ในอดีต คนไทยจะคุ้นเคยกับ Volvo ขนาดครอบครัว ซึ่งนำเข้า หรือประกอบ
ในบ้านเรา โดยผู้จำหน่ายรายเดิมอย่าง บริษัท สวีเดนมอเตอร์ส จำกัด เป็นหลัก
(ตอนนี้ อาคารโชว์รูมและศูนย์บริการเก่าๆ ถูกรื้อทิ้งและก่อสร้างจนกลายเป็น
ห้างสรรพสินค้า Terminal 21 ไปหมดแล้ว) คนส่วนใหญ่ แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่า
Volvo ก็เคยมีรถยนต์ขนาดเล็ก กว่าตระกูล 140 200 700 800 และ 900 Series
ออกขายมานานแล้ว ตั้งแต่ยุค 1970 และนั่นคือจุดกำเนิดของ Volvo ขนาดเล็ก
ในทุกวันนี้

1975_1980_Volvo_66_00

ช่วง ปลายทศวรรษ 1960 ถึงรอยต่อ ต้นทศวรรษ 1970 ตัวแทนจำหน่าย
Volvo ในยุโรปจำนวนไม่น้อย เริ่มคิดเห็นตรงกันว่า Volvo ควรมีรถยนต์
ขนาดเล็กกว่า บรรดา ตระกูล 140 Series  (144 , 145) ขณะเดียวกัน Volvo
เองก็ตระหนักได้ว่า พวกเขาควรจะสยายปีก สร้างความแข็งแกร่งในตลาด
ยุโรปมากขึ้น ขณะเดียวกัน วิกฤติการณ์น้ำมันในปี 1973 ก็เริ่มส่งผลกระทบ
ต่อตลาดรถยนต์ทั่วโลกอย่างรุนแรง ผู้คนเริ่มเบือนหน้าจากรถยนต์ขนาดใหญ่
ชั่วคราว

ขณะเดียวกัน DAF  ผู้ผลิตรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ รายใหญ่ ของ Holland
ที่ดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว (Family Bussiness) ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่า ตลอด
หลายปีที่ตนสร้างรถยนต์นั่งส่วนบุคคลออกขาย DAF ต้องใช้ความพยายาม
อย่างมากในการประคับประคองคองกิจการให้อยู่รอดปลอดภัย หนทางหนึ่ง
ก็คือ มองหาพันธมิตรร่วม เพื่อลดต้นทุนในการพัฒนารถยนต์ลง อันที่จริงใน
ช่วงทศวรรษ 1960 – 1970 DAF เอง ก็จับมือกับ Renault (เรโนลต์) รัฐวิสาหกิจ
ผลิตรถยนต์ของฝรั่งเศส เพื่อสั่งซื้อเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยน้ำ มาติดตั้ง
ใน DAF 55 และ DAF 66 รถยนต์ขนาดเล็กที่พวกตนทำออกขาย

แต่ดูเหมือนว่า พอเข้าสู่ทศวรรษ 1970 สถานการณ์โลกส่งผลกระทบกับยอดขาย
และกำไรของพวกเขามากขึ้นทุกที หนำซ้ำ ในระหว่างที่ DAF กำลังซุ่มพัฒนา
รถยนต์ขนาดเล็ก รุ่นใหม่ในรหัสโครงการ P900 (ต่อมาเป็น Volvo 300 Series)
มาตั้งแต่ ปี 1969 แต่พวกเขาก็ยังต้องทนผลิต DAF 66 ขายกันต่อไป ทั้งที่ตัวรถ
มีปัญหาทั้งเรื่องสนิมที่ตัวถังและเรื่องเกียร์อัตโนมัติ CVT แบบ Variotronic อัน
ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าทั้งในการขับขี่และซ่อมบำรุง สนิม อีกด้วย ยอดขาย
จึงลดลง รายได้ลดลง กำไรไม่ต้องพูดถึง

สภาพแบบนี้ รอดจากการควบรวมกิจการ ไปไม่พ้นหรอก…

1975_1980_Volvo_66_01

ดังนั้น ในเดือนกันยายน 1972 Volvo จึงประกาศซื้อหุ้นบริษัทกิจการรถยนต์นั่ง
DAF Car B.V.จำนวน 33% จาก DAF การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อปี 1973
ก่อนจะเพิ่มทุนเป็น 75% ในปี 1975 และทำให้ Volvo กลายเป็นเจ้าของกิจการ
ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของ DAF ไปในที่สุด ส่วน DAF ก็ตัดสินใจว่าจะมุ่ง
ผลิตแต่รถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ออกขายเพียงอย่างเดียว นับแต่นั้นเป็นต้นมา
จนถึงปัจจุบัน

ราวๆ 1 ปีให้หลัง จากที่ Volvo เข้าซื้อ กิจการ DAF Cars B.V. พวกเขาก็จับเอา
DAF 66 มาปรับปรุง และแปลงโฉม Minorchange ใหม่เล็กน้อย บริเวณไฟหน้า
และกระจังหน้า เพิ่มกันชนหน้าขนาดใหญ่โตระดับน้องๆ Volvo 244 เลยทีเดียว
เพิ่มเข็มขัดนิรภัยบนเบาะหลัง (นอกเหนือจากเบาะคู่หน้า) และเพิ่มพนักศีรษะ
แบบแข็ง จาก DAF 66 Marathon เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน รวมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่
เป็น Volvo 66 มีทั้งรุ่น DL และ GL ออกสู่ตลาดอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 1975

1975_1980_Volvo_66_02 1975_1980_Volvo_66_03

ตัวถังมีให้เลือก 2 แบบ ทั้ง Sedan 2 ประตู และ Station Wagon 3 ประตู ที่เรียกว่า
Kombi ตัวรถมีความยาว 3,906 มิลลิเมตร กว้าง 1,537 มิลลิเมตร สูง 1,392 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ สั้นมากเพียง 2,249 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นรถถึง พื้นดิน (Ground
Clearance) มากถึง 191 มิลลิเมตร แถมน้ำหนักตัวยังเบาหวิว แค่ 780 กิโลกรัม เท่านั้น
อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่ Volvo ไม่นำตัวถัง Coupe 2 ประตู ของ DAF 66 มาผลิตขาย
ต่อไป คงเป็นเพราะมองไม่เห็นความคุ้มค่าในการผลิตขายต่อไป อีกทั้งตอนนั้น Volvo
ก็ไม่ได้มีภาพลักษณ์ด้านรถสปอร์ต เท่าใดนัก หลังจากยุคของ Volvo P1800 สิ้นสุดลง

1975_1980_Volvo_66_04

Volvo 66 วางเครื่องยนต์ จาก Renault ตระกูล C-Series ทั้งแบบ B110 บล็อก 4 สูบ
OHV 1,108 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 47 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
75 นิวตันเมตร ( 7.64 กก.-ม.) ที่ 2,700 รอบ/นาที และรหัส B130 บล็อก 4 สูบ OHV
1,289 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 57 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 94
นิวตันเมตร (9.57 กก.-ม.) ที่ 2,800 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ
อัตราทดแปรผัน CVT ชื่อ Variomatic สืบทอดต่อเนื่องมาจากยุค DAF 66 ทั้งดุ้น

พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน ไม่มีเพาเวอร์ผ่อนแรงใดๆทั้งสิ้น ระบบกันสะเทือน
ด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อม คานแข็ง Torsion Bar ส่วนด้านหลังเป็นแบบ
De-Dion พร้อมแหนบ Leaf-Spring ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม ถังน้ำมันมีขนาด
42.1 ลิตร (พอๆกับ Mitsubishi Mirage รุ่นปัจจุบันในบ้านเราตอนนี้)

DAF_Variomatic

เกียร์ Variotronic นั้น นับได้ว่า เป็นเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผันยุคแรกๆที่สามารถ
ผลิตออกขายได้จริง และประสบความสำเร็จด้านยอดขายด้วย DAF นำมาใช้กับรถยนต์
ของตนครั้งแรกคือ DAF 600 เมื่อปี 1958 มันถูกพัฒนาขึ้นโดย Dr..Hub van Doorne

ส่วนประกอบก็จะคล้ายคลึงกับเกียร์ CVT ในสมัยนี้ มีทั้งพูเลย์ขับ และพูเลย์ตาม แต่
ความแตกต่าง มันอยู่ที่ ในยุคนั้น Variomatic ถูกออกแบบให้ใช้ สายพานธรรมดาๆ
คล้องเชื่อมกันระหว่าง พูเลย์ขับและตาม ทั้ง 2 ฝั่งล้อ!! แยกออกจากกัน ด้วยเหตุที่
ไม่มีการแบ่งแยกเกียร์ใดๆ ทำให้อัตราทดเกียร์ทั้งเดินหน้าและถอยหลัง เท่ากันหมด
คือสูงสุด 14.22 : 1 ต่ำสุด 3.6 : 1

เมื่อแรงบิดจากเครื่องยนต์ ส่งผ่านท่อนเพลากลาง มายังเพลาท้าย แรงบิดจะถูกแยก
ไปหมุนพูเลย์ขับฝั่งขวา และซ้าย ซึ่งถูกสายพานยาง คล้องเชื่อมไว้กับพูเลย์ตาม ซึ่ง
จะส่งกำลังไปที่ล้อคู่หลัง

เมื่อเร่งความเร็ว พูเลย์ขับ จะบีบเข้า เพื่อดันสายพานขึ้นไปอยู่จนถึงขอบบนสุด
ขณะเดียวกัน พูเลย์ตาม ก็จะถ่างตัวออกให้สายพานที่หมุนอยู่ ค่อยๆเลื่อนลงไป
ตามร่องตัว V ….ดูภาพประกอบได้จากในคลิปข้างบนนี้

เป็นไงครับ คล้ายเกียร์ CVT ในทุกวันนี้ไหม?

ดังนั้น ถ้าเราจะบอกว่า DAF เป็นรถยนต์ยี่ห้อแรกที่ติดตั้งเกียร์ CVT แล้วขายจริง
Volvo 66 ก็เป็นรถยนต์ที่ได้รับมรดกตกทอดดังกล่าวมาด้วย จนสามารถพูดได้
เต็มปากว่า นี่คือ Volvo รุ่นแรก ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT

แล้วหลังจากนั้น เราเห็น Volvo ใช้เกียร์ CVT ในรถยนต์รุ่นไหนอีกบ้างหรือเปล่า?

อืม…ผมไม่ค่อยเห็นนะ…!

1975_1980_Volvo_66_05

หลังการเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามจาก DAF 66 มาเป็น Volvo 66 ก็เท่ากับเป็นการเปิด
ตลาดกลุ่มใหม่ให้กับ Volvo ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากตัวรถเองก็ขายอยู่ในตลาดมา 2-3 ปี
ก่อนหน้านี้แล้ว แค่จับมาเปลี่ยนชื่อ ปรับปรุงอุปกรณ์สักหน่อย ก็ขายต่อได้อยู่

เกียร์ Variotronic เอง ก็ได้รับคำชมอย่างมาก ในช่วงแรกๆ จากลูกค้า ว่าขับง่าย คล่อง
สบายๆ แม้ว่ามันอาจจะตอบสนองแปลกๆในตอนแรกๆที่เริ่มขับก็เถอะ ยิ่งถ้าลองคุย
กับกลุ่มคนรัก DAF 66 / Volvo 66 ที่เนเธอร์แลนด์ เขาจะชื่นชอบมาก เพราะมันเป็น
รถยนต์ที่สามารถขับถอยหลังได้เร็วที่สุดในยุคนั้น เนื่องจากไม่มีเกียร์แยก จึงไม่มี
การล็อกอัตราทดเกียร์ ดังนั้น อัตราทดเกียร์ขับเคลื่อนไปข้างหน้า กับถอยหลัง จึงเซ็ต
มาเท่ากัน! ถึงขั้นว่า หากมีการจัดแข่งรถยนต์ รายการขับถอยหลังเมื่อใด ก็ต้องแยก
รถยนต์รุ่นนี้ ออกมาเป็นอีกรายการหนึ่ง ต่างหากไปเลย เพราะไม่มีใครกินเขาลงได้

อย่างไรก็ตาม มันก็มีปัญหาสืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย DAF ปรากฎให้ลูกค้า Volvo
ในยุคนั้นได้เจออยู่บ้าง นั่นคือเรื่องความทนทานของสายพานเกียร์ แม้ว่าถ้าเกิดขาดผึง
ขึ้นมาสักเส้น หากอีกฝั่งยังทำงานได้ดีอยู่ ก็ยังพอจะขับแบบประคับประคองเข้าไปหา
อู่ข้างทางได้อยู่ แต่ด้วยอายุการใช้งานอยู่ได้ราวๆ 40,000 – 60,000 ไมล์ ก็อาจจะขาด
หรือต้องเปลี่ยนทิ้งแล้ว ดังนั้น ใครที่ครอบครองรถยนต์รุ่นนี้ จำเป็นต้องหาสายพาน
มาสำรองไว้ด้วย เวลาเดินทางไกล

นี่ยังไม่นับกับปัญหาเรื่อง เสียงของเกียร์ขณะรถจอดนิ่ง ที่ดังเอาเรื่อง ปัญหาจากสนิม
ที่เกิดกับพูเลย์ต่างๆ รวมทั้งความเก่งของช่างในการซ่อมบำรุง เพราะขนาดช่างในยุโรป
ยุคนั้นที่ว่าเซียนๆ เจอหน้าตาเกียร์ลูกนี้เข้าไป ถึงกับเกากบาลแกรกๆ ไปต่อไม่เป็นกัน
เป็นทิวแถวเลยทีเดียว

1975_1980_Volvo_66_06

Volvo 66 ถูกปรับโฉมเล็กน้อย และทำตลาดเรื่อยมาจนถึงเดือนธันวาคม 1981 ด้วยยอดผลิต
ทั้งหมด 106,137 คัน 66 เป็นรถยนต์รุ่นที่ Volvo เองไม่ได้คาดหวังยอดขายมากนักเพราะนี่
เป็นผลผลิตเก่าจาก DAF ซึ่งผลิตมาเอาใจลูกค้ารายได้น้อยเป็นหลัก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ
Volvo ในการเข้าสู่ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ตามมา ทั้งการเอาโครงการ P900 ของ DAF
มาพัฒนาต่อเนื่องเป็น 300 Series (343 / 345) 400 Series (440 และ 480 ที่เคยฮิตใน
บ้านเราช่วงปี 1994 – 1995) รวมทั้ง S40 / V40 (1995 – 2005) C30 และ V40 ในปัจจุบัน

———————–///————————–

1975_1980_Volvo_66_Finale

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย เป็นของ Volvo Cars Corporation สวีเดน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
12 เมษายน 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
April 12th,2016

แสดงความคิดเห็นเชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!