หลังจากวันที่ 2 มีนาคม 2565 กรมสรรพสามิต ในสังกัดกระทรวงการคลัง ได้ประกาศปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ที่ออกจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2565 – 2569 เป็นต้นไป โดยใช้ระบบความปลอดภัยขั้นสูง ADAS (Advanced Driver Assistance Systems) เข้ามาเป็นข้อกำหนด สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV หากติดตั้งระบบความปลอดภัยตามข้อกำหนด จะเสียภาษีลดลงจาก 8% เหลือ 2% หากไม่ติดตั้งระบบความปลอดภัยตามข้อกำหนด จะเสีย 8% เท่าเดิม และเพิ่มเป็น 10% ในปี 2569 ล่าสุด มาตรการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และประกาศลง ราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 9 มิถุนายน 2565

 

จากการประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกมาอย่างเป็นทางการ จะทำให้บริษัทรถยนต์ที่เซ็นต์ MOU เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยก่อนหน้านี้ ได้ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาล 150,000 บาท จะทำให้ค่ายรถยนต์ที่เซ็นต์บันทึกข้อตกลงไปก่อนหน้านี้อย่าง MG และ GWM สามารถจำหน่ายและส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าได้ในราคาขายปลีกรวมส่วนลดที่เคยประกาศออกไปแล้ว ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Toyota ที่มีแผนเตรียมเปิดตัว bZ4X เร็วๆ นี้ ก็จะสามารถประกาศราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การประกาศราชกิจจานุเบกษาออกมาอย่างเป็นทางการ ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์รายต่างๆ ตัดสินใจทยอยเซ็นต์ MOU เข้าร่วมโครงการสนับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงแค่ไม่กี่ค่ายเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม อาจมีรถยนต์ไฟฟ้า 100% บางรุ่น ที่ยังไม่สามารถส่งมอบรถให้กับลูกค้าที่เซ็นต์ใบจองไปตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ได้ทันที เนื่องจากปัจจุบัน เกิดปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต จากการระบาดของโควิด 19 ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน Semiconductor อย่างหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม รวมถึงฝั่งยานยนต์ด้วยเช่นกัน

ที่มา : Ratchakitcha.soc.go.th


คลัง ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ใช้ระบบความปลอดภัย ADAS เป็นข้อกำหนด