รายงานโดย J!MMY & Pan Paitoonpong และ ทีมงาน Headlightmag.com

ทุกช่วงกลางเดือนตุลาคม ของปีคริสต์ศักราช ซึ่งลงท้ายด้วยเลขคี่ เป็นที่รู้กันดีในบรรดาผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์จากทั่วโลกว่า มันคือช่วงเวลา ที่ชาวญี่ปุ่น เขาจะ “ปล่อยของ” หรือ เผยความคิดและมุมมองพวกตน ต่ออนาคตข้างหน้า ผ่านทางรถยนต์ต้นแบบ หรือเทคโนโลยีต้นแบบต่างๆ ในงาน Tokyo Motor Show ซึ่งจะเกิดขึ้น ทุกๆ 2 ปี/1 ครั้ง

งานนี้ถือกำเนิดขึ้น ในปี 1954 จากแนวคิดของ Yutaka Katayama หรือ Mr.K ผู้ล่วงลับ อดีตผู้บริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Nissan ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานของ Nissan Motor USA. และกลายเป็นผู้ผลักดันให้เกิดรถสปอร์ตรุ่นดังในตำนานอย่าง Nissan Fairlady Z / Datsun 240Z ปี 1968 อยากจะชักชวนบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ มาร่วมลงขันกันจัดงานแสดงรถยนต์ เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงสาธารณชนคนญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้นมากขึ้น ตอนแรก บริษัทอื่นเขาก็ขำกลิ้งตกเก้าอี้ ว่าลุง K.จะบ้าเหรอ? จู่ๆทำไมต้องเอางบบริษัทตัวเองไปลงแขกจัดงานร่วมกันด้วย? แต่ในที่สุด ทุกค่ายก็ยอม!

งานครั้งแรก ถูกจัดขึ้นที่ สวนสาธารณ Hibiya Park ตอนนั้น มี “ยานยนต์” ทั้งหมด มาจัดแสดงรวม 267 คัน (แต่มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแค่ 17 คัน ที่เหลือ…แน่นอนครับ จักรยานติดมอเตอร์ จักรยานยนต์ รถบรรทุก รถบัส และสารพัดอะไรก็ตามที่มีล้อในยุคนั้น) งานครั้งแรก ประสบความสำเร็จใช้ได้ เพราะมีผู้เข้าชมงานทั้งหมดสูงถึง 547,000 คน

ผ่านไปแล้ว 61 ปี งานแสดงรถยนต์ ที่สำคัญสุดงานหนึ่งในโลก ก็ยังคงมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และถูกจัดขึ้นให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยงานในปีนี้ ทาง สมาคมอุตสาหกรรมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Automobile Manufacturers Association, Inc.: JAMA) ยังคงเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน เหมือนเช่นเคย

อย่างไรก็ตาม ปี 2019 นี้ รูปแบบการจัดงาน มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เกินกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะจากเดิม ที่ทุกบูธ และทุกกิจกรรม จะรวมอยู่ด้วยกันในพื้นที่เฉพาะ Tokyo Big Sight และอาจมีพื้นที่รอบๆอีกนิดหน่อย แต่ในปี 2019 นี้ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือ จำนวนผู้ผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถบรรทุก ที่เข้าร่วมจัดแสดงในงานปีนี้ ลดจำนวนลงเหลือเพียงแค่ 17 ราย เท่านั้น!

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ บริษัรถยนต์ฝั่งยุโรปและอเมริกัน แทบทั้งหมด ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในญี่ปุ่น น้อยๆ ทั้งหลาย ได้แก่

  • BMW Group (BMW , MINI , Rolls Royce)
  • Ferrari Japan KK. (ผู้นำเข้า Ferrari ในญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 2008 )
  • Ford Motor Company (Ford , Lincoln)
  • FCA Group (Alfa Romeo , Fiat , Jeep)
  • General Motors (มีเพียง Chevrolet และ Cadillac เท่านั้น ที่ยังทำตลาดในญี่ปุ่นแบบรวยระริน)
  • Hyundai Motor (ส่วนงาน Truck & Bus)
  • Jaguar/Land Rover Group
  • PSA Group (Peugeot , Citroen , DS)
  • Volkswagen Group “ทุกแบรนด์ที่ทำตลาดในญี่ปุ่น” (Audi , Volkswagen , Bentley , Lamborghini , Bugatti )
  • Volvo

ทั้งหมดทุกค่ายข้างต้นนี้ ต่างพากันถอนตัว ไม่เข้าร่วมจัดแสดงรถยนต์ในงานปีนี้ เนื่องจาก หลายๆค่าย ไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น บางค่ายก็มองไม่เห็นความคุ้มค่าในการทุ่มงบจัดแสดงรถยนต์ในดินแดนอาทิตย์อุทัยอีกต่อไป โดยเฉพาะค่ายอเมริกัน เพราะยอดขายของ GM เมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่เพียง 800 คัน เท่านั้น ขณะที่ Ford ได้ถอนตัวออกจากตลาดญี่ปุ่นไปนานแล้ว เหลือเพียงแค่ BMW ALPINA และ Daimler AG. ที่ยังคง นำ Mercedes-Benz และ Smart มาร่วมออกงานในปีนี้

สถานการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวโน้มที่ผู้ผลิตรถยนต์แทบทุกค่าย เริ่มลดความสำคัญในการเข้าร่วมงาน Motor Show สำคัญๆทั่วโลก และจะเลือกเข้าร่วมเฉพาะงานที่มีความสำคัญกับรถยนต์รุ่นใหม่ ในแผนการเปิดตัวของตนเท่านั้น

อีกปัญหาสำคัญก็คือ พื้นที่ของอาคาร East Hall ใน Tokyo Big Sight สถานที่จัดแสดงซึ่งเริ่มย้ายมาจาก Makuhari Messe ตั้งแต่ปี 2015 นั้น ตามปกติ จะมีทั้งหมด 8 Hall แต่ในปีนี้  ทั้งหมด ถูกสงวนพื้นที่ไว้สำหรับเตรียมจัดเป็นสนามกีฬาเฉพาะกิจ สำหรับการแข่งขัน กีฬา Olympic และ Paralympic 2020 ที่มหานคร Tokyo จะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า ทำให้พื้นที่จัดงาน East Hall ถูกเบียดบัง จนหายไปเลยครึ่งนึง! และไม่สามารถใช้ได้ จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2020 อย่างที่คุณเห็นอยู่ในพื้นที่สีแดง ของรูปข้างบนนี้นั่นแหละ

ประธานของ JAMA คนปัจจุบันอย่าง Akio Toyoda ซึ่งก็เป็นประธานของ Toyota Motor Corporation ด้วย ในฐานะผู้จัดงาน จึงแก้ปัญหาด้วยการขยายพื้นที่จัดแสดงหลัก เริ่มจาก หาพื้นที่สำหรับผู้ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เพิ่มเติม สรุปว่า ต้องมีการปรับพื้นที่ใหม่ทั้งหมด ดังนี้

– อาคาร South Hall 1 : Mercedes-Benz กับ Smart รวมถึง ALPINA และ Mazda
– อาคาร South Hall 4 : บริษัทผู้ผลิตตัวถัง ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กโทรนิคส์ และจัดแสดง SuperCar
– อาคาร West Hall : Honda Nissan Suzuki Mitsubshi Motors , Renault , Yamaha , Kawasaki

ส่วนที่เหลือ ถูกเตะถีบโด่ง ไปเปิดเป็นอาคารใหม่ Aomi Exibition Hall ซึ่งอยู่ไกลออกไปติดทางด่วนสายหลัก ลอดอุโมงค์ใต้น้ำ มุ่งหน้าสู่สนามบิน Haneda และ Yokohama ความไกลนั้น อยู่ในระดับที่ว่า ถ้าเดินก็มีขาลากปวดเท้าได้แน่ๆ ต้องใช้บริการ Free Shuttle Bus แบบ Autonomous Drive ขับขี่เองอัตโนมัติ ซึ่งทางผู้จัดงานเตรียมไว้ ใช้เวลาเดินทางจาก Tokyo Big Sight ไปถึงอาคารจัดแสดงที่ Aomi Hall 10 นาที โดยประมาณ แต่ใช้เวลารอคิวนานมากๆ หรือถ้าไม่เช่นนั้น ก็นั่งรถ Monorail สาย Yurikamome ซึ่งคิวน้อยกว่า แต่เสียเงินเอง

– อาคาร Aomi Hall A : เป็นผู้ผลิตรถบรรทุก ทั้งหมด คือ FUSO , Hino , Isuzu , UD-Truck และรถเด็กเล่น Tomica
– อาคาร Aomi Hall B :  Daihatsu , Subaru , Toyota และผู้ผลิตยานพาหนะรายย่อยต่างๆ เช่น Fomm เป็นต้น


(Photo : Gazoo.com)

งานในปีนี้ ทาง JAMA มองว่า น่าจะจัดให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนได้มีส่วนร่วมด้วย จึงจับมือกับ บริษัทรถยนต์หลายค่าย รวมทั้ง สวนสนุกจำลองชีวิตเสมือนจริง KidZania เพิ่มพื้นที่ จำลองการทำงานในแวดวงรถยนต์ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นักออกแบบ ช่างเปลี่ยนอะไหล่รถ ไปจนถึงเด็กปั้ม เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีทักษะใหม่ๆ และค้นพบความชอบของตัวเองตั้งแต่ยังเยาว์ กิจกรรมนี้ จัดขึ้นใน Aomi Hall A และได้รับความสนใจจากบรรดาผู้ปกครองและบุตรหลานเป็นอันมาก ในรอบวันธรรมดา

(Photo : blog.evsmart.net)

ไหนๆก็ไหนๆ แล้ว ในเมื่อแต่ละอาคาร มันไกลกันขนาดนั้น ผู้จัดงานเขาก็เลยคิดว่า มันควรจะมีเส้นทางเชื่อมระหว่าง Tokyo Big Sight กับ อาคาร Aomi Hall จากเดิมซึ่งกระจุกตัวอยู่แค่ใน Tokyo Big Sight ให้กระจายตัวออกไปในอาณาบริเวณโดยรอบ เกาะ Odaiba และใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทางผู้จัดงานก็เลย เปิดพื้นที่ทางเดินสาธารณะ ด้านข้างอาคารจัดงาน Aomi Hall และด้านหลังของ Toyota MEGAW@B ที่ห้าง Venus Fort ให้เป็น “OPEN ROAD” เพื่อเป็นถนนสำหรับให้ผู้เข้าชมงาน ได้มีโอกาสทดลองขับขี่ ยานพาหนะพลังไฟฟ้า รูปแบบต่างๆ ที่ผู้ผลิตทุกรายต่างขนมาให้ลงทะเบียนต่อคิวทดลองขับกัน เช่น Toyota i-ROAD , Nissan EV ฯลฯ อีกมากมาย ในบรรยากาศ ล้อมวงเป็นปาร์ตี้ รายล้อมด้วยร้านอาหาร Food Truck ข้างทางมากมาย ราวกับเป็นพื้นที่สำหรับให้ทุกคนในครอบครัวมาปิคนิค และใช้เวลาร่วมกันได้ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น Toyota เขาก็เลย ยกพื้นที่ของ อาคารโชว์รูม Toyota MEGAW@B ที่ ห้าง Venus Fort เปลี่ยนสภาพ ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ FUTURE EXPO ซึ่งเปิดโอกาสให้บรรดาบริษัทและองค์กรกว่า 60 แห่ง ตั้งแต่บริษัทรถยนต์ทุกค่าย ที่ขนเอารถยนต์ หรือยานพาหนะต้นแบบต่างๆ รวมทั้งบรรดาบริษัทอิเล็กโทรนิคส์และการสื่อสารรายสำคัญ เช่น NTT (ผู้ให้บริการโทรศัพท์และการสื่อสารรายใหญ่สุดของญี่ปุ่น) Panasonic , NEC , FUJITSU ฯลฯ ที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์เศรษฐกิจกีฬา Olympic และ Paralympic (ซึ่ง Toyota ก็เป็นโต้โผใหญ่ของสมาพันธ์นี้อีกนั่นแหละ) ร่วมกันจัดแสดง เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆของตน ร่วมกัน กว่า 90 รายการ ไปเสียเลย เพื่อให้ผู้ชมงานได้สัมผัสประสบการณ์ของโลกในอนาคต ที่เริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาทุกที ได้เต็มที่

ไม่เพียงเท่านั้น เราจึงเห็นความพยายามของผู้จัดงาน ที่จะทุ่มงบประมาณ โปรโมทงานในทุกรูปแบบ ทุกหนทาง ตั้งแต่โฆษณา แบบ Video Clip Billboard หรือแม้แต่ขอความร่วมมือบริษัทรถยนต์ทุกค่าย ให้ช่วยใส่ภาพโปรโมทงานในช่วง 2 วินาทีสุดท้าย หลังภาพยนตร์โฆษณารถยนต์แต่ละแบรนด์ทางโทรทัศน์ของตนในช่วงก่อนและระหว่างงานเริ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อดึงให้ยอดผู้เข้าชมงาน กลับมาพุ่งทะลุ 1 ล้านคนให้ได้อีกครั้ง ในรอบหลายปี

พูดง่ายๆก็คือ Tokyo Motor Show คราวนี้ มันไม่ได้เพียงแค่เป็น งานแสดงรถยนต์ตามปกติ แต่มันกลายเป็นงานแสดง Technology Showcase จากแทบทุกบริษัทในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ และฝั่งอิเล็กโทรนิคส์ รวมทั้งโทรคมนาคม ซึ่งมีส่วนที่ต้องเดินหน้าควบคู่เป็นพันธมิตรไปด้วยกัน

ทีมงาน Headlightmag ยกโขยงกันบินไปชมงานนี้ ทั้งด้วยการอนุเคราะห์จากทางบริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด, บริษัท Honda Automobiles (Thailand) จำกัด และด้วยการออกทุนทรัพย์ พาทีมงานอีก 8 ชีวิต บินด้วยสายการบิน ANA ไปยัง Tokyo เพื่อนำภาพบรรยากาศ และข้อมูลของงาน Tokyo Motor Show ในปีนี้ มาฝากคุณผู้อ่านกันเหมือนเช่นเคย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Headlightmag ของเรา เป็น Website รถยนต์ ดังนั้น สำหรับผู้ผลิตที่มีรถจักรยานยนต์ และรถบรรทุก ออกจำหน่ายนั้น เราขออนุญาตนำเสนอแต่เพียง ส่วนของรถยนต์ เท่านั้น

BMW ALPINA

หลายคนเข้าใจว่า Alpina เป็นสำนักแต่งนอกบริษัท BMW แต่ความจริงแล้ว ALPINA Burkard Bovensiepen GmbH + Co. KG.จากแคว้น Bavaria ทำงานใกล้ชิดกับ BMW ในการนำรถยนต์ของค่ายใบพัดสีฟ้า มาปรับปรุงดัดแปลงสมรรถนะ และชุดแต่งในแบบต่างๆ แล้วนำออกขายในรูปแบบรถยนต์ BMW เวอร์ชันสมรรถนะสูง ทำให้ Alpina ได้รับการยอมรับจากกระทวงคมนาคม ของสหพันธรัฐเยอรมนี ในฐานะ “บริษัทผู้ผลิตรถยนต์” พวกเขาเข้าร่วมจัดแสดงในงาน Tokyo Motor Show เป็นครั้งแรก ตั้งแต่งานครั้งที่ 17 เมื่อปี 1989 หรือ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

สำหรับปี 2019 นี้ ในโอกาสที่ Nicole Automobile LLC ผู้นำเข้า จำหน่าย และให้บริการรถยนต์ BMW Alpina ในญี่ปุ่น ดำเนินกิจการมาครบ 40 ปี พอดี ทางบริษัทแม่ในเยอรมนี ก็ร่วมเฉลิมฉลองด้วยการใช้พื้นที่ของบูธ ประกาศเปิดตัว BMW ALPINA B3 Saloon รุ่นใหม่ แบบ “World Premiere” เป็นแห่งแรกในโลก กันในงานเสียเลย หลังจากที่เพิ่งเปิดตัว B3 Bi Turbo Touring ในงาน Frankfurt Motor Show เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ALPINA B3 Saloon มีพื้นฐานมาจาก BMW ซีรีส์ 3 ตัวถัง G30 แต่ได้รับการตกแต่งภายนอกด้วยชุดลิ้นหน้า, สเกิร์ตข้าง, ดิฟฟิวเซอร์หลังและสปอยเลอร์หลังของ ALPINA เอง นอกจากนี้ยังมีท่อไอเสียแบบสปอร์ตปลายออกข้างละ 2 ท่อ และล้ออัลลอยลาย Classic  ขนาด 20 นิ้ว คาดสติกเกอร์ลายเฉพาะของทางสำนักด้านข้าง มาดโดยรวมของรถภายนอกจะดูดุดันแบบเรียบๆ คนละสไตล์กันกับรถของ M Division ที่จะดูเกรี้ยวกราดจับใจวัยรุ่นมากกว่า

แต่ถึงภายนอกจะดูเรียบ และภายในจะดูหรูหราด้วยหนังแท้เกรดพรีเมียม B3 Saloon กลับมีหัวใจที่ร้ายกาจ มันคือเครื่องยนต์รหัส S58 แบบเดียวกับที่อยู่ใน BMW X3 M และ X4 M ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะมีการนำไปวางใน M3 และ M4 ใหม่ด้วยเช่นกัน เครื่องยนต์ รหัส S58 6 สูบ DOHC 24 วาล์ว 2,993 ซี.ซี. (3.0 ลิตร) ติดตั้ง Turbocharger คู่ แบบ Two-stage มีการปรับจูนพละกำลัง จนได้แรงม้ามาทั้งสิ้น 462 แรงม้า (HP) ที่ 5,000-7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 700 นิวตันเมตร (71.33 กก.-ม.) ที่ 3,000-4,250 รอบ/นาที ส่งกำลังสู่เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ZF และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ที่ปรับเซ็ตใหม่โดย ALPINA

B3 Saloon สามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ ใน 3.8 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 303 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีกำหนดเปิดรับสั่งจองในต้นปี 2020 และส่งมอบรถคันแรกให้กับลูกค้าได้ในช่วงกลางปี


DAIHATSU

ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ในเครือ Toyota ยังคงมุ่งเน้นตลาดในบ้านตัวเองเป็นหลัก อย่างแข็งขัน เพราะทุกวันนี้ ในตลาดต่างประเทศ Daihatsu ยังพอจะเก็บเกี่ยวผลกำไร จากใน Indonesia และ Malaysia เป็นหลักเท่านั้น ทุกวันนี้ ผลผลิตของ Daihatsu เพียงรุ่นเดียว ที่ยังเหลือรอดมาจำหน่ายในเมืองไทย ก็คือ Toyota Avanza จาก Indonesia อันเป็นผลงานร่วมกันของทั้ง Toyota และ Daihatsu มาตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปัจจุบัน นั่นเอง

ปีนี้ พื้นที่ของบูธ Daihatsu ถูกจัดแสดงภายใต้แนวคิด “Gathering: providing warmth to everyone’s lives.” หรือ “การวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับทุกชีวิต” โดยจัดให้บูธมีโทนแสง Warm และเน้นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรม และมีส่วนร่วมในบูธมากขึ้น ทั้งการกันพื้นที่้ด้านหน้าเวทีจัดแสดงรถยนต์ต้นแบบทั้ง 4 คัน เอาไว้ให้กับเด็กๆ เป็นพิเศษ รวมทั้งยังมีพื้นที่ทำกิจกรรมวาดภาพระบายสีร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ ด้านข้างเวที มีร้านจำหน่ายของที่ระลึก และรถยนต์โมเดลจำลอง แน่นอนว่า ได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่น เข้ามาเยี่ยมมกันอุ่นหนาฝาคั่ง ตามคาดหมาย

Daihatsu นำรถยนต์ต้นแบบ 4 คัน มาจัดแสดง ร่วมกับรถยนต์รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวออกสู่ตลาด 1 รุ่น และรถยนต์ B-Segment Crossover SUV รุ่นใหม่ล่าสุด ที่เตรียมพร้อมจะเปิดตัวออกสู่ตลาดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ อีก 1 รุ่น รวม 2 คัน

Daihatsu Ico Ico

ลองนึกถึงสมัยก่อน ที่คุณยังต้องขึ้นรถสองแถว หรือรถกระป๊อ จากหน้าปากซอยแถวบ้าน เพื่อออกไปขึ้นรถเมล์ หรือรถไฟฟ้า ที่ถนนใหญ่ดูสิครับ Ico Ico เป็นรถยนต์ที่เกิดมาเพื่อทำหน้าที่แทนยานพาหนะแบบเดิมๆเหล่านั้นที่เราคุ้นเคย โดยยืนอยู่บนขนาดตัวถัง ในพืกัด Kei-Jidosha หรือ K-Car แต่ไม่จำเป็นต้องมีคนขับอีกต่อไป

Ico Ico เป็นรถยนต์ต้นแบบในตัวถังทรงกล่อง เน้นความเรียบง่ายและดูเป็นมิตรกับทุกคน ออกแบบมาเพื่อยกระดับคุณภาพของระบบขนส่ง เนื่องจากมีตัวถังกะทัดรัดให้เข้าถึงถนนที่แคบได้ จุดเด่นอยู่ที่ ห้องโดยสารสำหรับ 4 คน ที่สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งเบาะได้หลายรูปแบบ โดยเบาะคู่หน้า สามารถปรับให้หมุน กลับหลังหัน หรือเลื่อนขึ้นหน้า ถอยหลัง ได้หมด แถมยังมีพื้นลาดให้ผู้ที่ใช้รถเข็น เข้าห้องโดยสารได้ง่ายขึ้น

ตัวถังยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,995 มิลลิเมตร จุผู้โดยสารได้ 4 คน ขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้า EV ด้วยระบบควบคุมการขับขี่อัตโนมัติ Autonomous Drive

Daihatsu Tsumu Tsumu

Daihatsu เป็นผู้ผลิตที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ จากการผลิตรถกระบเสี่ล้อเล็ก เพื่อการพาณิชย์ มาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทยก็รู้จักรถแบบนี้ดี ในรูปของ “รถกระป๊อ” ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกเขาทำตลาดมันในชื่อ Daihatsu HiJet มานานหลายทศวรรษ และได้รับความนิยมจากลูกค้าทั่วโลกเป็นอย่างดี ล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พวกเขาเพิ่งจะปรับโฉม HiJet ใหม่ ให้มีระบบ Smart Assist เบรกเองได้อัตโนมัติ เมื่อมีคนหรือยานพาหนะตัดหน้ากระทันหัน อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนารถบรรทุกสี่ล้อขนาดเล็กสำหรับทศวรรษหน้า ก็กำลังดำเนินอยู่อย่างเงียบๆ และส่วนหนึ่งของงานออกแบบที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหยั่งกระแสปฏิกิริยาสาธารณชน ก็คือ Daihatsu Tsumu Tsumu คันนี้ ที่ออกแบบมาให้ส่วนบรรทุกด้านหลัง ปรับเปลี่ยน platform ได้หลายรูปแบบให้รองรับการใช้งานที่แตกต่างออกไป โดยเวอร์ชันต้นแบบคันนี้ สร้างขึ้นเพื่อใช้ร่วมกับ drone ขนาดใหญ่ มีทั้งส่วนบรรทุกและฐานจอด ห้องโดยสารส่วนหน้ามาพร้อมกับเบาะ 2 ที่นั่ง และมีพื้นที่เก็บสัมภาระหลายจุดทั้งหลังเบาะ บานประตูที่เปิดออกไม่เหมือนกันทั้ง 2 ข้าง รวมไปถึงประตูแค็บฝั่งซ้ายของตัวรถที่เปิดออกได้

ตัวถังมีความยาว 3,995 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,850 มิลลิเมตร นั่งได้ 2 คน Daihatsu ไม่ได้บอกว่า รถคันนี้ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาป หรือมอเตอร์ไฟฟ้า พวกเขาสร้างรถคันนี้ขึ้นมา เพื่อสรรหาแนวทางในการพัฒนารถกระบะเล็ก ซึ่งอาจเป็น HiJet ในเจเนอเรชันต่อไป ก็เป็นได้

Daihatsu Wai Wai

อย่าเพิ่งหิวบะหมี่ไวไว แม้ว่าจะเขียนออกมาเป็นภาษาอังกฤษเหมือนกันก็ตาม แต่ Daihatsu Wai Wai เป็น รถยนต์ minivan ดีไซน์เรียบง่าย หน้าตาเหมือนหม้อหุงข้าว ยุคทศวรรษ 1960 ออกแบบมาเพื่อเน้นประโยชน์ใช้สอยภายใน ตั้งเป้าหมายเพื่อกลุ่มพ่อแม่และสตรีมากสมบัติ มาพร้อมเบาะ 3 แถว ปรับพับได้ตามใจชอบ เข้าออกง่ายด้วยประตูบานหลังที่เปิดแบบสไลด์ไปด้านหลัง หลังคาเป็นแบบ Canvas Top แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ทั้งสำหรับผู้โดยสารด้านหน้า และด้านหลัง

Wai Wai มีขนาดตัวถังอยู่ในกลุ่ม Compact – Size ใหญ่กว่า K-Car ชัดเจน ด้วยความยาว 4,200 มิลลิเมตร กว้าง 1,665 มิลลิเมตร สูง 1,665 มิลลิเมตร นั่งได้ 6 คน ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า ในระบบ Hybrid

Daihatsu Waku Waku

ชื่อรุ่นชวนให้นึกถึง รายการ Game Show ที่ชื่อ Waku Waku น่ารักน่าลุ้น ของ รัชฟิล์ม ทีวี ที่เคยออกอากาศทาง ช่อง 5 บ้านเรา ช่วงปี 1987 –  1996 หรือไม่ก็ร้านเนื้อย่าง Yakiniku แต่จริงๆแล้ว ในภาษาญี่ปุ่น Waku Waku แปลว่า “ตื่นเต้น” ซึ่งเหมาะกับการนำมาใช้กับรถยนต์ต้นแบบ Crossover รุ่นต่อไป ซึ่งออกแบบมาเพื่อคนรุ่นใหม่ผู้ชื่นชอบการผจญภัย

ตัวถังมีความยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,630 มิลลิเมตร เส้นสายตัวถังเน้นความเหลี่ยมสัน บึกบึน เสริมด้วยชายล่างตัวถังสีดำรอบคัน ห้องโดยสารสีสันสะดุดตา มากด้วยประโยชน์ใช้สอยกับหลังคาตอนหลังที่เปิดออก เพื่อเก็บสัมภาระเพิ่มเติมได้ ทั้งยังขนสัมภาระอย่างสะดวกสบาย ด้วยประตูบานหลังที่เปิดออกได้ 2 ส่วน และบานประตูคู่หลังที่เปิดกางออกได้ 90 องศา

อันที่จริง Daihatsu เคยทดลองพัฒนา Small Crossover หน้าตาประมาณนี้ออกมาแล้วครั้งหนึ่งในชื่อ Daihatsu NAKED ออกจำหน่ายในปี 1999 ทว่า ด้วยรูปทรงที่มาในรูปทรงกล่องแข็งๆ สไตล์ Semi-Retro แถมัวรถยังไม่ได้ยกสูงขึ้นมาชัดเจนนัก อีกทั้งดูเหมือนว่า ตัวรถ ออกจำหน่าย ก่อนยุคสมัยที่ B-Segment Small Crossover SUV จะได้รับความนิยมเปรี้ยงปร้างไปทั่วโลก ทำให้มันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทว่า การมาถึงของคู่แข่งอย่าง Suzuki Hustler ที่ขายดีเทน้ำเทท่าในญี่ปุ่น ทำให้ Daihatsu เริ่มมีแนวคิดที่จะทำ K-Car แนว ลุยๆ แบบนี้อีกครั้ง

แม้ว่าเราจะยังไม่แน่ใจว่า เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Waku Waku จะพร้อมขึ้นโชว์รูมทั่วญี่ปุ่น ภายใน 2 ปีข้างหน้าได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ Daihatsu ก็มองเห็นโอกาสในตลาด B-Segment Crossover SUV ซึ่งมีขนาดตัวถังใหญ่กว่า และมีโอกาสผลิตส่งไปขายในตลาดอื่นๆ นอกญี่ปุ่น มากกว่า มานานมากแล้ว วันนี้พวกเขาพร้อมที่จะส่ง รถยนต์รุ่นใหม่ บุกตลาดแทน ตระกูล Terios ซึ่งล้มหายตายจากจนหลายคนลืมเลือนไปหมดแล้ว เสียที

Daihatsu ROCKY (B-Segment Crossover SUV)

ด้านหน้าของบูธ Daihatsu ต้อนรับผู้เข้าชมงาน ด้วย SUV คันเล็ก ขนาดกำลังดี สีแดง และสีขาว รวม 2 คัน แต่สามารถเปิดให้ทุกคนขึ้นไปนั่งได้ เต็มที่ก็จริงอยู่ แต่เจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นของ Daihatsu บอกกับเราว่า ถึงรถคันนี้จะมีชื่อรุ่นเรียบร้อยแล้ว แต่เขายังไม่สามารถบอกได้ ต้องรอให้งาน Tokyo Motor Show ครั้งนี้ เสร็จสิ้นลงไปเสียก่อน

หลังปรากฎตัวในงานได้ไม่กี่วัน ก็มีภาพหลุดเอกสาร Brochure สำหรับช่วง Pre-Launch ของ เวอร์ชันฝาแฝด อย่าง Toyota RAIZE ตามออกมาแทบจะทันที (รายละเอียดคลิกอ่านได้ Click Here) ทำให้เราได้รู้ว่า รถทั้ง 2 รุ่น จะถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง TNGA (โดย Daihatsu จะเรียกพื้นตัวถังแบบนี้ของตนว่า DNGA) มีความยาวตัวถัง 3,995 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,620 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ  2,525 มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.0 ลิตร (996 ซีซี) หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พร้อมระบบอัดอากาศ Turbo และ Intercooler กำลังสูงสุด 98 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 140 นิวตันเมตร (14.3 กก.-ม.) ที่รอบตั้งแต่ 2,400 – 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT สวมล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 195/60R17 แสดงว่า เน้นเซ็ตช่วงล่างมาในสไตล์ค่อนข้างนุ่ม สำหรับเอาใจตลาดญี่ปุ่นแน่ๆ

จากสัมผัสแรกที่คนตัวใหญ่อย่าง J!MMY เข้าไปลองนั่ง บอกได้เลยว่า Daihatsu จัดวางตำแหน่งเบาะนั่ง และข้าวของต่างๆในห้องโดยสาร เอาไว้ได้ดีเยี่ยม จนกระทั่งทำให้พื้นที่ภายในรถ กว้างขวาง และนั่งสบายเกินขนดตัวรถไปมาก การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ทำได้ดีกว่าที่คิด พนักวางแขนทั้งที่แผงประตูด้านข้าง หรือบนฝากล่องคอนโซลกลาง สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีตั้งแต่ข้อศอก

เบาะนั่งคู่หน้า ออกแบบมาให้รองรับสรีระได้ค่อนข้างดีมากๆ เมื่อพิจารณาตามประเภทรถ กลุ่มเป้าหมาย และราคาโดยประมาณของมัน หน้ามีฟองน้ำที่นิ่มในสไตล์เดียวกับรถยนต์ Suzuki  ที่ผลิตในเมืองไทย พนักศีรษะดันกบาลนิดเดียวเท่านั้น เบาะรองนั่ง มีความยาวในระดับปกติของรถยนต์ Toyota และ Daihatsu ในระดับที่ต่ำกว่า Camry แต่พนักพิงหลังพร้อมปีกข้างเบาะนี่ รองรับได้ดีงามมาก

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง ทวำได้สะดวกโยธินเกินคาดหมายไปไกล นั่นเพราะบานประตูคู่หลัง เปิดกางออกได้กว้างราวๆ 80 องศา โดยประมาณ พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง ก็สามารถวางแขนได้สบายพอดี พนักพิงหลังของเบาะหลัง นิ่ม และมีองศามุมเอียงที่เหมาะสม เบาะรองนั่งอาจจะมีฟองน้ำค่อนข้างนิ่ม เหมือน Suzuki Swift แต่มีความยาวกว่านิดหน่อย พื้นที่วางขา เหลือเฟือ นั่งไขว่ห้างได้สบาย ส่วนพื้นที่เนือศีรษะ เหลือมากถึง 4 นิ้วมือในแนวนอน

Toyota ในฐานะเจ้าของหลัก ของ Daihatsu มีส่วนร่วมในการพัฒนา B-SUV รุ่นใหม่คันนี้อยู่มาก และเชื่อแน่ว่า หากพวกเขาวางแผนนำพารถคันนี้ ทำตลาดในต่างประเทศ นอกเหนือจากในญี่ปุ่นแล้ว โอกาสที่รถคันนี้จะขายดิบขายดี มีสูงมากๆ โดยเฉพาะตลาด ASEAN ซึ่งกำลังต้องการรถยนต์ประเภทนี้ และยังไม่มีใครตอบโจทย์ลูกค้าได้จริงๆเลยสักที ดังนั้น เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Toyota RAIZE / Daihatsu New B-SUV คันนี้ จะถูกนำไปขึ้นสายการผลิตที่ Indonesia เพื่อส่งมาเปิดตลาดในบ้านเรา ในอนาคต ด้วยหรือไม่? แม้จะมีโอกาสค่อนข้างริบหรี่ก็ตาม

ล่าสุด Toyota RAIZE ถูกเปิดตัวในญี่ปุ่น วันที่ 5 พฤศจิกายน 2019 นี้ พร้อมกับเวอร์ชันของ Daihatsu ก็จะเปิดตัวตามมาติดๆกัน ในชื่อ Daihatsu Rocky ซึ่งเดิมเคยเป็นชื่อที่ Daihatsu ใช้กับ SUV 2 ประตูของตน ในยุคทศวรรษ 1980 – 1990


HONDA

ผู้ผลิตรถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องยนต์อเนกประสงค์ หุ่นยนต์ Asimo และเครื่องบิน Honda Jet ใช้เวทีของงานปีนี้ ประกาศตอกย้ำยุทธศาสตร์ Honda Vision 2030 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ “การส่งมอบความสุขให้กับผู้คนทั่วโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพของการใช้ชีวิต” (The joy of expanding our life’s potential)

ดังนั้น บูธ Honda ในปีนี้ จึงถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดดังกล่าว เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ล้ำสมัยในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ภายในบูธ มีจอภาพขนาดใหญ่ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ พร้อมแสดงภาพต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกเสมือนจริง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Interactive อีกมากมายให้ทุกคนในครอบครัว รวมทั้งเด็กๆ ได้สนุกสนานเพลิดเพลินตลอดการเยี่ยมชมบูธ

ไฮไลต์สำคัญของ บูธ Honda คือการเปิดตัว Honda FIT / JAZZ Generation ที่ 4  และเป็นวาระเฉลิมฉลองการที่ FIT/JAZZ ขายได้ครบ 7.5 ล้านคันแล้วทั่วโลก รวมทั้งเปิดตัวรถยนต์ และจักรยานยนต์รุ่นใหม่ๆ สำหรับเตรียมทำตลาดในปี 2020 และเริ่มแนะนำ ชื่อสำหรับเรียกกลุ่มเทคโนโลยีรถยนต์ Hybrid ในนาม e:HEV เป็นครั้งแรก ที่จะนำมาใช้กับรถยนต์ขุมพลัง Hybrid และไฟฟ้า BEV นับจากนี้ต่อไป

Honda FIT / JAZZ (4th Generation)

รถเล็กใหม่ล่าสุดของทางค่าย เพิ่งเปิดตัวในงานเป็นครั้งแรกโดยยังไม่มีการเผยรายละเอียดแบบครบถ้วนออกมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราทราบก็คือ เวอร์ชั่นเปิดตัวนั้น ใช้ขุมพลัง Hybrid แบบ HEV และใช้ชื่อรุ่นอย่างเป็นทางการว่า FIT e:HEV ต้นกำลังขับเคลื่อน ประกอบด้วยเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,498 ซีซี หัวฉีด PGM-FI และมอเตอร์ไฟฟ้า i-MMD ซึ่งเพิ่มมอเตอร์เข้าไปจากเดิม 1 กลายเป็น 2 ตัว ซึ่งน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับ Accord Hybrid คือมอเตอร์ขับเคลื่อน 1 ตัวและ Generator 1 ตัว

ในด้านความปลอดภัย FIT เวอร์ชั่นญี่ปุ่น จะติดตั้งระบบ Honda SENSING ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Auto High-Beam
  • ระบบเตือน และ ช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ RDM with LDM
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ LKAS
  • ระบบเตือนการชนรถ และ คนเดินถนน พร้อมระบบช่วยเบรก CMBS
  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมปรับความเร็วตามคันหน้า Adaptive Cruise Control ACC with LSF Low Speed Following

ที่สำคัญ FIT ใหม่ ยังเป็น Generation แรกที่มีการแบ่งสไตล์การตกแต่งตัวถังภายนอก และภายใน ออกเป็นหลายแบบเพื่อให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าผู้ใช้งานมากที่สุด

  • BASIC – เรียบง่าย ภายในดำ สวยแบบ Simple
  • HOME – เสริมการตกแต่งภายในด้วยวัสดุสี Ivory สร้างความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้าน
  • NESS – ใส่สีสัน แถบสีสะท้อนแสง ตกแต่งตามโครงเสา ด้านข้างรถ และภายใน เน้นความเป็นวัยรุ่น
  • LUXE – ละเมียด หรูหรา เหมือนพยายามจะเอาใจผู้ใหญ่ ภายในหุ้มหนังสีชานม
  • CROSSTAR  – ตกแต่งแบบ Crossover  ใช้กระจังหน้าที่แตกต่าง และหลังคาพ่นสีดำ ความสูงของรถจริงๆแล้วแทบไม่ต่างจากรุ่นอื่นๆเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องการนำมาจำหน่ายในประเทศไทยนั้น ยังลูกผีลูกคนในแบบ 50:50 เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า Jazz รุ่นใหม่จะไม่มาทำตลาดในไทยแล้ว ทำให้ต้องมาดูกันต่อว่า Honda จะไม่มีรถรุ่นใดมาทำตลาดแฮทช์แบ็ค 1.0-1.2 ลิตรเลย หรือว่าจะมีการนำรถแฮทช์แบ็ครุ่นอื่นที่ไม่ใช่ Honda FIT รูปร่างหน้าตาลักษณะแบบเวอร์ชั่นญี่ปุ่นมาจำหน่าย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ยอดขายของ Jazz ในไทยจะไม่สูงเท่า City แต่ก็ยังขายได้เดือนละหลักพันคัน และเป็นแม่เหล็กสำคัญในการเรียกลูกค้าวัยรุ่นเข้าโชว์รูมมาเสมอ หาก Honda จะยกเลิกการทำตลาดรถยนต์ Hatchback 5 ประตู ขนาดเล็กไปเลย คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย (รายละเอียดและภาพเพิ่มเติม คลิกอ่านต่อได้ ที่นี่ Click Here!)

นอกเหนือจาก FIT / JAZZ ใหม่แล้ว Honda ยังประกาศ เตรียมส่งรถยนต์ 2 รุ่นใหม่ เปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น ช่วงต้นปี 2020 ที่จะถึงนี้ หลังจากเผยโฉมและเริ่มออกขายในต่างประเทศมาบ้างแล้ว

Honda e

ถึงจะเผยโฉมมาแล้วในงาน Geneva Motor Show เมื่อเดือนมีนาคม 2019 และเปิดตัวเวอร์ชันพร้อมจำหน่ายจริงมาแล้ว ในงาน Frankfurt Motor Show เดือนกันยายน 2019 ที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ถือเป็นการอวดโชว์โฉม เวอร์ชั่นพร้อมจำหน่ายจริง ครั้งแรกในญี่ปุ่น ของ Honda e รถยนต์พลังมอเตอร์ไฟฟ้าล้วน ที่มีการออกแบบเรียบง่าย ดึงเอาลักษณะบางส่วนมาจากรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นดังในอดีตอย่าง Honda N360 กลับมาประยุกต์ให้ดูร่วมสมัย ด้วยรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆมากมาย เช่นมือจับเปิดประตูแบบที่ยื่นออกมาเฉพาะเมื่อต้องใช้ กระจกมองข้างหายไป กลายเป็นกล้องส่องหลังคล้ายของ Audi e-tron แทน

ภายในออกแบบในลักษณะเหมือนกับเลาจน์ ดูเรียบง่าย สบาย แต่ทันสมัย แสดงผลผ่านจอภาพขนาดใหญ่ 5 จอ พร้อมระบบ AI Honda Personal Assistant และยังสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในรถไม่ว่าจะเป็นระบบนำทาง ข้อมูลสถานที่ เพลง หรือข้อมูลการจราจร

สำหรับรถสเป็คญี่ปุ่นนั้น ยังไม่มีการระบุตัวเลขข้อมูลต่างๆชัดเจน ทราบแต่เพียงว่ามันสามารถชาร์จผ่านระบบ Rapid charging เพื่อเติมแบตเตอรี่ 80% ได้ภายในเวลาเพียง 30 นาที อย่างไรก็ตาม เรามีตัวเลขจากรถเวอร์ชั่นยุโรปที่บ่งชี้ว่า Honda e จะมีขุมพลัง 2 ระดับ คือรุ่นธรรมดา 134 แรงม้า (PS) และรุ่น Advance 152 แรงม้า (PS) ซึ่งจะสวมล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว และทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ ภายใน 8.0 วินาที ทว่า การชาร์จไฟ 1 ครั้ง เต็มที่ จะแล่นได้ไกลแค่ราวๆ 220 กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่ง Honda ยุโรปบอกว่า แค่นี้ก็พอแล้วสำหรับรถคนเมือง เพราะคนยุโรปส่วนมากใช้รถวันละไม่ถึง 50 กิโลเมตร

Honda ACCORD e:HEV (Japan Premiere)

นี่คือการเปิดตัวครั้งแรกของ Honda Accord เจนเนอเรชั่นที่ 10 ซึ่งช้ากว่าอเมริกาและไทยอยู่นานหลายเดือน นอกจากนี้ Accord ของญี่ปุ่น ยังเปิดตัวด้วยขุมพลังแบบเดียวคือ รุ่นไฮบริด โดยใช้ชื่อรุ่นว่า e: HEV ซึ่งจะเป็นชื่อรุ่นย่อยใหม่ที่สื่อถึงขุมพลังไฮบริดแบบใหม่  ยังไม่แน่ชัดว่า Accord e:HEV จะกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีเครื่องยนต์ไว้ปั่นไฟ (ทำนองเดียวกับ e-Power ของ Nissan) ซึ่งมีความแตกต่างจากเวอร์ชั่นตลาดโลกและไทยหรือไม่ เนื่องจากเอกสารของ Honda ไม่ได้อธิบายวิธีการทำงานของระบบอย่างชัดเจนนัก

เวอร์ชั่นไทย ใช้ระบบ  i-MMD แบบ Dual Motor ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในยามขับขี่ในเมืองกับกดคันเร่งเต็ม ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้เพื่อการปั่นไฟและใช้เพื่อขับเคลื่อนในช่วงวิ่งความเร็วคงที่ จึงไม่สามารถนับเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบติดตั้งเครื่องยนต์เพื่อสร้างไฟ และทำให้ต้องใช้ชื่อรุ่นว่า Hybrid อยู่

ทั้งนี้ Accord เวอร์ชั่นญี่ปุ่น จะไม่มีขุมพลังเครื่องยนต์สันดาปภายในล้วนๆ ให้เลือกในขณะเปิดตัวแม้แต่บล็อคเดียว จะมีแต่ขุมพลัง Hybrid ในชื่อ e:HEV เท่านั้น ตัวรถจะผลิตขึ้นจากโรงงานของ Honda ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ในประเทศไทย ก่อนจะส่งออกทางเรือมาจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีกำหนดลงโชว์รูม พร้อมส่งมอบให้ลูกค้าได้ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งเท่ากับว่าช้ากว่าการเปิดตัวในประเทศไทยเกือบ 1 ปี

นอกเหนือจากนี้ Honda ยังใช้พื้นที่บูธ ร่วมฉลองการเข้าร่วมแข่งขันรถยนต์รายการ Formula 1 World Grand Prix ครบรอบ 60 ปี ของพวกเขา ด้วยการนำบรรดารถจักรยานยนต์แข่งทางเรียบ และรถแข่ง Formula 1 มาจัดแสดงในงานนี้ด้วย ได้แก่…

  • รถแข่ง Honda RA272 ที่เคยเข้าร่วมลงแข่งในรายการ 1965 FIA Formula 1 WGP Mexican GP Champion
  • รถแข่ง McLaren Honda MP4/4 ที่เคยคว้าชัยชนะในรายการ 1988 FIA Formula 1 WGP
  • รถแข่ง Honda RA106 ที่เคยเข้าร่วมลงแข่งในรายการ 2006 FIA Formula 1 Hungarian GP Champion
  • รถแข่ง Scuderia Toro Rosso STR13 ที่เคยเข้าร่วมแข่งขันรายการ 2019 FIA Formula 1 World Championship
  • รถแข่ง Aston Martin Red Bull Racing RB14 ที่เคยเข้าร่วมแข่งขันรายการ 2019 FIA Formula One World Championship

ส่วนบรรดารถยนต์รุ่นที่มีจำหน่ายอยู่แล้วในตลาด Honda ก็นำ Compact Minivan รุ่น FREED Generation ที่ 2 ซึ่งเพิ่งถูกปรับโฉม Minorchange รวมทั้งเพิ่มรุ่น CROSSTAR ตกแต่งในแนว Crossover และเพิ่งส่งขึ้นโชว์รูมไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา สดๆร้อนๆ มาจัดแสดงในงานดังกล่าว (รายละเอียดต่างๆ คลิกเข้าไปอ่านได้ ที่นี่ Click Here) แต่คุณผู้อ่านทั้งหลาย ไม่ต้องลุ้นนะครับ เพราะยังไงๆ Honda ก็จะไม่นำ Freed รุ่นนี้ เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ Honda ก็ยังเลือกขนบรรดา K-Car พิกัด ไม่เกิน 660 ซีซี 64 แรงม้า (PS) รุ่นขายดี ในตระกูล N ย่อมาจาก New Next Nippon Norimono (乗り物 แปลว่า ยานพาหนะ) มาจอดโชว์ตัวกันครบ ทั้ง N-Box แชมป์ยอดขาย K-Car อันดับ 1 ถึง 4 ปีซ้อน รวมทั้ง N-WGN กับรถตู้เพื่อการพาณิชย์ Design สุดน่ารัก N-Van ที่ถูกดัดแปลงมาเป็นรถตู้ กาชาปอง เคลื่อนที่ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ Super Car ขุมพลัง Hybrid ขับเคลื่อน 4 ล้อ SH-AWD อย่าง Honda NSX เวอร์ชัน Minorchange ซึ่งปรับโฉมไปตั้งแต่ปลายปี 2018 ที่ผ่านมา


MAZDA

ช่วง5 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากกองเถ้าถ่าน ของระเบิดปรมาณูที่ Hiroshima หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รายนี้ พยายามปรับภาพลักษณ์ของตนเอง จากเดิมที่เน้นความสนุกสนานในการขับขี่ กลายมาเป็นแบรนด์รถยนต์ ที่ดู Premium ยิ่งขึ้น สุขุม และคัมภีรภาพมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้างาน Tokyo Motor Show จะเริ่มขึ้นเล็กน้อย Mazda ประกาศเปิดตัว Mazda 3 ใหม่ เวอร์ชันญี่ปุ่น พร้อมกับประกาศ ยกเลิกการใช้ชื่อรุ่น สำหรับเรียกขายเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ทั้ง Demio , Axela , Atenza ทิ้งไปให้หมด โดยเปลี่ยนมาเป็น Mazda 2 Mazda 3 และ Mazda 6 ให้เหมือนกันหมดทั้งโลก อีกด้วย

ปีนี้ Mazda ไม่มีรถยนต์ต้นแบบมาอวดโฉมเลยสักคัน แต่พวกเขา เลือกใช้เวทีในงานนี้ เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด ขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ แบบแรกในประวัติศาสตร์ของตนเอง นั่นคือ Mazda MX-30

Mazda MX-30

Mazda MX-30 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน BEV-Battery Electric Vehicle  รุ่นแรกที่ทางค่ายจะผลิตขึ้นมาเพื่อขายอย่างจริงจัง Mazda เลือกใช้บอดี้แบบ Crossover โดยใช้พื้นฐานแพลทฟอร์มที่ประยุกต์มาจาก Mazda CX-30 และ Mazda 3  เนื่องจากรถยนต์ประเภทนี้ ในปัจจุบัน เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมสูงในทำนองเดียวกันไม่ว่าจะเป็นตลาดในทวีปไหน รูปทรงแบบ Crossover ยังเอื้ออำนวยต่อการออกแบบ แบ่งปันพื้นที่ระหว่างแบตเตอรี่ มอเตอร์ขับเคลื่อนและยังเหลือความสบายในห้องโดยสาร

MX-30 มีขนาดมิติตัวรถ ยาว 4,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,570 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,655 มิลลิเมตร นับว่ามีขนาดตัวเท่ากันกับ Mazda CX-30 เลยทีเดียว ยกเว้นแค่ความสูงของตัวรถที่ CX-30 จะเตี้ยกว่ากันอยู่ 30 มิลลิเมตร

จุดเดนอีกประการหนึ่งของ MX-30 ก็คือประตูที่เรียกว่า Freestyle Door ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนประตูตู้กับข้าวของรถกระบะมีแค็บ ประตูบานหน้า เปิดไปทางด้านหน้า และบานหลังก็เปิดไปข้างหลัง

ระบบขับเคลื่อนของ MX-30 นั้น Mazda ขนานนามให้ใหม่ว่า e-SKYACTIV เพื่อนำไปใช้เป็นธีมโปรโมททางการตลาดที่แตกต่างระหว่างรถยนต์เครื่องสันดาปภายในปกติ และรถ BEV ของทางค่ายที่จะมีรุ่นอื่นๆตามออกมาอีกในอนาคต

มอเตอร์ไฟฟ้า e-SKYACTIV ที่ใช้ใน MX-30 นั้น ยังไม่มีการระบุตัวเลขพลังที่มันสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ที่ใช้นั้น เป็นแบบ Lithium-ion แรงดันไฟฟ้า 355V ความจุไฟ 35.5 kWh ซึ่งหากเป็นตามนี้จริง พิสัยทำการของรถอาจจะอยู่ในระดับกลาง 250-350 กิโลเมตรตามแต่สภาพการขับขี่ ซึ่งใกล้เคียงกับ Nissan LEAF ส่วนระบบชาร์จไฟ มีทั้งแบบ DC กระแสตรง Combo Standard และระบบชาร์จกระแสสลับ AC กำลังสูงสุด 6.6kW

กำหนดการออกสู่ตลาดญี่ปุ่น จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2020 พร้อมกับการนำไปเปิดตัวในตลาดยุโรป ช่วงงาน Geneva Motor Show เดือนมีนาคม 2020 และมีแนวโน้มว่า MX-30 รวมทั้งบรรดารถยนต์พลังไฟฟ้าล้วนของ Mazda อาจจะยังไม่มาถึงเมืองไทยในช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะต้องรอให้ Mazda 3 Hybrid เปิดตัวในประเทศไทยก่อน เป็นระลอกแรก

(รายละเอียดเพิ่มเติมของ Mazda MX-30 อ่านได้ที่นี่ Click Here!)

นอกเหนือจาก MX-30 แล้ว Mazda ยังนำ CX-8 Minorchange มาเปิดตัวในงานนี้เป็นครั้งแรก ร่วมกับ CX-30 เวอร์ชันญี่ปุ่น ที่เพิ่งถูกส่งขึ้นโชว์รูมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2019 ที่ผ่านมาหมาดๆ มาออกแสดงร่วมกับ Mazda 3 , Mazda 2 และ Mazda MX-5 ใหม่ ด้วย

ตั้งข้อสังเกตว่า CX-30 มีการขยายขนาดของห้องโดยสารและห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ยาวขึ้นกว่า CX-3 อยู่พอสมควร การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า ของ CX-30 ทำได้ดีขึ้นกว่า CX-3 นิดหน่อย แต่การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง ทำได้ดีขึ้นชัดเจน เนื่องจาก บานประตูคู่หลัง มีขนาดกว้างขึ้นเล็กน้อย

เบาะนั่งคู่หน้า มาในสไตล์เดียวกับ Mazda 3 ใหม่ คือ แอบมีพนักศีรษะดันกบาลนิดๆ ส่วนพนักพิงหลัง และเบาะรองนั่ง ให้สัมผัสที่คล้ายคลึงกับ Mazda 3 ผสมกับ CX-3 รุ่นเดิม ส่วนเบาะนั่งแถวหลัง คล้ายกับ CX-3 เดิม แค่มีพื้นที่วางขา  เพิ่มขึ้นจาก CX-3 เดิม นิดเดียว แต่มีพื้นที่เหนือศีรษะ เหลือถึง 4 นิ้วมือในแนวนอน ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาดใหญ่โตกว่า CX-3 ชนิดคนละเรื่อง! เรียกได้ว่า แก้ปัญหาต่างๆที่เราเคยพบเจอกันมาใน CX-3 ไปได้เยอะมาก คงต้องรอให้ CX-30 มาขึ้นสายการประกอบในเมืองไทย ภายในปี 2020 เราจึงจะได้มีโอกาสสัมผัสรถคันนี้เต็มๆมากกว่านี้

รายละเอียดของ CX-30 คลิกอ่านได้ ที่นี่ Click Here!
รายละเอียดของ CX-8 ที่จะเปิดตัวในเมืองไทย 16 พฤศจิกายน 2019 Click Here!
Exclusive First Impression ลองขับ Mazda CX-8 กลางหิมะที่ Hokkaido Click Here!


Mercedes-Benz & Smart

กลายเป็น 1 ใน 3 ผู้ผลิตรถยนต์ชาวตะวันตก เท่านั้น ที่ตัดสินใจยอมมาร่วมออกบูธจัดแสดงในงานครั้งนี้ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเห็นความสำคัญของตลาดญี่ปุ่น ในฐานะ แบรนด์ที่มียอดขาย 1 ใน 3 ของรถยนต์นำเข้าในประเทศนี้ หรือว่าเป็นเพราะทาง JAMA ไปเจรจาว่า ขอให้ยังคงออกบูธในปีนี้ต่อไปอีกสักปี ก็อาจเป็นไปได้

ปีนี้ Mercedes-Benz ขนเอาบรรดารถยนต์ที่เคยจัดแสดงมาแล้วใน Frankfurt Motor Show อันแสนหงอยเหงา เมื่อเดือนกันยายน 2019 มาจัดแสดงในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ทั้ง รถยนต์ต้นแบบ Mercedes-Benz Vision EQS ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับทั้ง S-Class รุ่นต่อไป และ Luxury Sedan ขุมพลังไฟฟ้า พิกัดตัวถังเท่ากับ S-Class ที่กำลังอยูในระหว่างการพัฒนา และคาดว่าจะนำออกสู่ตลาดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า (รายละเอียดเพิ่มเติม อ่านได้ คลิกที่นี่ Click Here)

อีกรุ่นหนึ่งคือ Mercedes-Benz  GLC F-CELL ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเยอรมนี เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2019 ที่ผ่านมา จุดเด่นของรถคันนี้คือ เป็นรถยนต์แบบแรกในโลก ที่ใช้ มอเตอร์ไฟฟ้า มา Hybrid กับ Fuel Cell ในการขับเคลื่อน พร้อมกับระบบ เสียบปลั๊กชาร์จไฟ ให้แล่นได้ในแบบ EV พร้อมกัน ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle)…! โดยไม่มีเครื่องยนต์สันดาปใดๆทั้งสิ้น!

ปกติ รถยนต์ Fuel Cell อย่าง Toyota Mirai หรือ Honda Clarity Fuel Cell นั้น ขับเคลื่อนได้โดย เติม Hydrogen เข้าไปทำปฏิกิริยา กับ Fuel Cell Stack เกิดไฟฟ้า มาเก็บไว้ที่แบ็ตเตอรี ให้มอเตอร์ ดึงไปใช้หมุนล้อรถยนต์ แต่ Mercedes-Benz GLC F-CELL จะแปลกกว่าชาวบ้านเขา ตรงที่ เพิ่มการติดตั้งระบบ Plug-in เสียบปลั๊กไฟ ชาร์จเข้าไปยัง แบ็ตเตอรี เข้ามาให้ด้วยนั่นเอง!

GLC F CELL ขับเคลื่อนด้วย มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Synchronous Motor) พร้อม แบ็ตเตอรี Lithium-ion ขนาด 13.5 kWh (Gross Capacities) และมีถัง Carbon Fiber 2 ถังแยก ติดตั้งบนพื้นตัวถังรถ เพื่อบรรจุ Hydrogen เหลวได้สูงสุด 4.4 กิโลกรัม แรงดัน 700 Bar  พละกำลังรวมทั้งระบบ อยู่ที่ 155 กิโลวัตต์ หรือ 211 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 365 นิวตันเมตร (37.19 กก.-ม.) ใช้เวลาชาร์จไฟ ผ่าน On-Board Wall Box ขนาด 7.4 kWh. จากไฟที่เหลืออยู่ 10% จนเต็ม 100% ได้ในเวลาเพียง 1.5 ชั่วโมง เท่านั้น! ขับเคลื่อนได้ทั้งโหมด Fuel Cell ล้วน เพื่อเดินทางไกล โหมดไฟฟ้าล้วน EV สำหรับแล่นในเมือง โหมด Hybrid (คือ Fuel Cell กับ EV ทำงานร่วมกัน) และโหมด Charge ไฟกลับเข้าระบบได้ ทั้งจากการเบรก หรือจากการเสียบปลั๊กชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV ทั้งในบ้าน หรือสถานที่สาธารณะ

Mercedes-Benz เริ่มทดลองปล่อย GLC F-Cell เพื่อเก็บข้อมูลและทดสอบตลาด ตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2018 โดยเน้นไปที่เมืองซึ่งมีสถานีเติมก๊าซ Hydrogen แล้ว ทั้ง Berlin, Hamburg, Frankfurt, Stuttgart, Munich, Cologne และ Düsseldorf ลูกค้ากลุ่มแรก ของ GLC Fuel Cell คือ การรถไฟเยอรมัน (Deutsche Bahn) ส่วนลูกค้าองค์กรอื่นๆ จะสามารถเช่า GLC F-CELL มาใช้งานได้แล้ว ผ่านทางบริษัทรถเช่า Mercedes-Benz Rent

ส่วนรถยนต์รุ่นใหม่ ล้วนแล้วแต่เป็นรุ่นที่เปิดตัวไปในตลาดโลกกันหมดแล้ว แต่เพิ่งมาโผล่ในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เช่น รถตู้ V-Class Facelift , CLA-Class Generation ที่ 2 (ซึ่งรุ่นธรรมดา จะไม่ถูกสั่งมาจำหน่ายในเมืองไทยอย่างแน่นอน เพราะจะไปทับซ้อนการทำตลาดกับ A-Class Sedan) รวมทั้ง Mercedes-AMG A45S หนึ่งในเวอร์ชันร้อนแรงที่สุดของตระกูล A-Class Generation ที่ 4

สำหรับ Smart แบรนด์รถยนต์ในเมือง ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนทิศทางในการหันมาทำรถยนต์พลังไฟฟ้าล้วนๆ ก็มี Smart EQ ForTwo มาจอดโชว์และเตรียมทำตลาดจริงในญี่ปุ่น ตามติดฝั่งยุโรปกันในทันที (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่นี่ Click Here)



(ภาพ : Gazoo.com)

MITSUBISHI MOTORS
2 Concept Car & 1 “Soon to launch” New K-Minivan

ดูเหมือนว่า Mitsubishi Motors จะยังคงยืนกรานเลือกเดินหน้าพัฒนารถยนต์ในแนวทาง SUV รวมทั้งยานยนต์ที่ใช้ขุมพลังไฟฟ้า อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ตามแผนธุรกิจที่พวกเขาได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ สังเกตได้จากพื้นที่ของบูธในปีนี้ นอกจากจะตกแต่งอย่างเรียบง่ายขึ้น และมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ Plug-in Hybrid PHEV ที่มีอยู่ใน SUV รุ่น Outlander แล้ว ปีนี้ Mitsubishi Motors ยังมีรถยนต์ต้นแบบมาจัดแสดงรวมถึง 3 คัน โดย 2 คันแรก จะเปิดตัวในงานนี้ เป็นครั้งแรกในโลก ส่วนอีกคันหนึ่ง จะเป็นการเผยโฉมครั้งแรกในญี่ปุ่น

Mitsubishi MI-TECH Concept

คำจำกัดความสั้นๆ ของรถคันนี้ก็คือ ยานยนต์ยกสูง 2 ที่นั่ง สไตล์รถ Buggy พร้อมขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ใช้เครื่องยนต์เป็นตัวปั่นไฟ แบบ PHEV ไม่มีหลังคา ถูกออกแบบขึ้นให้มีเอกลักษณ์ด้านหน้ารถตามแนวทาง Dynamic Shield ซึ่งเป็นแนวการออกแบบใหม่ล่าสุดของ Mitsubishi Motors

ขุมพลังของ MI-TECH Concept เป็นระบบ Plug-in Hybrid (PHEV) ประกอบด้วย เครื่องยนต์ ปั่นกระแสไฟฟ้า Gas Turbine ที่สามารถเติมเชื้อเพลิงได้ ทั้ง Diesel , Kerosene และ Alcohol ไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรี Lithium-ion เพื่อส่งต่อให้กับ มอเตอร์ไฟฟ้า แบบ 4 ตัว ทำดยสามารถเลือกให้เหมาะสมตามพื้นที่ใช้งาน ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมระบบ S-AWC และ Active Yaw Control (AYC)

ระบบความปลอดภัยมีแพคเกจ MI-PILOT ระบบขับขี่กึ่งอัตโนมัติ ซึ่งไม่ได้รองรับแต่ถนนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังทำงานได้บนทางกันดารที่ไม่มีการลาดยางด้วย นอกจากนั้น กระจกบานหน้ายังมีระบบ AR เพื่อแสดงข้อมูลจำลองเสมือนจริงถนนเบื้องหน้า ไว้ใช้ในกรณีที่ทัศนวิสัยเลวร้าย จนมองไม่เห็นทาง

รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถ คลิกอ่านต่อได้ ที่นี่ Click Here

Mitsubishi K-WAGON CONCEPT

ผลผลิตรุ่นใหม่ล่าสุด ลำดับที่ 4 จากความร่วมมือกันของ Nissan และ Mitsubishi ในนามบริษัท NMKV Co.,ltd ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2011 เพื่อจับมือแท็คทีมกันบุกตลาด Kei-Jidosha (K-Car) ไม่เกิน 660 ซีซี อันเป็นตลาดที่มีเฉพาะแต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น คาดว่า K-Wagon Concept น่าจะมาทำตลาดแทน Mitsubishi eK Space และ Nissan Dayz Roox รุ่นปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในตลาดมานานมากแล้ว

จุดเด่นสำคัญของ K-Wagon Concept คือ การออกแบบให้หลังคามีความสูงมากเกินหน้าเกินตาคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด เพื่อเพิ่มความโปร่งสบายในการเดินทางมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แถมด้วยการออกแบบห้องโดยสาร ด้วยวัสดุที่ดูดี เทียบเท่ารถยนต์ขนาดใหญ่กว่า รวมทั้งยังติดตั้งประตูบานเลื่อนคู่หลัง เปิด-ปิด ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ตามมาตรฐานของรถยนต์แนว Minivan ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ลูกค้าชาวญี่ปุ่นต้องการมาเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อพวกเขาจะซื้อรถยนต์ประเภทนี้

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดทางเทคนิค แต่สิ่งที่ยืนยันได้แน่นอนคือ ตัวถังจะมีความกว้างไม่เกิน 1,475 มิลลิเมตร และวางเครื่องยนต์ รหัส BR06 เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 659 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 62.7 x 712 มิลลิเมตร หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ มีให้เลือกทั้งรุ่นมาตรฐาน กำลังอัด 12.0 : 1 กำลังสูงสุด 52 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.1 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบ/นาที และรุ่น Turbocharger พร้อม Intercooler 64 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.2 กก.-ม.ที่ 2,400 – 4,000 รอบ/นาที

เครื่องยนต์ ทั้ง 2 แบบ จะพ่วงกับระบบ Hybrid ประกอบด้วย มอเตอร์ไฟฟ้า รุ่น SM21 กำลังสูงสุด 27 แรงม้า (PS) ที่ 1,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 4.1 กก.-ม. ที่ 100 รอบ/นาที (เขียนไม่ผิดครับ) เชื่อมต่อกับ แบ็ตเตอรี Lithium-ion มีให้เลือกทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT ขุมพลังทั้งหมดนี้ มีประจำการอยู่แล้วใน Mitsubishi eK-Wagon และ eK X รุ่นล่าสุด ซึ่งเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น ไปตั้งแต่ วันที่ 28 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะถูกนำมาติดตั้งให้กับ K-Wagon ด้วย

ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ อัตโนมัติบนถนนช่องจราจรเดียวอย่าง MI-PILOT (Mitsubishi Intelligent-PILOT) ประกอบด้วยระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ แปรผันระยะห่างจากรถคันข้างหน้าได้อัตโนมัติ ACC (Adaptive Cruise Control) และระบบรักษารถให้อยู่ในเลนถนน LKAS (Lane Keeping Assist System)

เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ K-Wagon Concept จะถูกเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น ภายในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2019 (หรือราวๆ ไม่เกินปลายเดือนมีนาคม 2020)

Mitsubishi Engelberg Tourer Concept (Next Gen. of Outlander PHEV)

แม้ว่ารถยนต์ต้นแบบ Crossover SUV ขนาดกลาง คันนี้ จะเคยเปิดตัวครั้งแรกไปแล้วในงาน Geneva Motor Show เมื่อ 5 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมา แต่สำหรับงาน Tokyo Motor Show คราวนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่รถยนต์คันนี้ จะปรากฎตัวต่อสายตาของชาวญี่ปุ่น

ชื่อ Engelberg นั้น เป็นชื่อที่ค่อนข้างแปลกหู และไม่ค่อยมีใครจะคิดนำมาตั้งชื่อรถยนต์กันสักเท่าไหร่ แต่ความจริงแล้ว นี่คือชื่อของ Ski Resort ที่ได้รับความนิยมมากในภาคกลาง ของ Switzerland มันเป็นสถานที่อันน่าท้าทายแก่บรรดานัก Ski และนักเล่น Snowboard เป็นอย่างมาก

Engelberg Tourer ติดตั้งขุมพลังแบบPlug-in Hybrid (PHEV) ประกอบด้วย เครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.4 ลิตร ทำหน้าที่ปั่นกระแสไฟไปส่งให้ มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ลูก ส่งกำลังอิสระยังเพลาคู่หน้าและคู่หลัง จนกลายเป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา พร้อมระบบควบคุมการขับเคลื่อน Super All-Wheel Control (S-AWC) จะช่วยเพิ่มแรงเบรกจากมอเตอร์ไฟฟ้าขณะเบรก และยังช่วยเพิ่มสมรรถนะขณะเร่งหรือขับขี่บนทางหิมะ และระบบกระจายแรงบิดระหว่างล้อคู่หน้า Active Yaw Control (AYC) เพื่อช่วยควบคุมอาการของรถขณะเลี้ยวเข้าโค้ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจาก Mitsubishi Lancer Evolution

Engelberg Tourer สามารถแล่นในโหมดไฟฟ้าล้วนๆ (EV-Mode)  ด้วยระยะทางสูงสุด 70 กิโลเมตร แต่ถ้าหากแล่นด้วยน้ำมันเต็มถังและ พลังงานไฟฟ้าเต็มแบตเตอรี่ ก็จะสามารถทำรำยะทางได้ไกลถึง 700 กิโลเมตร ตามมาตรฐานการทดสอบใหม่ล่าสุด WLTP

มีการยืนยันแล้วว่า เส้นสายภายนอกของ Engelberg Tourer คันนี้ จะถูกถอดแบบออกมาเป็น Mitsubishi Outlander PHEV รุ่นต่อไป ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาขึ้น บนพื้นตัวถัง CMF ร่วมกับ Nissan New X-Trail Generation ต่อไป โดย Outlander PHEV ใหม่ มีแผนจะเปิดตัวครั้งแรกในโลก ณ งาน Geneva Motor Show เดือนมีนาคม 2020 ที่จะถึงนี้ ก่อนจะถูกนำมาขึ้นสายการผลิตที่โรงงาน แหลมฉบัง ในประเทศไทย และเปิดตัวในบ้านเรา ภายในปีเดียวกัน!!!

นอกจากรถยนต์ต้นแบบทั้ง 2 คัน กับ K-Minivan ประตูบานเลื่อน หลังคาสูง อย่าง K – Wagon Concept แล้ว Mitsubishi Motors ก็ขนสารพัด SUV Minivan และ K-Car รุ่นใหม่ๆ มาอวดโฉมกันเต็มพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น Mitsubishi eK-X (อ่านว่า อีเค-ครอส) K-Car สไตล์ Crossover ขุมพลัง Hybrid  ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ 28 มีนาคม 2019 (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่นี่ Click Here) รวมทั้ง Mitsubishi Delica D:5 Big Minorchange ซึ่งเพิ่งปรับโฉมครั้งใหญ่ไปเมื่อ ที่ผ่านมา หลังจากออกขายมาตั้งแต่ปี 2007 พร้อมกับ Galant Fortis / Lancer EX!! (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่นี่ Click Here) ไปจนถึง Mitsubishi Outlander PHEV โฉมปัจจุบัน , Mitsubishi Eclipse CROSS ซึ่งยืนยันแล้วว่า “ไม่มีแผนมาประกอบขายในเมืองไทยอย่างแน่นอน” และ Mitsubishi RVR หรือ ASX ที่ปรับโฉม Minorchange มาตั้งแต่ 2 ปีก่อน (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่นี่ Click Here)


NISSAN

ปีนี้ พื้นที่ของบูธ Nissan ยังคงยาวและใหญ่โตมโหฬาร เหมือนเช่นเคย เวทีตรงกลาง เป็นจอขนาดใหญ่ แสดงรูปต้นไม้ยักษ์ จนทำให้หลายคนที่เดินผ่าน เผลอเข้าใจไปว่า เป็นต้นไม้จริงๆ แต่ในช่วงก่อนงานจะเริ่มต้น Nissan ปล่อยภาพและข้อมูลของรถยนต์ที่จะจัดแสดงในบูธทุกคัน รวมทั้งรถยนต์ต้นแบบ IMk Concept ออกมาก่อน จากนั้น ในวันงานจริง จึงจะเปิดผ้าคลุม รถยนต์ต้นแบบ Nissan Ariya Concept ตามมาเป็นก็อก 2 กระนั้น สื่อมวลชนฝั่งญี่ปุ่น ถูกรับเชิญให้ไปร่วมงาน Preview รถยนต์ต้นแบบ ทั้ง 2 คัน มาก่อนชาวโลกเขาเรียบร้อยแล้ว

Nissan ARIYA Concept

นี่คือรถต้นแบบที่ห่อหุ้มโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของพันธมิตร Renault-Nissan-Mitsubishi เอาไว้ แม้จะใช้ชื่อที่ทำให้คนไทย พากันตั้งคำถามว่า ทีมออกแบบ Nissan ดูละครทีวีเมืองไทยมากไปหรือเปล่า? แต่หัวหน้าฝ่ายออกแบบ Alfonso Albaisa ก็กล่าวบนเวทีระหว่างแถลงข่าวด้วยว่า “ถ้า Nissan เริ่มตั้งชื่อรุ่นรถต้นแบบให้เป็นชื่อที่อ่านออกเสียงจริงๆ ไม่ใช่ตัวอักษร 2-3 ตัว..นั่นแปลว่ารถคันนั้นมันใกล้ความเป็นจริงเขามาทุกทีแล้ว เหมือนกับเวลาเมียคุณตั้งครรภ์ พอคุณรู้เพศของเจ้าตัวน้อย คุณก็ตั้งชื่อเสร็จตั้งแต่ก่อนคลอดแล้วถูกไหม”

ดังนั้น โครงร่างดีไซน์ของ Nissan Ariya Concept นั้น จึงดูมีความเป็นไปได้สำหรับการผลิตจริง แม้ว่าตัวมันเองจะใช้แนวทางที่ต่อยอดมาจากรถยนต์ต้นแบบ Nissan IMx concept ปี 2017 โดยยังคงรักษากระจังหน้าแบบ V-Motion, ไฟท้ายแบบเส้นเดียว, ระยะ overhang สั้น และห้องโดยสารที่ให้ความรู้สึกเป็น Lounge มากกว่าเป็นรถยนต์นั่งเอาไว้ พร้อมเติมความ เฉี่ยว (sleek), ไร้รอยต่อ (seamless) และ เย้ายวน (sexy) เข้าไป

Ariya นั้น เป็น Crossover ขนาดตัวถังยาว 4,600 มิลลิเมตร กว้าง (รวมกระจกมองข้าง) 1,920 มิลลิเมตร สูง 1,630 มิลลิเมตร ถือว่ามีขนาดใกล้เคียง Nissan X-trail รุ่นปัจจุบัน แต่สั้นกว่า กว้างกว่า เตี้ยกว่า และแน่นอน สวยกว่ามาก  สีตัวถังเป็นสีฟ้า Suisei Blue มีคุณสมบัติสีเหลือบ เมื่อมองจากระยะไกลจะเป็นสีฟ้าด้าน แต่ถ้ามองใกล้ๆ จะสะท้อนแสงเป็นเกล็ดแสงละเอียดยิบ ไม่ต่างจากกลุ่มดาวบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน

ห้องโดยสารของ Nissan Ariya Concept ออกแบบโดยใช้ประโยชน์จากการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มพิกัด ไม่ต้องเผื่อที่สำหรับอุโมงค์เกียร์ ท่อไอเสีย ทำให้หน้าตาเหมือนรถอนาคตโดยแท้ ปุ่มสวิตช์แบบกดถูกตัดออกเกือบหมด เหลือแต่เพียงปุ่มสตาร์ทเท่านั้น หน้าจอแสดงผลขนาด 12.3 นิ้ว  แล้วยังมีการซ่อนปุ่มอื่นเอาไว้ในแดชบอร์ดและแผงประตู จะสว่างขึ้นหรือโผล่หน้ามาให้กดเฉพาะเมื่อจำเป็น ทำให้ได้ภายในที่ดูเรียบร้อยสะอาดตา

Nissan ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดขุมพลังของ Ariya Concept เผยแค่ว่า เป็นแบบมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ ส่งกำลังผ่านระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จาก มีระบบกระจายแรงบิดที่อาศัยหลักการทำงานคล้ายระบบ ATTESA E-TS ใน Nissan GT-R ทำให้มีสมรรถนะเทียบเท่ารถ Crossover พันธุ์แรงจากยุโรป มีอัตราเร่ง และการเกาะถนนที่ดีเยี่ยม

ด้านความปลอดภัยมาพร้อมกับระบบ ProPILOT 2.0 ที่รองรับการขับขี่กึ่งอัตโนมัติ ให้ผู้ขับขี่สามารถละมือจากพวงมาลัยได้ บนถนนที่มีช่องทางจราจรช่องเดียว ทั้งยังสามารถแซงรถยนต์คันหน้าได้เอง โดยทำงานร่วมกับระบบนำทาง และกล้องมองภาพรอบคัน

แม้ Nissan Ariya Concept จะเป็นเพียงรถยนต์ต้นแบบ แต่อย่างที่ Alfonso Albaisa บอก พวกเราอาจได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจาก Nissan ที่มีหน้าตาเหมือน Ariya ได้ 80-90% ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีปัญหาอะไรภายในระหว่าง 3 ก๊ก (Renault , Nissan และรัฐบาลของทั้ง ฝรั่งเศสกับญี่ปุ่น) เสียก่อน

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ ที่นี่ Click Here

Nissan IMk Concept

รถยนต์ต้นแบบ ที่เผยให้เห็นถึงเส้นสายของ รถยนต์ K-Car สำหรับตลาดญี่ปุ่น Generation ต่อไป ที่ Nissan กับ Mitsubishi Motors ซึ่งจับมือกันตั้งบริษัท NMKV พัฒนาและผลิตออกขาย ในอีก 1 ปีข้างหน้า

IMk Concept มีขนาดตัวถังยาว 3,434 มิลลิเมตร กว้าง (รวมกระจกมองข้าง) 1,512 มิลลิเมตร สูง 1,644 มิลลิเมตร จอดเด่นอยู่บนเวที อาจจะเพราะสีโทนชมพู ซึ่งดูคล้ายจะเป็นสี Gold Rose ก็ไม่ใช่ เพราะ Nissan เรียกมันว่าเป็นสีชมพูอ่อน Akagane อันเป็นสีที่ชาวญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนกันชน, โคมไฟ, หลังคา และล้อ ออกแบบให้ดูลื่นไหลเหมือนกระแสน้ำ ด้านกระจังหน้าและไฟท้ายตกแต่งให้เป็นซี่ถี่ๆ เหมือนกับงานไม้ท้องถิ่น มีลักษณะผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น และความทันสมัยของยุคอนาคต

ภายใน ออกแบบโดยใช้หลักการคล้ายกันกับ Ariya โดยเน้นการขยายพื้นที่ จัดคอนโซลแบบไร้อุโมงค์เกียร์/อุโมงค์เพลา แดชบอร์ดหน้าตาเรียบร้อยแต่แฝงความทันสมัยด้วยชุดจอสียาวจากกลางรถไปจรดด้านคนขับ มีระบบการเชื่อมต่อที่ใช้เป็น V2X (Vehicle to Everything) ช่วยให้รถยนต์สามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต ระบบนำทาง ระบบบริการหลากหลายรูปแบบ

ขุมพลังของ Nissan IMk Concept ระบุแค่ว่าเป็นระบบไฟฟ้า EV แบบ e-POWER มาพร้อม platform ใหม่ที่พัฒนาขึ้นให้รองรับระบบดังกล่าวโดยเฉพาะ ด้านระบบความปลอดภัยยังคงอยู่กับแนวคิด Nissan Intelligent Mobility แบบ Pilot 2.0 พร้อมช่วยเหลือผู้ขับขี่ด้วยระบบขับขี่กึ่งอัตโนมัติ และยังมี Propilot Remote Parking ที่วิ่งไปหาที่จอด และวิ่งกลับมารับผู้ขับขี่ได้เอง หลังถึงจุดหมาย

นอกจากรถยนต์ต้นแบบทั้ง 2 รุ่น แล้ว Nissan ยังนำรถแข่ง และรถยนต์รุ่นใหม่ มาจัดแสดงอีกหลายคัน ไม่ว่าจะเป็น

– Nissan LEAF NISMO RC รถแข่งไฟฟ้าสมรรถนะสูงที่ใช้มอเตอร์คู่ ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของ Nissan LEAF

– Nissan LEAF e+ เพิ่มสมรรถนะและระยะทางในการขับขี่ที่เพิ่มขึ้น จากระบบขับเคลื่อนใหม่ ด้วยแบตเตอรี่ความจุ และความหนาแน่นสูง ทำให้เพิ่มระยะทางในการขับขี่มากขึ้นถึงกว่า 40% (โดยสูงสุดวิ่งได้ระยะทางถึง 458 กิโลเมตรภายใต้มาตรฐานการทดสอบ WLTC ของประเทศญี่ปุ่น)

– Nissan SKYLINE Minorchange มาพร้อมกับเทคโนโลยีช่วยขับขี่ Pro-PILOT 2.0 ซึ่งเป็นระบบช่วยเหลือการขับขี่แบบแรกของโลก ที่มีการรวมระบบนำทางและการควบคุมพวงมาลัยที่ไม่ต้องใช้มือบังคับ โดยทำงานร่วมกับระบบนำทางของรถ เพื่อช่วยในการควบคุมรถให้วิ่งตามเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ระบบนี้ยังช่วยให้การขับขี่แบบที่ไม่ต้องสัมผัสกับพวงมาลัย (hands-off) ขณะที่ขับขี่ในช่องจราจรเดียว นานเท่าที่ความใส่ใจของผู้ขับขี่อยู่บนท้องถนนเบื้องหน้า และผู้ขับขี่มีความพร้อมที่จะเข้ามาควบคุมรถเมื่อเกิดเหตุจำเป็น

– Nissan GT-R 50th Anniversary special edition ฉลองครบรอบ 50 ปี ของตระกูล GT-R ด้วยรุ่นพิเศษ สีน้ำเงิน พร้อม Strip สีขาว คาดพาดผ่านกลางตัวรถด้านบน

– Nissan GT-R Model Year 2020

– Nissan Serena e-Power พร้อมเทคโนโลยีช่วยขับขี่ ProPILOT เปิดตัวมาตั้งแต่ มีนาคม 2018 ล่าสุด เดือนสิงหาคม 2019 ที่ผ่านมา เพิ่งเพิ่มระบบปกป้องความปลอดภัยแบบ 360 องศา เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่น พร้อมกระจังหน้าที่ได้รับการปรับแต่งเพื่อให้รูปลักษณ์ดูพรีเมียมและมีความสปอร์ตมากขึ้น

– Nissan DAYZ ผลผลิตฝาแฝดกับ Mitsubishi eK-Wagon และ eK X จากความร่วมมือของ Mitsubishi Motors ในนามบริษัท NMKV ที่ทำตลาดอยู่ตอนนี้


RENAULT
New Lutecia (Clio) / Megane R.S. & ALPINE A110S

แบรนด์รถยนต์จากฝรั่งเศส พันธมิตรรายใหญ่ของ Nissan และ Mitsubishi Motors ยังคงหลงเหลือทำตลาดอยู่ใน Asia เพียงไม่กี่ประเทศแล้ว และญี่ปุ่น ก็ยังคงเป็นหนึ่งในนั้น

ปีนี้ Renault มีพื้นที่บูธ ไม่ใหญ่นัก แค่พอให้จอดรถยนต์รุ่นใหม่ 3 คัน เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น Renault Lutecia ใหม่ (ซึ่งก็คือ Clio ใหม่นั่นเอง) รวมทั้ง Renault Megane R.S. ตัวแรง และรถสปอร์ต ALPINE A110S ซึ่งถูกแยกออกไปเป็นแบรนด์ Alpine ของตนเองเลย ไม่ได้แปะตรา Renault ทั้งที่คนพัฒนา และผลิตออกขาย ก็คือ Renault นั่นแหละ

Renault Megane R.S. เวอร์ชันร้อนแรงของรถครอบครัวตระกูล Megane นอกเหนือจากความแรงและสารพัดตัวช่วยควบคุมเพื่อเพิ่มความสนุกในการขับขี่แล้ว จุดขายสำคัญอยู่ที่ เบาะคู่หน้า ทรงสปอร์ต ซึ่งออกแบบมารองรับให้กระชับ และนั่งสบายมากสุดในบรรดาเบาะนั่งทรงสปอร์ตที่ผมเคยเจอมา!

ตัวถังมีความยาว 4,410 มิลลิเมตร กว้าง 1,875 มิลลิเมตร สูง 1,435 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่าตั้งแต่ 1,450 – 1,480 กิโลกรัม วางเครื่องยนต์ รหัส MSP เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,798 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 79.7 × 90.1 มิลลิเมตร หัวฉีด MultiPoint Injection พ่วง Turbocharger 205 – 221 แรงม้า (HP) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 390 -420 นิวตันเมตร (39.8 – 42.8 กก.-ม.) ที่รอบตั้งแต่ 2,400 และ 3,200 รอบ/นาที ตามแต่ละรุ่นย่อย ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 6 จังหวะ EDC พร้อมโหมด R.S.Drive ปรับรูปแบบโปรแกรมการขับขี่ให้เร้าใจมากขึ้น และมีโปรแกรมช่วยเร่งให้แรงสุดตอนออกตัว Launch Control

พวงมาลัย Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรง ระบบกันสะเทือนหน้า McPherson Strut ด้านหลังแบบ Torsion Beam พร้อมระบบช่วงล่าง DASS (Double Axles Strut Suspension) ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ จานเบรกคู่หน้า โดย Brembo เส้นผ่าศูนย์กลาง 355 มิลลิเมตร จานเบรกคู่หลังเป็นของ TRW สวมทับด้วยล้ออัลลอย 19 นิ้ว พร้อมยาง Bridgestone Potenza S001 ขนาด 245/35R19

ราคารุ่นเกียร์ธรรมดา 4,890,000 เยน ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ EDC 4,990,000 เยน

คันสุดท้าย คือ Alpine A110S รถสปอร์ต 2 ประตู ขับเคลื่อนล้อหลัง ที่ Renault พัฒนาขึ้นมาเพื่อสานต่อตำนานของรถสปอร์ต Alpine ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในโลก เมื่อปี 1955 และขยันสร้างชื่อเสียงในกิจกรรม Motorsports ต่างๆ แต่ที่โด่งดังและสร้างชื่อให้ Alpine มากสุด คือ การคว้าชัยชนะในรายการแขงขัน Endurance Le Mans 24 Hours ในปี 1978 ด้วย Alpine รุ่น A442b ส่วนรุ่นปัจจุบัน อันเป็นรุ่นล่าสุด เผยโฉมครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2017

เวอร์ชันญี่ปุ่น ของ Alpine A110S เปิดตัวครั้งแรกมาตั้งแต่ 22 มิถุนายน 2018 มีให้เลือกทั้งหมด 5 ระดับการตกแต่ง ทั้ง Pure , Linage, Noir , Abyss และ A110S ทุกรุ่นมีรายละเอียดพื้นฐานด้านวิศวกรรมเหมือนกัน คือมีตัวถังยาว 4,180 มิลลิเมตร กว้าง 1,798 มิลลิเมตร สูง 1,252 มิลลิเมตร (แต่รุ่น A110S) จะเตี้ยลงอีกนิด เหลือ 1,248 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,420 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า 1,114 กิโลกรัม ถังน้ำมัน 45 ลิตร

วางเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,798 ซีซี หัวฉีด MultiPont Injection พ่วง Turbocharger 292 แรงม้า (HP) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร (32.60 กก.-ม.) ที่รอบตั้งแต่ 2,000 – 6,400 รอบ/นาที ติดตั้งอยู่กลางลำตัวรถ แบบ Mid-Engine Rear Wheel Drive ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ ติดตั้งลงบน Frame Chassis ทำจาก Aluminium มากถึง 96%  สามารถเลือกปรับ Mode การขับขี่ได้ทั้ง tor Normal / Sport / Track

พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรง ระบบกันสะเทือนหน้า/หลัง แบบปีกนกคู่ Double Wishbone ระบบห้ามล้อเป็น ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ Upgrade ขนาดจานเบรกจาก 295 เป็น 320 มิลลิเมตร พร้อมฝาครอบ Caliper สีส้ม สวมล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว รัดด้วยยางขนาด 245/40 R18


SUBARU

หลังจากเริ่มจับทางถูกแล้วว่า ยังไงๆ ก็คงต้อง เน้นทำยอดขายหารายได้เข้าบริษัทให้มากเข้าไว้ ค่ายดาวลูกไก่ ที่เปลี่ยนจากชื่อ Fuji Heavy Industries มาเป็น Subaru Corporation แล้ว ก็เลือกเดินหน้าวาง กลยุทธ์เพิ่มรุ่นรถยนต์ให้ตอบโจทย์โดนใจลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ พวกเขายังจับมือเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นขึ้นกับ Toyota เพื่อที่จะทำโครงการใหม่ๆร่วมกัน ทั้งการพัฒนา SUV พลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งน่าจะเริ่มออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2020 – 2021 และ Generation ที่ 2 ของรถสปอร์ตขนาดกลางขับเคลื่อนล้อหลัง Toyota 86 / Subaru BRZ ซึ่งน่าจะคลอดได้ราวปี 2021

ปีนี้ บูธของ Subaru ยังคงใช้วิธี Present รถยนต์รุ่นสำคัญของตน เหมือนเช่นเคย นั่นคือ จับรถไปวางไว้บนแทนไฮโดรลิค หมุนไปหมุนมา ได้รอบ 360 องศา แถมยกเอียง ขึ้นลง ให้สอดคล้องกับภาพ Video บนจอขนาดใหญ่ ทั้งด้านหลัง และที่บริเวณรอบพื้นตัวรถ ทั้งหมด ช่วยเพิ่มการรับรู้และความน่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าแค่การจอดรถยนต์ไว้บนแท่นหมุน Turntable ตามปกติ ส่วนไฮไลต์ของบูธปีนี้ จะมีอยู่เพียง 3 คัน นั่นคือ Subaru Levorg Prototype , Subaru Viziv Adventure และ Subaru WRX STi EJ20 Final Edition นอกนั้น ก็จะเป็นรถยนต์รุ่นที่จำหน่ายกันอยู่แล้ว ทั้ง Impreza , XV , Forester และ BRZ ตัวแข่ง

Subaru LEVORG Prototype

ย้อนกลับไปยังเดือนตุลาคม 2013 Subaru เคยใช้เวทีในบูธของตน ณ งาน Tokyo Motor Show ปีนั้น เผยโฉม รถยนต์ Station Wagon ซึ่งมีขนาดตัวถังคร่อมกลางระหว่าง Impreza กับ Legacy อย่าง Subaru Levorg รุ่นแรก มาแล้ว ตอนแรก พวกเขาก็สงวนเอาไว้ขายเฉพาะในญี่ปุ่นตามเคย แต่พอเผยโฉมเท่านั้นละ กระแสตอบรับจากลูกค้าทั่วโลก ดีเกินคาด จนทำให้ต้องเริ่มขยายตลาดส่งออกมายัง Australia & Oceania และ ASEAN ตามลำดับ

ถึงแม้ตลาดรถแบบสเตชั่นแวก้อน จะเป็นตลาดที่มีความน่าสงสารแบบเฉพาะตัว กล่าวคือ พอบริษัทรถบอกว่าจะไม่ทำ หรือจะเลิกทำ ชาวเน็ตก็ฮึ่มแฮ่ แต่พอทำออกมาขายจริง คนที่เคยฮึ่มเคยแฮ่ก็จะผิวปากชวนน้องดูนกหันหน้าไปทางอื่นกันหมด อย่างไรก็ตาม Subaru นั้นยังให้ความสนใจในรถเซกเมนต์นี้อยู่ แต่มีการปรับแผนการผลิตบ้างในระยะที่ผ่านมา เช่นการยกเลิก Subaru Legacy รุ่นสเตชั่นแวก้อนบอดี้เตี้ย ขายแต่ Outback ซึ่งเป็นบอดี้ยกสูง แล้วชู Levorg มา ทำตลาดแบบครอบคลุมที่ C และ D-segment station wagon

Levorg Prototype ที่เห็นอยู่นี้ ก็คือร่างที่ใกล้เคียงความจริง ของ Levorg เวอร์ชั่นขายจริงที่มีกำหนดเผยโฉมในปี 2020 โครงสร้างของรถ ก็แน่นอนว่าจะต้องเป็น SGP-Subaru Global Platform ที่อยู่ใน XV และ Forester ไปแล้วก่อนหน้านี้

แม้ว่ารูปทรงของ Levorg Prototype จะมีสัดส่วนหรือลักษณะโดยรวมคล้ายกับรถรุ่นที่แล้ว ใช้ธีมการออกแบบ Dynamic x Solid ที่เน้นสันเหลี่ยมให้ดูแข็งแกร่ง แต่ใช้ความอ่อนช้อยแซมเข้าไปตามจุดต่างๆเพื่อให้รถดูคมและปราดเปรียว มีการออกแบบให้ดูมีความแตกต่างจากรถรุ่นอื่นๆของตระกูล โดยเฉพาะด้านหน้าของรถ กับไฟหน้าทรงดุเหมือนตาเหยี่ยวกับกระจังหน้า 6 เหลี่ยมขนาดใหญ่ ส่วนด้านท้ายรถ ก็มีไฟท้ายทรงวงเล็บ ที่ไม่สวยในรุ่นอื่น แต่พอมาเป็น Levorg ทีมออกแบบใช้วิธีลดความสูง ให้ดูเปรียว เข้ากับเส้นโครเมียมที่คาดเหนือช่องป้ายทะเบียน

ที่สำคัญคือ ใน Levorg รุ่นที่แล้ว ลำตัวซีกหน้าจะเหมือนกับ WRX แบบ 95% ดังนั้น อาจจะมองได้ว่า ลำตัวซีกหน้าของ Levorg Prototype นี้ กำลังส่งสัญญาณบอกเป็นนัยว่า WRX รุ่นต่อไปจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร

ขุมพลังขับเคลื่อน ในเบื้องต้นมีการเปิดเผยว่า Levorg ใหม่ จะได้เครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบนอน BOXER DOHC 16 วาล์ว 1.8 ลิตร หัวฉีด Direct Injection ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี “Lean-burn” ซึ่งก็คือการเผาไหม้โดยจ่ายน้ำมันในอัตราส่วนเทียบกับอากาศน้อยกว่าเครื่องยนต์ปกติ พ่วง Turbocharger ยังไม่มีการเผยตัวเลขพละกำลัง แต่คาดว่าจะมากกว่าตัวเลข 170 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.47 กก.-ม.) ในเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ของรถรุ่นเดิม ส่งกำลังไปยังเกียร์ Lineartronic CVT และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ

อีกสิ่งหนึ่งที่นับเป็นของใหม่สำหรับ Levorg Prototype คือระบบ EyeSight ซึ่งในเวอร์ชั่นปัจจุบันของ Subaru Forester จะใช้กล้องเพียงอย่างเดียว ใน Levorg ใหม่ จะเปลี่ยนกล้องให้เป็นแบบที่มีมุมมองกว้างขึ้น และยังมีการเพิ่มเรดาร์ 2 จุดที่ด้านหน้า และอีก 2 จุดที่ด้านหลังรถ เป็นการเสริมจุดแข็งให้รถสามารถมองเห็นอุปสรรคได้รอบทิศทาง และยังทำให้ระบบเบรกอัตโนมัติสามารถทำงานได้ดีแม้ในยามเลี้ยวโค้งหรือสี่แยกในที่ที่ทัศนะวิสัยจำกัด

นอกจากนี้ ระบบระบุพิกัดรถผ่านดาวเทียมเวอร์ชั่นใหม่ใน Levorg จะส่ง/รับข้อมูล ประมวลผลเทียบกับแผนที่ขั้นสูง ทำให้รถสามารถรับรู้สภาพถนนได้ล่วงหน้านานขึ้น หากคนขับมาถึงโค้งมุมอับเร็วไป รถจะสามารถชะลอความเร็วลงเองได้อย่างนุ่มนวล ปรับความเร็วให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย

Levorg Generation 2 ใหม่ มีกำหนดจะเปิดตัวออกสู่ตลาดภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยจะเริ่มจากประเทศญี่ปุ่นก่อน เหมือนเช่นรุ่นแรก เชื่อว่าคราวนี้ น่าจะมีโอกาสส่งออกมาทำตลาดยังต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ในฐานะ ตัวถัง Wagon ของ WRX Generation ต่อไป

Suabru WRX STI EJ20 Final Edition

Subaru เผยสเป็คของ WRX STi EJ20 Final Edition มาแล้วหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ เป็นการสั่งลาเครื่องยนต์ EJ Series ซึ่งรับใช้ค่าย Subaru มาตั้งแต่ปี 1989 ใน Subaru Legacy จากนั้นในปี 2013 เครื่องยนต์ EJ ถูกลดบทบาทความสำคัญลง ด้วยข้อจำกัดของการพัฒนาที่ไม่สามารถต่อยอดให้พละกำลังรุดหน้าไป ควบคู่กับอัตราการสิ้นเปลืองและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ดีได้ จึงทำให้เหลือแค่ Subaru WRX STi เท่านั้นที่ยังคงใช้เครื่องยนต์ EJ20 และ EJ25 สืบเนื่องมา และในปีนี้ ก็จะเป็นปีสุดท้ายที่ เครื่องยนต์ EJ จะยังอยูในตลาดญี่ปุ่น ก่อนที่จะ WRX STi โฉมใหม่จะเปิดตัว พร้อมด้วยเครื่องยนต์บล็อคใหม่ ในปี 2020

WRX STi EJ20 Final Edition มีพื้นฐานตัวรถ มาจาก STi Type S เวอร์ชั่นตลาดญี่ปุ่น ซึ่งใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จเจอร์เดี่ยว Twin-scroll ที่ให้กำลังสูงสุด 305 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 422 นิวตันเมตร จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ จากนั้น จึงเพิ่มอุปกรณ์พิเศษเข้าไป ใช้ล้ออัลลอยสีทองของ BBS ขนาด 19 นิ้ว เบรกของ Brembo คาลิเปอร์สีเงิน 6 Pot เบาะนั่งสามารถสั่งพิเศษเป็นของ Recaro ได้

Subaru จะสร้างรุ่น EJ20 Final Edition นี้เพียงแค่ 555 คันเท่านั้น และแม้ราคา 4,110,000 เยนจะไม่ได้จัดว่าแพงอะไรมากมาย คนที่ได้เป็นเจ้าของ จะต้องพกดวงมาด้วย เพราะจะต้องมีการจับสลาก และคนที่ได้รับคัดเลือกจากขั้นตอนนี้ จึงจะมีสิทธิ์ได้เป็นเจ้าของ ส่วนคนที่พลาดหวัง และยังอยากขับ STi ที่ใช้เครื่องยนต์ EJ20 ก็ต้องรีบหน่อย เพราะวันที่ 23 ธันวาคม 2019 จะเป็นวันสุดท้ายที่ Subaru Japan จะรับสั่งจองรถที่ใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้ ซึ่งนั่นจะเป็นการปิดประวัติศาสตร์ 30 ปีของเครื่องยนต์บล็อคนี้ลงโดยปริยาย


SUZUKI

ลักษณะการจัดบูธของ Suzuki ยังคง เน้นใช้เวทีขนาดใหญ๋กับโทนสีขาวเจิดจ้าสว่างไสว อย่างไรก็ตาม ทันทีที่การแถลงข่าวของบูธ Suzuki ซึ่งเป็นรายแรก ตามตารางผู้จัดงาน ตอนเช้า 8.30 น. เสร็จสิ้นลง ทีมงานประจำบูธ ก็รีบจัดแจ้ง ย้ายรถกันกลางคันอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งการถ่ายรูปรถ ค่อนข้างยากลำบากและเสียเวลาไปไม่น้อย จนต้องเดินไปเก็บภาพที่บูธอื่นก่อนจะกลับมาถ่ายรูปที่บูธของ Suzuki อีกที

ปีนี้ ผู้ผลิตรถยนต์และจักรยานยนต์ แห่งเมือง Hamamatsu จัดบูธ ภายใต้แนวคิด “WAKU WAKU Switch for Everyone” และได้ขนรถยนต์ต้นแบบ ชื่อแปลกประหลาด มาจัดแสดง 2 คัน แต่มีรถยนต์รุ่นขายดี สำหรับตลาดญี่ปุ่น มาเผยโฉมเป็นครั้งแรก 1 รุ่น 2 คัน


Suzuki WAKU SPO

ชื่ออาจจะอ่านออกเสียงแปลกๆสักหน่อย พอๆกับรถยนต์ต้นแบบของ Daihatsu นั่นแหละ แต่ Waku มาจากคำว่า Waku Waku แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ตื่นเต้น” ส่วน Spo นั้น ก็เป็นภาษา “Japanesse + English = Japlish” มาจากคำว่า Sport (คือคนญี่ปุ่นเขาชอบย่อคำภาษาอังกฤษสั้นๆ ไงครับ) ถ้าแปลกันแบบบ้านๆ ก็คือ รถสปอร์ตที่น่าตื่นเต้น นั่นเอง

มันน่าตื่นเต้นตรงไหน?

ก็ตรงที่ว่า ภายใต้โครงสร้างตัวรถที่มีขนาดไล่เลี่ยกันกับ Suzuki Swift ด้วยความยาว  3,700 มิลลิเมตร กว้าง 1,650 มิลลิเมตร สูง 1,430 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,460 มิลลิเมตร ซึ่งมาพร้อมกับเส้นสายบนเรือนร่างที่เรียบง่าย สวยงาม ตามสไตล์รถยนต์ย้อนยุค Retro Modern Design นั้น มีจุดเด่นอยู่ที่ว่า มีปุ่มกดสำหรับเปลี่ยนรูปแบบตัวถัง ไปมา จาก Coupe 2 ประตู เป็น Compact Wagon 2 ประตู  แถมยังสามารถเปลี่ยนโทนสีกระจังหน้า และและรายละเอียดในห้องโดยสาร ได้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดรถยนต์ส่วนตัวขนาดเล็กที่พัฒนาขึ้นสำหรับทุกเพศ, ทุกวัย และทุกการใช้งาน ทั้งยังพร้อมมอบความสนุก และความตื่นเต้นให้ผู้ขับขี่อีกด้วย

แนวคิดตัวถังแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีต Nissan เคยผลิต Pulsar EXA / Pulsar NX รุ่นปี 1986 ออกขายโดยสามารถเลือกตัวถังได้แบบเดียวกันนี้ ไม่มีผิดเพี้ยน เพียงแต่ว่า ของ Nissan จะใช้วิธีถอดฝากระโปรงหลังของตัวถัง Coupe แล้วสามารถครอบทับด้วยหลังคาไฟเบอร์แบบ Canopy (นึกถึงหลังคา Carry Boy ในสมัยก่อนนั่นละครับ) สวมลงไป ได้เลย

ด้านการขับขี่ Suzuki ไม่ได้เปิดเผยมีข้อมูลอื่นใดนอกจากว่า Waku Spo ใชุ้มพลังขุมพลัง PHEV พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เรายังไม่รู้ว่า รถคันนี้ จะเป็นเพียงแค่รถยนต์ต้นแบบ อวดโฉมบนเวทีงานแสดงรถยนต์เพียงเท่านั้น หรือว่า Suzuki จะมีแผนนำเส้นสายของรถคันนี้ มาพัฒนาออกขายจริง สำหรับตลาดในญี่ปุ่นเอง หรือไม่

Suzuki HANARE

ชื่อรุ่น ชวนให้นึกถึงการนำ การ์ตูน หนูน้อย Arare มาผสมกับ Hanami ข้าวเกรียบรวยเพื่อน แต่ความจริงแล้ว Hana แปลว่า ดอกไม้ ส่วน Hanare ถ้าเขียนเป็นตัวอักษรญี่ปุ่น Katakana แปลว่า Leaving หรือ “กำลังจากจร”

Suzuki จินตนาการไกลถึงทศวรรษ 2040 ในวันที่โลกเข้าสู่ยุคที่ระบบขับขี่อัตโนมัติ Autonomous Drive ด้วยขุมพลังแบบ มอเตอร์ไฟฟ้าติดตั้งไว้กับล้อ (In-Wheel’s Motor) พร้อมระบบแบ็ตเตอรียุคใหม่ แพร่หลายมาได้สักระยะใหญ่ๆแล้ว ผู้คนน่าจะเริ่มมองหา รถตู้สำหรับทำกิจกรรมนอกบ้าน

Hanare มาพร้อมตัวถังซึ่งมีความยาว 3,900 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,900 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาวสุดมุมตัวรถ ถึง 2,720 มิลลิเมตร มีเส้นสายทรงโค้งมน คล้ายกับรถตู้ Volkswagen Micro Bus หัวแตงโม รุ่นโบราณ แต่ถูกปรับเปลี่ยนเส้นสายให้เหลือพื้นทีกระจกหน้าต่างน้อยมากๆ อย่างจงใจ ภายในห้องโดยสารตกแต่งเน้นบรรยากาศผ่อนคลายเหมือนห้องนั่งเล่น มาพร้อมจอ Screen ขนาดใหญ่ ไม่ต้องมีผู้ขับขี่ เพราะยังสามารถปรับตั้งค่าต่างๆ ให้รองรับการใช้งานหลายรูปแบบ ได้เอง

แน่นอนว่า รถต้นแบบคันนี้ ถูกสร้างมาในลักษณะของ Mock-up Model มากกว่าจะแล่นได้จริง Suzuki จึงบอกรายละเอียดขุมพลังไว้เพียงแค่ว่า ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า แบบ Motor -in-wheel ติดตั้งอยู่กับล้อ ทั้ง 4 กลายเป็นระบบขับเลื่อน 4 ล้อ ตลอดเวลา ไปในตัว ดังนั้น สิ่งที่เราอาจได้เห็นในอนาคตอันเกี่ยวเนื่องจากรถคันนี้ คงมีเพียงแค่การนำเส้นสาย มาประยุกต์เข้ากับรถยนต์รุ่นใหม่ๆในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดในเวลานี้

Suzuki HUSTLER Concept

งาน Tokyo Motor Show 2013 เราได้เห็น Suzuki นำ Hustler รุ่นแรก มาเผยโฉมกันล่วงหน้า ก่อนเปิดตัวออกจำหน่ายจริง ในวันคริสต์มาส อีก 2 เดือนถัดมา หลังจากนั้น Suzuki Motor Thailand ก็นำ Hustler มาอวดโฉมบนเวที ยั่วน้ำลาย J!MMY เป็นอย่างมาก จนในที่สุด ก็ได้มีโอกาสนำมาทดลองขับใช้งานอยู่ 1 สัปดาห์ ตามบทความ Full Review ในลิงค์นี้ Click Here

5 ปีผ่านไป หลังกอบโกยยอดขาย จนกลายเป็นหนึ่งใน K-Car ดาวเด่นแห่งยุคสมัย Suzuki ก็มองว่าถึงเวลาเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Model Change ให้กับ Hustler แล้ว และพวกเขาก็พัฒนา Generation ที่ 2 ออกมา จนเสร็จสมบูรณ์ เผยโฉมครั้งแรกในงานนี้

Hustler ใหม่ มีตัวถังยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 สูง 1,680 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,460 มิลลิเมตร ถือว่า สูงขึ้นจากรุ่นเดิม 15 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อยาวขึ้นถึง 35 มิลลิเมตร มาพร้อมเส้นสายที่ยังคงกลิ่นอาย “ตัวลุยผู้น่ารัก” ตามเดิม แต่เพิ่มเติมด้วยกระจกหน้าต่างบนเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar และบานประตูแบบรถ Jeep Rubicon คล้ายกับ Suzuki Spacia K-Car Minivan ประตู Slide รุ่นขายดีของพวกเขา ไม่มีผิด

แม้ว่าภายในรถจะคงความอเนกประสงค์เอาไว้ และเพิ่มเติมฟังก์ชันการใช้งานด้านหลังรถอีกพอสมควร รวมทั้ง ถาดใต้เบาะรองนั่งฝั่งซ้ายด้านหน้า ที่สามารถยกขึ้นมาเป็นตะกร้าพลาสติกใสของได้ ทว่า แผงหน้าปัด กลับลดความน่ารักน่าใช้จากรุ่นเดิมลงไปอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นแผงหน้าปัดแบบ 3 จอ ล้อมกรอบด้วยพลาสติกสีส้ม คล้ายกับหน้าจอนาฬิกา Casio G-Shock จนดูไม่ชินตาเอาเสียเลย

ด้านขุมพลัง ยังคงเป็นเครื่องยนต์ เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 658 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 64.0 x 68.2 มิลลิเมตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EPI พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ฝั่งไอดี VVT (Variable Valve Timing) เช่นเคย แต่คราวนี้ นอกจากจะมีทั้ง แบบธรรมดา ประมาณ 52 – 58 แรงม้า (PS) และรุ่น Turbocharger 64 แรงม้า (PS) แล้ว ขุมพลังเดียวกันทั้ง 2 ระดับความแรง จะถูกติดตั้งระบบมอเตอร์ไฟฟ้า เชื่อมต่อกับแบ็ตเตอรีขนาดเล็ก ในแบบ Mild Hybrid ด้วยกันทั้งคู่!

Hustler Generation ที่ 2 มีกำหนดเปิดตัวสู่ตลาดญี่ปุ่น ในเดือน ธันวาคม 2019 นี้ เป็นอย่างเร็วที่สุด และแน่นอนว่า ไม่ต้องเมียงมองถามหาโอกาสในการนำเข้ามาขายในเมืองไทย เพราะรถคันนี้ ถูกผลิตและสงวนการทำตลาดไว้สำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่น เท่านั้น


TOYOTA/LEXUS

ปีนี้ ยักษ์อันดับ 1 ฝั่งญี่ปุ่นมาแปลก พวกเขาไม่ได้นำรถที่จำหน่ายอยู่ หรือกำลังจะเปิดตัวเพื่อขายในเร็วๆนี้มาโชว์ในบูธเลยแม้แต่คันเดียว เพราะพื้นที่เกือบทั้งหมดของบูธ ถูกยกให้กับการเผยโฉมนวัตกรรมจำนวนมากที่เราไม่สามารถเรียกว่ารถยนต์ได้เต็มปาก ส่วนคันที่พอเรียกว่ารถยนต์ได้นั้น ก็ยังดูห่างไกลความเป็นจริงเสียเหลือเกิน งานนี้ เป็นความตั้งใจของ Toyota ที่จะโชว์แสงยานุภาพความพร้อมสำหรับยุคที่ “รถเมินเครื่องยนต์ และคนเลิกซื้อรถ” แต่ “อนาคตก็สนุกได้ – Future can be fun”

ความลำบากในการเก็บภาพรถ Toyota นั้น จะมากกว่ายี่ห้ออื่น เพราะพ่อเจ้าประคุณแกเล่นโปรยรถรุ่นต่างๆไปไว้ทั่วงาน เริ่มจาก Lexus จะโชว์อยู่ที่ Tokyo Big Sight ส่วน Toyota มาจัดที่ Ariake Exhibition Hall ถ้าอยากมาดู ก็ต้องเดินทางโดยรถรางเดี่ยว Yurikamome หรือไม่ก็รถ Free Shuttle Bus จาก Tokyo Big Sight ย้อนกลับมาที่ Megaweb แล้วเดินต่ออีกประมาณ 600 เมตร จึงจะถึงบูธ Toyota ซึ่งอุดมไปด้วยรถต้นแบบ กับยานพาหนะที่เราไม่อาจเรียกว่าเป็น “รถยนต์” เต็มไปหมด

ส่วนบรรดารถยนต์รุ่นใหม่ ที่เตรียมจะออกจำหน่ายในญี่ปุ่นนั้น ยิ่งกระจายตัวหนักเข้าไปอีก ถ้าใกล้กับบูธหน่อยก็มีแค่ Toyota GranAce (หรือเจ้า Majesty ในบ้านเรา)  จอดอยู่คันเดียว แถมยังอยู่ในบูธฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นของบริษัทในเครืออย่าง Toyota Auto Body เสียด้วย ส่วน Toyota Mirai Concept กับ รถยนต์ต้นแบบ Toyota LQ ไปซ่อนตัวอยู่ใน Megaweb โซนนิทรรศการ Future Expo ไม่เพียงเท่านั้น Toyota Yaris ใหม่ พี่แกก็ดันเอาไปแอบอยู่บนชั้น 2 ตามทางเดิน ในศูนย์การค้า Venus Fort …แถม บรรดา Toyota Corolla Japan Version ทั้ง 3 ตัวถัง พี่เค้าก็ยกไปจอดโชว์ใน History Garage ของ MegaWeb ซึ่งอยู่ใน ห้าง Venus Fort อีกนั่นแหละ

ไม่รู้จะอุทานเป็นคำว่าอะไรนอกจาก “เหนื่อยค่ะ!!”

Toyota Mirai Concept

หลังจากเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2015 และมียอดขายสะสมทั่วโลกไปประมาณ 10,000 คัน (ขายในญี่ปุ่นได้เยอะมาก) Toyota ก็เลยพัฒนา Generation ที่ 2 ของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน “Mirai” ออกมาจนใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงนำมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ Concept มาจัดแสดงอยู่ในพื้นที่ Future Expo ของโชว์รูม Toyota Mega Web

บนตัวถังขนาดยาว 4,975 มิลลิเมตร กว้าง 1,885 มิลลิเมตร สูง 1,470 มิลลิเมตร Toyota ตัดสินใจพลิกงานออกแบบของ Mirai จากเดิมที่เป็นรถยนต์ Sedan ทรงล้ำอนาคต แต่มีสัดสวนและหน้าตาที่ดูพยายามเป็นรถยนต์รักโลก ให้กลายมาเป็น Sport Sedan คันใหญ่พอๆกับ Toyota Crown รุ่นล่าสุด และมีเส้นสายผูกกับเวลาปัจจุบันมากขึ้น สัดส่วนของตัวรถมาในสไตล์ หน้ายาวท้ายสั้น กดหลังคาให้เตี้ยลงมากถึง 65 มิลลิเมตร ใช้ล้ออัลลอยขนาด 20 นิ้ว และยิ่งคันต้นแบบนี้ ใช้สีน้ำเงิน Force Blue Multiple Layer ทำให้ Mirai Concept ดูจะได้รับความสนใจจากนักข่าวทั่วโลก

เบาะนั่งได้รับการปรับให้กว้างสบายขึ้น เบาะหลังเปลี่ยนจาก 2 ที่นั่งมาเป็น 3 ที่นั่งแบบ Bench ยาว แดชบอร์ดดีไซน์เรียบง่ายแต่ทันสมัย ฝังจอกลางขนาด 12.3 นิ้ว และลากเส้นช่องแอร์ฝั่งผู้โดยสารให้มาบรรจบลงที่คอนโซลเกียร์ ตกแต่งภายในด้วยวัสดุโลหะ และพลาสติกชุบ สีทองแดงในบางจุด

ขุมพลังของ All NEW Toyota Mirai Concept เป็นระบบ fuel cell ที่พัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมด มาพร้อมกับความจุที่มากกว่าเดิม ทำให้มีระยะเดินทางสูงกว่ารุ่นก่อนหน้า 30% ส่วนโครงสร้างพื้นฐานของรถเป็นแบบ Premium- TNGA ขับเคลื่อนล้อหลัง และจะถูกปรับการจูนช่วงล่างให้มีความหนึบมั่นคง ขับสนุกขึ้นกว่าเดิม

ถึงแม้จะเป็นรถต้นแบบ แต่รูปทรงทั้งภายนอกและภายใน มีความใกล้เคียงกับรถเวอร์ชั่นผลิตจริงมากแล้ว ในปลายปี 2020 ลูกค้าชาวญี่ปุ่นจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้ซื้อ Mirai เจนเนอเรชั่นที่สอง จากนั้นจึงตามมาด้วยอเมริกาเหนือ และยุโรป

Toyota e-Palette

e-Palette เป็นรถต้นแบบที่ Toyota เคยจัดแสดงแล้วในปี 2018 มันเป็นต้นแบบของรถประเภทสำหรับขนส่งผู้คนในระยะใกล้ ห้องโดยสารทรงเหลี่ยมเน้นพื้นที่ขนาดใหญ่ สามารถรองรับผู้โดยสารแบบยืนได้ถึง 20 คนโดยที่ขนาดตัวรถก็กินพื้นที่บนถนนแค่เท่า Mercedes-Benz S-Class รุ่นฐานล้อยาว

รถต้นแบบรุ่นนี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการขับขี่อัตโนมัติ (Autono-MaaS) โดยเฉพาะ สื่อถึงความตั้งใจในการปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กรจากการเป็นเพียงผู้ผลิตรถยนต์สู่การเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อน (from Car Company to Mobility Company)  ซึ่งไม่ได้มองว่าการสัญจรทางบกต้องมีแค่รถ กับมอเตอร์ไซค์ หรือรถบัส รถอย่าง e-Palette เป็นยานยนต์ขนส่งคนจำนวนมากในระยะใกล้แทนการเดินหรือวิ่ง ดังนั้นอย่าตกใจถ้าเราจะบอกว่าเมื่อชาร์จไฟเต็ม มันจะวิ่งได้แค่ 150 กิโลเมตร และทำความเร็วสูงสุดได้เพียง 19 กิโลเมตร/ชั่วโมง

นอกจากนี้ ในงาน Olympic 2020 ทาง Toyota จะนำรถต้นแบบมาใช้ในชีวิตจริง! ด้วยการนำ e-Palette มาโมดิฟายเพิ่มเป็นรุ่น Tokyo 2020 ซึ่งจะถูกใช้สำหรับการสัญจรภายในหมู่บ้านของนักกีฬาด้วยการติดตั้งประตูที่มีขนาดใหญ่ ทางลาดระบบไฟฟ้าให้กับรถรุ่นนี้ เพื่อให้สะดวกสำหรับนักกีฬาที่เดินทางเป็นหมู่คณะ รวมทั้ง นักกีฬาพาราลิมปิกในการขึ้นลงรถได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย รถจะให้บริการด้วยระบบการขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous driving-SAE Level 4) ซึ่งผสานการทำงานร่วมกันระหว่างฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เช่น กล้องและเซ็นเซอร์ วัดแสงเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) ทำงานร่วมกับ ตัวการทำแผนที่สามมิติ (3D mapping) และระบบควบคุมการปฏิบัติการ เพื่อให้มีความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องมีคนขับคอยควบคุม

อย่างไรก็ตาม เพื่อความเรียบร้อยแบบไม่มีพลาด ในงาน Olympic นี้ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำ e-Palette ที่ใช้รับนักกีฬาทุกคัน

e-Palette ยังมาพร้อมหน้าจอแสดงผลแสดงให้เห็นการทำงาน และ การควบคุมเครื่องจักร (human-machine interface) ช่วยสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวรถ รวมทั้ง คนเดินเท้า  ขณะรถให้บริการขับขี่อัตโนมัติ  ไฟรถด้านหน้าและหลังจะเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ด้วยการสื่อสารทางสายตาเพื่อแจ้งคนเดินเท้าให้ทราบ  สถานะการทำงานของรถ เช่น ถ้าคนจะข้ามถนน รถจะใช้ไฟหน้าเพื่อสื่อสารว่า “อย่าเพิ่งข้าม ฉันไม่เบรกนะ” หรือ “ฉันกำลังเบรกให้ เชิญข้ามได้” แต่จะมาในลักษณะการเปิด/ปิดไฟหน้าดวงกลม ครึ่ง/เต็มดวง ซึ่งคงไม่ใช่ทุกคนที่เห็นปุ๊บจะเข้าใจ

Toyota e-Racer

ท่านประธาน Akio Toyoda บรรยายสรรพคุณเอาไว้ว่า e-Racer จะเป็น “รถซิ่งอันเป็นที่รัก” ของปวงชนในอนาคต เขากล่าวว่า “ในขณะที่รถอย่าง e-Palette ที่เอาไว้ใช้ขนคนจำนวนมาก จะเปรียบเสมือนรถม้า เอาไว้ใช้ทำงาน แต่สำหรับ e-Racer จะทำหน้าที่เป็นม้าแข่ง ซึ่งเป็นที่รักของเจ้าของ ในอนาคต เราจะมีทั้งรถม้าใช้งาน และม้าแข่ง ควบคู่กันไป”

นั่นจะทำให้คุณคิดว่า e-Racer ต้องเป็นรถแข่งขุมพลังไฟฟ้าที่รวดเร็วมาก ทว่าความเป็นจริง ในงานนี้ e-Racer จะมาพร้อมกับแว่นดิจิตอล พร้อมโปรแกรมเกมที่ให้ผู้ขับเลือกสนามแข่งที่ใดก็ได้ในโลก และเข้าแข่งขันในเกมนั้นในบรรยากาศที่เสมือนจริง นอกจากนี้คุณยังสามารถเลือกเบาะนั่งแบบที่เหมาะกับสรีระร่างคุณได้อีกด้วย แน่นอนว่าม้าแข่งที่โชว์ในงาน..ก็เหมือนตู้เกมสมจริงขนาดยักษ์ มันไม่สามารถวิ่งจริงๆได้

อย่างไรก็ตาม e-Racer ไม่ได้ถูกประกอบขึ้นมาแบบขอไปที มันเป็นคือสิ่งที่นักออกแบบของ Toyota ตั้งใจทุำมาเพื่อโชว์ว่าในอนาคต รถแข่งแบบที่นั่งเดี่ยวเปิดหลังคาควรมีรูปร่างลักษณะอย่างไร

Toyota e-Trans

ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับรถต้นแบบคันนี้ นอกเสียจากว่ามันคือรถที่สอดแทรกตรงกลางระหว่างตู้ขนคนขนาดใหญ่อย่าง e-Palette กับรถเก๋งธรรมดา เพราะ e-Trans นั้นมีเบาะนั่งจริง แต่จุดประสงค์ของมันมีความคล้ายกับ e-Palette คือเป็นรถที่สร้างขึ้นมาสำหรับใช้ทำ Shared ride ซึ่งคุณไม่ต้องซื้อรถ แต่จะใช้เมื่อไหร่ ก็ลงทะเบียนแล้วเรียกรถผ่าน Application แล้วรถก็จะแสดงตัวให้คุณเดินไปหา หรือวิ่งมาหาคุณเองถ้าบริเวณนั้นเอื้ออำนวยต่อระบบขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ

ส่วนหลังของ e-Trans สามารถเปิดได้กว้างและสามารถทำตัวเป็นสะพาน สำหรับคนนั่งรถเข็นขึ้นจากด้านหลังรถได้โดยตรง เป็นความสะดวก และอรรถประโยชน์ใช้สอยที่ทำไว้เผื่อสำหรับคนพิการ และยังเหมาะสำหรับการบรรทุกสิ่งของขนาดใหญ่

Toyota LQ

LQ คือรถยนต์ต้นแบบ ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Toyota Concept-i ซึ่งเผยโฉมในงาน CES 2017 และ Tokyo Motor Show 2017 โดย LQ มีขนาดตัวรถยาว 4,530 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,480 มิลลิเมตร เมื่อชาร์จไฟเต็ม สามารถวิ่งได้ 300 กิโลเมตร

LQ มีความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติ ทั้งมี“Yui” (ยุอิ)  ตัวแทนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สุดชาญฉลาด มีความสามารถในการตอบโต้ ซึ่งออกแบบให้เรียนรู้ผู้ขับขี่ และเป็นผู้สร้างประสบการณ์ในการขับเคลื่อนที่เฉพาะส่วนบุคคล

จุดเด่นของรถไม่ได้อยู่ที่งานออกแบบอันหลุดโลก แต่อยู่ที่การออกแบบตามแนวคิด Learn, Grow, Love ซึ่งก็คือการทำให้รถสามารถ เดาใจ และ เอาใจคนขับกับผู้โดยสารในรถ ประหนึ่งมีเพื่อนที่คอยปรนนิบัติ เจ้าเพื่อที่ว่านี้ ก็เป็น AI-Artificial Intelligence ที่ Toyota ตั้งชื่อว่า Yui ซึ่งสามารถเรียนรู้และตอบสนองความชอบและความต้องการของแต่ละบุคคล โดยชื่อรุ่น LQ ยังสื่อถึง ความมุ่งหวังของโตโยต้าว่า วิธีการนี้จะเป็นการส่งสัญญาณ (cue) ถึงแนวทางการพัฒนายนตรกรรมในอนาคต ที่สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ระหว่างรถกับผู้ขับขี่ได้

ระบบที่นั่งสุดล้ำสมัยของ LQ มีการบรรจุถุงลมแบบพองได้จำนวนมากเข้าไปในที่นั่งที่มีระบบเครื่องปรับอากาศ ช่วยทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกตื่นตัวหรือผ่อนคลาย ตามสภาพแวดล้อมขณะขับขี่ หรือหากระบบเรียนรู้ว่าผู้ขับขี่มีอาการเหนื่อยล้า จะทำการเป่าลมภายในที่นั่งบริเวณด้านหลัง เพื่อทำให้เกิดลักษณะท่านั่งแบบหลังตรง พร้อมทำการปล่อยลมเย็นจากระบบหมุนเวียนภายในที่นั่ง

นอกจากนี้ LQ ใช้พื้นที่บริเวณหลังคาและพื้นรถเพื่อบ่งชี้ว่ารถกำลังทำอะไร มีการใช้โทนสีบนจอเพื่อบอกว่ารถกำลังขับตัวมันเอง หรือกำลังให้คนขับทำหน้าที่อยู่ นอกจากนี้ยังมีไฟพิเศษสว่างบนเท้า เหมือนสปอตไลต์ส่องไปบนตัวนักแสดงบนเวที ซึ่งเป็นวิธีที่ Yui ใช้บ่งบอก ว่าตัวมันเองกำลังคุยกับผู้โดยสารคนไหนอยู่

หน้าปัดของ LQ ยังมีความสามารถในการสื่อสารข้อมูล เช่น สภาพพื้นผิวถนนให้คนที่อยู่ในและนอกตัวรถทราบ ผ่านการใช้อุปกรณ์ ดิจิตัล ไมโครมิเรอร์ Digital Micromirror Device (DMD) ซึ่งติดตั้งในไฟหน้าของรถ ระบบจะทำงานผ่านกระจกเล็กๆ จำนวนหนึ่งล้านชิ้นที่อยู่ภายใน เพื่อแสดงผลสภาพพื้นผิวถนนอันซับซ้อนที่รถกำลังมุ่งหน้าไป

Toyota Yaris (Japan & European Version)

Yaris เปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น มาตั้งแต่ เดือนตุลาคม 1999 ในชื่อ Vitz จนถึงวันนี้ ก็ผ่านไปแล้ว 20 ปี กับ 3 Generation ทำยอดขายรวมกันหลายล้านคัน มาถึงปีนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ Toyota ตัดสินใจ ถอดชื่อ Vitz ออก แล้วนำชื่อ Yaris ซึ่งปกติ สงวนไว้สำหรับตลาดทั่วโลก กลับมาใช้ในรถยนต์ Generation ที่ 4 สำหรับตลาดญี่ปุ่น ให้เหมือนกันกับตลาดอื่นๆไปเลย

Yaris ใหม่ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง TNGA-B ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับกับโครงสร้างรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ ขนาดเล็ก ซึ่งถูกออกแบบให้เผื่อไปถึงการติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า และแบ็ตเตอรี สำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้า ในอนาคต

Yaris ใหม่ มีความยาวตัวถัง 3,940 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร และสูง 1,500 มิลลิเมตร โดยรวมถือว่ามีขนาดตัวถัง เล็กและแคบกว่า Yaris เวอร์ชั่นไทยพอสมควร สำหรับเวอร์ชันญี่ปุ่น จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกสามแบบ ได้แก่ เบนซิน 1.0 ลิตร เบนซิน 1.5 ลิตร และเบนซิน 1.5 ลิตร พ่วงมอเตอร์ แบบ Hybrid และยังมีรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ E-Four (ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ที่ล้อคู่หลัง) ให้เลือก แต่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขสมรรถนะแต่ประการใด (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ ที่นี่ Click Here)

แม้จะเผยโฉมอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2019 แต่ Yaris ใหม่ จะยังไม่พร้อมขึ้นโชว์รูมทั่วเกาะญี่ปุ่น จนกว่าจะถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2020

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณควรจะรู้ก็คือ Yaris ใหม่ที่เห็นอยู่นี้ เป็นเวอร์ชันสำหรับตลาดญี่ปุ่นและยุโรป เท่านั้น ลูกค้าชาวไทยจะไม่ได้ใช้ Yaris ตัวถังนี้ เนื่องจากขนาดตัวรถ เล็กกว่า Yaris เวอร์ชั่นไทย ห้องโดยสาร ก็เล็กกว่า ในระดับพอกันกับ Mazda 2 รวมถึงรสนิยมการออกแบบ ที่ไม่ได้ทำออกมาเพื่อเอาใจลูกค้าในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย

สำหรับใครสงสัยว่า แล้ว Yaris เวอร์ชั่นไทย จะเปิดตัวเมื่อไหร่? คำคอบก็คือ ตัวรถรุ่นต่อไป ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และต้องอาศัยเวลาอีกนานพอสมควรกว่าจะเสร็จ สังเกตได้จากการที่ Toyota ต้องเอาเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.2 ลิตร บล็อกเดิมมา Update องค์ประกอบบางส่วน แล้ววางใส่ Yaris ตัวถังปัจจุบัน ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2019 นี้ นั่นแปลว่า เราน่าจะยังไม่ได้เห็น Yaris เวอร์ชั่นไทยบนตัวถังใหม่แพลทฟอร์ม TNGA จนกว่าจะถึงปี 2022!!!

Lexus LF-30 EV Concept

Lexus อาศัยเวทีงานโชว์รถครั้งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นอย่าง Tokyo Motor show 2019 ในการเผยโฉมรถต้นแบบคันล่าสุดที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังเวียน BEV-Battery Electric Vehicle และนอกจากนี้ ชื่อของมันยังมีการซ่อนความหมายเอาไว้ LF ย่อมาจาก Lexus’s Future ส่วน 30 ก็คือวาระ ครบรอบ 30 ปีการถือกำเนิดของแบรนด์ Lexus บนโลกใบนี้

โครงสร้างแล้ว LF-30 ก็ใช้แพลทฟอร์มตัวถังที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของ Lexus ที่เตรียมผลิตขายจริง มีความยาวตัวถัง 5,090 มิลลิเมตร กว้าง 1,995 มิลลิเมตร สูง 1,600 มิลลิเมตร มีระยะฐานล้อ 3,200 มิลลิเมตร และมีน้ำหนัก 2,400 กิโลกรัม ถ้านึกไม่ออกว่าใหญ่ขนาดไหน ให้นึกถึงรถระดับ S-Class รุ่นฐานล้อสั้นในอดีต แต่กว้างกว่า และมีความสูงในลักษณะของรถ Crossover

สำหรับขุมพลังขับเคลื่อน Lexus LF-30 ใช้ชุดมอเตอร์แยกสำหรับล้อแต่ละข้าง ให้พลังขับเคลื่อนรวม 400kW (544 แรงม้า) แรงบิดสูงสุด 700 นิวตันเมตร ทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงภายใน 3.8 วินาที ความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 198 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แบตเตอรี่ของ LF-30 เป็นแบบ Solid State ซึ่ง Toyota/Lexus ซุ่มพัฒนามานานและน่าจะมีความพร้อมติดตั้งในรถขายจริง ในช่วง 2022-2025 มีความจุไฟ 110kWh และเมื่อชาร์จเต็มจะสามารถวิ่งได้ไกล 500 กิโลเมตร ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ ก็ไม่ได้ถือว่าโดดเด่นอะไรมากนัก หากเทียบกับคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ซึ่งใช้แบตเตอรี่แบบ Lithium-ion

LF-30 ไม่มีรูสำหรับเสียบปลั๊กชาร์จ แม้ว่าเทคโนโลยีการชาร์จแบบ Wireless จะมีใช้แบบยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ Lexus มองว่าในอนาคต เจ้าของรถระดับหรูที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า ย่อมไม่ต้องการเสียเวลาที่จะลงมาเสียบชาร์จไฟเอง

ภายในของ LF-30 มีความล้ำยุคเหมือนหลุดมาจากหนัง Sci-fi  ด้วยพวงมาลัยที่หดกลับเองเมื่อเข้าโหมดขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีปุ่มควบคุมที่เชื่อมต่อกับการทำงานของจอ Head-up display พร้อมระบบสั่งการด้วยการขยับมือ สำหรับผู้โดยสารด้านหลังก็มีจอที่ติดกับหลังคาแก้ว ที่พิศดารยิ่งไปกว่านั้นคือ LF-30 มีSupport drone ที่สามารถช่วยยกของขึ้นท้ายรถ หรือนำออกได้ด้วย

ใจความของการออกแบบภายในอีกประการหนึ่ง คือแนวคิด “Tazuna” ซึ่งแปลว่าบังเหียนม้า ซึ่งเป็นตัวแทนการรับส่งคำสั่งระหว่างม้าและคนขี่ ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์แบบ Steer-by-wire ซึ่งแปลว่า ไม่มีชิ้นส่วนโลหะ อัลลอย หรืออะไรเลยที่เชื่อมต่อพวงมาลัยไปถึงล้อรถ ทุกอย่างคุมด้วยไฟฟ้า ซึ่งวิธีนี้ Lexus เชื่อว่าจะทำให้การบังคับควบคุมมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้มากขึ้น และที่น่างงคือ จะทำให้ความรู้สึกในการบังคับพวงมาลัยแม่นยำขึ้นกว่าแต่ก่อน

Lexus LC Convertible Concept

เป็นรถยนต์ต้นแบบชนิดใกล้เคียงความจริง ซึ่งเผยโฉมไปแล้วตั้งแต่งาน Detroit Auto Show ในเดือนมกราคม 2019 แล้วค่อยส่งมาโชว์ตัวที่ญี่ปุ่นในงาน Tokyo Motor Show ครั้งนี้อีกรอบ

ตัวรถมีความยาว 4,770 มิลลิเมตร กว้าง 1,920 มิลลิเมตร สูง 1,340 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,870 มิลลิเมตร  ล้ออัลลอยที่ใส่มีขนาด 22 นิ้ว ได้รับการออกแบบ โดย การนำมุมที่ดีที่สุดของตัวถัง Coupe มาผสานเข้ากับสมดุลแห่งการออกแบบของรถยนต์เปิดประทุน ซึ่งแน่นอนว่าตลาดอเมริกาคือลูกค้าหลักของรถประเภทนี้

ขุมพลังที่ใช้ ก็ยกมาจาก Lexus LC500 Coupe นั่นเอง เป็นเครื่องยนต์ รหัส 2UR-GSE เบนซิน V8 DOHC 32 วาล์ว 4,968 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 94.0 x 89. มิลลิเมตร กำลังอัด 12.3 : 1 จุดระเบิดแบบ Direct Injection D4S พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT-iE กำลังสูงสุด 477 แรงม้า (PS) ที่ 7,100 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 540 นิวตันเมตร (55.02 กก.-ม.) ที่ 4,800 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Direct Shift 10 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหลัง

กำหนดการออกสู่ตลาดของเวอร์ชันจำหน่ายจริง จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2020 โดยจะเริ่มจากสหรัฐอเมริกาก่อน แล้วค่อยมาเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น บ้านตัวเอง อีกครั้ง ตามลำดับถัดไป ส่วนตลาดเมืองไทย อาจสามารถสั่งนำเข้าได้เป็นกรณีพิเศษ เพราะปัจจุบันนี้ แค่ LC ตัวถัง Coupe หลังคาแข็ง ก็มีอยู่ในบ้านเรา แค่เพียง 3 คัน เท่านั้น…


ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
– Honda Automobiles (Thailand) Co.,Ltd.
– Toyota Motor (Thailand) Co.,Ltd.
เอื้อเฟื้อการเดินทาง ในครั้งนี้

——————————————–

J!MMY / Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ผู้ผลิตแต่ละแบรนด์ และ เว็บไซต์ ที่ได้ระบุเครดิตไว้ใต้ภาพ

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
6 พฤศจิกายน 2019

Copyright (c) 2019
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 6th, 2019