ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ขณะที่สภาวะตลาดรวมของรถยนต์ญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 350,000 คัน/เดือน หรือระดับ 4,200,000 คัน/ปี
(เขียนไม่ผิด) ส่วนแบ่งการตลาดของนิสสัน ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของญี่ปุ่น กลับลดลง จาก 35% เหลือเพียง 24% ตลอดช่วง 10 ปี
(1975-1985) จนคู่แข่งตัวฉกาจอย่างโตโยต้า ผลักดันยอดขายแซงขึ้นหน้าไปยืนบนแป้นอันดับ 1 เป็นผลสำเร็จ และกลายเป็น
แชมป์อันดับ 1 ของญี่ปุ่นทั้งในและต่างประเทศตลอดกาล ที่ยังไม่มีใครทาบรัศมีโค่นบัลลังก์ลงได้

สาเหตุ สำคัญที่นิสสัน ประสบปัญหาดังกล่าวเนื่องจากปัญหาภาพลักษณ์ของสินค้าในสมัยนั้น ที่ต่อให้เน้นความเป็นสปอร์ต
และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เหนือกว่าคู่แข่งร่วมชาติเพียงใด ก็ยังถูกมองว่าเป็นรถยนต์ที่มีรูปทรงอนุรักษ์นิยม
หรือพูดให้ง่ายขึ้นก็คือ “เชย” เมื่อเทียบกับโตโยต้าและฮอนด้านั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางเลือกหนึ่งที่นิสสัน
คิดจะลองทำดูคือ ต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กลายเป็นรถยนต์ในใจลูกค้าวัยหนุ่มสาวให้ได้ แต่จะด้วยวิธีการใด

ใน ยุคนั้น ผู้ผลิตญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า ฮอนด้า ซูซูกิ และไดฮัทสุ ต่างเน้นที่เทคโนโลยีความแรงของเครื่องยนต์ ในขณะที่มิตซูบิชิ
มาสด้า ซูบารุ อีซูซุ เน้นที่การออกแบบรูปทรงให้ดูล้ำยุคไปสู่ทศวรรษที่ 1990 แต่นิสสัน กลับมีแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร กล้าทำ
ในสิ่งที่ผู้ผลิตรายอื่นๆยังไม่มีใครกล้าทำในตอนนั้น คือการเสนอแนวทางการออกแบบสไตล์ย้อนยุคหรือ RETRO เพื่อสร้าง
ความรู้สึกให้เกิดกับคนทั่วไปว่า รถยนต์ก็มีความเป็นเป็นแฟชั่นอยู่ในตัว เช่นเดียวกับเสื้อผ้าเครื่องประดับ จนถึง
เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในยุคนั้น

เพียงเท่านี้นิสสัน ก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีร่วมสมัยในยุคนั้นอย่าง
เทอร์โบชาร์จเจอร์ หรือระบบเลี้ยว 4 ล้อ และหน้าปัดดิจิตอล ใส่ลงไปในรถเล็กๆ เหมือนที่ผู้ผลิตรายอื่นกำลังนิยมทำขณะนั้น
เพียงแต่ลงทุนแบบเดียวกับโครงการรถยนต์รุ่นใหม่ทั่วๆไปสัก 1 รุ่นเท่านั้นเอง และยิ่งโครงการนี้ ถูกกำหนดให้ใช้เครื่องยนต์
และชิ้นส่วนอะไหล่ร่วมกับนิสสัน มาร์ช/ไมคราแล้ว ก็สามารถประหยัดต้นทุนการผลิตไปได้อีกมาก ซึ่งวิธีการอันชาญฉลาดนี้
ในที่สุด โตโยต้า ก็นำไปปรับประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการบุกตลาดวัยรุ่นด้วยโครงการ WiLL ในญี่ปุ่น และ SCION
ในสหรัฐอเมริกาตลอดช่วง ต้นทศวรรษ 2000 มานี้เอง

นอก จากจะเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นหนุ่มสาวแล้ว รถยนต์หน้าตาน่ารักเหล่านี้ ยังมีศักยภาพพอที่จะดึงดูดใจลูกค้า
ที่เพิ่งมีครอบครัว แต่มีรายได้สูงจากงานอาชีพอิสระที่ใช้ทักษะพิเศษชั้นสูง ซึ่งผลการวิจัยตลาดบ่งชี้ว่า
นิสสันยังไม่แข็งแรงพอที่จะเจาะตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมากนี้ได้

ทั้ง หมดนี้คือที่มาของโครงการรถยนต์ขนาดเล็กสไตล์ RETRO ภายใต้การดูแลของหน่วยงานใหม่ Pike SECTION
โดยรถยนต์ทั้ง 4 รุ่นนี้ใช้พื้นฐานทั้งแพล็ตฟอร์มเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อนและระบบส่งกำลัง รวมทั้งระบบกันสะเทือน
และเบรกร่วมกับ มาร์ช/ไมครา ทั้งสิ้น แต่ไม่ได้ผลิตขึ้นที่โรงงานของนิสสันเอง กลับว่าจ้างให้บริษัทในเครือชื่อ
Takada Industry Co. Ltd. รับจ้างผลิตให้แทน

———————————

Be-1
รหัสรุ่น BK10
13 มกราคม 1987 – 20 พฤษภาคม 1988
จำกัดยอดผลิต 10,000 คัน

แรกเริ่ม นิสสันไม่ได้ตั้งใจจะผลิต บี-1 ออกทำตลาดจริง เพียงแต่คิดจะสร้างรถยนต์ต้นแบบสำหรับงานโตเกียวมอเตอร์โชว์
ครั้งที่ 26 ในเดือนตุลาคม 1985 เพิ่มอีกคัน นอกเหนือจากซีดานต้นแบบรุ่น CUE-X และสปอร์ตขับเคลื่อน 4 ล้อเครื่องยนต์
วางกลางลำตัวรุ่น MID-4 โดยจัดตั้ง 3 ทีมนักออกแบบอายุระหว่าง 25-30 ปี ทั้งจากในนิสสันเอง บริษัทในเครือ และกลุ่ม
นักออกแบบอิสระนอกบริษัท โดยตั้งวัตถุประสงค์ไว้เพียงว่า ต้องออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่นี้บนพื้นฐานของ นิสสัน มาร์ช/ไมครา
ภายใต้แนว คิด CHANGE THE TREND โดยเน้นให้ตัวรถมีรูปแบบ NATURAL & COMFORTABLE โครงการนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ
ช่วงฤดูใบไม้ร่วง ปี 1984

เมื่อทั้ง 3 กลุ่มทำงานเสร็จสมบูรณ์ แบบจำลองขนาดเท่าของจริง อัตราส่วน 1/1 ที่ถูกตั้งชื่อเรียกง่ายๆว่า A ,B-1 และ B-2
ก็ได้จัดแสดงให้กับตัวแทนจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศบางราย รวมทั้งพนักงานของนิสสันบางคนในหลากช่วงอายุ
ได้ชมเพื่อแสดงความคิดเห็น ผลปรากฎว่า แบบ A ดูแล้วล้ำยุคสมัย ลู่ลม และทำคะแนนได้ดี โดยเฉพาะจาก ตัวแทนต่างประเทศ
ส่วนแบบ B-2 ได้คะแนนต่ำสุดจากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากรูปทรงเชยๆ และอนุรักษ์นิยมจนเกินไป แต่ในแบบ B-1 ผู้แทนจาก
ต่าง ประเทศพากันไม่ชอบด้วยเหตุผลว่าเชยไป แต่ปฏิกิริยาของผู้คนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นเองกลับชื่นชอบ ดังนั้น แบบ B-1 จึงถูกสร้างขึ้น
และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Be-1

อย่างไรก็ดี ก่อนการเปิดตัว ครั้งแรกในโลก ณ งานแสดงรถยนต์ครั้งสำคัญดังกล่าว ผู้คนทั่วไปใน
สำนักงานใหญ่ย่านกินซ่า กรุงโตเกียว แม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูง ต่างพากันออกปากชื่นชมงานออกแบบของ บี-1 และคาดหวังไว้
ในใจลึกๆเหมือนกันว่า น่าจะมีโอกาสขึ้นสายการผลิตจริง แม้ว่าก่อนหน้านั้น ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ ฝ่ายการตลาดในประเทศญี่ปุ่น
และผู้จัดการบางแผนก ยังคงมีข้อกังขาเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของบี-1 แต่จากการสำรวจตลาดอีกครั้งอย่างละเอียดและรอบคอบ
ยิ่งทำให้ทีมงานมั่นใจขึ้นว่า ลูกค้าจะชื่นชอบเพราะปฏิกิริยาที่ลูกค้า ตอบกลับมาส่วนใหญ่ จะถูกสรุปสั้นๆด้วยคำว่า บี-1 เป็น
“รถที่เหมาะกับฉัน”, “มีอารมณ์ขัน”, “สร้างความรู้สึกที่ดี”

หลังการปรากฎตัวครั้งแรกในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 1985 ปฏิกิริยาตอบรับอย่างล้นหลามเกินคาดหมาย เกือบทุกคนพากัน
ถามถึงกำหนดการออกสู่ตลาดของ บี-1 ทำให้ผู้บริหารนิสสัน มั่นใจมากพอที่จะเปิดไฟเขียวให้นำโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการผลิตจริง
นี่คือปรากฎการณ์ไม่ธรรมดาสำหรับวงการรถยนต์ทั่วโลก เพราะบี-1 ถูกสร้างขึ้น โดยไม่ได้อยู่ในแผนการดำเนินงานและ
พัฒนาผลิตภัณฑ์ของ บริษัทฯ มาก่อน แต่ถูกเสริมเข้าสู่สายการผลิตได้ในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม บี-1 ถูกผลิตขึ้นภายใต้ข้อกำหนดที่ว่า
จะออกสู่ตลาดในจำนวน จำกัด เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อไปเกิดความภูมิใจว่า รถยนต์ของตนนั้นไม่เหมือนใคร ซึ่งแม้จะเป็นการลงทุนที่ดูไม่คุ้มค่า
เท่าใดนัก แต่ถ้ามองในแง่การสร้างภาพพจน์ใหม่ให้กับองค์กรแล้ว นิสสันประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

ในที่สุด บี-1 ก็พร้อมออกจำหน่ายในวันที่ 13 มกราคม 1987 และเริ่มเปิดให้จับจองในอีก 2 วันถัดมา ส่วนรุ่นหลังคาผ้าใบ
CANVAS TOP ตามออกมาในวันที่ 2 มีนาคมปีเดียวกัน เรียกเสียงฮือฮาด้วย เอกลักษณ์เฉพาะตัวในสไตล์  Retro-Modern

ที่คล้ายกับการนำรถ Mini รุ่นดั้งเดิม ของเซอร์ อเล็กซ์ อิกซิกอนิส มาดัดแปลงให้ทันสมัยขึ้น จนถึงทุกวันนี้

และสร้างสถิติยอดจอง 6,000 คัน ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ และครบ 20,000 คันในเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น !!
ทำให้นิสสันต้องใช้วิธีหาผู้โชคดีที่จะเป็น 1 ในลูกค้าที่มีสิทธิ์ครอบครอง บี-1 จำนวน 10,000 คัน ด้วยวิธีจับฉลาก

แต่สิ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้กันคือ ในบรรดาลูกค้าของ บี-1 นั้น มีรายชื่อสำคัญที่ยังมีข้อมูลยืนยันว่ายังเป็นเจ้าของรถยนต์รุ่นนี้อยู่จน
ถึงปัจจุบัน นั่นคือ SIMON LE BON สมาชิกวงดนตรีชื่อดังในยุค 1980 จากฝั่งอังกฤษ DURAN DURAN ก็เป็นอีกคนที่คลั่งไคล้ บี-1

ถึงขั้นหาซื้อมาครอบครองจนได้ในที่สุด

BK10 มีมิติตัวถังยาว 3,635 มิลลิเมตร กว้าง 1,580 มิลลิเมตร สูง 1,395 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,300 มิลลิเมตร
วางขุมพลังรหัส MA10S 4 สูบ คาร์บิวเรเตอร์ 52 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 7.6 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที
ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ ระบบกันสะเทือนหน้าสตรัท หลังแบบ 4 จุดยึด ห้ามล้อด้วยระบบเบรก
หน้าดิสก์-หลังดรัม สวมด้วยยางขนาดจิ๋ว 165/70 HR12

———————————

PAO

รหัสรุ่น PK10

13 มกราคม 1989 – 14 เมษายน 1989
จำกัดการผลิต 51,657 คัน

ด้วยความสำเร็จของ Be-1 ทำให้นิสสันมั่นใจเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ดังนั้น ผลผลิตระลอก 2 จากโครงการ Pike CAR
จึงเริ่มต้นพัฒนาขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1986 ก่อนเปิดตัวในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 27 เดือนตุลาคม 1987
และทิ้งช่วงมาประกาศออกสู่ตลาด 13 มกราคม 1989 โดยเริ่มเปิดรับจองตั้งแต่ 15 มกราคม จนถึง14 เมษายนปีเดียวกัน
รวม 3 เดือน พร้อมกับหอยทากคันจิ๋ว เอส-คาร์โก

แต่คราวนี้ ด้วยบทเรียนจาก Be-1 ทำให้นิสสันต้องประกาศว่า จะเปิดรับจองเพียงแค่ 3 เดือน ครบกำหนดเมื่อไหร่ ปิดรับจองเมื่อนั้น
เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เปา สร้างปรากฎการณ์ระห่ำ สะเทือนทั่วเกาะญี่ปุ่น ด้วยยอดสั่งจองสูงถึง 24,000 คันในเวลาเพียง 2 สัปดาห์
และสรุปยอดสั่งจองตลอด 3 เดือนด้วยตัวเลขสูงถึง 51,657 คัน กว่าจะผลิตและส่งมอบให้กับลูกค้าได้ครบตามจำนวน ต้องปล่อยให้ลูกค้า
รอนานกันถึง 1 ปีครึ่ง!!

Pao ออกสู่ตลาดทั้งรุ่นหลังคาธรรมดา เกียร์ธรรมดา PK10GA เกียร์อัตโนมัติ PK10GAW และหลังคาผ้าใบ CANVAS TOP
เกียร์ธรรมดา PK10GF และเกียร์อัตโนมัติ PK10GFW ยกทุกรายละเอียดทางวิศวกรรมจาก มาร์ช มาบรรจุไว้ครบถ้วน  
แต่ออกแบบมาให้สอดคล้องกับคนที่ชอบความคลาสสิก และใช้ชีวิตภายในรถเป็นส่วนใหญ่ งานนี้นิสสันยังได้รับความร่วมมือจาก
Matsushita Electric (เครื่องไฟฟ้า National/Panasonic) ช่วยออกแบบวิทยุพร้อมเครื่องเล่นเทปในสไตล์ย้อนยุคพิเศษสำหรับเปา
โดยเฉพาะอีกด้วย

มิติตัวถังยาว 3,740 มิลลิเมตร กว้าง 1,570 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,300 มิลลิเมตร
วางขุมพลังรหัส MA10S 4 สูบ SOHC 987 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ ไม่มีระบบอัดอากาศใดๆทั้งสิ้น 52 แรงม้า (PS)
ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 7.6 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
และอัตโนมัติ 3 จังหวะ ระบบกันสะเทือนหน้า สตรัท หลัง 4 จุดยึด ห้ามล้อด้วยระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม
สวมด้วยยางขนาดจิ๋ว 155 SR12

S-Cargo
รหัสรุ่น R-G20
13 มกราคม 1989
จำกัดจำนวนการลิต 8,000 คัน

แม้ในความเป็นจริง รถคันนี้จะไม่ถูกเรียกรวมอยู่ในกลุ่ม Pike Car แต่สำหรับ S-Cargo แล้ว เราถือว่า

นี่คืออีก 1 ความกล้าหาญของนิสสันในด้านการออกแบบรถยนต์ ที่โลกยังจดจำถึงทุกวันนี้ หอยทากคันจิ๋วรุ่นนี้
ควงคู่กับเปา อวดโฉมพร้อมกันครั้งแรกที่งานโตเกียวมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 27 เดือนตุลาคม 1987

 ก่อนจะออกสู่ตลาดในวันและเวลาเดียวกันกับเปา มีทั้งรุ่นหลังคาธรรมดา G20AT และรุ่นหลังคาผ้าใบแบบ CANVAS TOP รหัส G20ATW

จำกัดจำนวนการผลิตไว้เช่นเดียวกัน และกวาดยอดสั่งจองได้สูงถึง 4,600 คัน ใน 2 สัปดาห์แรกที่เปิดรับจอง

S-Cargo โดดเด่นด้วยการออกแบบในสไตล์หอยทาก เหมาะกับการใช้งานในธุรกิจขนาดเล็ก SME เกือบทุกประเภท

เช่นร้านอาหาร ร้านดอกไม้ หรือเป็นสื่อโฆษณาติดล้อ บางคันที่พบจะมีกระจกทรงรี บริเวณตู้เก็บสัมภาระ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ

ห้องโดยสารแปลกตาพอๆกับภายนอก พวงมาลัยยกมาจาก Pulsar และ Pulsar EXA รุ่นปี 1982 มาใช้

เบาะนั่งเป็นแบบแถวยาว หากใครซื้อไปต้องจดทะเบียนในประเภทรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

มาตรวัดความเร็วติดตั้งตรงกลางแผงหน้าปัด และคันเกียร์ติดตั้งอยู่บนแผง หน้าปัดเช่นกัน กลายเป็นความแปลกใหม่ในยุคนั้น

(ก่อนที่โตโยต้า จะนำกลับมาใช้อีกครั้งในช่วงปี 1999 กับรุ่น ฟันคาร์โก)

มิติตัวถังยาว 3,480 มิลลิเมตร กว้าง 1,595 มิลลิเมตร สูง 1,835 – 1,860 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,260 มิลลิเมตร
วางขุมพลังรหัส E15S 4 สูบ OHC 1,487 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี เพราะวางในรุ่นซันนี/เซ็นทรา  B12
73 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.8 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตามค่าเฉลี่ย 10-15 โหมด
ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ 18.5 กิโลเมตร/ลิตร ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ เพียงแบบเดียว ระบบกันสะเทือนหน้า
แมคเฟอร์สันสตรัต หลัง เทรลลิงอาร์ม รัศมีวงเลี้ยว 4.7 เมตร มีเพียง 4 สีตัวถังให้เลือก ทั้ง ขาว เทา เบจ และโอลีฟ ส่วน
เสาโครงหลังคาเป็นสีเทาเข้ม

 ปัจจุบันนี้ S-Cargo ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมเฉพาะในญี่ปุ่น แต่ยังมีหอยทากติดล้อรุ่นนี้จำนวนมาก
กระจัดกระจายไปอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ทั่งยุโรป โอเซียเนีย และเอเซีย ส่วนในเมืองไทย
มีการนำเข้ามาใช้งานส่วนตัวอยู่ประมาณไม่เกิน 10 คัน และบางคัน อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์บริการ
สยามกลการ หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติม เชิญที่ www.s-cargo.org.uk และ www5b.biglobe.ne.jp/~pikecar

———————————————

FIGARO
รหัสรุ่น FK10
14 กุมภาพันธ์ 1991 – กันยายน 1991
จำกัดยอดผลิต 20,000 คัน (ไม่นับรถยนต์ตัวอย่างสำหรับการโชว์ตัวและถ่ายโฆษณา อีกไม่ถึง 10 คัน)

เปิดตัวเป็นรถยนต์ต้นแบบครั้งแรกในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 1989 ด้วยปฏิกิริยาตอบรับที่รุนแรงมากกว่าเมื่อครั้งที่เกิดขึ้น
กับ บี-1 และเปา ทำให้นิสสัน เลือกจะเล่นกับโครงการรถยนต์พิเศษแบบนี้อีกครั้ง โดยการพัฒนาโครงการฟิกาโร เสร็จสมบูรณ์
พร้อมเปิดตัวในวันวาเลนไทน์ ปี 1991

คราว นี้นิสสันเลือกสร้างความฮือฮา ด้วยการจับมือ กับ 3 บริษัทสร้างภาพยนตร์ กระหน่ำแคมเปญโฆษณาโรแมนติกอันโด่งดัง
ด้วย 3 ภาพยนตร์ความรักของหนุ่ม-สาวในโครงการ FIGARO STORY แบ่งเป็น 3 เรื่องย่อย

เริ่มจากงานของ ALLARTS ชื่อ “LIBRALY LOVE” เขียนบทและกำกับโดย ALEJANDRO AGRESTI ถ่ายทำในปารีส

ตามติดด้วย “MAN FROM THE MOON” ถ่ายทำในกรุงโตเกียว

ผลงานกำกับและเขียนบทโดย KAIZO HAYASHI จากค่าย HERALDE ACE

ปิดท้ายด้วยค่าย GOOD MACHINE INC.กับเรื่อง “KEEP IT FOR YOURSELF” ถ่ายทำในนิวยอร์ก

กำกับและเขียนบท CLAIRE DENIS ทั้ง 3 เรื่องควบคุมการผลิตโดย KEES KASANDER

โดยยังมีการถ่ายภาพนิ่งเพื่อจัดทำ แค็ตตาล็อก สื่อสิ่งพิมพ์ และภาพยนตร์โฆษณาร่วมกันไปด้วย

ด้วยแผนการตลาดที่วางมาอย่างดี ทำให้ฟิกาโรกลายเป็นรถยนต์รุ่นประวัติศาสตร์อีกรุ่นของนิสสันที่ถูกจำกัด
จำนวนผลิตไว้เพียง 20,000 คัน แต่มีผู้เข้าคิวจองอย่างล้นหลาม หลังการ เปิดตัวเพียง 2 เดือน ยอดสั่งจอง
ในเดือนเมษายนสูงถึง 211,841 ราย และเพิ่มขึ้นอีก 130,127 รายในเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะปิดรับจอง
ในเดือนกันยายน กับตัวเลขที่เพิ่มมาอีก 41,985 คัน สรุปรวมยอดสั้งจองมากถึง 383,926 ราย

จนนิสสันต้องใช้วิธีการจับฉลากหาผู้โชคดี ถึง 3 ครั้ง หากเทียบยอดสั่งจองแล้ว นับว่า ฟิกาโร เป็นรุ่นที่
ประสบความสำเร็จมากที่สุดในกลุ่ม Pike CAR

รูปลักษณ์ภายนอกออกแบบในสไตล์วิคตอเรียน เน้นการตกแต่งด้วยโครเมียมรอบคัน แผงพลาสติกที่ติดตั้งกระจังหน้า
ทำจากพลาสติก PPO คืนตัวได้เมื่อโดนกระแทกไม่แรงนัก หลังคาเลื่อนพับเก็บที่ห้องเก็บของด้านหลังได้ ตัวถังมีให้เลือก
4 สี ทั้งเขียว ฟ้า เบจ และเงิน ส่วนหลังคามีสีเดียวคือสีขาว เช่นเดียวกับสีของห้องโดยสารที่ตกแต่งเน้นความหรู
ด้วยโครเมียม มาในสไตล์อังกฤษ ทั้งบนพวงมาลัย 3 ก้านแบบคลาสสิก ชุดมาตรวัดความเร็ว และแผงสวิชต์แอร์
ติดตั้งชุดเครื่องเสียงพร้อมเครื่องเล่น CD ในตัว

มิติตัวถังยาว 3,740 มิลลิเมตร กว้าง 1,630 มิลลิเมตร สูง 1,365 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,300 มิลลิเมตร
วางขุมพลังรหัส MA10ET 4 สูบ SOHC 987 ซีซี เปลี่ยนมาใช้ หัวฉีด ECCS และพ่วงเทอร์โบ ช่วยอัดอากาศ
เพิ่มกำลังขึ้นเป็น 76 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.8 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า
ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะอย่างเดียว ระบบกันสะเทือนหน้าสตรัท หลัง 4 จุดยึด ห้ามล้อด้วยระบบเบรก
หน้าดิสก์-หลังดรัม สวมด้วยยางขนาดจิ๋ว 165/70 HR12

  ในเมืองไทย สยามกลการเคยนำเข้ามาโชว์ตัวที่งานบางกอกมอเตอร์โชว์ที่สวนอัมพรเมื่อเดือน พฤษภาคม 1992
และหลังจากนั้น ได้ขายให้กับเจ้าของเดิมซึ่งว่ากันว่าเป็นคนใน ตระกูลดังตระกูลหนึ่ง และได้มีการเปลี่ยนมือเจ้าของ
ไปแล้วครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันผู้เขียนได้รับเบาะแสว่ามีการนำเข้ามาในเมืองไทยรวม 5 คัน โดยเป็นรถยนต์เดโมโชว์ตัว
ตามงานต่างๆ ที่นิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่นขายทิ้งทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ฟิกาโรก็มีโอกาสปรากฎตัวในภาพยนตร์โฆษณา
ของคลอสเตอร์เบียร์ เมื่อช่วง 7-8 ปีมานี้ครั้งหนึ่ง

Be-1 SHOP & Pike FACTORY
จุดบรรจบของแฟชัน อาหาร ไนท์คลับ และ รถยนต์

นอกเหนือจากการจำกัดการผลิต แล้ว อีกกลยุทธิ์หนึ่งที่ส่งผลให้นิสสันประสบความสำเร็จกับโครงการ Pike CARS SERISE
นั่นคือการเน้นสร้างแบรนด์ อิมเมจ เสริมด้วยธุรกิจอื่นที่เกี่ยว ข้องกับรสนิยมของกลุ่มลูกค้าที่จะมาเป็นเจ้าของรถยนต์รุ่นพิเศษเหล่านี้
ซึ่งกลยุทธิ์นี้ นิสสันเป็นผู้ริเริ่มต้นมาใช้อย่างจริงจังเป็นรายแรก และกลายเป็นต้นแบบให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ หันมาผลิตสินค้าพรีเมียม
ภายใต้ตรายี่ห้อเดียวกับรถยนต์รุ่นต่างๆของตัวเอง รวมทั้งพรีเมียมแจกลูกค้า มาจนถึงทุกวันนี้

เริ่มจากโครงการ บี-1 ครั้งนั้นนิสสัน เปิดตัวรถยนต์รุ่นนี้ พร้อมกับร้านเสื้อผ้าและสินค้าภายใต้แบรนด์เนม Be-1 SHOP
ที่ย่าน Aoyama ในกรุงโตเกียวช่วงระหว่างวันที่ 15 มกราคม 1987 ถึง 20 พฤษภาคม 1988  โดยมีสินค้า หลากประเภท
ทั้งเสื้อผ้า กางเกงหมวก ของใช้ต่างๆ รวมกว่า 90,000 ชิ้น มูลค่าสูงถึง 210 ล้านเยน ถูกจัดเตรียมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
และต่างก็ประสบความ สำเร็จเป็นอย่างดี

ไม่ เพียงแค่นั้น แต่เมื่อถึงเวลาออกสู่ตลาดของเปา และ เอส-คาโก ในปี 1989 นิสสันก็จับมือกับผู้ผลิตเบียร์อันดับ 2 ของญี่ปุ่น
SAPPORO BREWERIES ร่วมกันสร้างปรากฎการณ์ใหม่ของโชว์รูมรถยนต์ในญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อร้าน  Pike FACTORY
ซึ่งเป็นการรวมโชว์รูมรถยนต์ ภัตตาคาร และร้านขายสินค้ากิฟต์ช็อปเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากจะจัดแสดงและเปิดรับจอง
รถยนต์รุ่น เปา และ เอส-คาโก แยกส่วนกันอย่างชัดเจน ทั้ง PAO’s garage และ S-Cargo’s garage แล้ว ในส่วนภัตตาคาร
จะตกแต่งในสไตล์บาร์คาวบอย MEXICAN AMERICAN TEXAS (TEX-MEX) แต่ใช้เบาะนั่งสั่งทำพิเศษ ดัดแปลงจากเบาะนั่ง
ของนิสสัน เปา บริการแขกด้วยอาหารสไตล์ฝรั่งเศส อินเดียน อเมริกัน และค็อกเทลเลาจน์ พร้อม DJ BOOTH
และสถานีวิทยุ FM ภายใน ปิดท้ายด้วยร้านกิฟต์ช็อป ซึ่งจะมีสินค้าของแต่งบ้าน และแต่งรถไว้
จำหน่าย ภายใต้แบรนด์ PAOSIDE สำหรับลูกค้าของรุ่นเปา และ S-Cargo Land สำหรับลูกค้ารุ่นเอส-คาโก

—————————————
อนาคตของ นิสสัน พันธ์จิ๋ว

คำถามที่ว่า “นิสสันมีแนวโน้มจะสร้างรถยนต์รุ่นป่วนญี่ปุ่นเหล่านี้อีกไหม” ยังคงติดค้างในใจหลายคนที่ตั้งตารอ แต่ถึงวันนี้
ก็ดูไร้วี่แวว เพราะอดีตที่รุ่งเรืองของนิสสัน กลับเป็นเพียงแค่ตำนานบทเก่า กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอด
ทศวรรษที่ 1990 ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจในญี่ปุ่นเอง รวมทั้งทั่วเอเซีย ส่งผลให้นิสสันต้อง เผชิญกับภาวะที่ยากลำบาก ทั้งจะต้อง
ประคองตัวให้รอดพ้นจากการล้มละลาย จากบัญชีเลขตัวแดงที่มากมายจนเกินจะสะสางได้หมด รวมทั้งการแข่งขันกับ
คู่ แข่งทั้งในบ้านตัวเองและต่างประเทศที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ความท้าทายทื่รออยู่เบื้องหน้า จึงไม่ใช่การสร้างกระแส
ด้วยรถยนต์รุ่นพิเศษเหมือนที่เคยเกิดขึ้นอีกต่อ ไป หากแต่เป็นความพยายามอยู่รอดท่ามกลางการรวมกลุ่มพันธมิตร
อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ทยอยรวมตัวกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งท้ายสุดแล้วนิสสันเองก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น

แต่นิสสันโชคดีมากที่ สุดแล้ว ที่พันธมิตรอย่างเรโนลต์ ส่งนักบริหารจอมลดต้นทุนอย่าง CARLOS GHOSN เข้ากู้วิกฤติ
และประคับประคองให้ยักษ์รองแดนปลาดิบที่เคยเกรียง ไกร กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหลังจากประสบความสำเร็จไปแล้ว
กับแผน NISSAN REVIVAL PLAN ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 1999 แต่สามารถบรรลุ เป้าหมายได้เร็วกว่า
กำหนดการเดิมถึง 1 ปีเต็ม ทำให้นิสสันเลือกจะยุติแผนเดิม เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนิสสันเป็น 44% แล้วแทนที่
ด้วยแผนใหม่ NISSAN 180 ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2002 นี้เป็นต้นไป ซึ่งตัวเลข 180 นั้น เลข 1 หมายถึง
ทำเป้ายอดขายเพิ่มอีก 1 ล้านคันภายในปี 2004 เลข 8 หมายถึงการเพิ่มผลกำไรจากการประกอบการอีก 8%
และเลข 0 หมายถึงการปลดหนี้ให้หมดภายใน 3 ปี

ดัง นั้น โครงการใดๆก็ตามที่จะเสี่ยงสร้างการขาดทุนสะสม เชื่อได้เลยว่า คาร์ลอส จะไม่มีทางอนุมัติให้ผ่านไฟเขียว
ได้ง่ายๆเหมือนอย่างที่ผู้บริหารรุ่นก่อนๆ ของนิสสันยินยอมหากใครที่หวังจะรอว่านิสสันจะนำโครงการแบบนี้ออกสู่ตลาด
อีกครั้งในอนาคต คงต้องรอให้ผลประกอบการของนิสสันกลับเข้ารูปเข้ารอยฟื้นขึ้นมามีกำไรอีก ครั้งหนึ่ง แต่จะเป็นเมื่อไหร่
คงไม่มีใครให้คำตอบได้ในตอนนี้

—————————————///———————————–

ภาคผนวก

เรื่องเล่าจากอดีตนักออกแบบรถยนต์ชาวญี่ปุ่น

Mr. KOBATA YOSHIRO เคยเป็นอดีตสมาชิกในทีมดีไซน์เนอร์ของนิสสัน ระหว่างปี 1977-1989 ที่มีโอกาสเข้ารับผิดชอบ
งานพัฒนารถยนต์รุ่นจิ๋วทั้ง บี-1 เปา และ ฟิกาโร ปัจจุบันนี้ ถึงแม้เขาได้ลาออกมาเปิดบริษัทรับออกแบบสินค้าของตนเอง
ตั้งแต่ปี 1991 แต่ทุกเรื่องราวประทับใจจากโอกาสที่ได้ร่วมงานกับนิสสัน ยังคงอยู่ในความทรง จำของเขาเสมอ นอกเหนือจาก
สินค้าอุปโภคบริโภคหลายอย่างที่เขาออกแบบแล้ว ที่ผ่านมาเขายังรับออกแบบรถแข่งพลังงานแสงอาทิตย์นับหลายคันอีกด้วย
ข้อมูลเกือบทั้งหมดในด้านการพัฒนารถยนต์เหล่านี้ เอื้อเฝื้อโดย Mr. KOBATA นั่นเอง และต่อจากนี้คือ 6 คำถามที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะกับผู้ที่อยากศึกษาต่อด้านการออกแบบรถยนต์ในอนาคต

Q: พอจะบอกกับเราได้ไหมครับว่า ทำไมคุณถึงเลือกที่จะเริ่มต้นชีวิตการทำงานของคุณกับนิสสัน ?

A: ผมคิดว่านิสสัน มอเตอร์ เป็นบริษัทที่ให้ความรู้สึกที่ดี และมีกฎเกณฑ์ที่เปิดกว้างต่อการออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่ๆ
ที่จะมีแนวโน้มเปลี่ยน รูปทรงของรถยนต์ในวันข้างหน้า

Q: ช่วยกรุณาสรุปคำจำกัดความสั้นๆว่า เหตุใด นิสสันถึงสามารถออกแบบรถยนต์ให้ทันสมัยได้อยู่ตลอด
โดยปราศจากข้อจำกัดของกาลเวลา

A: เพราะทุกคนที่นั่นต้องการจะเปลี่ยนแนวโน้มแฟชั่นรูปลักษณ์รถยนต์อยู่ตลอด เวลา และเปลี่ยนแปลงบริษัท
ให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้อยู่เสมอ ในสไตล์ CHANGE THE TREND & CHANGE THE COMPANY

Q: คุณเคยบอกว่า คุณดีใจมากที่ได้ทำงานออกแบบทั้ง บี-1 เปา และ ฟิกาโร เพราะคุณเป็นคนที่ชอบรถยนต์ขนาดเล็ก
ไม่ทราบว่าความชอบนี้มีมานานแค่ไหนแล้วและ เพราะอะไรคุณถึงตกหลุมรักรถยนต์ขนาดเล็ก

A: อืมม…มันยากที่จะตอบนะ จริงๆแล้ว ผมเริ่มชอบรถยนต์ขนาดเล็กมาตั้งแต่ประมาณ 35 ปีที่แล้ว
ผมชอบธรรมชาติของรถเล็ก และความสะดวกสบายแต่เรียบง่าย ซึ่งได้สูญหายไปจากชีวิตของเราในปัจจุบันมากแล้ว

Q: ในช่วงที่ รถยนต์ทั้ง 4 รุ่นนี้ออกสู่ตลาด คุณมีประสบการณ์ใดๆที่น่าประทับใจบ้างที่เกิดจากรถทั้ง 3-4 รุ่นนี้
เสียงตอบรับที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง ?

A: โครงการนี้ มันเป็นเรื่องที่ผิดธรรมดาอย่างมาก ไม่ใช่สำหรับแค่นิสสัน แต่รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายด้วย
เพราะไม่มีใครจะกล้านำรถยนต์ต้นแบบเข้าสู่สายการผลิต ทั้งที่ไม่เคยมีอยู่ในแผนการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่
ของบริษัทฯ มาก่อน และตัวผมเองก็ประสบความสำเร็จกับโครงการรถเล็กเหล่านี้ถึง 3 ครั้งติดต่อกัน
ผมเองก็คิดว่า ทั้ง 3 รุ่นนี้ เปรียบเสมือนกับลูกของผม เพราะผมเป็นคนตั้งชื่อ “Be-1″,”PAO” และ “FIGARO”
ให้กับทั้ง 3 รุ่นนี้ด้วยตัวเอง


บางที ฟังแล้วคุณอาจจะรู้สึกเหมือนกับว่า ผมนี่เป็นพวก NOSTALGIA มากไปหรือเปล่า ไม่ได้เห็นโลกภายนอกบ้างเลย
แต่ว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายคำว่า NOSTALGIA หรือ แม้แต่งานออกแบบของเราให้เป็นรูปธรรม ถ้าเราอยู่แต่แค่ในบ้าน
ผมจึงเอาแนวความคิด NOSTALGIC MODERN มาสร้างทดสอบปฏิกิริยามวลชน ดังนั้น ผมคิดว่าเมื่อ ผู้คนพบเห็นรถยนต์ Pike
เหล่านี้แล่นผ่านไป จนต้องมองเหลียวหลัง แล้วคิดต่อทันทีว่า “ที่แล่นผ่านไปนั่นรถอะไร?” ผมก็ถือว่า ผมประสบความสำเร็จแล้ว
กับงานชิ้นนี้ และนี่ละ จุดขายหลักของรถพวกนี้

Q: แล้วเหตุผลใดที่ทำให้คุณคิดจะออกจากนิสสัน มาก่อตั้งสำนักออกแบบของคุณเอง

A: เมื่อผมประสบความสำเร็จกับการออกแบบรถยนต์แล้ว ผมคิดว่าอยากจะลองงานออกแบบสินค้าประเภทอื่นๆ ดูบ้าง

Q: คุณคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มจำนวนประชากรรถยนต์ขนาดเล็ก ในประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย
เพราะอย่างที่คุณเองก็ทราบดีว่า คนเอเซียนส่วนใหญ่ยังนิยม ใช้รถยนต์ซีดาน 4 ประตู รถกระบะ และ ออฟโรดพันธ์แปลกๆอยู่

A: เมื่อปีก่อนๆ ผมเพิ่งส่งโครงการออกแบบรถยนต์ขนาดจิ๋ว ภายใต้โครงการระบบขนส่งมวลชนแบบใหม่ BAJAI ให้กับรัฐบาล
อินโดนีเซียมาหมาดๆ และผมคิดว่ารถเล็ก ก็น่า จะดำรงอยู่ในลักษณะคล้ายกับแมลงตัวเล็กๆ หรือไม้ดอกไม้ประดับ 
ที่เกิดมาเพื่อให้ชีวิตของมนุษย์เรา สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

——————————————————————————————————————————————

SPECIAL THANKS TO :
Mr. KOBATA YOSHIRO
KOBATA DESIGN STUDIO
42 Baba-machi,Daishoji,Kaga-shi,Ishukawa 922-0048 JAPAN
www.d1.dion.ne.jp/~kobatads/kds/

ภาพจาก Japanesse Domestic Catalog

นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น

—————————————-

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร THADIRVER ปี 2002

เผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com

30 มีนาคม 2009