เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์ SONY ผู้คนส่วนมากจะนึกถึง เครื่องใช้ไฟฟ้า กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ ธุรกิจของบริษัทนี้ยังรวมไปถึงสื่อบันเทิง ค่ายเพลง และเกมอีกด้วย

แต่จะเป็นอย่างไร หากวันหนึ่ง SONY ตัดสินใจหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขายเอง นี่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้ พวกเขาได้วิจัยและร่วมค้นคว้าเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2014 รวมถึงการวางเครือข่ายการสื่อสารและอุปกรณ์สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการร่วมหุ้นกับบริษัท ZMP เพื่อพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมาหลายปีแล้ว

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2020 ตามเวลาใน Las Vegas สหรัฐอเมริกา ณ งานมหกรรม CES 2020 ทาง CEO ของ Sony คุณ Kenichiro Yoshida ได้เผยโฉมรถต้นแบบคันใหม่ของ Sony ที่มีชื่อว่า VISION-S ซึ่งเป็นรถที่สร้างขึ้นมาเพื่อแสดงแสงยานุภาพทางเทคโนโลยีอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ของ Sony สามารถพัฒนามาให้ใช้กับยานยนต์ในวันนี้ และวันหน้า โดยครอบคลุมทั้งด้าน

  • ความปลอดภัย (SAFETY)
  • ความบันเทิง (ENTERTAINMENT)
  • ความสามารถในการสื่อสารและอำนวยความสะดวก (ADAPTABILITY)

วัตถุประสงค์ในการสร้าง

VISION-S อาจไม่ใช่รถที่ SONY คิดทำออกมาเพื่อวางตลาดในเร็ววัน เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆมาขายให้กับบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งหลายค่ายกำลังเสาะหาเทคโนโลยีที่จะมาใช้กับโปรแกรมขับเคลื่อนอัตโนมัติ องค์ประกอบในการเสริมสร้างความปลอดภัยเชิงป้องกัน และระบบสื่อสาร/ความบันเทิงในรถ ซึ่งลำพังการนำเสนออุปกรณ์แต่ละชิ้นแบบแยกชุด อาจไม่สร้างกระแสความสนใจได้มากพอ

ดังนั้น สิ่งที่ SONY แสดงให้เห็นคือ เมื่อนำสิ่งต่างๆที่ทางบริษัทมีพร้อมจำหน่าย มาประกอบเข้ากันเป็นรถหนึ่งคัน มันจะมีขีดความสามารถมากขนาดไหน ทำให้มันง่ายสำหรับลูกค้าที่จะเห็นภาพการทำงานที่เชื่อมถึงกันระหว่างแต่ละระบบ ซึ่งในภายหน้า นอกจากผลิตส่งให้บริษัทรถยนต์แล้ว ทาง SONY อาจขยายผล ทำตัวเป็นผู้ผลิตต้นทางให้กับซัพพลายเออร์รายใหญ่อีกที หรือแม้กระทั่งจับมือกับบริษัทอื่นๆ เพื่อผลิตรถขายภายใต้แบรนด์เนมของตนเอง

แม้จะไม่ได้กล่าวออกมาโดยตรง แต่วิสัยทัศน์ของ SONY ก็แสดงให้เห็นว่า หลังจากนี้เป็นต้นไป พวกเขามีความต้องการที่จะเป็นผู้ถือครองตลาดผู้ผลิตระบบสนับสนุนการขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ และระบบบันเทิงภายในยานยนต์ ซึ่งต่อให้เป็นรถใช้เครื่องยนต์ทั่วไป หรือรถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องพยายามหาระบบนี้มาติดตั้งในรถตัวเองกันทั้งนั้น

ข้อมูลจำเพาะของ SONY VISION-S

  • ยาว 4,895 มิลลิเมตร กว้าง 1,900 มิลลิเมตร สูง 1,450 มิลลิเมตร
  • ความยาวฐานล้อ 3,000 มิลลิเมร
  • น้ำหนักตัวถัง 2,350 กิโลกรัม
  • ความสูงจากจุดต่ำสุดของรถถึงพื้น 120-135 มิลลิเมตร (ขึ้นอยู่กับการปรับความสูงช่วงล่าง)

โดย VISION-S นั้น มีขนาดตัวถังสั้นกว่า แคบกว่า แต่สูงกว่า Tesla Model S อยู่เล็กน้อย

  • ขุมพลังขับเคลื่อน มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด แยกชุดขับเคลื่อนสำหรับล้อคู่หน้า/หลัง ให้กำลังตัวละ 200kW
  • ขับเคลื่อน 4 ล้อ
  • ช่วงล่างแบบถุงลม ควบคุมด้วยไฟฟ้า เป็นแบบดับเบิลวิชโบนทั้งหน้าและหลัง
  • ยางหน้าขนาด 245/40R21 ยางหลัง 275/35R21
  • สมรรถนะ ตัวเลขเคลม 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง 4.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง

โครงสร้างพื้นฐาน (PLATFORM)

SONY ร่วมมือกับบริษัทวิศวกรรม Magna ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ VISION-S

จุดเด่นของ Platform นี้คือ ฐานล้อที่ยาวมาก สามารถนำไปดัดแปลงเข้ากับตัวถังรถได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็น ซาลูน คูเป้ SUV หรือ MPV ห้องโดยสารได้รับการขยายพื้นที่โดยการสร้างส่วนติดตั้งแบตเตอรี่ให้มีความแบนราบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระบบขับเคลื่อนและซอฟท์แวร์ควบคุมในจุดต่างๆของรถ รองรับการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี 5G รวมถึงการอัปเดตแบบ Over-the-air อีกทั้งยังมีความแข็งแกร่ง ปลอดภัยสูง

จะเห็นได้ว่า นอกจากเทคโนโลยีด้านอุปกรณ์ไฟฟ้า ทาง SONY กับ Magna เองก็มีแผนที่จะร่วมมือกันผลิตโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งค่ายรถอื่นๆสามารถซื้อทั้ง Platform แล้วนำเอาดีไซน์ตัวถังของตัวเองมาครอบ เป็นการประหยัดต้นทุนการวิจัยทางวิศวกรรม และทำให้รถใหม่แต่ละรุ่นใช้เวลาในการพัฒนาน้อยลง สามารถเปลี่ยนรุ่นใหม่ได้เร็วขึ้น และทาง Magna ยังซุ่มพัฒนามอเตอร์ขับเคลื่อนใหม่ ที่มีราคาถูกลงสองเท่า แต่ให้พลังในการขับเคลื่อนมากกว่ามอเตอร์สมัยปัจจุบัน มากสุด 8 เท่า

นอกจาก Magna แล้ว สำหรับ VISION-S นี้ ทาง SONY ยังร่วมมือกับบริษัทอื่นๆในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขับเคลื่อน ช่วงล่าง และระบบไฟฟ้า แม้ไม่มีการระบุว่าใครทำชิ้นไหน แต่เมื่อเอ่ยชื่อว่า Bosch, Continental และ ZF ก็คงพอเดาภาพกันได้

ภายใน ล้ำยุคด้วย IT+ENTERTAINMENT UNIT

SONY มองว่าเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารไปไกลถึงระดับ 5G ผู้คนจะอยากผ่อนคลายแล้วปล่อยให้รถ “บริการ” พาไปส่งยังจุดหมายมากกว่าที่จะขับเอง ดังนั้นห้องโดยสารจะต้องมีบรรยากาศหรูและเป็นสถานที่พักผ่อนชั่วคราวให้กับเจ้าของรถได้อย่างดี เสมือนเป็นห้องรับแขก

ดังนั้นจุดที่ SONY ให้ความสำคัญมากคือระบบ Entertainment ซึ่งจะทำให้ VISION-S เปรียบได้กับห้องฟังเพลงดีๆที่บ้าน มีการใช้วัสดุซับเสียงอย่างหนารอบคันเพื่อกันเสียงรบกวน จากนั้น ก็ให้ดนตรีขับกล่อมด้วยระบบเสียง 360 Reality Audio ซึ่งสามารถจัดมิติความลึกของเสียงได้ตามใจชอบ จะให้เสียงเข้ามาจากทุกทิศทางแบบ 360 องศา หรือจะเลือกแบบ Front Stage ซึ่งจะให้เสียงราวกับมีวงออเครสตร้าทั้งวงบรรเลงอยู่ตรงหน้าก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีการฝังลำโพงไว้ที่เบาะ บริเวณใต้พนักพิงศรีษะโดยผนวกกลมกลืนเป็นส่วนเดียวไปกับเบาะ และสร้างโปรแกรมที่ช่วยให้ผู้โดยสารที่นั่งในแต่ละตำแหน่ง สามารถปรับเสียงดนตรีจนได้คุณภาพและมิติอย่างที่ต้องการ โดยไม่กระทบต่อความรื่นอารมณ์ของผู้โดยสารบนที่นั่งอื่น

การออกแบบภายในแผงแดชบอร์ดนั้น ก็ได้รับแนวคิดมาจากการสร้างห้องดูหนังฟังเพลงสมัยใหม่ ซึ่งคุณสามารถดูหนังเรื่องโปรดที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ จอภาพขนาดใหญ่พาดยาวซ้ายจรดขวา แยกการสั่งงานระหว่างฝั่งคนขับและฝั่งผู้โดยสาร เพื่อให้แต่ละคนสามารถกดเข้าไปดู Content ต่างๆตามที่ตนเองต้องการได้โดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน นอกจากการแตะที่จอแล้ว จะยังมีสวิตช์แบบปุ่มหมุนที่สามารถใช้นิ้วตามถนัด สั่งการฟังก์ชั่นต่างๆได้แม้ผู้โดยสารจะเอนเบาะนอน

นอกจากนี้แล้ว ผู้โดยสารเบาะหลังยังได้จอแยกของตนเอง สำหรับข้างซ้ายและขวา ซึ่งสามารถสั่งการผ่านปุ่มหมุนที่พนักเท้าแขนได้เช่นเดียวกัน

ระบบบริหารจัดการ MEDIA และ แอพพลิเคชั่นต่างๆ ภายในรถนั้น SONY ร่วมพัฒนากับซัพพลายเออร์อีกหลายเจ้า ทั้ง BlackBerry QNX (โปรแกรมต่างๆบนแดชบอร์ด) Qualcomm (ระบบสื่อสาร Wireless) NVIDIA (ระบบเสียง 3 มิติ) เป็นต้น

การเชื่อมต่อที่นำมาใช้ประโยชน์กับยานยนต์

การผนวกสมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรถยนต์นั้น เป็นเรื่องปกติไปแล้วในสมัยนี้ ทาง SONY ก็ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น VISION S-Link มาเพื่อสื่อสารจากคนไปสู่รถ โดยเมื่อใช้งานในประเทศที่รองรับระบบขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ 100% เจ้าของรถจะสามารถใช้สมาร์ทโฟน เรียกให้รถมารับตัวเองตามจุดที่กำหนดได้

การใช้งาน ยังรวมไปถึง เมื่อเจ้าของรถค้นหาสถานที่ต่างๆบนโทรศัพท์เอาไว้ เมื่อขึ้นรถแล้วปิดประตู ข้อมูลของจุดหมายปลายทางจะถูกดึงมาโชว์บนแดชบอร์ดโดยอัตโนมัติ หรือแม้กระทั่งเพลงที่เจ้าของฟังผ่านมือถือค้างเอาไว้ เมื่อเข้ามาในรถ VISION-S ก็จะเล่นเพลงต่อจากจุดเดิมที่ค้างไว้ได้อย่างแม่นยำ

แนวคิดของ SONY ก็คือ ในปัจจุบัน สมาร์ทโฟนกับรถยนต์นั้นสามารถ “คุยกัน” ได้ สิ่งที่ SONY พัฒนาต่อก็คือ เมื่อคุยกันแล้ว ก็ต้องสามารถส่งมอบงานต่างๆให้กันอย่างไร้รอยต่อ โดยที่เจ้าของรถไม่ต้องไปกดปุ่ม Enable ฟังก์ชั่นหรือ Reconnect อะไรให้เสียเวลาอีก

ใน VISION-S ยังมีสมองกลที่สามารถอัปเดตเวอร์ชั่นใหม่ๆได้เอง ทั้งโดยอัตโนมัติ หรือตามคำสั่งของเจ้าของรถ โดยที่ไม่ต้องไปต่อเครื่องมือที่ศูนย์บริการ สมองกลเหล่านี้ ก็คือส่วนที่ทั้งควบคุมความเป็นไปต่างๆของตัวรถ และส่วนของ AI ที่มีลักษณะเหมือนสมองประจำรถที่คอยเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆของคนขับและผู้โดยสาร โดยสร้าง Profile ของคนขับ และผู้โดยสารแต่ละตำแหน่ง จดจำจากทั้งน้ำหนัก ตำแหน่งการนั่ง และใบหน้า

มันสามารถเรียนรู้ได้ถึงขนาดที่ว่า เมื่อผู้โดยสาร A นั่งเบาะหลัง เมื่อใดที่ปรับเอนนอน จะชอบปรับอุณหภูมิแอร์ให้อุ่นขึ้น ในครั้งต่อไป เมื่อผู้โดยสาร A ขึ้นรถ หากมีการปรับเบาะเตรียมจะนอน AI ก็จะสั่งแอร์ให้อุ่นตามเองโดยอัตโนมัติ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึง Profile พื้นๆเช่น ความแข็งของช่วงล่าง ความไวของเบรก/คันเร่ง เพลงที่เลือกฟัง วิธีการปรับโทนเสียงที่ชอบ ทั้งหมดนี้อยู่ในความทรงจำของ AI ซึ่งจะเรียนรู้พฤติกรรมคนในรถและพยายามปรับตามไปจนกว่าตัวมันเองนั่นแหละจะพัง

SONY เชื่อว่าในยุคต่อไป เมื่อรถขับเองได้ ความปลอดภัยจะเพิ่มขึ้นมากกว่าตอนที่ให้คนขับเอง เพราะสมองกลสามารถคิดได้เร็วกว่า และไม่มีคำว่าเหนื่อยล้า ไม่หลับใน พวกเขามองภาพรวมระบบความปลอดภัยต่างๆที่ทำงานประสานกัน เป็นแนวคิดที่เรียกว่า SONY Safety Cocoon (ห่อหุ้มผู้โดยสารไว้ด้วยความปลอดภัย)

โดยรถทั้งคัน จะมีเซนเซอร์ 33 จุด รวมถึง CMOS Sensor ของทาง SONY เอง ติดตั้งเอาไว้ทั้งภายในและภายนอกรถ คอยสอดส่องรอบคันแบบ 360 องศา ซึ่งระบบนี้จะทำงานตลอดแม้ขับรถออกไปแล้ว ซึ่งผลที่ได้จากเซนเซอร์, เรดาร์, เลเซอร์ และกล้อง 12 ตัวรอบคัน จะถูกนำมาประมวลเพื่อสั่งการระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Cruise Control แบบปรับความเร็วตามรถคันหน้าโดยอัตโนมัติ ระบบช่วยจอดรถ ระบบเปลี่ยนเลนแซงเองอัตโนมัติ

ในปัจจุบัน ระบบของ VISION-S มีความสามารถตามเกณฑ์ Autonomous Class อยู่ที่ระดับ Level 2 แต่ SONY ระบุว่า Software ที่คุมระบบ Safety Cocoon เองก็สามารถอัปเดต Over the air เหมือนดาวน์โหลดเวอร์ชั่นใหม่ของแอพพลิเคชั่นในมือถือ และเมื่อระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ Autonomous Level 4 พัฒนาเสร็จสิ้น เจ้าของรถก็สามารถดาวน์โหลดมาลงที่รถเองได้เลย

 

กระจกมองข้างแบบปกติ ถูกแทนที่ด้วยกล้องส่องหลัง ฉายเป็นภาพขึ้นที่มุมคอนโซล ซึ่งสามารถปรับมุมมองเพื่อไฮไลท์ให้เห็นรถที่อยู่ในจุดบอด และส่งสัญญาณภาพและเสียงเตือนได้ก่อนที่คนขับจะรู้ตัว

นอกจากนี้ภาพที่แสดงบนตำแหน่งแทนกระจกมองข้าง หรือกระจกมองหลัง สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามที่ผู้ขับชอบ เช่นกระจกมองหลัง สามารถปรับให้องศาส่องกว้างหรือแคบได้ ปรับความสว่าง ความคมชัด และแน่นอนว่าสามารถปรับลดแสงจากไฟหน้าของรถคันที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งมีประโยชน์ เพราะรถบางคันเจ้าของก็ไม่เคยใส่ใจว่าไฟส่องแยงตาชาวบ้านแค่ไหน

ในขณะเดียวกัน ภายในรถก็มีเซนเซอร์ที่คอยตรวจจับ..ไม่ใช่แค่ผู้ขับ แต่เป็นผู้โดยสารทุกคนบนรถ ซึ่งจะสามารถรู้สภาพความพร้อม ความเหนื่อยล้าของคนในรถได้จากสีหน้า การขยับตัว ซึ่งในกรณีที่ผู้ขับมีแนวโน้มว่าจะหลับใน ก็ส่งสัญญาณเตือนตามที่จำเป็น และอย่างที่เขียนไปก่อนหน้านี้ เซนเซอร์ชุดเดียวกันจะส่งข้อมูลไปยังสมองกลส่วนกลางเพื่อสั่งปรับอุณหภูมิในห้องโดยสาร หรือปรับเพิ่ม/ลดเสียงเพลงได้อีกด้วย

ที่ผ่านมา เราคงคุ้นเคยกับเทคโนโลยี Driver Monitoring System ในรถระดับพรีเมียม แต่ระบบของ SONY นั้น ใช้กับทุกคนที่นั่งบนรถ และนอกจากมีไว้เพื่อช่วยเรื่องความปลอดภัยแล้ว ระบบของ SONY ยังมุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้ความต้องการของคนในรถ เพื่อที่จะได้ปรับองค์ประกอบต่างๆ ให้ผู้คนที่อยู่ในรถรู้สึกสบายที่สุด

และนี่ คือรายละเอียดทั้งหมดของยานยนต์ไฟฟ้า คันแรกจากบริษัทญี่ปุ่นอย่าง SONY ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายคนจะไม่ทราบมาก่อนว่าทางบริษัทฯก็มีความสนใจในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ด้วยเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม SONY ยังไม่มีแผนที่จะประกอบรถรุ่นนี้ ในลักษณะนี้ออกมาขาย เพราะทางผู้บริหารยังเป็นกังวลในเรื่องทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมไปถึงบรรดาคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาดซึ่งไม่มีเจ้าไหนเลยที่ธรรมดา ดังนั้นการเข้าสู่ตลาดรถยนต์แบบด่วนจี๋ จึงไม่น่าจะเป็นผลดีในแง่ความอยู่รอด ต้นทุน และกำไร

เมื่อขายรถแข่งกับเขาไม่ได้…ก็ทำอุปกรณ์ที่มีแนวโน้มขายดี แล้วก็ให้บริษัทรถยนต์มาซื้อไปใช้…นั่น ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการกอบโกยรายได้จากอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งจิตวิญญาณและความเพลิดเพลินจากการขับรถ กำลังจะถูกแทนที่ด้วยความช่วยเหลือทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆนานา ที่จะทำให้เจ้าของรถ ไม่ต้องขับรถ อีกต่อไป

และถ้าแผนการของ SONY สำเร็จ ภายใน 10 ปีนับจากนี้ บริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่ อาจต้อง ซื้อ ติดตั้ง อัปเดต และใช้บริการ จาก SONY และบริษัทพันธมิตร เมื่อนั้น แม้จะไม่ได้ครองโลกด้วยรถยนต์ แต่พวกเขาจะครองยานยนต์ด้วยโลกของเทคโนโลยี

Pan Paitoonpong รายงาน

—-///////—-