หลังจากที่ Ford ประเทศไทยได้เผยโฉม Focus รุ่นไมเนอร์เชนจ์อย่างเป็นทางการ
ไปในงาน Bangkok International Motor Show เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้อ่าน
หลายท่านก็ได้สอบถามเข้ามาทางเรา คนตอบก็อยากช่วยตอบ เพียงแต่เวลานั้น
เรายังไม่มีโอกาสได้ลองขับจริงๆ ทั้งที่รู้สึกอยากใจจะขาดตั้งแต่รู้ว่า Ford
ตัดสินใจเอาเครื่อง 1.5 ลิตร EcoBoost มาขายในบ้านเรา นับจากวันนั้นเป็นต้นมา
เราก็รู้สึกว่าโลกของรถระดับ C-Segment ดูเหมือนจะสนุกขึ้นอีกครั้ง

ที่บอกว่าสนุก เพราะเรามี Mazda ที่ยึดมั่นกับการไม่คบเทอร์โบ แต่ทำเครื่อง
2.0 ไร้ระบบอัดอากาศให้แรง และ ขับสนุกต่างจากรถรุ่นก่อน ในขณะที่ Nissan
ซึ่งแรกๆ ดูเหมือนไม่สนใจการขายรถแรงๆ ก็ยังใจดีสู้เสือ เอาขุมพลัง DIG-T
มาใส่ใน Pulsar แล้วล้มเหลว แต่พอเป็น Sylphy กลับขายดีกว่าที่คิด ส่วนทาง
ฝั่ง Honda ก็มาพร้อมแนวคิดใหม่ ยุบเครื่อง 2.0 ลิตรทิ้ง เอาเครื่องยนต์ 1.5
ลิตรเทอร์โบมาใส่ใน Civic 1.5 Turbo/RS จะเห็นได้ว่าแม้กลุ่มลูกค้ารถระดับนี้
ที่รักในความแรงจะมีขนาดไม่โต สร้างยอดขายได้ไม่เยอะ แต่ก็มีคนติดตาม
คอยเชียร์อยู่เสมอ..แล้วในที่สุด Ford ก็เป็นอีกค่ายที่นำเสนอพลังเทอร์โบ

ดูเหมือนเป็นธรรมเนียมของ Ford ที่จะแอบเผยหน้าตารถของตัวเองบนถนน
สาธารณะเป็นเวลานานกว่าจะขายจริง..ผมพูดผิดหรือไม่ เราเห็น Focus ตัวนี้
วิ่งไปมาอยู่แถวภาคตะวันออกมานานเท่าไหร่ กว่าที่รถคันแรก จะส่งมอบถึงมือ
ลูกค้า ? และ ถึงมือสื่อมวลชนแบบเรา แต่เมื่อมันมาถึง เราก็อดยินดีเล็กๆในใจ
ไม่ได้ที่อย่างน้อย เราก็มีรถบ้านเน้นขับสนุกเพิ่มมาอีกรุ่น และยังเป็นรถที่จับ
กระแสสมัยใหม่เสียด้วย

FORD_01

กระแสที่ผมกล่าวถึง ก็คือ “Downsizing” ซึ่งถ้าแปลแบบตรงตัว มันก็คือการ
ลดความจุกระบอกสูบของเครื่องยนต์ลง แต่ในความเป็นจริง Downsizing
ของรถยุคใหม่นั้น นอกจากจะลดความจุกระบอกสูบลงแล้ว ยังมีการติดตั้ง
ระบบอัดอากาศ ซึ่งโดยมากจะเป็นเทอร์โบชาร์จเจอร์ อาศัยข้อดีสองด้าน
จากการที่เป็นเครื่องขนาดเล็ก ความจุกระบอกสูบน้อย เวลาจอดเดินเบาหรือ
ขับช้าๆ ไม่ต้องใช้กำลังมาก ก็ประหยัดเชื้อเพลิง แต่พอต้องการอัตราเร่ง
เทอร์โบก็ทำหน้าที่อัดอากาศสร้างพลังให้เครื่องยนต์ 1.5-1.6 ลิตร วิ่งดีเท่า
เครื่องยนต์ความจุ 2.0, 2.2 หรืออาจถึงขั้น 2.5 ลิตรเลยก็ได้

ทั้งตัวผม ทั้งพี่แพน และคุณผู้อ่านหลายคนก็คงอยากทราบว่า ในบรรดา
รถบ้านแอบซ่อนความแรงที่จับเทรนด์ Downsizing ทั้ง 3 คัน ใครมีข้อดี
อย่างไร ใครชนะตรงไหน แพ้เรื่องอะไร

ในเมื่อ Full Review ของ Sylphy Turbo ออกไปแล้ว (อ่านได้ที่นี่)
First Impression ของ Civic 1.5 Turbo & 1.8 ก็มีเช่นกัน (อ่านได้ที่นี่)
เหตุใด มีหรือเราจะพลาด ที่จะเอา Focus EcoBoost Turbo มาลองแล้ว
เล่าให้คุณผู้อ่านได้เสพย์กัน แต่เนื่องจากช่วงนี้ ทั้งคิวงาน และ คิวรถเทสต์
ของทีมงานเว็บ ทั้งพี่จิมมี่ พี่แพน แน่นมาก เราเองก็ไม่อยากให้คุณผู้อ่าน
รอนานนัก ผมกับพี่แพน ก็พยายามเบียดเสียดเวลาที่ว่างอยู่เพียงน้อยนิด
เอารถมาเทสต์กันสั้นๆ และเขียนให้อ่านเป็นน้ำจิ้ม กันในบทความนี้ก่อน

นอกเหนือจากการเทียบรถใหม่ด้วยกันแล้ว เราจะมาตอบคำถามโดยคิดถึง
สิ่งที่กลุ่มลูกค้าที่น่าจะเป็นเป้าหมายหลักของ Focus EcoBoost ให้ความสนใจ
เช่น เครื่อง 1.5 เทอร์โบ เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับ 2.0 GDI หรือ ข้อสงสัยที่ว่า
การตอบสนองของเกียร์อัตโนมัติ “ที่ไม่ใช่คลัตช์คู่” เป็นอย่างไรบ้างด้วยเช่นกัน

เอาล่ะครับ ชักช้าอยู่ใย เริ่มกันเลยดีกว่า !!!

FORD_02

Ford Focus บอดี้นี้ ถือว่าเป็น Generation ที่ 3  ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในงาน
North American International Auto Show หรือ Detroit Auto Show เมื่อ
เดือนมกราคม 2010 และ เริ่มทะยอยเปิดตัวออกสู่ตลาดยุโรป กับสหรัฐอเมริกา
ในปี 2011 และในภายหลังก็มาเผยโฉมอย่างเป็นทางการในบ้านเราที่ งาน Bangkok
International Motor Show วันที่ 26 มีนาคม 2012 ซึ่งประเทศไทย ถือเป็น
ประเทศแรกใน ASEAN ที่ Focus รุ่นนี้ลงทำตลาด

ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก เวลาก็ล่วงเลยผ่านไป 4 ปี พอดิบพอดี Focus ไมเนอร์เชนจ์
(หรือที่เรียกกัน MK 3.5) ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มีนาคม 2016 ที่
งาน Bangkok International Motor Show 2016 คราวนี้มาแปลก มาแบบเดี่ยวๆ
เพียงรุ่นย่อยเดียว และ ตัวถังเดียว แบบ Hatchback 5 ประตูเท่านั้น

มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง จากรุ่นเดิม เราค่อยๆมาไล่เรียงกันที่ละส่วนครับ

มิติตัวรถ ยาว 4,358 มิลลิเมตร กว้าง 1,823 มิลลิเมตร สูง 1,469 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,648 มิลลิเมตร เท่ากับรุ่นเดิมทุกมิติ

FORD_03

เริ่มที่ภายนอก ด้านหน้ามีการปรับยกหน้าใหม่ โดยออกแบบตาม Design
Language ใหม่ของรถยนต์นั่ง Ford (Passenger Cars) กระจังหน้าใหม่
ขนาดใหญ่ ล้อมกรอบด้วยเส้นโครเมียม ซึ่งดูไปแล้วแอบคิดเหมือนกันว่า
อีกหน่อยในวงการรถมือสองอาจเรียกมันว่า “Focus หน้า Aston” กระจังหน้า
เวอร์ชั่นไทยนั้นได้แบบรังผึ้งสีดำ ดูดุดันเข้ากับตัวรถเป็นอย่างดี ไม่ใช่
เส้นแถบโครเมียม 5 เส้น เหมือนเวอร์ชั่นต่างประเทศ ไฟหน้าเปลี่ยนเป็น
ทรงใหม่ เพรียวกว่าเดิม แบบมัลติรีเฟลกเตอร์ ฮาโลเจน พร้อมไฟ Daytime
Running Light แบบ LED

ผมมองว่าดีไซน์ด้านหน้าของรุ่นใหม่มีความลงตัว ดุดันในระดับที่ไม่ดู
ขี้อวดมากเกินไป เพียงแต่ว่าไฟหน้านี่สิ..รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ให้ไฟหน้า
แบบโปรเจคเตอร์มา แต่พอไมเนอร์เชนจ์ปุ๊บ กลายเป็นไฟหน้าแบบที่ธรรมดา
แบบนี้ผมว่าคนกำเงินล้านรอซื้อรถอาจไม่ปลื้มครับ

กันชนหน้า เป็นชิ้นใหญ่ ยกรวมกระจังหน้าเข้าไปด้วย ไฟตัดหมอกจาก
วงกลมถูกเปลี่ยนเป็นแบบเหลี่ยม รับกับมุมเอียงของไฟหน้า ด้านล่าง
จะติดตั้งชุดสเกิร์ตหน้ามาให้ด้วยทั้งด้านซ้าย – ขวา

เส้นสายด้านข้าง นอกเหนือจากส่วนหน้าแล้ว ยังเหมือนรุ่นเดิม พร้อมติดตั้ง
สเกิร์ตข้างมาให้ ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ลายใหม่ซี่ 15 ก้าน ที่ดูเรียบร้อย
รัดด้วยยาง Michelin Primacy LC ขนาด 215/50 R17 ตรงนี้ผมรู้สึกขัดๆ
อยู่นิดหน่อย ด้านหน้ารถทำมาเน้นมาดดุ แต่กลับเอาล้อลายหรูแบบผู้ใหญ่
มาใส่ซะนี่..เดี๋ยวค่อยไปหาเปลี่ยนลายที่ชอบก็แล้วกันนะครับวัยรุ่น

ด้านหลังดูเผินๆเหมือนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ที่จริงเปลี่ยนหลายจุด
เริ่มจากไฟท้ายที่เพรียวบางลงกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด เข้ากับเส้นสาย
ของตัวรถมากขึ้น ไฟเบรกแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ พร้อมไฟหรี่แบบ LED Tube
จากการเปลี่ยนไฟท้าย ทำให้ฝาท้ายต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ช่องป้ายทะเบียน
เล่นมิติของเส้นสาย นูน-เว้า แทนการเจาะช่องเป็นรูปคางหมูในรุ่นเดิม กันชน
ถูกติดตั้งไฟตัดหมอกหลัง พร้อมชุดสเกิร์ต และปลายท่อสแตนเลส

FORD_15_1

การเข้าออกตัวรถใช้ระบบกุญแจ Smart Keyless Entry แตะที่เซนเซอร์
ที่มือจับประตู มีให้ทั้งประตูหน้าทั้ง 2 บาน หรือจะกดรีโมทเอาก็ได้ จากนั้น
ไฟ Welcome Light ที่อยู่ บริเวณใต้กระจกมองข้าง ก็จะติดขึ้นเพื่อช่วย
ส่องสว่างในเวลากลางคืน สตาร์ทรถก็เพียงกดปุ่ม Push Start Button
ที่อยู่ฝั่งซ้ายของพวงมาลัย ก็เตรียมตัวออกเดินทางกันได้เลย

เมื่อเข้าไปในห้องโดยสาร ถ้าคุณจำรุ่นเดิมได้ สิ่งที่จะผิดสังเกตอย่างรู้สึก
ได้คือ Sunroof ได้หายไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง โทนสีภายในห้องโดยสาร
จะใช้โทนสีดำ ตกแต่งตามอุปกรณ์ต่างๆด้วยวัสดุสีเงินเป็นหลัก

เบาะนั่งคู่หน้ายังคงเป็นทรงเดิม แต่มีการเดินตะเข็บลวดลายเปลี่ยนไป
จากเดิมเล็กน้อย จากเดิมเป็นเบาะหนังผสมผ้า ปรับด้วยมือในรุ่นก่อน
ถูกเปลี่ยนเป็นหุ้มด้วยหนังทั้งตัว เบาะคนขับ ปรับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศทาง
(ถ้าเพิ่มเป็น 8 ทิศทางปรับเทหน้าเทหลังได้ก็จะดีครับ) เบาะผู้โดยสาร
ตอนหน้าปรับด้วยมือ 4 ทิศทาง

เบาะหน้าคู่หน้า มาในแนวแน่นมากกว่านุ่มสบาย โอบกระชับดี ล็อคตัว
ไม่ให้ไหลในยามที่คุณสาดโค้ง เบาะรองนั่งออกจะสั้นไปเสียหน่อย
การวางแขนทั้งบน แผงประตูด้านข้าง หรือฝาปิดกล่องคอนโซลกลาง
ทำได้ค่อนข้างดี (กล่องเก็บของคอนโซลกลาง เลื่อนหน้า-ถอยหลังได้
ชอบมากกก) แต่บรรยากาศภายในรถ อาจจะรู้สึกค่อนข้างอึดอัดกว่า
C-Segment คันอื่นๆอยู่ประมาณนึง จากแผงแดชบอร์ดที่ยื่นกินพื้นที่
เข้ามามากเกินไป

FORD_06FORD_07

เบาะนั่งด้านหลัง การรองรับสรีระส่วนต่างๆทำได้ดี ถ้านับเฉพาะตัวเบาะ
อย่างเดียว มันทำหน้าที่ของมันได้ดี แต่ประเด็นสำคัญคือ พื้นที่ที่เหลือ
นั้นมีไม่มากเท่าไหร่ อันเนื่องมาจากความหนาของเบาะนั่งคู่หน้า รวมถึง
แนวขอบประตูที่สูง ทำให้พื้นที่กระจกเหลือน้อย บรรยากาศโดยรวม
เลยรู้สึกว่า ค่อนข้างจะอัตคัดคับแคบไปเสียหน่อย หากเทียบกับคู่แข่ง
ใน Segment เดียวกัน

เบาะหลังมีพนักพิงศีรษะมาให้ 2 ตำแหน่ง ขาดที่นั่งตรงกลางไป 1 อัน
รูปทรงตัว L ที่ต้องปรับระดับขึ้นมาอีก 1 step เพื่อไม่ให้ดันต้นคอ มีที่
วางแขน พร้อมที่วางแก้วน้ำมาให้ 2 ช่อง สามารถพับเก็บได้ ตำแหน่ง
การวางแขนที่แผงข้างประตูทำได้เหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีไฟเรืองแสงสร้างบรรยากาศ Ambient Light มาให้ด้วย
เป็นสีแดง (ไม่สามารถเปลี่ยนสีได้) ตำแหน่งของไฟจะอยู่ข้างกล่อง
เก็บแว่นตา เพื่อส่องลงมาที่คอนโซลกลาง, มือเปิดประตู, ที่วางเท้า
ทั้งฝั่งคนขับ – ผู้โดยสาร และช่องเก็บของที่แผงประตูครึ่งล่าง

FORD_08

แผงแดชบอร์ดที่บุนุ่ม และ คอนโซลกลาง ถูกปรับเปลี่ยนหลายจุดจากรุ่นเดิม
เริ่มตั้งแต่ ส่วนครึ่งล่าง ไล่ลงมาตั้งแต่ ชุดสวิตซ์ควบคุมระบบปรับอากาศ เป็น
แบบอัตโนมัติแยกอิสระ Dual Zone ซ้าย-ขวา โดยที่ปุ่มกลม 2 ข้างจะใช้
ปรับอุณหภูมิ ส่วนปุ่มตรงกลางใช้ควบคุมระดับความแรงของพัดลม โหมด
ต่างๆ แสดงผลผ่าน หน้าจอดิจิตอล 8-BIT 1 บรรทัด ไฟสีฟ้าตรงกลาง

ตำแหน่งของเบรกมือถูกขยับ ย้ายให้ร่นลงมาอยู่ข้างๆช่องวางแก้วน้ำ ทำให้
พื้นที่บริเวณข้างคันเกียร์ถูกปาด เพื่อเพิ่มพื้นที่บริเวณหัวเข่าของฝั่งคนขับ
การขยับครั้งนี้ยังส่งผลให้งานดีไซน์บริเวณฐานเกียร์ดูลงตัว สมมาตรมากขึ้น
อีกด้วย ข้างคันเกียร์จะเป็นที่อยู่ของ สวิตซ์เปิด-ปิดเซนเซอร์กะระยะด้านหน้า
ซึ่งมีมาให้ 6 จุด และ ด้านหลังอีก 6 จุด รวมถึงสวิตซ์ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ

ที่วางแก้วน้ำบริเวณคอนโซลกลางมีมาให้ 2 ตำแหน่ง พร้อมฝาที่เลื่อนเปิด-ปิด
ได้ และมีตัวแบ่งช่องที่เราสามารถเลื่อนแบ่งได้เอง ด้านล่างยังมีช่องที่สามารถ
เลื่อนเพื่อให้ความลึกของช่องเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ฝาปิดที่กล่องเก็บของหุ้มด้วยหนัง จุดที่ผมชอบคือ มันสามารถเลื่อนหน้า-หลัง
ได้ ทำให้ปรับตำแหน่ง เวลาคนนั่งหรือคนขับต้องการวางแขน รองรับคนได้
หลากหลายสรีระ ด้านในมีช่องเชื่อมต่อ USB และ ช่องชาร์จไฟ 12 V มาให้
อย่างละ 1 ช่อง

FORD_09FORD_11

พวงมาลัยปรับได้ 4 ทิศทาง  (ขึ้น-ลง-เข้า-ออก) เปลี่ยนดีไซน์พวงมาลัยใหม่
จากเดิมเป็นแบบ 4 ก้าน มาเป็นแบบ 3 ก้านทรงสปอร์ตขึ้น ปุ่มควบคุมถูกลด
จำนวนลงไป 1 ชุด ชุดด้านซ้ายบนใช้ควบคุมหน้าจอ MID บนชุดมาตรวัด
ส่วนด้านขวาบน ควบคุมชุดเครื่องเสียง น่าสับสนงุนงงเล็กน้อย เพราะโดยปกติ
แล้วชุดสวิตซ์ไหนใกล้ก็จะควบคุมสิ่งนั้น และรถส่วนมากปุ่มบนก้านด้านซ้าย
ก็จะใช้ควบคุมเครื่องเสียงกันทั้งนั้น ก็ต้องเรียนรู้และปรับความชินกันไป
ส่วนชุดล่างจะเป็นสวิตซ์สำหรับระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ
(Cruise Control)

อีกอย่างหนึ่งที่ต้อง ตีกลองโห่ร้องไชโย มันมาแล้ว! แป้น Paddle shift !
ถ้าโดยปกติแล้ว มันจะไม่ใช่เรื่องอะไรที่ต้องน่าตื่นเต้นมากขนาดนั้น แต่ใน
รุ่นเดิม การเปลี่ยนเกียร์ Manual Mode ต้องใช้วิธีการกดปุ่ม +/- เอา
ที่ข้างหัวเกียร์ คุณลองนึกภาพดูว่ามันยักย้อนในตัวเองขนาดไหนที่เรา
อุตส่าห์คิดค้นกลวิธีเอาปุ่มต่างๆมาอยู่บนพวงมาลัยตั้งมากมายเพื่อให้
ไม่ต้องละมือจากพวงมาลัยเวลาขับ แต่พอเวลาอยากเล่นเกียร์ Ford กลับ
เลือกใช้วิธีที่บังคับให้คุณต้องเอามือซ้ายมากำ และกดปุ่มเล็กๆบนหัวเกียร์
อยากรู้จริงว่าใครคิด แต่ยินดีด้วยที่ปัญหานี้ถูกแก้ไขอย่างถูกต้องเสียที

มาตรวัดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปเหมือนกัน หากไม่ได้สังเกตก็จะไม่รู้
Layout ทุกอย่างนั้นเหมือนเดิม หากแต่ Font ต่างๆถูกเปลี่ยนไป ให้
มองง่าย สบายตาขึ้น มีการเล่นขนาดเล็ก-ใหญ่ ที่ชัดเจนกว่าเก่า ดูไม่รก
รวมถึงการไล่เฉดสีของหน้าจอ MID ก็ทำให้ดูสวยงามกว่าเดิม

FORD_10

ชุดหน้าจอกลาง ถูกขยายขนาดเป็น 8 นิ้ว หน้าจอสี ระบบสัมผัส Touchscreen
ที่ขอบอกว่า ทำงานลื่นไหลได้ดี ไม่หน่วงเลย ชุดเครื่องเสียงเป็นของ SONY
ปุ่มกดต่างๆในรุ่นเดิมที่เรียกว่า เยอะ จนรก ถูกปรับลดจำนวนลงให้เหลือเพียง
ปุ่มควบคุมวงกลมตรงกลาง และ ปุ่มแนวนอน ที่เป็นปุ่มหลัก แค่ 2 ข้าง

เครื่องเสียง วิทยุ AM/FM ยังคงมีช่องใส่ CD/MP3 มาให้อยู่ พร้อมระบบ
สั่งงานด้วยเสียง SYNC3 รองรับการสั่งงานด้วยเสียง Voice Command
Apple Car Play, Andriod Auto (เมื่อ Google Play ปล่อย App ออกมา)
พร้อมช่องเชื่อมต่อ USB, ระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth ขับออกมาด้วย
ลำโพงจำนวน 9 ตัว คุณภาพเสียงในภาพรวม ส่วนตัวผมให้เป็นอันดับต้นๆ
อาจจะดีที่สุดของกลุ่ม C-Segment ในระดับราคาพอๆกัน

กล้องมองภาพขณะถอยจอด พร้อมเส้นบอกระยะ Lane Guide ก็จะแสดง
ภาพที่หน้าจอนี้เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง ส่วนระบบนำทาง Navigation System
แบบ Built-in ไม่ต้องนึกให้ยาก Ford ที่จำหน่ายทุกรุ่นในไทย ยังไม่มีมาให้
เหมือนเช่นเคยครับ

FORD_12

*** เครื่องยนต์ และ ระบบส่งกำลัง ***

เดิมใช้เครื่องยนต์ Duratec เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร
1,998 ซีซี. GDi (Gasoline Direct Injection) Ti-VCT ให้กำลังสูงสุด
170 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 202 นิวตันเมตร ที่
4,450 รอบ/นาที จะถูกปลดประจำการ แทนที่ด้วยเครื่องยนต์ใหม่

เบนซิน 4 สูบ แถวเรียง 16 วาล์ว EcoBoost Turbo Ti-VCT (Twin
Independent Variable Camshafts) DOHC ขนาด 1.5 ลิตร 1,498 ซีซี.
Bosch MED17 High pressure Direct Injection + Turbocharged
กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก 79.0 x 76.45 มม. อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1

กำลังสูงสุด 180 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 240 นิวตันเมตร
ที่ 1,600 – 5,000 รอบ/นาที รองรับน้ำมันสูงสุด E85 ความจุถังน้ำมัน 55 ลิตร
(สาเหตุที่แรงม้าหายไป 2 ตัวจากสเป็คต่างประเทศ เพราะมีการจูนเครื่องยนต์
ให้รองรับน้ำมันหลากหลายรูปแบบและอากาศร้อนจัดแบบประเทศไทย)

FORD_13

ในรุ่นเดิม ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ Powershift Dual Clutch 6 จังหวะ
ชุดคลัตซ์เป็นแบบแห้ง ซึ่ง Ford พยายามทำเกียร์คลัตช์คู่ที่ต้นทุนไม่แพง
ใส่ในรถระดับราคาปานกลางได้ แต่ผลงานที่ออกมาไม่ประทับใจ และยังมีปัญหา
ระหว่างการใช้งานทั้งที่เมืองไทยและในต่างประเทศ ดูเหมือน Ford จะยอมแพ้
และตัดสินใจนำเกียร์อัตโนมัติ Torque Converter แบบธรรมดามาให้ใช้แทน
โดยเป็นเกียร์ Ford-GM Transmission รหัส 6F35 6 จังหวะ พร้อม Manual
Mode และมี Paddle Shift ที่พวงมาลัย

อัตราทดเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีดังต่อไปนี้

เกียร์ 1 ………………………..4.584
เกียร์ 2 ………………………..2.964
เกียร์ 3 ………………………..1.912
เกียร์ 4 ………………………..1.446
เกียร์ 5 ………………………..1.000
เกียร์ 6 ………………………..0.746
เกียร์ถอยหลัง ………………..2.943

FORD_14

เอาล่ะครับ มาถึงสิ่งที่ใครต่างก็รอคอย นั่นก็คือ ความแรง หรือ ตัวเลขอัตราเร่ง
นั่นเอง ! สำหรับตัวเลขการทดสอบตามมาตรฐานของ Headlightmag ทางเรา
จะมีการทดสอบอีกครั้งอย่างเป็นทางการ โดยใช้น้ำมันเบนซิน 95 ดังนั้นในเมื่อ
นี่เป็นบทความ First Impression ผมจึงคิดที่จะลองสิ่งที่มันแตกต่างไป
เพื่อไม่ให้ข้อมูลออกมาซ้ำซากจำเจ อีกประการหนึ่งก็คือรถทดสอบที่ทาง Ford
ส่งให้เรานั้น เติมน้ำมัน E85 มาเต็มถัง ผมจึงคิดได้ว่า..ทำไมเราต้องไปผลาญ
น้ำมันทิ้งให้หมดถัง เพื่อเติมเบนซิน 95 แล้วทดสอบตามมาตรฐานเว็บ ในเมื่อ
Full Review ที่จะตามมาภายหลังก็จะทำการทดสอบแบบนั้นอยู่แล้ว?

ดังนั้น ผมถือว่านี่เป็นโบนัสให้คุณผู้อ่านที่รักทุกท่าน ก็แล้วกันครับ ผมลอง
จับเวลา อัตราเร่งมาเทียบกัน ระหว่างน้ำมัน E85 และน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 95
E10 มาให้ดูกัน

อัตราเร่ง 0-100 km/h (E85)
9.16 / 9.15 / 9.23 / 9.20
เฉลี่ย 9.18 วินาที

อัตราเร่ง 80-120 km/h (E85)
6.68 / 6.68 / 6.74 / 6.73
เฉลี่ย 6.70 วินาที

—————————————————————

อัตราเร่ง 0-100 km/h (Gasohol 95)
9.29 / 9.28 / 9.24 / 9.30
เฉลี่ย 9.27 วินาที

อัตราเร่ง 80-120 km/h (Gasohol 95)
6.70 / 6.74 / 6.68 / 6.70
เฉลี่ย 6.70 วินาที

—————————————————————

จะสังเกตได้ว่าตัวเลขต่างกันน้อยมากจนไม่น่าจะนำมาฟันธงว่ามีฝ่ายใดชนะ
แต่ถ้าคุณซีเรียสเรื่อง ตัวเลขจริงๆ ก็จะเห็นว่าถ้าเติมน้ำมัน E85 รถจะแรง
กว่ากันอยู่ ประมาณ 1 หนวดแมว (นิดดดดดดเดียว) บางคนอาจจะไม่รู้สึกงง
แต่หลายคนที่เคยขับรถโมดิฟายจูนเติมน้ำมัน E85 และปรับแต่งกล่อง ECU
จะรู้สึกว่า “ปกติถ้าเราเติม E85 ซึ่งมีค่าออคเทนสูงกว่า รถก็น่าจะแรงกว่า
ไม่ใช่หรือ?”

ตอบได้เลยว่า ในกรณีที่มีการปรับจูนตั้งองศาจุดระเบิดและการจ่ายน้ำมัน
ให้เรียกพลังสูงสุด น้ำมัน E85 มักจะได้ ตัวเลขแรงม้า และ แรงบิดสูงกว่า
อย่างชัดเจนแต่กรณีของ Ford Focus EcoBoost Turbo นั้น การที่ตัวเลข
ไม่ต่างกันมากระหว่าง E85 กับ E10 อาจเป็นเพราะลักษณะการจูนรองรับ
น้ำมันซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการใช้งานระยะยาว ไม่เค้นกำลังเครื่อง ทำให้ความต่าง
มีไม่มากเท่ารถที่เป็น Flexfuel มีโปรแกรมรองรับการทำงานของน้ำมัน
หลายแบบ โดยมุ่งเค้นพลังอย่างจริงจัง..อย่างเช่น Volvo S80 2.5FT
ที่เราเคยทดสอบ หลายปีมาแล้ว และ พบว่าตอนเติม E85 อัตราเร่ง และ
ความเร็วดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทีนี้เรามาดูตัวเลขของ Ford Focus 1.5 EcoBoost Turbo กันดีกว่า จะเป็น
อย่างไร หากเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งในตารางเนี่ยการเทสต์ตามมาตรฐานปกติ
ของ Headlightmag จะใช้เบนซิน 95 เพียว อย่างที่บอกไปข้างต้น
เพราะฉะนั้น มีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขอาจจะ ดีขึ้นกว่านี้อีกเล็กน้อย

ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ
(นั่ง 2 คน น้ำหนักตามมาตรฐาน เปิดแอร์ น้ำมัน Gasohol 95)

อัตราเร่ง 0-100 km/h ทำได้เฉลี่ย 9.27 วินาที
อัตราเร่ง 80-120 km/h ทำได้เฉลี่ย 6.70 วินาที

FORD_Table_edit

ดูจากตัวเลข เทียบกับเครื่องยนต์เดิม 2.0 GDi จะพบว่าเครื่องยนต์ใหม่
ถึงแม้ จะมีความจุลดลง Down Sizing แล้วพ่วงด้วยเทอร์โบ ประสิทธิภาพ
กลับไม่ได้ด้อย ลดน้อย ถอยลงไปเลย มิหนำซ้ำ ยังทำตัวเลขได้ดีขึ้นกว่า
2.0 GDi เครื่องเดิมอีกด้วย รวมถึงดีกว่า 2.0 TDCi รุ่นก่อนหน้า

เครื่องยนต์ 1.5 EcoBoost Turbo มีแรงบิดที่ดีตั้งแต่ช่วง 2,500 รอบ/นาที
เป็นต้นไป ช่วงรอบกลางมีพลังเหลือเฟือ และรอบปลายไหลดีพอสมควร
เป็นเครื่องที่มีความยืดหยุ่นของแรงบิดดี คุณไม่จำเป็นต้องกระทืบคันเร่ง
ตลอดเวลาเพื่อเรียกพลัง กดคันเร่งแค่ 50% ตัวรถก็ทะยานไปดังใจหมาย
นอกจากนี้ ผมสังเกตได้ว่าเสียงเครื่องเวลากดคันเร่งลากรอบนั้น มันฟังดู
เพราะดีไปอีกแบบ เร้าอารมณ์ ฟังแล้วเหมือนเสียงเครื่อง 4 สูบเทอร์โบยุโรป
แบบแน่นๆ ผมประทับใจมาก..จนกระทั่งมาทราบตอนหลังเมื่อผู้อ่านท่านหนึ่ง
กระตุกความจริงให้ว่า มันเป็นเสียงสังเคราะห์จากลำโพง เหมือนพวก BMW
M5 V8 และ M4 เทอร์โบนั่นแหละครับ

ส่วนเรื่องการทำงานของเกียร์ หลังจากที่ผมได้ลองขับอยู่ 2-3 วัน ผมคิดว่า
Ford ตัดสินใจถูกแล้วที่ใช้เกียร์อัตโนมัติแบบปกติแทน เพราะการขับใน
ยามปกตินั้น ใช้ง่ายเข้าใจง่ายเหมือนรถทั่วไป ใครขับก็สบาย เวลาเล่นกัน
แบบซัดจัดหนัก พบว่าการคิกดาวน์ หรือการเล่นเกียร์เองนั้น ระบบสมองกล
จะตอบสนองช้าไป เพียงนิดเดียว ช่วงกดเต็ม หรือเล่นเกียร์ Manual Mode
ไม่มันส์เท่า Powershift ของ รุ่น 2.0GDi เดิม และถ้าให้เทียบกับคู่แข่ง
นิสัยเกียร์ก็ยังไม่ดุดันทำงานแบบถวายชีวิตเหมือนเกียร์ SkyActiv ของ
Mazda แต่ถ้าให้มองที่จุดดีก็คงพอพูดได้ว่ามันยังเป็นเกียร์ที่ให้ความมันส์
ในการขับมากกว่าเกียร์ CVT  อยู่ดี การมีแป้น Paddle Shift ที่ให้มัน
“เล่นได้ง่าย” กว่ารถรุ่นเดิม และการเปลี่ยนเกียร์เวลาขับในแบบปกติ หรือ
ขับแบบแรงปานกลางก็ทำงานได้ดีนุ่มนวล ต่อเนื่องกว่าเกียร์คลัตช์คู่
ในรถรุ่นเดิม

แต่เมื่อรวมเรื่องสมรรถนะของเครื่องยนต์ บวกกับการตอบสนองของคันเร่ง
และการทำงานของเกียร์ ผมสรุปให้ว่าในวินาทีนี้ ถ้าใครคิดจะเอา EcoBoost
ไปเล่นกับ Civic คุณอาจจะมีลุ้น เพราะตัวเลขที่ผมจับได้กับที่พี่แพนเคยจับมา
0-100 อยู่ในย่าน 9 วินาทีบวกลบทั้งนั้น หรือถ้าให้ไปเจอกับ Mazda 3 2.0
เชื่อเลยว่าถ้าไม่ไปปะฉะดะกับคันที่เขารีแฟลชกล่องทำหม้อกรอง เล่นเฮดเดอร์
และท่อมา คุณน่าจะเคี้ยวเขาได้ไม่ยาก

แต่ให้ระวังยายป้าอสรพิษอย่าง Sylphy Turbo ไว้เพราะเจ้านั้นทำตัวเลข
ได้ดีกว่าใคร ไต่ต่อเนื่องจาก 60-180 ได้เร็วที่สุด ทั้งๆที่ตัวรถ เกียร์ และ
เสียงเครื่อง ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าเร็วขนาดนั้นเลย

FORD_04

ส่วนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเป็นอย่างไร ? ต้องบอกก่อนว่า เราจะยืมรถมาทำ
Full Review อีกครั้ง ทดสอบตามมาตรฐาน Headlightmag ที่ใช้น้ำมันเบนซิน 95
เปิดแอร์ นั่ง 2 คน แต่ในระหว่างนี้ ผมจะขอแชร์ตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง จากการ
ขับตามมาตรฐานของผมไปก่อน คุณผู้อ่านจะได้ทราบว่าเวลาขับจริงๆ ในชีวิต
ประจำวัน (แบบเท้าหนักหน่อย) รถจะกินน้ำมันมากหรือน้อยในความคิดของท่าน
มี น้ำมันที่ใช้ทั้ง 2 แบบ มาเปรียบเทียบให้ดูกัน

ถังแรก E85 เส้นทางที่ใช้มีทั้งในเมือง ผจญรถติดเส้นวิภาวดีวันฝนตก นอกเมือง
เส้นปทุมธานี – รังสิต วิ่งบนทางด่วน บางนา – สาทร รวมถึงทดลองทำอัตราเร่ง
ทั้ง 0-100 และ 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลายครั้ง การขับก็มีทั้งเรื่อยๆ และ
กดคันเร่ง คิกดาวน์บ่อยๆ เพื่อทดสอบสมรรถนะ เติมน้ำมันกลับหัวจ่ายตัด
ได้ 8.58 km/l

ถังที่สอง Gasohol 95 เส้นทางที่ใช้เริ่มต้นจากบางใหญ่ มุ่งหน้าสระบุรี มีการ
กดคันเร่ง เพื่อแซงบ่อยครั้งพอสมควร จากนั้นมุ่งหน้าสู่เขื่อนลำตะคอง โคราช
เพื่อเอารถไปถ่ายรูป ก็ใช้ความเร็วไม่สูงมาก แต่คิกดาวน์บ่อย จากนั้นขากลับ
ขับค่อนข้างเรียบร้อย เพราะเริ่มง่วง ส่วนที่เหลือก็จะเจอกับรถติดช่วง ถนน
เลียบด่วนรามอินทราวันอาทิตย์ เติมน้ำมันกลับหัวจ่ายตัดเช่นเคย
ได้ 10.67 km/l

ทั้ง 2 ถังก็เป็นการใช้งานตามปกติของผม ซึ่งค่อนข้างเท้าหนัก (แต่สำหรับ
คนอื่นอาจจะได้ดีกว่านี้) เพราะ การขับรูปแบบเดียวกันนี้กับ Honda Brio
ผมได้ 12.82 km/l (ทดสอบตามมาตรฐานเว็บ วิ่ง 110 km/h นิ่งๆ ได้
16.69 km/l) เพราะฉะนั้นคิดว่า Focus EcoBoost ก็ทำผลงานได้ค่อนข้าง
ดีเลยทีเดียว แต่ยังไงรอชมกันอีกทีครับ กับผลทดสอบตามมาตรฐานปกติ
ช่วงปลายๆเดือนนี้ ต่อจาก Civic Turbo RS ในสัปดาห์หน้า

FORD_05

ส่วนเรื่องช่วงล่างนั้น Focus ยังคงเป็น C-Segment ที่ช่วงล่างเดิมๆ ทำออกมา
ได้ดีระดับแถวหน้า ของกลุ่มเหมือนเช่นรุ่นเดิม การที่ล้อไม่โต และ ยางแก้ม
ไม่เตี้ยมากเกินไป บวกกับการเซ็ตความหนืด ของโช้ค และ สปริงที่ทำมา
พอดีมากๆ ทำให้ตัวรถไม่ดีดเด้งจนน่ารำคาญ ผู้ใหญ่นั่งแล้วไม่บ่น แต่ในบทบู๊
ก็ให้ความมั่นใจได้มาก เรื่องช่วงล่างนี่ เป็นจุดที่ Focus ชนะ Civic อย่างชัดเจนมาก
ต่อให้ Honda พัฒนาดีกว่าเดิมมาก จนกลายเป็นซีวิคที่ช่วงล่างดีที่สุด ตั้งแต่
เคยทำมาแล้วก็ตามที ส่วน Mazda ใกล้เคียงกับ Focus แต่การซับแรงสะเทือน
ความนุ่มนวลยังทำได้ไม่ดีเท่า

ในความเห็นผม หากให้เรียงลำดับ ภาพรวมช่วงล่าง และ การบังคับควบคุม
หมายถึง การตอบสนองของช่วงล่าง ไม่ว่าจะทางตรง เข้าโค้ง การซับแรง
สะเทือน รวมถึง  ” พวงมาลัย ” ลักษณะการเสียอาการต่างๆ และ ไดนามิค
ภาพรวมทั้งคัน ไม่ว่าจะความเร็วต่ำ ปานกลาง หรือ สูง
(สังเกตจำนวนลูกศร แทนค่าความห่างด้วยนะครับ)
Focus > Mazda 3 >>> Civic RS >>>  Sylphy Turbo

พวงมาลัยเมื่อเทียบกับรุ่น 2.0 GDi เดิม ได้รับการปรับน้ำหนักช่วงถือตรง
ให้หนืดขึ้น เวลาหักซ้ายขวามีความหนืดสู้มือมากขึ้น และ ลบอาการพวงมาลัย
เบาโหวงนิดๆของรุ่นเดิมไปได้พอสมควร ช่วงความเร็วสูง ทั้งน้ำหนัก และ
ความหนืด ยังคม แม่นยำดี เหมือนอย่างเคย

สำหรับแป้นเบรก นุ่ม น้ำหนักดี แต่จะมีลักษณะเป็นเหมือนกดลงไปบนฟองน้ำ
(Sponge) เล็กน้อย กดลงไป 15% แรก จะยังไม่หน่วง มากเท่าไหร่ ต้องกดลง
ไปเพิ่ม อาจต้องทำความคุ้นชินบ้างในช่วงแรก แต่หากกดน้ำหนักลงไปเต็มๆ
มันก็หน่วงความเร็วได้ดีตามต้องการ การหน่วงจากความเร็วสูงทำได้ดีมาก
รถนิ่ง ไม่มีอาการ ส่ายแต่อย่างใด แป้นเบรกลักษณะแบบนี้จะทำให้คุณเบรก
ได้นุ่มนวล ขณะกำลังคลานไปท่ามกลางการจราจรที่ติดขัด

การเก็บเสียงยังคงเป็นจุดเด่นของรุ่นนี้ ช่วงความเร็วเกิน 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไป  ภายในห้องโดยสารยังคงค่อนข้างเงียบ การเก็บเสียงจากขอบประตู-
หน้าต่าง ทำได้ดีมาก อาจจะมีเสียงลม หรือ เสียงยางผ่านมาให้พอได้ยินบ้าง
แต่ก็เจือจางมากๆ

ระบบ – อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย และช่วยเหลือการขับขี่ ก็มีมาให้อย่าง
เต็มพิกัดสไตล์รถ Ford ไม่ว่าจะเป็น  ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค ABS,
ระบบกระจายแรงเบรก EBD, ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP,
ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA,
ระบบควบคุมแรงบิดขณะเข้าโค้ง Torque Vectoring Control, ระบบ
ช่วยเบรกที่ความเร็วต่ำ Active City Stop, ระบบช่วยจอดอัจฉริยะแบบ
เทียบข้าง Parallel Park In-Out, ระบบช่วยจอดอัจฉริยะแบบเข้าซอง
Perpendicular Park และ ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า-ด้านข้าง และ
ม่านถุงลมนิรภัย)

FORD_16

***** สรุปเบื้องต้น  *****
C-Segment ช่วงล่าง และ การบังคับควบคุมดีสุดในกลุ่ม !
แต่ยังไม่ใช่ที่สุดทุกด้าน…

ถูกต้องแล้วครับ ไม่มีอะไรเพอร์เฟ็คไปหมดเสียทุกอย่าง Focus EcoBoost
ก็เช่นกัน จุดเด่นของเจ้าคันนี้คือ ช่วงล่าง และ การขับขี่ บังคับควบคุมต่างๆ
แต่ถ้าหากมองเฉพาะความแรง ก็คงต้องยกให้ Sylphy Turbo และ ถ้า
ต้องการพื้นที่ห้องโดยสารที่กว้างกว่าเพื่อน ต้องเป็น Civic สุดท้ายเขย่า
โขลกรวมออกมาเป็นรถคันเดียวได้ก็คงจะดี แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ
เนื่องจากรถแต่ละคัน วิธีคิดการพัฒนามันต่างกันออกไป

ในบรรดารถบ้าน เครื่องยนต์เทอร์โบ งบ 1 ล้านบาท บวกลบ หากคุณเป็นคน
รักในการขับรถเป็นพิเศษ Focus EcoBoost คือรถที่มีการแสดงออกห้าว
มั่น และ สปอร์ตที่สุด แต่ถ้าคุณอยากแรงทางตรง Sylphy Turbo คือรถที่
เร็ว และ แรงที่สุดในกลุ่ม แต่ช่วงล่าง พวงมาลัย ยังสู้ทั้ง Focus และ Civic RS
ไม่ได้ ทั้งในแง่ความคม และ ความมั่นใจเวลาเล่นบทบู๊

Civic RS น่าจะมีความแรงสูสีคู่คี่กับ Focus มากที่สุด ดีดตัวออกไม่เร็วเท่า
แต่พอเริ่มลอยลำแล้วแรงลื่น และ ไว ได้เปรียบที่ความสดใหม่ของตัวรถ กับ
ดีไซน์ แต่เสียเปรียบเรื่องช่วงล่าง และความเรียบร้อยในการประกอบบางจุด
ได้พื้นที่ห้องโดยสารที่กว้างขวาง แต่สุดท้ายคุณต้องจ่ายแพงกว่า Focus
100,000 บาท และแพงกว่า Sylphy Turbo 200,000 บาท ถ้ามองในเรื่อง
ของอุปกรณ์ความปลอดภัย อย่างถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง

Mazda 3 ดูจะใกล้เคียงกับ Focus มากที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห้องโดยสาร
ช่วงล่าง แต่ถ้าพูดถึงเครื่องยนต์ก็ยังห่างอยู่ ในเรื่องของความแซ่บ ถ้าเทียบกับ
เทอร์โบทั้ง 3 คัน สุดท้ายก็อยู่ที่ความต้องการของแต่ละคน แล้วล่ะครับ
ว่าต้องการรถ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองแบบไหน เพราะแต่ละรุ่น
ก็ค่อนข้างชัดเจนในจุดเด่น จุดด้อยของตัวเองอยู่

อีกอย่างที่อยากจะพูดถึงคือ บางคนใจร้อนรีบถามแล้วว่าเกียร์อัตโนมัติลูกใหม่
ของ Focus พังง่ายไหม..พี่ฮะ รถเพิ่งขายได้ไม่กี่สัปดาห์มันคงยังไม่พัง ให้เห็น
ตอนนี้หรอกครับ แต่ให้ติดตามดูไว้ก็แล้วกัน เพราะที่ผ่านมา เราก็คงทราบว่า
Ford ไม่ใช่รถปลอดปัญหา แต่ในขณะเดียวกัน Civic รุ่นใหม่ก็ดูเหมือนมีปัญหา
กับชิ้นส่วนระบบไฟฟ้าบางจุด เช่น เซนเซอร์พัดลม มาตรวัดจอกลาง และ
ปัญหาเทอร์โบบูสท์มาไม่เต็ม ซึ่งไม่แน่ใจนักว่าเกิดจากระบบเวสต์เกตไฟฟ้า
หรือเปล่า

สุดท้ายเรื่องเดิมๆครับ ศูนย์บริการของ Ford ที่ยังต้องปรับปรุงกันต่อไป
จะไม่พูดก็ไม่ได้ (แอบเบื่อเหมือนกันนะครับที่ต้องเขียน) เพราะแม้ว่าเราจะมี
คนอ่านหลายท่านที่ชมให้ฟังว่าการเคลมอะไหล่ในช่วงหลังมานี้ ไม่ต้องเจรจา
ยืดยาวมาก ศูนย์บริการก็ยอมจัดการให้ หลายที่มีการปรับปรุงด้านบุคลากรและ
วิธีการรับลูกค้าให้ดีขึ้น แต่จำนวนคนที่มีปัญหา (เอาคนที่มีตัวมีตนจริงๆ ไม่ใช่
คนที่ไม่ได้ใช้ Ford แต่บ่นแทนเจ้าของรถคนอื่น) ก็ยังมีให้เห็นอยู่ ทักษะในการ
ซ่อม และแก้ไขปัญหาของศูนย์บริการบางแห่งยังไม่จบแม้ลูกค้าจะเข้าไปหา
หลายต่อหลายครั้ง อาการเดิมก็กลับมา

นอกจากเรื่องศูนย์บริการ ตัวรถเองนั่นล่ะครับที่เราต้องดูกันในระยะยาวว่า
จะมีปัญหาอะไรตามออกมาอีกหรือไม่ ถ้าคุณผู้อ่านลองขยันค้นข้อมูลดูสักนิด
ผมก็คงไม่ต้องบอกว่าที่ผ่านมาในช่วง 4-5 ปีนี้ รถแต่ละรุ่นของ Ford ก็ไม่ใช่
ว่าเป็นรถปลอดปัญหาเสียทีเดียว เรามองว่าลูกค้าก็มีสิทธิ์ที่จะได้ใช้รถโดยไม่ต้อง
กังวลปัญหา และบริษัทรถก็มีสิทธิ์ที่จะพลาดที่ตัวผลิตภัณฑ์..คนเราพลาดกันได้
แต่เวลาแก้ไขปัญหาต้องเร็ว เข้าใจง่าย สื่อสารอย่างเปิดใจ ไร้ข้ออ้าง ไม่ต้อง
ตามใจลูกค้าชนิดสุดประตู แต่ก็ต้องยุติธรรมต่อผู้ซื้อและผู้ผลิตอย่างเท่าเทียม

เอาเข้าจริง อาจจะไม่มีบริษัทรถที่ไหนในโลกทำได้สมบูรณ์แบบขนาดนั้น
ผมอาจจะโลกสวยเกินไป แต่ถ้า Ford กำลังจะมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่ดีขึ้น
ผมเชื่อว่าลูกค้าหลายคนก็อยากให้คุณเป็นเช่นนั้น

ยังไงก็รอติดตามตัวเลขผลทดสอบทั้งอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
อย่างเป็นทางการ และ รายละเอียดอย่างเต็มรูปแบบ ฉบับ Full Review
ที่จะตามมาในเร็วๆนี้

อีกไม่นานเกินรอ…..

FORD_17

คู่แข่งในตลาด มีอะไรให้เราเลือกกันบ้าง พร้อมราคาขาย
(ด้วยราคา เราจะหยิบมาเฉพาะตัวท๊อป และ รองท๊อปนะครับ)
ราคา ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2016

Mazda
– Mazda 3 2.0 S Sedan………………………988,000 บาท
– Mazda 3 2.0 SP Hatchback……………..1,099,000 บาท

Hyundai
– Hyundai Elantra 1.8 SE…………………..996,000 บาท

Chevrolet
– Chevrolet Cruze 1.8 LTZ…………………998,000 บาท
(กำลังจะยกเลิกการจำหน่ายเร็วๆนี้)

Nissan
– Nissan Sylphy 1.6 DIG-Turbo…………….999,000 บาท

Toyota
– Toyota Corolla Altis 1.8 G…………………999,000 บาท
– Toyota Corolla Altis 1.8 V Navi………….1,079,000 บาท

Honda
– Honda Civic 1.5 Turbo…………………..1,099,000 บาท
– Honda Civic 1.5 Turbo RS………………1,199,000 บาท

MG
– MG 6 1.8 Turbo X Sedan………………..1,128,000 บาท
– MG 6 1.8 Turbo X Fastback…………….1,138,000 บาท

Ford
– Ford Focus 1.5 EcoBoost Turbo………..1,099,000 บาท

ตอนนี้มีขายเฉพาะ รุ่น Sport : ตัวถัง Hatchback 5 ประตู
ส่วน รุ่น Titanium : ตัวถัง Sedan 4 ประตูจะตามมาเร็วๆนี้
ขายในราคาเท่ากันครับ

FORD_20

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์

บริษัท Ford Sales & Service (Thailand) จำกัด

เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

 


 

Teerapat Achawametheekul (MoO)
Pansawat Paitoonpong (PAN)

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
9 กรกฎาคม 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures 
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 9th,2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ ที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE !