้มเบาะดีไซน์ใหม่ ตกแต่งแผงหน้าปัดและแผงประตูด้วยวัสดุลายใหม่
เพิ่มลำโพงคู่หลังมาให้ เพิ่ม INTELLIGENT KEY พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน
พร้อมสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียง ไฟหน้าเปิด-ปิดอัตโนมัติ กระจกมองข้างปรับ
และพับด้วยไฟฟ้า สีเดียวกับตัวรถ

7 พฤษภาคม 2009 กระตุ้นตลาดครั้งล่าสุด ด้วย รุ่นพื้นฐาน สำหรับนำไปตกแต่งเองต่อ
12S Collet # และ 14S Four Collet # ติดตั้งเบาะนั่งด้านหลังแบบพับไมได้ ติดตั้งฟิล์มดำ
รอบกระจกหน้าต่างครึ่งคันหลัง PRIVACY GLASS และไม่มีวิทยุมาให้ แต่มี
INTELIGENT KEY และ มือจับประตูกับกระจกมองข้างสีเดียวกับตัวถังมาให้

ตลอดอายุตลาดที่ผ่านมา ยอดขายช่วงเปิดตัวในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมากถึง 14,000 คัน
แต่หลังจากนั้น ตัวเลขค่อยๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา แต่ก็ยังถือว่าเป็นรถยอดนิยมอยู่ดี
จนกระทั่งหลังปี 2006 คู่แข่งที่สดใหม่กว่า กลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้ ยอดขายเริ่มหดตัวลงเรื่อยๆ
จนกระทั่งปัจจุบันทำยอดขายเฉลี่ย เหลือเพียงเดือนละ ประมาณ 3,000 คัน

ขณะเดียวกัน แม้ เสียงตอบรับการออกแบบจะดีแค่ไหนแต่ลูกค้าผู้ชายส่วนใหญ่ไม่นิยม รถรุ่นปัจจุบัน
มากเท่ารุ่นก่อนนักเพราะดีไซน์เอาใจผู้หญิงมากเกินไปนั่นเอง กอปรกับ ช่วงเปิดตัว Micra
ที่อังกฤษ นิสสัน เริ่มรู้ซึ้งแล้วว่าโรงงานที่เมืองซันเดอร์แลนด์ไม่ใช่ดินแดนที่ ควรประกอบรถเล็ก
อีกต่อไป ด้วยต้นทุนแรงงานและค่าเงินปอนด์ที่ผันผวนจนสูงโด่ง จนไม่สามารถเคาะราคารถรุ่นใหม่
ได้ถูกนัก แม้ว่า รัฐบาลอังกฤษช่วยเหลือเงิน 40 ล้าน ปอนด์ให้กับนิสสัน เมื่อ 25 มกราคม 2001 เพื่อคง
สายการผลิตของรถยนต์รุ่นนี้ไว้ในประเทศของตนต่อไป แล้วก็ตาม

อีกทั้งรถรุ่นนี้ยังถูกจำกัด ทำตลาดเพียงแค่ญี่ปุ่น,ยุโรปและบางประเทศอื่น ๆ ที่นำเข้าอย่างไม่เป็นทางการ
รวมกันแล้วทำตลาดแค่ 40 ประเทศเท่านั้น

สาเหตุ สำคัญเหล่านี้ทำให้ นิสสัน ตัดสินใจ ลดอายุการตลาด มาร์ชรุ่นปัจจุบัน เหลือแค่ 8 ปีเท่านั้น
ก่อนเตรียมพลิกแนวคิดดำเนินธุรกิจรถเล็กของ Nissan ใหม่ ทั้งกระบิ ด้วยการทุ่มทุนเสี่ยงครั้งสำคัญ
เพื่อสร้างมาร์ช เจเนอเรชันที่ 4 บนพื้นตัวถัง A-PLATFORM ให้เสร็จทันเดือนมีนาคม 2010
หวังกวาดยอดขายในตลาดรถยนต์กลุ่มซับ-คอมแพกต์แฮตช์แบ็กให้ กระหึ่มไปทั่วโลก

ตำนาน Nissan March ประเทศไทย

ประเทศไทยเคยมีประวัติศาสตร์ Nissan March K10 มาแล้วในสมัยผู้ดูแลการตลาดโดยคุณพรพินิจ พรประภา ภายใต้หัวเรี่ยวหัวแรงเจ้าสัวใหญ่ คุณถาวร พรประภา ที่ยิ่งใหญ่ขับเคี่ยวกับ Toyota ถึงพริกถึงขิงในอดีตดำรินำชิ้นส่วน CKD จากญี่ปุ่นมาประกอบขายในไทย เปิดตัวปี 1985 เพราะเล็งเห็นรถเล็กยังมีช่องทางอยู่ (เช่นเดียวกับ Toyota มองเห็นอนาคตว่า Corolla จะต้องอัพเกรดขึ้นไปเรื่อย ๆ จึงนำ Starlet มาจำหน่ายช่วงไล่เลี่ยกัน)

ปรากฏว่าล้มเหลวอย่างหมดรูป ด้วยจังหวะการนำเสนอที่ผิดที่ ผิดเวลายิ่งนัก อย่าลืมว่าสมัยก่อนราคาของ Sunny,Corolla,Lancer จัดว่าถูกที่สุด ประหยัดน้ำมันและความคุ้มค่าลงตัวที่สุด ขณะที่รถเล็กกว่าทั้งหลายทำราคาต่ำกว่าไม่มากเพราะต้นทุนไม่แตกต่างจากรถคอม แพคท์นักอีก(นำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่อีกต่างหาก) จุดเด่นความประหยัดก็ไม่ชัดเจนจึงทำให้รถเล็กทุกแบรนด์ต้องมีอันม้วยมรณาไป

March ทำยอดขายสูงสุดแค่ 30 คันต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่ Sunny รถยอดนิยมทำยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 200 คัน ส่วนคู่แข่ง Toyota Starlet ถึงขั้นเชิญสื่อมวลชนไปเยี่ยมโรงงานที่ญี่ปุ่นและให้ทดลองขับก่อนวางจำหน่าย จริงเป็นเดือน ๆ ยังทำยอดขายสูงสุดแค่ 50 คัน หลังจากนั้นจึงแผ่วปลายลงไป

ผมสืบเสาะข่าวต่าง ๆ จากหลาย ๆ แหล่งเรามาดูทัศนคติของผู้สันทัดกรณีที่เคยสัมภาษณ์ลงในนิตยสารผู้จัดการฉบับพฤศจิกายน 2529

” สาเหตุที่มันไปได้ไม่ค่อยดี เนื่องจากความหรูหรา ความสวยงามหลายสิ่งหลายอย่างถูกตัดออกเกือบหมดเมื่อนำเข้ามาเมืองไทย ซึ่งเทียบกับของยี่ห้ออื่นแล้ว ยี่ห้ออื่นเขาให้อะไรมากกว่ามาร์ชในญี่ปุ่นถ้าคุณเห็นแล้วคุณจะชอบมาก ภายในมันหรูหราหน้าปัดอะไรต่างๆ พราวไปหมด ยิ่งโดยเฉพาะวัยรุ่นเห็นเป็นต้องชอบ แต่พอเอาเข้ามาในตลาดเมืองไทย สิ่งที่ไม่จำเป็นถูกตัดออกเหลือเพียงเข็มวัดน้ำมัน วัดไมล์ เข็มวัดความร้อน แล้วก็ไฟ แค่นั้นเอง บางสิ่งบางอย่างที่มันสวยหรือที่คนชอบมากกว่านี้ ไม่ได้ใส่เข้าไป มันก็ไม่ชวนให้ใช้ ไม่หรู ดูแค่เรียบๆ เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเทียบกับซูซูกิรุ่นเอสเอ 413 (หรือ Suzuki CULTUS – ผู้เขียน) ซึ่งเป็นรถที่ในเครือสยามกลการเข้ามาเหมือนกันแล้ว จะเห็นถึงความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซูซูกิเขามีเข็มวัดรอบให้ภายในเขาสวยหรู เบาะก็ลายสวยหรู ดูแล้วมันเร้าใจอยากขับ หุ้นก็สวยมีสปอยเลอร์ให้อีก มันน่าใช้”

จาก บทสัมภาษณ์ข้างต้น สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ March ไม่ประสบความสำเร็จ คือการตัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากเกินกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ยอมรับได้ ถ้าเทียบกับ Starlet ให้เครื่องยนต์และอุปกรณ์มาตรฐานเหนือชั้นกว่าแถมดูปราดเปรียวกว่าเล็กน้อย เพราะเป็นโมเดลเชนจ์ที่เปิดตัวตามหลัง March ถึง 3 ปี แต่ประเทศไทยเพิ่งนำมาขายจึงหมดโอกาสกวาดยอดขายก่อน Starlet จะมานั่นเองครับ จนต้องยุติการทำตลาดภายในปี 1987 อย่างน่าเสียดายทำให้ March K10 ในไทยกลายเป็นของหายากเสียแล้ว

นับแต่บัดนั้นมาเราไม่เคย มีข่าวคราวว่า สยามกลการเตรียมแผนการประกอบรถขนาดเล็กในประเทศไทยอีกเลย กระทั่งกลางยุค 90 ที่สองค่ายคู่แข่ง Toyota และ Honda เปิดตลาดรถขนาดเล็กราคาประหยัดมาอุดช่องว่างรถราคา 3-4 แสนอย่างลงตัว ขณะที่ Corolla และ Civic ขยับราคาจนแตะ 6 แสนบาทแล้ว   แน่นอนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามช่วยต่อยอดสร้างฐานลูกค้าเป็นกอบเป็นกำ จากการมีสินค้าระดับล่างสุด (Bottom Of Range) อย่างถูกที่ถูกเวลา

ทำ ให้นิสสันภายใต้แกนนำคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช อยากจะมีส่วนร่วมกับตลาดซีดานขนาดเล็กบ้าง ทั้ง ๆ ตนเองเพิ่งประสบความล้มเหลวในตระกูล NV ความฝันที่อยากจะมีรถแห่งชาติของตนเองกลับกลายเป็นการนำตระกูล Sunny California หรือ Wingroad ที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกับ Sentra B13 เปิดตัวผิดเวลาอย่างมหันต์เพราะช่วงนั้นตลาดเปิดเสรีรถนำเข้าแล้ว และราคา NV-A แวกอนไม่ถูกจริงนัก มีเพียง NV-B ที่ทำยอดขายได้ไม่เลวเพราะรถราคาถูก ปราดเปรียวและแรงจัดน้ำหนักเบา ว่ากันว่าสมัยนั้นอาจจะนำ NV-A มาดัดแปลงอีกทีหนึ่งและกดราคาต่ำให้เหลือ 2 แสนปลาย ๆ แต่กาลเวลาทำให้ข่าวนี้เงียบหายไปกับสายลม หลังจากนั้นภาพลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของ Nissan ก็ค่อย ๆ เลือนไปเพราะไม่มีรถเล็กอุดช่องว่าง

จนกระทั่งเปลี่ยนมือไปสู่ยุคคุณ พรเทพ พรประภา ความคิดริเริ่มที่จะทำรถเล็กก็ไม่เป็นรูปร่างเสียที มาชัดเจนอีกทีช่วงที่เปิดตัว Nissan Sunny Neo เดือนกันยายน 2000 ตอกย้ำแนวคิดว่ารถเล็กนั้นโตยากทั้ง ๆ ที่ช่วงนั้นยังเพิ่งฟื้นจากพิษต้มยำกุ้งไม่นานนัก แต่จากการโหมกระหน่ำของ Toyota Soulna Vios และ Honda City ช่วงปลายปี 2002 ตลาดรถยนต์นั่งขยายตัวที่รวดเร็วเกินกว่า Nissan จะขยับยอดขายให้ใกล้เคียงคู่แข่งได้เพราะมีแค่ Sunny และ Cefiro ทำตลาดเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา Nissan ไม่สามารถครองบัลลังก์ยอดขายรวมอันดับ 3 ของประเทศรองจาก Isuzu ได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน

เมื่อคู่แข่งโกยฐานระดับล่างเป็นก็เท่ากับ ว่าสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งกว่า Nissan จนยากที่จะปฏิเสธ ถามว่าพวกเขาไม่มีความคิดที่จะทำรถระดับนี้ขายหรือช่วงระหว่างปี 1998-2002 คำตอบคือไม่มีแผนสร้างรถเล็กระดับอาเซียน สาเหตุประการสำคัญ นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น บีบให้สยามกลการขายหุ้นอย่างเบ็ดเสร็จจึงไม่มีรถรุ่นใหม่ ๆ หรือสิ่งใหม่ ๆ สู่ตลาดได้ทำให้ภาพพจน์ความเป็นผู้นำค่อย ๆ เลือนหายไปจากผู้บริโภค

แต่ เมื่อซื้อหุ้นเสร็จสรรพเรียบร้อยภายในไทยปี 2003 ทำให้จิ๊กซอว์ของ Carlos Ghosn ชัดเจนขึ้นทีละขั้นเมื่อร่วมลงุทนกับกลุ่มดงเฟิงประเทศจีนในปี 2003 และก่อตั้งแบรนด์นิสสันครั้งแรกในอินเดียในปี 2004 เมื่อ 3 ดินแดนพร้อมสรรพขนาดนี้โปรเจคท์รถขนาดเล็กที่ราคาถูกที่สุด (Bottom of Range)ของ Nissan น่าจะทำให้ฝันเป็นจริงได้


———————————————–///————————————————-

J!MMY & HOMY DEMIO
สงนลิขสิทธิ์ เฉพาะ บทความ
ลิขสิทธิ์ของภาพถ่าย และแค็ตตาล็อก เป็นของ Nissan Motor Co.,ltd

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
11 สิงหาคม 2009