หลังเปิดเว็บไซต์มา

ผมพบว่า ชีวิตตัวเอง ดีขึ้น เห็นผลได้จริง ใน 1 สัปดาห์

หน้าใส มากขึ้น

เปล่า! ไม่ต้องพึ่งพาครีม OLAY Total Effect หรือ POND’s Age Refining หรือครีมบ้าบออะไรไม่รู้
ชื่อเรียกยากชะมัด สารพัดดารดาษบนชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ต

แต่ ด้วยการตอบรับ ที่ถือว่า ใช้ได้เลยทีเดียว ทั้งในแง่ของผู้เข้าชม หรือติดต่อเข้ามาเพื่อลงโฆษณา
หรือแม้แต่ เปิดกว้างรอให้เรา ทำเรื่องเข้าไปตกลงในขั้นสุดท้าย

มันเป็นกำลังใจ อันชื่นฉ่ำ เย็นซ่าชุ่มคอ เหมือนอมฮอลล์ กลางน้ำตก แบบในหนังโฆษณา
สำหรับคนตัวเล็กๆ (เอ่อ…อันที่จริงก็ไม่เล็กนักหรอก) อย่างพวกเรา ทุกคนในทีม The Coup

และที่แทบไม่น่าเชื่อเลย นั่นคือ
ความสัมพันธ์ กับ บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง โตโยต้า….ที่ ดีขึ้นตามไปด้วย

 

 

อดีตวันผ่าน ผมรับรู้แต่เพียงว่า บางส่วนของคนในโตโยต้า ก็เคยอ่านงานรีวิวของผมมาบ้าง
ในปี 2006 ครั้งที่เขียนถึง Yaris ใหม่ ผมก็ใช้พื้นที่ใน pantip.com ห้องรัชดา ร่ายมหากาพย์ เป็นบ้าเป็นหลัง
จน มีคนพิมพ์ออกทาง Printer ได้มากถึง 200 หน้ากระดาษ A4 !!!  อู้ววว

บางครั้ง ก็ขบกัด Altis ใหม่ ว่า ดีขึ้นทั้งคัน ยกเว้นพวงมาลัยที่เบาโหวงจนน่ากลัว
หรือแม้แต่ เขียนสรุปถึง Camry กับ Fortuner อย่างตรงไปตรงมาที่สุด

แต่ไม่นึกว่า ทันทีที่กลุ่ม Lexus Group ของ โตโยต้า เปิดตัว RX350 เจเนอเรชันใหม่ล่าสุดออกมา

ผมจะกลายเป็น คนกลุ่มแรกๆในเมืองไทย ที่ได้มีโอกาส ขลุกอยู่กับรถรุ่นนี้ เต็มๆที่ 4 วัน 3 คืน เหมือนเคย

และเพราะได้รับแจ้งมาว่า รถคันนี้ ยังจะต้องถูกนำไปขึ้นจัดแสดง ในพื้นที่บูธของ เล็กซัส
ณ งาน Bangkok International Motor Show ตั้งแต่ 26 มีนาคมนี้ ณ ไบเทค บางนาอีกด้วย
(รอบ VIP 24 มีนาคม รอบสื่อมวลชน 25 มีนาคม)

ก็เลยแอบเกร็งอยู่เหมือนกัน หวง และถนอมรถกันสุดๆ

สัปดาห์ก่อนเว็บเปิด เทียนาใหม่ที่ได้รับมา ก็เป็นรถ Pre-Production แสนหวง มาสัปดาห์นี้ ก็เป็นคิวของ RX350

ตา Commander CHENG! เลยบ่นดังๆ ถึงผมโดยตรง กลางกระทู้ในเว็บบอร์ดของ Healightmag.com เราเองว่า

“รถประคบประหงมผ่านเข้ามาเยอะเหลือเกินช่วงนี้ ขอรถที่มันลองๆนั่งลองๆขับได้หน่อยเถอะพ่อคุณเอ้ย
มาแต่ละคันนี่เห็นหน้าก็รู้เลย คันนี้..แมลงวันห้ามขี้ใส่ จุลินทรีย์ห้ามฉี่แตกบนเบาะ โอ้โฮแค่เอามือจับเปิดประตูก็เครียดแล้ว”

ท่านผู้เกิน เอ้ย ผู้การ CHENG เอ้ยยยย เอามาในสภาพใหม่กิ๊ก เอี่ยมแกะกล่อง น่าประคบประหงมแบบนี้หนะดีแล้ว
ขนาด LS460 L สิ เลขไมล์ปาเข้าไป 5 หมื่นกว่ากิโลเมตรนั่นหนะ เราก็ยังต้องดูแลประคบประหงมกันอย่างดิบดีเลย
นับประสาอะไรกับ รถรุ่นนี้ ซึ่ง ณ วันที่รีวิวขึ้นโพสต์อยู่นี้ มีเพียง ไม่ถึง 5 คันในเมืองไทย และทุกคัน ต้องถูกขนไปจัดแสดง
ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ กันยกล็อตเลยนะท่าน

ก็คงจะต้องทะนุถนอมกันยิ่งกว่าปกติสักหน่อยละ คนอื่นๆ ที่เขาจะได้สัมผัส ต่อจากเรา
เขาจะได้ยังพบคุณสมบัติต่างๆของตัวรถ เต็มที่ในแบบที่มันเป็น

 

 

การที่ โตโยต้า ใจดี ให้ยืม RX350 ใหม่ มาก่อนใครหลายๆคนนั้น
เท่าที่ทราบมา มีด้วยกัน 2 เหตุผล

ข้อแรก พี่กิจ มหาจุนทการ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ ของโตโยต้า บอกกับผมว่า
สถิติ ที่น่าสนใจล่าสุด เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคก็คือ

ตอนนี้ กลุ่มลูกค้าที่จะซื้อรถกระบะ แม้จะยังคงตัดสินใจ เลือกซื้อหารถ
จากการเดินเล่น ในงานแสดงสินค้าต่างๆ ตามต่างจังหวัด ยังมีอยู่เยอะ

แต่ ในกลุ่มลูกค้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคล พฤติกรรมของพวกเขา เริ่มเปลี่ยนไป

จากเดิม ที่จะค้นหาข้อมูลรถยนต์ที่ตนมองหา ในอินเตอร์เน็ต เพียง 17 เปอร์เซนต์ ในปีก่อนๆ
มาปีที่แล้ว ตัวเลข มันพุ่งพรวดขึ้นมาเป็น ระดับ 37 เปอร์เซนต์!

เอาแล้วไง! แสดงว่า ตอนนี้ ผู้บริโภค เริ่มมองหาข้อมูลในเชิงลึก จากโลกไซเบอร์ มากยิ่งขึ้น

 

ข้อดีของ อินเตอร์เน็ต ในมุมมองของผม คงไม่ต่างจากหลายๆท่าน
คือมันเป็นพื้นที่เปิดกว้าง เต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย จากผู้คนหลากหลาย
รวมทั้งลูกค้าผู้ที่เคยซื้อรถรุ่นเดียวกับที่ตนกำลังสนใจไปก่อนหน้า ได้มีโอกาสพบปะ
พูดคุย และแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน การปิดกั้นข้อมูล มีน้อยมาก หรือแทบไม่อาจจะเป็นไปได้

แต่ แน่นอน ข้อเสีย ก็คือ มันอาจจะกลายเป็นพื้นที่ ซึ่งเปิดช่องให้ มีการโจมตี ใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งกันและกันได้
ทั้งจากบริษัทรถยนต์ ที่คิดไม่ซื่อ (ซึ่ง เคยมีคนคิดจะทำอะไรแบบนั้นอยู่จริง และผมถึงกับเบรกพวกเขาไปแล้ว)
และจากลูกค้า หัวเสีย ที่คาดหวังมาก จนเกิดปฏิกิริยา ต่อต้าน และตอบโต้อย่างรุนแรง (อันนี้ผมก็โดนบ่อยจนเบื่อ)

และยิ่งเมื่อ เล็กซัส จะเริ่มหันมาเจาะตลาด โดยใช้อินเตอร์เน็ต เป็นสื่อในการโฆษณา และเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยตรงมากขึ้น
ถึงขนาดเปิดเว็บไซต์ www.lexussociety.com ของตนเองขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นชุมชนออนไลน์ ของผู้ใช้เล็กซัส
โดยเรายังไม่นับรวมกับ การเปิดเว็บไซต์ e-Toyotaclub.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ชุมชนออนไลน์ รองรับกลุ่มลูกค้าของโตโยต้า
ที่เปิดมานาน 2 ปีแล้วเห็นจะได้ ไปจนถึงเว็บ www.yarisme.com อันเป็นเว็บไซต์ สำหรับ ลูกค้ากลุ่ม ของรถรุ่น ยาริส

ก็ยิ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่าง ที่ยืนยันให้เห็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ อย่างชัดเจนว่า
ต่อไปนี้บริษัทรถยนต์”แทบทุกค่าย” จะใช้เงินโฆษณา กับสื่อแบบเดิมๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และ สื่อสิ่งพิมพ์ ลดน้อยลง
โดยจะยังคงรักษาสัมพันธ์กับสื่อแบบเดิมไว้ แต่จะหันมาใช้เงินกับ เว็บไซต์ทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น
เพราะ ราคาถูก แต่ยิงตรงถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีกว่า และทั่วถึงกว่า

และ แน่นอน พวกเขาคาดหวังจะเห็น รีวิว ของ RX350 ใหม่ อยู่ในอินเตอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว ตามหลังรถเปิดตัวได้ไม่นานนัก

 

 

ข้อสอง ทางโตโยต้าเอง ก็ยินดี  ที่ วันนี้ เราเปิดเว็บไซต์เป็นของตัวเองกันซะที
และต่อจากนี้ กำแพงใดๆที่เคยกั้นขวาง ก็จะหายไป สิ่งใดที่เคยดีกันมา ก็จะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป

แต่…คุณผู้อ่านที่อาจจะคิดว่า เงินจะซื้อเราได้หรือเปล่า? ไม่ต้องกลัวครับ

กฎเหล็ก ก็ย่อมต้องเป็นกฎเหล็ก รถดีตรงไหน ด้อยตรงไหน ก็ต้องเขียนอย่างตรงไปตรงมา
ไม่กั๊ก ไม่ขยัก แต่ เขียนอย่างเข้าใจ ไมได้ฆ่าใคร แต่เพื่อให้เป็นประโยชน์ ทั้งกับผู้บริโภค และตัวบริษัทรถเองนั่นละ

ถ้ายังไม่เชื่อ ก็ยังไม่ต้องเชื่อครับ ผมไม่ว่าอะไรคุณทั้งสิ้น
แต่…ขอให้งานชิ้นต่อๆไปของเรา รวมทั้งงานชิ้นนี้ เป็นตัวพิสูจน์ให้คุณเห็นด้วยตัวของมันเองเถอะครับ

 

 

แม้จะรู้อยู่เต็มอก ว่า ใจจริง โตโยต้า ก็ไม่ค่อยอยากให้มีชื่อ ของตนปรากฎอยู่ในบทความรีวิวของเล็กซัส แต่ละรุ่นนักหรอก
เพราะในมุมมองของเขา มันจะเป็นการ เชื่อมพ่วงโยงความสัมพันธ์ กับภาพลักษณ์ของแบรนด์โตโยต้า
ซึ่งเป็นแบรนด์สำหรับทุกๆคนมากเกินไป

แต่…ผมมี 2 เหตุผลที่ยังคงจะต้องเขียนถึงชื่อของโตโยต้า ในรีวิวของเล็กซัส ทุกๆรุ่น ทั้งที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไป

1. มันยากเกินจะหลีกเลี่ยง ถ้าเราจะต้องเขียนถึงแบรนด์เล็กซัส เพียงอย่างเดียว
โดย ไม่มีชื่อบริษัทแม่ อย่างโตโยต้า เข้ามาเอี่ยวในบทความนั้นเลย เพราะอย่างที่คุณทราบดีว่า โตโยต้า เป็นเจ้าของและผู้ให้กำเนิดแบรนด์นี้
แนวคิดเริ่มต้น ในปี 1983 และถือกำเนิดเปิดตัวสู่สาธารณชนในปี 1989 ถูกสานต่อ จนขยายตัวกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ชั้นนำระดับโลก
ที่ประสบความสำเร็จในการเปิดตัวช่วงแรกๆ หักปากกาเซียน ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาไปโดยปริยาย

2. ผมเชื่อว่า ผู้บริโภค ในทุกวันนี้ รับรู้กันอยู่แล้ว ว่า เล็กซัส คือ แบรนด์ระดับหรูของโตโยต้า ซึ่งที่ผ่านมา โตโยต้า
ก็พยายามจะสร้างความแตกต่างของมัน ให้เกิดขึ้นในใจของผู้บริโภคอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องการวิจัยและพัฒนา
ที่เห็นด้ชัดว่า เล็กซัส แต่ละรุ่น เมื่อคลอดออกมา ทั้งคุณภาพการผลิต การเลือกใช้วัสดุ การใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อย
คุณจะสัมผัสได้เลยว่า มันเป็นรถที่ให้ความรู้สึกว่า “ตั้งใจทำ” มากกว่าโตโยต้ารุ่นทั่วๆไป

ดังนั้น ผมคิดว่า เราควรปล่อยให้ภาระหน้าที่นั้น เป็นของทุกๆคนในทีมเล็กซัส ตั้งแต่ทีมวิศวกร ฝ่ายการตลาด
ไปจนถึงเอเจนซี โฆษณา ได้แสดงฝีมือของพวกเขา แล้วเราคอยนั่งชมกันตรงนี้ น่าจะดีกว่า

 

แล้ว RX ละ ต้นกำเนิดมันมาจากไหน อย่างไรกัน?

ย้อนกลับไปยัง ข้อ 1 แนวคิดในการพัฒนาแบรนด์ เล็กซัส ให้มีศักยภาพ ต่อยอดได้หลากหลายช่องทาง
หลังการเปิดตัวที่ประสบความสำเร็จนั้น มีความจำเป็น ต่อการอยู่รอดระยะยาว
ในเมื่อ ตลาด SUV ในสหรัฐอเมริกา ช่วงทศวรรษ 1990 กำลังขยายตัว
แต่ลูกค้าไม่ได้ต้องการ SUV แบบ ลุยเต็มที่ เช่นก่อนหน้านั้น หากแต่อยากได้ SUV บนพื้นฐานของรถเก๋ง
เพื่อการขับขี่ใช้งานในเมืองเป็นหลัก และต้องดูหรู ภูมิฐาน บ่งบอกเอกลักษณ์ของผู้เป็นเจ้าของ

ดังนั้น การพัฒนารถยนต์ SUV เพื่อทำตลาดผ่านแบรนด์เล็กซัส จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นขึ้นมา
และนั่นทำให้ โตโยต้า ตัดสินใจสร้าง SUV รุ่นนี้ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว
บนพื้นตัวถังและงานวิศวกรรมต่างๆ ที่ดัดแปลงขึ้นจากพื้นฐานของ ซีดานครอบครัวรุ่น แคมรี

แต่ในเมื่อ ขณะนั้น โตโยต้า ยังไม่คิดจะเอาแบรนด์ เล็กซัสกลับไปเปิดตลาดในแดนปลาดิบ บ้านตนเอง
ดังนั้น จึงต้องคิดชื่อรุ่นไว้สำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่นด้วย และชื่อที่พวกเขาเลือกก็คือ Harrier นั่นเอง

แฮร์ริเออร์ เผยโฉมครั้งแรกในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์เมื่อตุลาคม 1997 และเริ่มส่งถึงมือลูกค้าเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
พร้อมกับส่งออกไปสร้างความฮือฮา ในตลาดอเมริกาเหนือ ด้วยชื่อ เล็กซัส RX-300 ขณะที่ชาวยุโรป ต้องคอยกันจนถึง
ปี 2002 จึงจะมีโอกาสสัมผัส ผิดกับเศรษฐีเมืองไทยที่ได้เป็นเจ้าของเอสยูวีรุ่นนี้อย่างฉับไว หลังการเปิดตัวไม่เท่าไหร่
ผ่านทางผู้นำเข้ารายย่อย…หลายๆราย จนจำไม่หวาดไม่ไหว แต่ที่แน่ๆ หนึ่งในนั้นก็คือ S.E.C Group ที่ต้องปิดฉากลงไป
ช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ด้วยเหตุแพ้ภัยตัวเอง จากการฉ้อโกง โดยเจ้าของบริษัทตนเองจนครึกโครมไปทั่ว
ชนิดขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หัวสี นั่นละ

(เดาเล่นๆ แบบไม่คิดอะไรมากว่า คนของเล็กซัส กรุ๊ปคงโล่งใจ หมดเสี้ยนหนามไปแล้วหนึ่ง..แถมตัวใหญ่เป้งเสียด้วย)

RX และ แฮร์ริเออร์ ขายดีมากในบ้านเรา จนวันหนึ่ง โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เริ่มรู้สึกตัวแล้วว่า พวกเขาควรสัี่ง เอสยูวีรุ่นนี้
เข้ามาทำตลาดเองได้แล้วเสียที จึงตัดสินใจสั่งนำเข้าสเป็กส่งออกของแฮร์ริเออร์ ที่ใช้ฃื่อว่า เล็กซัส RX มาเปิดตัวในเมืองไทย
อย่างเป็นทางการครั้งแรก พร้อมกับรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ของซีดานหรูระดับผู้บริหาร LS430 รุ่นเดิม เมื่อช่วงปลายปี 2004
หลังจากนั้น จึงค่อยๆทำตลาดมาเรื่อยๆ ด้วยค่าตัว 3.4 ล้านบาทเศษๆ เท่ากับราคาของ ซีดานรุ่นขับล้อหน้า ES300
จากพื้นฐานของแคมรีเหมือนกัน ก่อนจะปิดท้ายด้วยการนำ RX400h Hybrid SUV คันแรกของโลก ที่ทำตลาดจริง
เข้ามาขายด้วยราคาสูงถึง 6.2 ล้านบาท เมื่องาน บางกอก มอเตอร์โชว์ มีนาคม ปี 2007

 

 

ตลอดอายุตลาดที่ผ่านมา ทั้งรุ่นแรก และรุ่นที่ 2 ซึ่งเปิดตัวเมื่อ เดือนมกราคม 2003 ในงานดีทรอยต์ออโตโชว์
RX กลายเป็น Premium SUV ที่ขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีลูกค้าซื้อไปขับในระดับ 1 แสนคัน ต่อ ปี ถือว่าสูงไม่ใช่เล่นเลย

และเมื่อรวมยอดจำหน่าย ของทั้ง 2 เจเนอเรชัน แล้ว เชื่อหรือไม่ว่า ตัวเลขยอดขายสะสม มันมากถึงเกินกว่า 1 ล้านคันเข้าไปแล้ว

โว้ววววว แม่เจ้าาาา!

แต่แล้ว ด้วยความสำเร็จของเล็กซัสในตลาดโลก กอปรกับ อยากจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ โตโยต้า ระดับหรูหลายๆรุ่น
ให้กลายมาเป็นเล็กซัส เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำตลาด รวมทั้งลดปัญหาต่างๆอีกมากมาย โตโยต้าจึงยอมทุ่มทุนเสี่ยง
นำ แบรนด์เล็กซัส มาเปิดตลาดบ้านตนเอง ตั้งแต่ 26 กรกฎาคม 2005 หรือเมื่อ ราว 3-4 ปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ชื่อของ Harrier จะยังคงปรากฎให้เห็นในการทำตลาดรถรุ่นเดิม เฉพาะในญี่ปุ่น ต่อไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เท่านั้น
เพราะ รถรุ่นเดิม จะถูกปลดจากสายการผลิต ในเวลานั้น เป็นอันปิดตำนาน 12 ปี ที่โตโยต้า ใช้ชื่อนี้ในตลาดรถของญี่ปุ่น ตามความจำเป็น

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ถ้าคุณยังจำ Toyota Harrier ไม่ได้อีกละก็ ควรจะรีบไปหาน้องโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ แล้วขอ แบรนด์ จากน้องเค้ามาสักหีบ กรอกดื่มเข้าไปได้เลย

เพราะ  RX ก็ คือ Harrier นั่นเองละครับ เพียง แต่ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรุ่นใหม่ล่าสุด เจเนอเรชัน 3  ซึ่งเพิ่งเปิดตัวสู่สาธารณชนครั้งแรก ในงาน L.A.Auto Show

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี่เอง

จากนั้น เริ่มทำตลาดในประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 19 มกราคม 2009 ที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ

และประเทศไทย คือประเทศที่ 3 ในโลก ที่จะได้สัมผัสรถรุ่นนี้ก่อนชนชาติอื่นๆ เปิดตัวตามหลังญี่ปุ่น ไม่เกิน 1 เดือน คือเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โอ้ว คนไทยได้รับเกียรติเช่นนี้ อีกแล้วหรือนี่ ควรจะดีใจกันไหมหนอ

 

TAKAYUKI KATSUDA ผู้ซึ่งเคยผ่านการทำงาน ในโครงการพัฒนา ซีดานขนาดกลาง Toyota Avensis และ คอมแพกต์ มินิแวน Toyota Corolla VERSO
สำหรับตลาดยุโรปทั้ง 2 รุ่น มารับหน้าที่เป็น CHIEF ENGINEER หรือหัวหน้าวิศวกรสำหรับโครงการพัฒนา RX ใหม่ อันเป็นความรับผิดชอบของศูนย์พัฒนา เล็กซัส โดยตรง

คัทซึดะซัง กล่าวว่า “แรงบันดาลใจในการพัฒนา RX ใหม่ คือ Yet Philosophy อันเป็นการ รวมสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเป็นไปได้ มารวมไว้ด้วยกัน”

เขาหมายถึงการนำแนวทางการออกแบบ L-Finesse (มาจาก ความก้าวหน้าล้ำสมัย หรือ Leading-edge ผนวกกับ ความคล่องตัว Finesse)

มาผสานกับสารพัดความไม่น่าเป็นไปได้ มารวมไว้ด้วยกัน ทั้งด้านการพัฒนารถเพื่อสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงด้านสมรรถนะ และความสะดวกสบายในการขับขี่

และแน่นอน มันต้องหรู พอจะสู้กับคู่แข่งจากค่ายยุโรปได้ด้วย จน ทีมการตลาดของ เล็กซัส  ในสหรัฐอเมริกากล้าใช้สโลแกน ที่ว่า

…Introducing the ReInvention of the vehicle that invented it all…

ก็ แน่ละ เขาบอกว่า เขาเป็นผู้ผลิตรายแรกที่ พัฒนา SUV ระดับหรูออกมา และกลายเป็นแม่แบบให้ชาวบ้านชาวช่องแข่งขันกันสร้างรถประเภทนี้ออกมากันนั่น เอง

เอางั้นเลยนะ? จะต้องเขียนให้มันวกไปวนมาเล่นคำไปเยอะแยะฟุ่มเฟือยทำไมละเนี่ย?

พูดก็พูดเถอะ ดีไซน์ของ RX ใหม่ แม้จะยังคงยึดแนวเส้นสายจาก Harrier /RX300 รุ่นแรก ต่อเนื่องมาจากถึงทุกวันนี้
ทว่า พอเปลี่ยนมาเป็นเจเนอเรชันใหม่ รถกลับดูมีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น ทั้งที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่ฝ่ายการตลาดวางเอาไว้คือ

ชาย หรือหญิงก็ตาม ทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้มีอาชีพเฉพาะทาง หรือเจ้าของกิจการ อายุ 35ปี ขึ้นไป มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่กระตือรือล้น

ชอบกิจกรรม Outdoor แสวงหาการผจญภัย และใช้เวลาทั้งหมดที่ว่ามานั่นละ อยู่กับครอบครัว

แถมยังขนาดตัวถัง ใหญ่โตขึ้น ระดับ โรงรถบ้านบึ้ม!

มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะในรถรุ่นที่แล้ว ผมไม่เห็นจะพบความยากลำบาก ในการถอยหลังเข้าจอดในโรงรถเล็กๆที่บ้านผมเลย
แต่ ใน RX350 ใหม่ ผมต้องกะเก็ง เล็งแล้วเล็งอีก ถอยเข้าถอยออกอยู่ 4 รอบ! ยากลำบากกว่ารุ่นที่แล้วเอาเรื่อง

พอมาดูขนาดตัวถัง ก็พอจะรู้แล้วละว่าทำไม

ตัวรถมีความยาว 4,770 มิลลิเมตร กว้าง 1,885 มิลลิเมตร สูง 1,690 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร
เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม ที่มีความยาว 4,735 มิลลิเมตร กว้าง 1,845 มิลลิเมตร สูง 1,690 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,715 มิลลิเมตร แล้ว

ขนาดตัวรถ ไม่ได้ใหญ่โตเพิ่มขึ้นเท่าใดนัก ยกเว้นความกว้าง ที่ไม่รู้จะกว้างเอาใจคนอเมริกันไปอีกแค่ไหน
แต่จะไปว่ากระทบอย่างนี้ก็ไม่ได้อีก เพราะ ตลาดใหญ่ที่สุดของ RX350 คือ เขตอเมริกาเหนือ

ไม่ต้องอื่นไกล แค่ความกว้างตัวถัง ก็ กว้างเกินกว่า พี่ใหญ่ LS 460 L ที่ผมเคยนำมาทดลองขับซะแล้ว!!
ขอย้ำ LS มีความกว้างตัวถัง 1,875 มิลลิเมตร แต่ RX ใหม่ กว้างกว่าอีก 10 มิลลิเมตร เป็น 1,885 มิลลิเมตร!

และนั่นทำให้ ตำแหน่งทางการตลาดของ RX ใหม่ถูกยกระดับขึ้นจากเดิมเล็กน้อย

 

 

คู่แข่งที่ของ RX รุ่นเดิมนั้นอย่างที่ทราบกันดีว่า มีทั้ง Mercedes-Benz M-Class, Nissan Murano, Mazda CX-7, BMW X3, Acura MDX,
แต่ มาวันนี้ ด้วยขนาดตัวถังที่กว้างขึ้น และ ราคาขายปลีกต่อคันที่แพงขึ้น ในทุกประเทศที่เริ่มทำตลาด ทำให้ สถานภาพของ RX
เริ่มถูกขยับขยาย ยกระดับขึ้นไปทารัศมีกับ BMW X5, Volkswagen Touareg ไม่เว้นแม้แต่ รุ่นล่างสุดของ Porsche Cayenne รวมทั้งคู่แข่งหน้าใหม่ Audi Q5

อย่าง ไรก็ตาม มีผู้คนจำนวนมากรู้สึกแปลกๆกับเส้นสายของ RX ใหม่ และ คำตอบที่ผมว่า ผมอาจจะพบเจอเข้า น่าจะเป็นเพราะ
ขนาดของซุ้มล้อคู่หน้า เมื่อมองจากรูปแล้ว ถ้าทำให้มันโค้งมันกว่านี้ ได้อีก น่าจะช่วยแก้ความรู้สึกของลูกค้าไปได้อีกนิดหน่อย

 

 

ด้วยราคาที่แพงขึ้น ทำให้ โตโยต้า ต้องเอาใจใส่กับ เล็กซัส RX ใหม่ มากขึ้นในทุกจุด อีกทั้งยังเสริมความประณีต ด้วยการเลือกใช้หนังแท้ คุณภาพดี
เป็นหนังชนิดเดียวกันกับที่พบได้ใน เบาะนั่งของ Lexus LS460 คันละ 11 ล้านบาทเศษ การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ในการตรวจวัด
ค่า ระยะห่างระหว่างชิ้นส่วนตัวถัง (Tolerance)  ที่โรงงานในญี่ปุ่น เป็นพิเศษ การออกแบบที่ลู่ลมและเน้นหลักอากาศพลศาสตร์ ไม่เว้นแม้การเก็บซ่อนใบปัดน้ำฝนหลัง
เอาไว้ใต้ชุดสปอยเลอร์ด้านหลัง รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพอย่างดี ทั้งจากช่างฝีมือระดับสูง อย่างกลุ่ม Takumi…..

เอ่อ…ชื่อนี้ ได้ยินทีไร ผมจะนึกถึง 2 อย่างควบตามมาทันที

1. หนุ่มน้อย จอมเอ๋อ ผู้ที่ช่วยพ่อส่งเต้าหู้ขึ้น-ลงภูเขา Akina ด้วย Toyota Sprinter Trueno AE86 (Hachi-Roku)…จากการ์ตูน Initial-D
2. ซอสปรุงอาหาร ขวดสีม่วงๆ หน้าตาเหมือน พ่อครัวญี่ปุ่นจอมติงต๊อง

 

 

การเปิดประตูเข้าออกจากรถ ยังคงใช้ การ์ด รีโมทคอนโทรล Keyless entry
และติดเครื่องยนต์ด้วยสวิชต์กดปุ่ม สหกรณ์ แบบเดียวกับ เล็กซัส และโตโยต้ารุ่นอื่นๆ

ทันทีที่ขึ้นเข้าไปนั่งในห้องโดยสาร ออกจะอึ้งไปเล็กน้อยว่า เฮ้ย ความเป็นโตโยต้า ที่เราคุ้นเคย มันหายไปไหนหมด!

อารมณ์ยังไม่คุ้นชินกับ แนวทางการออกแบบของรถรุ่นใหม่ว่างั้นเถอะ

การก้าวขึ้นไปนั่งรถ ยังคงเหมือนกับรถรุ่นที่แล้ว คือ สามารถหันก้นไปวางแหมะบนเบาะ แล้วสะบัดขาเข้าไปได้
แต่ต้องเขยิบบั้นท้ายอีกนิด อีกครั้ง ให้พอดีกับตำแหน่งเบาะที่แผงประตูด้านข้าง มีช่องเก็บของคล้ายกับ BMW คือ ดึงให้เอียงออกมาหรือพับเก็บกลับไปอยู่ที่เดิมก็ได้

 

 

เบาะนั่งคู่หน้า ปรับด้วยไฟฟ้า พร้อมสวิชต์ ระบบดันแผ่นหลังของผู้โดยสารทั้งสองฝั่ง แต่ในฝั่งคนขับ
มีหน่วยความจำตำแหน่งนั่งขับที่ปรับเซ็ตไว้ 3 ตำแหน่ง ชุดฐานเบาะและสวิชต์ไฟฟ้า ต่างๆ
ใช้ร่วมกับรถรุ่นเดิมได้ แต่พนักพิงเบาะคู่หน้า ถูกออกแบบใหม่ ช่วยลดความเมื่อยล้า ในยามเดินทางไกล

 

 

การเดินทางไกลบนเบาะนั่งของ RX350 ใหม่ ไม่ปวดหลัง ไม่เมื่อยล้า แต่อาจจะต้องปรับอิริยาบถบ้าง เพราะนั่งนานๆแล้วมันอาจจะชินไปสักหน่อย
คือ ยังไม่ถึงกับรู้สึกสบายเต็ม 10 แต่ ไม่ก่อปัญหากับคนปวดหลังแน่ๆ ละ ตำแหน่งนั่งขับ รวมทั้งตำแหน่งที่วางแขนทั้ง 2 ฝั่ง ถูกวางไว้อย่างเหมาะสม
เบาะรองนั่งด้านหลัง แม้จะยังสั้นไปนิด แต่ก็ถือได้ว่าสบายกว่า รุ่นที่แล้วนิดนึง ไม่มากนัก

ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า ใต้ชุดแผงควบคุมและคอนโซลกลางลงมา มีช่องว่างสำหรับวางของอีกเล็กน้อย อันที่จริง ช่องวางของนี้
มีมาตั้งแต่รถรุ่นก่อน เพียงแต่ยังทำออกมาได้ไม่สวยงาม และคล้ายกับ Volvo เช่นที่รถรุ่นปัจจุบันเป็น

การจัดแบ่งสรรพื้นที่ของคอนโซลกลาง ออกมาในลักษณะนี้ ช่วยให้ ผู้ขับขี่นั่งในตำแหน่งคนขับได้อย่างสบายตัว คันเกียร์ก็อยู่ใกล้มือ
การวางแขน บนที่วางแขนทั้งแผงประตู และคอนโซลกลาง ก็กำลังสบายพอดีๆ คล้ายๆกับตำแหน่งนั่งขับของทั้ง LS460 และ แคมรี

 

 

จุดที่ขอชมเชยกันคือ การออกแบบ ประตูคู่หลัง  การเก็บรายละเอียดแม้เพียงเล็กๆน้อย ทำให้รถดูน่าใช้ยิ่งขึ้น
บานประตูทั้ง 4 บาน มีชายด้านล่าง คลุมทับจนแทบจะถึงชายล่างของตัวถังอยู่แล้ว  แต่ในส่วนของบานประตูคู่หลัง
มีการออกแบบให้เว้ารองรับส่วนของซุ้มล้อตามเข้าไปด้วย

 

 

เบาะนั่งแถว 2 นั้น ถึงจะนั่งสบายขึ้นกว่ารุ่นเดิม พนักพิง นั่งสบาย แต่เบาะรองนั่งยังคงสั้นอยู่ และน่าจะยาวได้กว่านี้อีกสักนิด
อีกทั้ง มุมเงยของเบาะรองนั่ง ยังควรจะเพิ่มได้อีกสักหน่อย  มี ที่วางแขน พร้อมที่วางแก้วน้ำแบบมีฝาลายไม้ปิด
รวมทั้งมีกล่องเก็บของพร้อมฝาปิด พื้นที่เหนือศีรษะ ทั้งเบาะหน้าและหลังนั้น โปร่ง และไม่ชวนให้อึดอัดแต่อย่างใด

 

 

เบาะหลังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังให้ใหญ่โตขึ้น ด้วยการยกคันโยกที่คุณเห็นนั่นละ ดึงขึ้นให้พนักเบาะพับลงมาอย่างที่เห็น

 

 

ประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ยังคงเปิดได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า จากทั้ง ฝั่งขวาของแผงหน้าปัด
แต่ถ้าใช้งานเสร็จแล้วจะปิด ไม่ต้องใช้มือโน้ม ให้เมื่อยตุ้ม เพียงแค่กดสวิชต์ไฟฟ้าด้านบน เหมือนรถรุ่นเดิม
แต่มีการปรับย้ายสวิชต์ จากฝั่งซ้าย มาอยู่ฝั่งขวา

พอกดปุ๊บ ประตูจะเลื่อนปิดลงมาเอง ระหว่างนั้น ถ้ามีสิ่งกีดขวาง หรือว่า เกิดนึกขึ้นได้ว่าลืมของ
พุ่งตัวเขาไปหยิบของ ฝาประตูหลัง แตะถูกเนื้อต้องตัวขึ้นเมื่อไหร่ มันจะดีดกลับขึ้นไปโดยอัตโนมัติ เพื่อความปลอดภัย
ไม่ต้องรอให้ประตูกดลงมาบนร่างกายเรามากนัก มันก็ดีดกลับขึ้นไปแล้ว

 

 

มีเรื่องน่าแปลกใจเล็กน้อยคือ หากสังเกตดีๆจะพบว่า พื้นห้องเก็บของ ด้านหลัง เอสยูวี ทั่วๆไป
จะพยายามออกแบบให้เป็นพื้นราบ เพื่อเน้นประโยชน์ใช้สอยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

 

แต่ใน RX350 ใหม่ มาแปลก บางอะไหล่ ถูกวางในตำแหน่งสูงขึ้น และนั่นทำให้ต้อง ทำพื้นที่โดยรอบยางอะไหล่
ให้เป็นช่องวางของอเนกประสงค์ ทำจากโฟมรีไซเคิล แถมยังนูนขึ้นมาจากพื้นห้องเก็บของด้านข้างอีกเล็กน้อย
ส่วนที่นูนขึ้นมา ก็ทำเป็นฝาปิดครอบทับเสียดื้อๆแบบนี้เลย

มีม่านบังสัมภาระ ทั้ง แบบ ปิดคลุมทั้งหมด หมือนเอสยูวี ชั้นดี และม่านแบบผ้า คล้ายกับใน ยาริส

 

 

การออกแบบแผงหน้าปัดนั้น เขาแบ่งออกเป็น 2 Zone
คือ ครึ่งบน เป็น โซน มุมมอง
และครึ่งล่าง คือ โซนควบคุม

ในช่วงแรกที่ภาพถ่าย ของรถรุ่นใหม่ถูกเผยแพร่

ผมไม่เข้าใจอย่างมากว่า ทำไม จะต้องออกแบบแผงควบคุมให้เป็นรูปตัว D แบบนี้ด้วย มันไม่สวยเอาเสียเลย

แต่ การได้ทดลองขับรถคันนี้อยู่ 4 วัน 3 คืน
ทำให้ผมได้พบคำตอบที่ว่า ทำไม ทีมออกแบบ ถึงต้องสร้างสรรค์
แผงควบคุมกลาง ให้มีหน้าตา เป็นรูปตัว D กลับหัว เช่นนี้?

รูปนี้จะอธิบายได้ดีที่สุด…

 

 

ลองดูสิครับ ถ้าคุณกำลังขับรถอยู่  สายตาคุณจะต้องจับจ้องความเคลื่อนไหวของรถคันข้างหน้า อย่างไม่อาจคลาดสายตา
ขับไปสักพัก รู้สึกว่า แอร์มันเย็นไปหน่อย อยากจะปรับอุณหภูมิฝั่งคนขับ ให้สูงขึ้นกว่านี้อีกนิด จะทำอย่างไร?

คนส่วนใหญ่ เลือกจะเหลือบมองให้น้อยที่สุด แล้วคลำแผงควบคุม แทน

ดังนั้น เส้นขอบด้านล่าง ที่โค้งตัดออกมาเป็นอย่างนั้น มันช่วยได้เยอะเลย เวลาที่ด้านล่าง ฝั่งซ้าย ของสายตาคุณ
จะแอบแว่บไปเห็น นิดๆ เส้นที่ว่านี้ มันจะตัดแบ่งชัดเจนเลยว่า ตำแหน่งสวิชต์ต่างๆ มันอยู่แค่ตรงนั้นละ มันไม่มีสวิชต์อื่นใด
ที่อยู่ต่ำลงไปกว่า เส้นโค้งตัดนี้แล้ว ซึ่งผิดไปจากรถรุ่นเดิม ที่ประโคมติดตั้งสวิชต์อะไรก็ไม่รู้เต็มแผงควบคุมไปหมด

 

 

การเปิดประตูเข้าออกจากรถ ยังคงใช้ การ์ด รีโมทคอนโทรล Keyless entry
และติดเครื่องยนต์ด้วยชุดสวิชต์กดปุ่ม สหกรณ์ แบบเดียวกับ เล็กซัส และโตโยต้ารุ่นอื่นๆ

พวงมาลัย แบบ Multi Function เป็นพวงมาลัยแบบใหม่ ที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรก กับ RX350

และจะพบได้อีกครั้งใน HS250h ซีดานไฮบริดล้วนจากเล็กซัส บนพื้นฐานของ แคมรี ไฮบริด ในอีกราวๆครึ่งปีข้างหน้า มีสวิชต์ควบคุม 2 ฝั่ง

ฝั่งขวา นั้น ถ้าคุณจะสั่งเปิด-ปิด ระบบเซ็นเซอร์กะระยะช่วยจอด (Parking Sensor) ระบบ โปรแกรมเกียร์ ECT
และ ระบบไฟหน้า แบบ BI-HID พร้อมระบบปรับมุมองศาจานฉายตามการเลี้ยวของพวงมาลัย AFS
(Adaptive Front Lightning System) ให้กดที่ปุ่ม สี่เหลี่ยม ข้างๆ ปุ่ม Enter นั่นละครับ จากนั้น
ย้ายมาเลือกโปรแกรมต่างๆ โดยขยับนิ้วขึ้นลง เลือกได้ดังใจ แล้วกด Enter ลงไป

 

 

การแสดงผล จะปรากฎที่หน้าจอแสดงข้อมูล Multi Information Display ตรงกลาง
ด้านบนสุดของ บนชุดมาตรวัดแบบ OLED (Organic Light Emitting Diode)

 

จอที่ว่านี้ จะแสดงข้อมูลได้หลากหลายมาก ตั้งแต่อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย อัตราสิ้นเปลืองหลังการเติมน้ำมันครั้งล่าสุด
อัตราสิ้นเปลืองแบบ Real-Time ขึ้นเป็นแถบวัดเรืองแสงมาให้ แบบเดียวกับ Honda City หรือ Jazz และ CR-V แต่ดู ไฮโซกว่าเยอะ
มีแม้แต่ แถบ ECO ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า คุณใช้อัตราเร่ง ในช่วงระหว่างการใช้เชื้อเพลิงอย่างเหมาะสม หรือไม่
ถ้าใช่ นอกจากแถบเรืองแสง จะแสดงขึ้นในโหมดของมันแล้ว ยังมี ไฟ ECO สีเขียวๆติดสว่างขึ้นมาบนชุดมาตรวัดอีกด้วย

ส่วนสวิชต์ฝั่งซ้าย เอาไว้ควบคุมการทำงานของชุดเครื่องเสียง

งานนี้ ไม่ถึงกับต้องพึ่งพา Mark Levinson เหมือนที่เคยร่วมงานกันมาในเล็กซัสรุ่นอื่นๆ
คุณภาพเสียงที่มีมาให้ ก็ถือได้ว่าดีใกล้เคียงกัน จะมีบ้างก็ในบางแผ่น CD / MP3
ที่มีเสียงเบสหนักมากไป จนเสียงแหลมหายไปไหนไม่รู้

ระบบปรับอากาศ เป็นแบบ แยกฝั่ง ซ้ายขวา อัตโนมัติ เย็นเร็วทันใจสไตล์ DENSO
มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลังมาให้ ที่ด้านหลังของ กล่องเก็บของ คอนโซลกลาง

เสียดายอย่างหนึ่งว่า ไม่มีระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System มาให้
โตโยต้าอ้างว่ายังติดขัดปัญหาของ ทั้งตัวเครื่อง ฮาร์ดแวร์ และ ตัวซอฟต์แวร์แผนที่

เลยติดตั้งจอ Multi Information สีขาว ชนิด Electro Luminescence

แสดงสถานะการทำงานของระบบเครื่องปรับอากาศ และชุดเครื่องเสียงแทน จอมอนิเตอร์ ที่ควรจะมี

และนั่นคือสาเหตุว่า ทำไม เราถึงไม่เห็น Mouse แบบใช้นิ้วเลื่อนคลิ๊ก บนคอนโซลกลาง ใกล้มือคนขับ
อย่างที่เวอร์ชันญี่ปุ่นหรืออเมริกาเหนือเขามี แต่กลับพบ ช่องวางของเล็กๆ บนพื้นที่เดียวกันตรงจุดนั้นแทน

-_-‘

 

 

ที่น่าอัศจรรย์ใจมากไปกว่านั้นคือ กล่องเก็บของ คอนโซลกลาง
ผมอาจจะเคยเห็นกล่องคอนโซลกลางขนาดใหญ่ในรถ เอสยูวี มานักต่อนัก
แผมไม่เคยเห็นใคร บ้าทำกล่องคอนโซลกลางใหญ่โตเท่านี้มาก่อน!

คุณสามารถยัดหนังสือลงไปได้ เกิน 1 เล่มแน่นอน!! จะขนาดไหนก็ตามเถอะ

 

 

ถ้ามันไม่สูงเกินกว่า หนังสือเล่มนี้ ของสำนักพิมพ์เจ้าของหัวหนังสือ  Motor Fan
ที่ซื้อมา เพื่อจะเอามาเขียนเรื่องของ RX ใหม่นี่โดยเฉพาะเนี่ย
เล่มนี้ ความสูงของมัน เกินกว่าความสูงของกระดาษ A4 ครับ

อีกนัยนึง มันใหญ่ขนาดว่าใส่ เจ้าพุดเดิ้ล ลงไปนอนเล่นได้ 1 ตัวเลยแน่ๆ!!!!!!

โว้วววววววว

หรือจะใส่ ปืน  ได้อย่างน้อยก็มี 3 กระบอกเลยทีเดียว!

เผื่อเอาไว้ปล้นบ้านเศรษฐี เอาเงินไปแบ่งกัน ซื้อ GT-R ขับ

(อุ๊ย เราพูดอะไรออกไปเนี่ย……คิก คิก)

 

 

เงยหน้าขึ้นไปมองกระจก มองหลัง แบบตัดแสงได้อัตโนมัติ แล้ว
ขอย้อนกลับไปยังบรรยากาศ ในวันแถลงข่าวเปิดตัว สักนิด

ผมถามทางโตโยต้าไปว่า รถคันนี้น่าจะมีจอมอนิเตอร์มาให้ และควรจะติดกล้องที่กรอบป้ายทะเบียนหลัง
เพื่อช่วยให้การถอยหลังเข้าจอดทำได้ปลอดภัยขึ้น ไม่ไปทับหัวลูกหลานใครที่ไหน แบะเป็นแตงโมโดนรถทับ

ทางผู้บริหารโตโยต้า ตอบว่า “มีติดตั้งมาให้แล้ว”

ผมก็งงสิ อ้าว แล้วจอมอนิเตอร์ ตรงคอนโซลกลาง มันแสดงผลแค่ วิทยุ ระบบปรับอากาศนี่นา?

ผมมาถึงบางอ้อ เอาตอนขึ้นขับรถคันจริงนั่นละครับว่า ภาพจากกล้องเล็กๆด้านหลังรถนั้น
ถูกถ่ายทอดสัญญาณ มาแสดงผล ขึ้นกระจกมองหลังกันดื้อๆแบบนี้เลย!!!

ถือเป็นลูกเล่นเก๋กู้ด มากๆ
ชวนให้นึกถึง กระจกมองหลัง ฟัง MP3 ได้ ที่ สหกรุ๊ป โฮมช้อปปิ้ง เสนอขายออกทีวีอยู่ในช่อง เนชันแชนแนลทุกวี่วัน

 

 

หลังคา Panoramic Glass Roof  ช่วยให้บรรยากาศในรถโปร่ง โล่งสบาย การที่กระจกหลังคา มีการเคลือบป้องกัน UV ช่วยให้ภายในห้องโดยสาร ไม่ร้อนอย่างที่คิด

แถมยังมีม่านแบบ 3 ชิ้น เปิด-ปิดได้ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ในกรณีที่ไม่อยากให้แสงแดดยามเที่ยงวัน ทอประกายลงมาบนหนังศีรษะ

แต่…จะดีกว่านี้ ถ้าทำเป็นกระจกแยกฝั่ง หน้า-หลัง 2 ชิ้น และสามารถเปิดเลื่อนได้เหมือนซันรูฟปกติ เพราะบอกตรงๆว่า อึดอัดใจไม่น้อย ที่เห็นทัศนียภาพเหนือศีรษะ
แต่ไม่อาจเปิดกระจกหลังคา ออกไปสัมผัสสายลมและแสงแดดข้างบนได้

ถ้าอยากเปิดรับอากาศด้านบน ก็ต้องรอรุ่น ไฮบริด RX450h ซึ่ง จะใช้หลังคาซันรูฟแบบมาตรฐาน แต่เปิดเลื่อนออกได้

ด้านความปลอดภัย คราวนี้ RX350 ใหม่ ติดตั้ง ถุงลมนิรภัย มากถึง 10 จุด! ทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง ทั้งเบาะคู่หน้า ด้านข้างของเบาะแถวหลัง ทั้ง 2 ฝั่ง
ม่านลมนิรภัย 2 ฝั่ง และ ใหม่ล่าสุด ถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่า (Knee Airbag) สำหรับผู้โดยสารคู่หน้า และผู้ขับขี่ พร้อมไฟส่องสว่างทางเข้ารถ ขณะจอดรถไว้ในตอนกลางคืน
ยังไม่นับเข็มขัดนิรภัยแบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ ฯลฯ

 

(นายแบบ ประจำรีวิวนี้ ขอแนะนำ LTK นักเขียนประจำ คอลัมน์ D.I.Y หรือ Do it Yourself ของ Headlightmag.com นั่นเองครับ)

 

 

ทัศนวิสัย หากมองจากตำแหน่งคนขับ เสาหลังคาคู่หน้าที่ยื่นลำออกไปนั้น สำหรับผม ยังไม่เป็นปัญหานัก

แต่กับบางคน ก็อาจจะมองได้ว่า เสามันบังทัศนวิสัยฝั่งขวาไปนิดนึง

 

 

กระจกมองข้าง มีขนาดใหญ่ เห็นรถคัที่ตามมาข้างหลังได้ชัดเจน แต่การติดตั้งในตำแหน่งนี้ หากใช้ความเร็วสูง ก็อาจมีเสียงกระแสลมไหลผ่านเล็ดรอดเข้ามาได้บ้าง

เล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับเป็นปัญหามากนัก เพียงแต่ว่า คุณอาจต้องเร่งเสียงพูด หรือเร่งระดับเสียงเพลงจากชุดเครื่องเสียงให้ดังขึ้นนิดนึง

 

 

ทัศนวิสัย ฝั่งซ้าย แม้จะดูโปร่ง และไม่ได้บดบังเวลาเลี้ยวกลับรถเท่าใดนัก แต่เสาหลังคาแบบมีกระจกหูช้างนี้ หลายๆคนก็ยังไม่คุ้นเคยกับมันเท่าใดนัก

 

 

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง เสาหลังคา D-Pillar ที่เล่นแนวเส้นตัวถังจากภายนอกนั้นแน่นอนว่าส่งผลกระทบกับการกะระยะขณะถอยเข้าจอดอยู่พอสมควร

ถ้าคุณเป็นคนที่กะระยะห่างจากวัตถุต่างๆ ได้ชำนาญพอ คุณอาจไม่เจอปัญหานัก เพราะ เมื่อมานั่งมองกันดีๆแล้ว ถ้ามีผู้โดยสารมานั่งที่ตำแหน่งเบาะหลังฝั่งซ้าย

ศีรษะของเขาจะบดบังจุดบอดผนังทึบของเสาหลังคาที่เห็นอยู่นั้น มิดพอดี เลยไม่รู้จะสรุปว่า งานนี้เสมอตัว ดีหรือไม่?

 

 

รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ

เครื่องยนต์ ของ RX350 ใหม่ ยังคง เป็นรหัสเดิม เหมือนที่วางอยู่ในรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ของเจเนอเรชันที่ 2 ซึ่งเพิ่งตกรุ่นไป
คือรหัส 2GR-FE วี6 DOHC 24 วาล์ว 3,456 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก  94.0 x 83.0 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 10.8 : 1
ใช้ระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ ทั้งฝั่งวาล์วไอดี
และฝั่งวาล์วไอเสีย แบบ DUAL VVT-i และระบบท่อทางเดินไอดีแปรผัน ACIS (Acoustic Control Induction System)
จากเดิมที่มีเพียงแค่ฝั่งวาล์วไอดีอย่างเดียว เหมือนกันกับ แคมรี วี6 3.5 ลิตร

275 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 346 นิวตันเมตร (35.25 กก.-ม.) ที่ 4,700 รอบ/นาที ผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO IV

ใช้ได้แต่น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันเบนซินแก็สโซฮอลล์ 95 แบบ E10 (ไม่สามารถเติม น้ำมันเบนซินแก็สโซฮอลล์ แบบ E20 ได้)

ซึ่งก็ไม่รู้จะเอาแผ่นพลาสติกรีไซเคิลมาปิดครอบห้องเครื่องเอาไว้ตามแบบรถยุโรปกันทำไม ให้มันเต็มพื้นที่ขนาดนี้หนอ?

 

 

เกียร์อัตโนมัติ เปลี่ยนแปลงจากเดิม 5 จังหวะ Super ECT พร้อมโหมด บวก/ลบ มาเป็นแบบ ใหม่ 6 จังหวะ Super ECT พร้อมโหมด บวก / ลบ

จาก AISIN รุ่น U660F พร้อมชุดตัดต่อกำลังแบบ Electro Magnatic Coupling ควบคุมด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

อัตราทดเกียร์ 1………………………3.300
อัตราทดเกียร์ 2………………………1.900
อัตราทดเกียร์ 3………………………1.420
อัตราทดเกียร์ 4………………………1.000
อัตราทดเกียร์ 5………………………0.713
อัตราทดเกียร์ 5………………………0.608
อัตราทดเกียร์ ถอยหลัง………………4.148
อัตราทดเฟืองท้าย……………………4.398

 

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ All-Wheel-Drive แต่มีการแปรผัน การกระจายแรงบิดสู่ล้อทั้ง 4 ได้ตั้งแต่ อัตราส่วนหน้า-หลัง 100 : 0 จนถึง 50 : 50

แถมด้วย ระบบจัดการเสถียรภาพของตัวรถ VDIM (Vehicle Dynamic Integrated Management) ที่รวมทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC

ระบบ ป้องกันล้อหมุนฟรีตอนออกตัวTRC Traction Control รวมทั้งระบบห้ามล้อแบบป้องกันล้อล็อก ABS และ ระบบกระจายแรงเบรก EBD เอาไว้ในระบบเดียว

มีสวิชต์ ควบคุม ตรงที่วางแก้ว ข้างๆตัวคุณนั่นละครับ

 

 

เรายังคงทดลองหาอัตราเร่งและความเร็วสูงสุดกัน ในช่วงกลางคืนเช่นเคย
ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่นๆ และตัวของเราเอง
โดย เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ผู้เขียน น้ำหนัก 95 กิโลกรัมและน้องกล้วย BnN หนึ่งใน The Coup team ของเรา
และเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ใกล้เคียงกับ RX ที่สุด นั่นคือ NISSAN MURANO และ SUBARU B9 TRIBECA นั่นเอง รวมทั้งรถรุ่นเดิม RX ใหม่ จะทำตัวเลขได้ ดังต่อไปนี้…

 

 

เมื่่อดูจากตัวเลข  ก็คงชัดเจนแล้วว่า ช่วงออกตัวหนะ ไม่ได้ต่างกันมากมายนัก และ RX350 ใหม่ เร็วขึ้นกว่ารุ่นก่อนนิดเดียว

เพราะัอันที่จริง ผมเองก็เคย ทำความรู้จักกับ เครื่องยนต์ บล้อกนี้ รหัสนี้ มา สองสาม ครั้งแล้ว ทั้งในเวอร์ชันของ แคมรี V6 3.5 ลิตร และ RX350 ตัวเดิม

เป็นเครื่องยนต์ที่ มีความจัดจ้านในตัวของมันเอง ดึงพละกำลังมหาศาลมารอ ออกมาให้สัมผัสกันได้โดยง่ายมาก และไม่ต้องเหยียบจนจมมิดคันเร่ง มันก็มาทักทายโดยไวไม่รอช้า

แต่ในช่วงอัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมงเนี่ยสิครับ 2GR-FE คราวนี้ ได้แสดงศักยภาพของมันออกมาแล้ว มันปีนไต่ความเร็วขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

และึดึงร่างคุณให้หลังติดเบาะ อย่างนุ่มนวล  แต่ เร้าใจ แถมยังมีความยืดหยุ่นจากอัตราเร่ง ในช่วงแต่ละเกียร์ ในระดับใช้ได้เลยทีเดียว

พละกำลังจากเครื่องยนต์ และการทำงานเข้าขากันดี และอย่างนุ่มนวล แทบไม่รู้สึกอาการกระตุกกระชากใดๆจากเกียร์เลย ของ
เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ทำให้สามารถลากตัวรถที่มีน้ำหนักมากถึง 2 ตัน ให้พุ่งไปได้อย่างฉับพลัน แรงเร้าใจ คือ เร้าในแบบที่ สมควรจะเร้าอย่างแท้จริง

ไม่ใช่แค่คำว่า “เร้า” อันเป็นเพียงคำโฆษณาหวังกระตุ้นความรู้สึกคนอ่าน จากครีเอทีฟ บริษัทโฆษณา ที่เพิ่งทานมื้อเที่ยงอิ่มมาใหม่ๆ
และคิดอะไรไม่ออก เลยใส่คำว่าเร้า ลงในแค็ตตาล็อกแจกลูกค้ากันง่ายๆดื้อๆ อย่างที่พบได้ในรถยนต์ทั่วๆไป

 

 

ระบบกันสะเทือน คือการปรับปรุงที่สำคัญของ RX350 ใหม่ ด้านหน้ายังคงเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต
ด้านหลัง เป็นแบบ ปีกนกคู่ ดับเบิลวิชโบน แบบมีแขนยึด L Arm และ มีแขนยึดเทรลลิงอาร์ม มาพร้อมเหล็กกันโคลงทั้งหน้า-หลัง แยกช็อกอัพกับสปริงออกจากกัน

การเกาะถนนในขณะเข้าโค้ง ทำได้ดีขึ้น การเอียงตัว ในโค้งเดียวกัน ที่ความเร็วเท่าๆกัน ลดลงจากรถรุ่นเดิมอย่างชัดเจน
แต่คุณต้องสังเกตดีๆ ว่ามันต่างกัน ทั้งเนื่องมาจากการขยายความกว้างช่วงล้อหน้า-หลัง ให้กว้างขึ้นไปตามขนาดความกว้างของตัวรถ

กระนั้น การปรับปรุงให้ ระบบกันสะเทือน แม้จะปรับแต่งมุ่งเน้นความมั่นใจในการเข้าโค้งมากขึ้น แต่การขึ้นลง ลูกระนาด หรือขับผ่าน หลุมบ่อเล็กๆ ในตรอกซอกซอย

หากใช้ความเร็ว ต่ำๆ 5-10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยให้วงจรการทำงานของระบบกันสะเทือน ครับ Loop ของมัน ก็จะสัมผัสถึงความนุ่มนวล

แต่ถ้าเพิ่มความเร็วขึ้น เป็น 20 – 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหมือนว่ารถมันลอยผ่านหลุมเหล่านั้นไป Float ไปเลย

เอ จะุว่าไป มันก็เป็๋นบุคลิกที่คล้ายๆ กับช่วงล่างของ แคมรี ไปจนถึง LS460 ด้วย มิใช่หรือ?

กระนั้น ต้องยอมรับกันตรงๆว่า คราวนี้ โตโยต้า ปรับปรุงช่วงล่างของ RX350 ใหม่ ให้รองรับอย่างสอดคล้องกับความแรงของเครื่องยนต์แล้ว ซะที

พวงมาลัย แบบแร็คแอนด์พีเนียน มาคราวนี้ ใช้ระบบผ่อนแรง (เพาเวอร์) แบบไฮโดรลิค แต่ควบคุมด้วยมอเตอร์ ไฟฟ้า (EPS : Electronic Power Steering)

ยอมรับเลยว่า ก่อนได้รับรถมาขับ ผมคลางแคลงใจ เพราะในช่วงหลังๆมานี้ โตโยต้า กับ เล็กซัส พยนายาหากิจกรรมเมื่อใช้ความเร็วต่ำ ขอบอกว่า น้ำหนักของมัน เบา ไม่ต่างไปจาก Corolla ALTIS รุ่นล่าสุด อันน่าสะพรึงกลัว สำหรับผม

แต่ พอเริ่มจับอัตราสิ้นเปลือง ที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง การตอบสนองของมัน ก็เริ่มหนืดขึ้น แถมคราวนี้ นิ่งสนิท On-Center Feeling ยังนิ่งมากๆ
มากชนิดที่ แทบจะไม่อยากเชื่อเลยว่า พวงมาลัยไฟฟ้าของ RX 350 ใหม่ นั้น  เจ้าของเดียวกันกับ Corolla Altis รุ่นใหม่ล่าสุด
รุ่น Shake (Your steering wheel) a bon bon !!

เปล่า มันไม่ได้เหมือนกันขนาด โทนาฟ กับ เย็นเตร็กซ์ เลย

ทว่า มันต่างกันในแบบที่ ชวนให้คุณนึกถึง ดาดฟ้าชั้นบนสุดของตึกออลซึซัน ถนนวิทยุ กับลานจอดรถชั้นใต้ดินของตึกเดียวกันนั่นละ!

เพราะหากคุณดูในภาพนี้ จะพบว่า ณ ความเร็วที่สูงถึงระดับ เกือบจะเป็นท็อปสปีดของรถนั้น

ตัวรถก็ยังคงนิ่งอยู่ และน้ำหนักของพวงมาลัย ก็ไม่ได้ทำให้ผมกังวลเลย แถม ระยะฟรี ก็กำลังดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

ส่วนหนึ่งที่ทำให้การตอบสนองดี อาจเพราะมาจากการที่ตัวรถมีน้ำหนักค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว  การถ่ายเทน้ำหนักของรถ จะโน้มมาทางด้านหน้ามิใช่น้อย

รวมทั้งการจัดการด้านอากาศพลศาสตร์ มีแผงกระบังลม ความคุมทิศทางการไหกลผ่าน ของลมใต้ท้องรถ เพื่อช่วยเพิ่มการทรงตัวที่ดีขึ้น

โปรดเถิด โตโยต้า ได้โปรด ใส่การตอบสนอง แบบนี้ ลงใน ระบบบังคับเลี้ยว ของ อัลติส ใหม่
รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ เพิ่มเครื่องยนต์ 2,000 ซีซี ที่จะคลอดออกมาในช่วงเร็วๆนี้ด้วยเถิด!!
แบบนี้แหละ พวงมาลัยไฟฟ้า จากโตโยต้า และเล็กซัส รุ่นที่เซ็ตเอาใจผู้ใหญ่ แบบที่ผมต้องการ!!

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ พร้อม ABS EBD และ BREAK ASSISTคู่หน้า มีครีบระบายความร้อน

การตอบสนองของแป้นเบรก ทำได้ดี การหน่วงความเร็ว ทำได้ในแบบที่ลูกค้าคนไทยน่าจะชื่นชอบ
คือ แป้นเบรก ไม่ลึกไม่ตื้น จนเกินไป อยู่ในระดับพอดีๆ และที่สำคัญคือ นุ่มนวล

 

การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย

ทันทีที่รับรถจาก ตึกออลซีซัน ในช่วงเย็นวันจันทร์ ผมก็ควบ RX350 ใหม่คันนี้ ขึ้นทางด่วน เพลินจิต
มุ่งตรงไป รับ ตา Louise แห่งร้านเป็ดย่างแมนดาริน (ตอนนี้ เป็นนักเขียน ประจำคอลัมน์ Safety On Board ในเว็บไซต์ของเราอยู่)

แล้วก็มุ่งหน้าไปเติมน้ำมันยังปั้มเชลล์ ถนนพหลโยธิน ปากซอยอารีย์ เช่นเดิม

 

คราวนี้ เราเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ล่าสุดของเชลล์

V-Power เบนซิน ค่าออกเทน 95  ซึ่งคงไม่ขอโฆษณาสรรพคุณให้  เพราะไม่ได้ค่าโฆษณาจากเชลล์เลย

แถมราคายังแพงมหาประลัยซะอีก แต่สุดท้าย ก็ต้องเติมอยู่ดี (ฮือๆๆๆๆ) เติมแค่หัวจ่ายตัด ก็เพียงพอ

 

 

จากนั้น ก็ทำตามมาตรฐานเดิม ที่ทำกันมาตลอด 5 ปี

มุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วน พระราม 6 ขับยาวๆ ไปจนถึง ปลายสุดสายทางด่วนเส้นเชียงราก ที่อยุธยา

เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน มุ่งหน้ามาลง ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ ชั่วโมง เปิดระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Controil

เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ตามเดิม

 

เสียดายอยู่ว่า ทำไมไม่ติดตั้ง ระบบ Redar Cruise Control ช่วยเบรกชะลอ เพื่อลดระยะห่างจากรถคันข้างหน้าแบบใน แคมรี V6 3.5 ลิตร ประกอบในประเทศ?

เอาน่า ต้นทุน นำเข้า มันแพง พอต้องทำราคากันจริงๆ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการหั่นออพชันกันออกบานตะเกียง เพราะไม่เช่นนั้น ราคาขายปลีก ก็ต้องแพงกันไปกว่านี้อีก

มันเป็นวงจรที่น่าหนักใจ สำหรับ Product Planning ของ บริษัทรถยนต์ “ทุกค่าย” นั่นละ

 

 

แล้ว ก็มาถึงจุดหมายกัน เติมน้ำมัน ที่ปั้มเดิม “และหัวจ่ายเดิม” มาดูตัวเลขบนหน้าปัดกันดีกว่า

ระยะทางที่แล่น บนมาตรวัด            91.1 กิโลเมตร

 

 

ประมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่เติมกลับ    8.97  ลิตร

 

 

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย        10.15  กิโลเมตร/ลิตร

เฮ้ มันประหยัดกว่ารุ่นเดิมนิดนึงนี่นา? ไม่เลวๆ เติมน้ำมันเท่าเดิม แต่ระยะทางเพิ่มขึ้นนิดนึง

 

ถ้าเทียบกับคู่แข่ง และรถรุ่นเิดิม ซึ่งส่วนใหญ่ อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ไล่เลี่ยกัน  คือ 9 ปลายๆ 10 ต้นๆ กิโลเมตร/ลิตร

ก็ถือว่า ยังเกาะกลุ่มกันดีเหนียวแน่น ไม่ได้หนีไปไหน แต่ ตั้งข้อสงสัยว่า รถรุ่นเดิม กับรถรุ่้นใหม่นั้น ปริมาณน้ำมันเติมกลับ เท่ากันเป๊ะเลย

นั่นเท่ากับว่า ตัวเลขจะผกผันหรือไม่ ขึ้้นอยู่กับระยะทางที่แล่นมา และค่าความเพี้่ยนของมาตรวัด เป็นสำคัญ

 

เพราะ รถที่เขมือบค่าน้ำมันของผมมากที่สุดในกลุ่มนี้ กลับเป็น ซูบารุ บี9 ทรีเบกา อันเป็นรถซึ่งทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ดีที่สุดในกลุ่มนี้

เพราะรถรุ่นนั้น ถ้าวิ่งทางไกล อัตราสิ้นเปลืองจะอยู่ในเกณฑ์กำลังดี แต่เมื่อไหร่ ที่ใช้งานในเมือง หรือรีบเร่งมากเข้า มันจะสูบเงินในกระเป๋าคุณออกไป

อย่างรวดเร็วกว่าใครเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน

 

 

 

แต่ถ้าจะถามว่า น้ำมัน 1 ถัง ความจุ 72 ลิตร นาจะแล่นได้ในระยะทางเท่าใด ผมเลยทดลอง ด้วยการ เซ็ต Trip meter A เอาไว้ที่ 0 เมื่อเตรียมจะออกจากสถานีบริการของเชลล์

แล้วก็ขับใช้งาน ไปจนถึงการนำไปถ่ายรูปที่แหลมฉบัง รวมทั้ง ม.บูรพา (ขอบคุณ คุณ ก้อง Login ดยุคแห่งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นอาจารย์  สอนอยู่ที่ ม.บูรพา ณ โอกาสนี้ครับ

ที่ช่วยหาโลเกชันกันอย่างสนุกสนาน) รวมความแล้ว น้ำมัน 1 ถัง ถ้าคุณขับเรื่อยๆ แบบไม่กดอัดมากมายนักน่าจะใช้งานไปได้ประมาณ 450 – 460 กิโลเมตร

 

 

********** สรุป **********
ดีไซน์ อาจจะคล้าย”ป้า” แต่ตอนขับหนะ “ป๋า” มั่กๆ

ทำไมต้องเป็น “ป้า?”

ไม่รุ้ว่าผมจะคิดไปเองหรือเปล่า
แต่ผมดูหุ่นของรถคันนี้แล้ว อดเสียดายอยู่ไม่ด้

เพราะเมื่อครั้งที่มันยังเป็นเพียงหุ่นจำลอง ตัวรถนั้นดูสวยงามมากๆ ถ้าได้ไฟท้ายในแบบดั้งเดิมของมัน
นั่นน่าจะทำให้งานออกแบบของตัวรถลงตัวสวยงามยิ่งกว่านี้อีก
แล้วไม่รู้เป็นอะไร เมื่อใดก็ตามที่รถคันต้นแบบออกมาสวย รถคันขายจริงมักจะออกมาไม่สวยเท่าหุ่นต้นแบบเลย
งานออกแบบภายนอก ดูแล้วชวนให้นึกถึง คุณป้า คนหนึ่ง อาจเป็นแค่แม่บ้านธรรมดา สอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย
ออกงานสังคมบ้างตามควร

รถคันนี้ ผมเห็นครั้งแรก ผมนึกถึง ดร.กฤติกา คงสมพงษ์ อดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ กำจัดจุดอ่อน ทางช่อง 3
แคแรคเตอร์ของรถ กับอาจารย์ กฤติกา ช่างเข้ากันได้เป๊ะพอดีเป็นปี่เป็นขลุ่ยเลยทีเดียว!
ยิ่งระยะหลังๆมานี้ 5 คันของ RX หรือ แฮร์ริเออร์ ที่ผมพบเห็นบนท้องถนน จะมีคนขับที่เป็นผู้ชาย 3 คน
และผู้หญิงอีก 2 คน นับเป็นสัดส่วนที่ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แล้ว

แน่ละ ผู้หญิงทำงาน แนว Working woman จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่ชอบ SUV
เพราะมันมีภาพลักษณ์ ติดแนวลุยๆ และใช้ชีวิตในหลากหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว งานออกแบบ ยังไม่ต้องตา และยังสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดูสวยจบกันได้อีก

 

 

แล้วทำไมต้องเป็น “ป๋า”
ป๋า ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง “ป๋าค่ะ ป๋าขา มาหาหนูหน่อยสิคะ” อันนั้น ผิดจุดประสงค์อย่างแรง

แต่ หมายถึงกลุ่มลูกค้าผู้ชาย วัยทำงาน เจ้าของกิจการ ซึ่งมีรถในบ้านอยู่แล้วอย่างน้อยๆ 1-2 คันและอยากได้ เอสยูวี ขับสบายๆ หรูหรากำลังดี วัสดุดี
เอาไว้ใช้งานทั้งในเมือง และขับออกต่างจังหวัด พาครอบครัวไปเที่ยวกัน

ถึงแม้ดีไซน์ภายนอกอาจจะดูเป็นผู้หญิง แต่เมื่อขึ้นขับขี่แล้ว เฮ้ นี่มันชายหนุ่มคนเดิม ที่สุขุมขึ้น และอยู่ด้วยได้อย่างมั่นใจมากขึ้่นนี่หว่า!

การปรับปรุงระบบกันสะเทือนให้ มี ความกว้างช่วงล้อเพิ่มขึ้น ปรับแต่งจุดยึดระบบกันสะเทือนขึ้นใหม่ เน้นความนุ่มนวลกำลังดี แต่เข้าโค้งได้มั่นใจยิ่งกว่าเดิม

แถมยังนิ่งใช้การได้ เมื่อแล่นด้วยความเร็วสูงๆ ปรับเปลี่ยนวัสดุตกแต่งห้องโดยสารใหม่ ปรับปรุงรายละเอียดต่างๆมากมาย งานนี้ เิรียกได้ว่า ตัวรถ ภาพรวม ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม

ในแบบที่ผม ยอมรับได้อย่างสบายใจแล้ว

 

 

ในเมื่อรถมันดีขึ้นกว่าคันเก่าพอสมควรแล้ว ก็คงจะเข้าสู่ประเด็นค่าตัว…

ผมเคยเขียนเอาไว้เมื่อครั้งที่ทำรีวิว RX350 จาก เล็กซัส กรุ๊ป แท้ๆ คราวก่อน
ช่วงปี 2007 ว่า ราคารถรุ่นเดิมหนะ 5.22 ล้านบาท…

“เพียงแค่นั้น ขนหน้าแข้ง เจ้าของกิจการ ระดับ พรีเมียม SME ที่คิดจะถอยรถคันนี้ ที่เริ่มร่วงกราวเป็นหย่อมๆ”

ตอนนั้น ผมเกิดคำถามในใจว่า ถ้ารุ่นเดิมมันยังแพงขนาดนี้ แล้วรุ่นใหม่นี่ มิต้องแพงกันหนักหนายิ่งกว่านั้นเลยหรือ

เล็กซัส เฉลยคำตอบออกมาแล้วว่า มันก็เป็นเช่นเดียวกับที่ผมคิดนั่นละ!!

คือ 5.55 ล้านบาท !!!

 

โอ้วว แม่เจ้าาา!!!

 

เฮ้อ….ปลง…

 

 

 

เอาละ อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย ขนาดเวอร์ชันที่ขายในญี่ปุ่น เริ่มต้นที่รุ่น Basic Model ก็ปาเข้าไป 4.6 ล้านเยน
หรือ 1.749 ล้านบาท ไม่รวมภาษีนำเข้าต่างๆ เข้าไปแล้ว ดังนั้น จะคาดหวังให้ราคารุ่นใหม่ แพงขึ้นไม่มากนักจากเดิม

ดูเป็นเรื่องฝันกลางวันไปสักหน่อย ฝันให้ตายยังไงก็ดูจะไม่มีทางเป็นจริง

 

 

แม้โตโยต้า เองจะรู้ตัวดี ว่า เศรษฐกิจแบบนี้ อาจต้องออกแรงกันสักหน่อย กว่าจะได้ลูกค้ามาซื้อรถแบบนี้ให้ได้  2-3 คันต่อเดือน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
แต่จากที่พวกเขาพยายามงัดสารพัดกลยุทธ์การขาย ทั้ง ขยายการรับประกัน 4 ปี ไม่จำกัดระยะทาง บัตรเครดิตโปรแกรมการบำรุงรักษารถล่วงหน้าแบบ Pre-Paid
กิจกรรมโรดโชว์ เอารถเดโม บุกไปให้ลูกค้าทดลองขับกันถึงที่คอนโด หรือชุมชนคนรวย ต่างๆ ตลอดจนถึงสิ้นปี ไม่เว้นแม้กระทั่ง โรงแรมอย่างเอวาซอน หัวหิน!! (เอาเข้าไป)

ก็ดูเป็นความพยายามฮึดสู้ อย่างเต็มที่แล้ว ในสภาวะการณ์แบบนี้

อย่างไรก็ตาม นี่ก็ถือเป็นเกมวัดศักดิ์ศรีของโตโยต้า และเล็กซัส เช่นกัน
เพราะตอนนี้ หลังจาก S.E.C ผู้ค้ารถนำเข้ารายย่อย ที่ใหญ่ที่สุด แพ้ภัยตัวเอง และทำให้วงการค้ารถนำเข้า ระส่ำระสาย
อีกทั้ง บริษัทแม่ในญี่ปุ่นเอง ก็ ยกเลิกการทำตลาด รถยนต์รุ่นนี้ ผ่านแบรนด์ โตโยต้า ไปแล้ว ยิ่งน่าจะทำให้สถานการณ์เปิดตัว RX ใหม่ ควรจะได้เปรียบกว่าใครเขา

แต่ด้วยค่าเงินเยนที่แข็งตัวขึ้น ทำให้สินค้าซึ่งต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น มีราคาแปลงเป็นเงินบาทไทย แพงขึ้น เราต้องเอาเงินบาท
จำนวนมากขึ้น เพื่อไปแลกสินค้าชนิดเดียวกัน และรถยนต์ ก็เป็นเช่นนั้นด้วย แถมภาษีนำเข้าก็ยังสูงอยู่ ต่อให้มีข้อตกลง FTA ก็ไมได้ช่วยอะไรมากนัก
ที่หนักไปกว่านั้น โตโยต้า ญี่ปุ่นเอง ก็ตั้งราคา เล็กซัส RX ใหม่ เอาไว้สูงขึ้นกว่ารถรุ่นเดิมมาก ทั้งในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไม่เว้นเมืองไทย

ทั้งหมดนี้ คือ สถานการณ์ ที่ท้าทาย และจะพิสูจน์ความสามารถของ ทีมเล็กซัส กรุ๊ป รวมทั้งโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

ว่าจะ สร้างยอดขาย เพิ่มปริมาณ ของ RX350 ใหม่ บนท้องถนนบ้านเรา ในปีที่คนรวยไม่ค่อยอยากจะใช้เงิน เช่นปีนี้

ได้อย่างไร?

 

————————————///—————————————–

ขอขอบคุณ
คุณกิจ มหาจุนทการ
ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ 

คุณ Suchaya Chianklawkla
Assistant Manager, Product & Marketing Communication สำนักประชาสัมพันธ์

รวมถึง ฝ่าย เล็กซัส กรุ๊ป
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ 

 

 

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์

9 มันาคม 2008

 

ภายถ่ายทั้งหมดนี้ ไม่มีการใช้ Photoshop ช่วยแต่งสี ถ่ายมาอย่างไร เอาลงทั้งแบบนั้น

มากสุดที่จะใช้ คือ เพิ่มความสว่างขึ้นนิดเีดียว ในรูปห้องโดยสาร เท่านั้น